มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับอาหารภายใต้สถานการณ์สารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลจากโรงงานนิวเคลียร์ใน จังหวัดฟุกุชิมา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 29, 2011 14:56 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภายใต้สถานการณ์สารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลจากโรงงานนิวเคลียร์ของบริษัท Tokyo Electric Power ในจังหวัดฟุกุชิมา (ตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น) ซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์ในญี่ปุ่น และคลื่นสึนามิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านนิวเคลียร์ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 และเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารกัมมันตภาพรังสีในอาหาร ญี่ปุ่นได้นำมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับอาหารมาใช้ 2 มาตรการคือ

1. มาตรการเฉพาะกาลภายใต้ Food Sanitation Act, Article 6, Item 2 รัฐบาลญี่ปุ่นได้แจ้งปริมาณสารกัมมันตภาพรังสีที่ยอมรับให้ปนเปื้อนในอาหารได้ให้กับแต่ละจังหวัด และให้แต่ละจังหวัดทำการตรวจสอบปริมาณสารปนเปื้อนในผลิตผลทางการเกษตรและเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในเว็บไซต์ของกระทรวงแรงงานและสาธารณสุขญี่ปุ่น (http://www.mhlw.go.jp) โดยหากมีปริมาณสารปนเปื้อนอยู่เกินกว่าที่กำหนดไว้ให้ทำลายและไม่ให้จัดจำหน่ายหรือนำไปปรุงอาหารเพื่อการจำหน่ายจังหวัดดำเนินการเกี่ยวกับผลิตผลทางการเกษตรตามที่กำหนดโดย

2. มาตรการป้องกันภายใต้ Act on Special Measures Concerning Nuclear Emergency Preparedness ให้แต่ละNuclear Safety Commission ซึ่งจะกำหนดชนิดของผลิตผลทางการเกษตรและจังหวัดที่ต้องดำเนินการตรวจสอบและควบคุมสารปนเปื้อน โดยจะพิจารณาจากวิธีการเพาะปลูกและปัจจัยอื่นๆ ด้วย

ทั้งนี้ในอดีตที่ผ่านมาญี่ปุ่นไม่เคยทำการตรวจสอบปริมาณสารกัมมันตภาพรังสีที่อาจปนเปื้อนอยู่ในผลิตผลทางการเกษตรที่ผลิตภายในประเทศแต่ดำเนินการตรวจสอบเฉพาะสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ

สำหรับสถานการณ์ความคืบหน้าเกี่ยวกับการประกาศพบสารกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อนในอาหาร และการห้ามวางขายผลิตภัณฑ์การเกษตรที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี ล่าสุดมีดังนี้ คือ

1)จังหวัดฟุกุชิมา ประกาศไม่วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรโดยตนเองเนื่องจากสภาวะฉุกเฉินภายในจังหวัด

2)กระทรวงสาธารณสุขและแรงงานของญี่ปุ่นประกาศห้ามการวางขายผักขม,Kakina (Vegetable Oyster ), บร๊อคเคอร์รี่ กะหล่ำปลี และดอกกะหล่ำ ที่ผลิตจากจังหวัดฟุคุชิมา อิบารากิ โทะฉิกิ และกุนมะ รวมทั้งนมวัวจากจังหวัดฟุกุชิมาโดยรัฐบาลญี่ปุ่นรับประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์การเกษตรดังกล่าว

3)รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศให้ประชาชนในเขตพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ และในโตเกียวหลีกเลี่ยงการใช้น้ำประปาเพื่อการชงนมสำหรับเด็กทารก โดยให้เหตุผลว่าถึงแม้ปริมาณสารปนเปื้อนจะไม่สูงจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรงแต่มีความเสี่ยงในระยะยาวสำหรับเด็กทารก อย่างไรก็ดี ปริมาณดังกล่าวยังไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับผู้ใหญ่

รัฐบาลญี่ปุ่นกังวลเกี่ยวกับการที่บางประเทศได้ออกมาตรการตรวจสอบสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น และขอทราบหน่วยงานที่สามารถเป็นจุดติดต่อในเรื่องดังกล่าวของแต่ละประเทศเพื่อผู้ส่งออกญี่ปุ่นสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการของประเทศนั้นๆ ได้

สำหรับประเทศไทยอัครราชทูตที่ปรึกษาสำนักงานเกษตร ประจำสถานทูตไทย ณ กรุงโตเกียวรับเป็นจุดติดต่อของไทย พร้อมทั้งชี้แจงมาตรการที่ไทยใช้ในการตรวจสอบสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นว่าเป็นไปตามความตกลงภายใต้ WTO และ CODEX โดยไม่มีมาตรการเพิ่มเติมอื่นใด

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ประมาณการผลกระทบจากการห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว คือ ผักขมประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตของทั้งประเทศ และ 60 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่วางขายในโตเกียว สำหรับนมคาดว่ามีผลกระทบเพียง 1.4 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการผลิตทั้งประเทศ อย่างไรก็ดี ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแหล่งผลิตผักฤดูร้อนที่สำคัญของญี่ปุ่นซึ่งหากสถานการณ์การรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสียังไม่คลี่คลายก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชาชนในท้องถิ่น

สำหรับสัตว์น้ำจำพวกปลาที่คนไทยเกรงว่าจะมีสารปนเปื้อนนั้น ณ ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการปนเปื้อนแต่อย่างใด

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ