แผ่นดินไหวและซูนามิในญี่ปุ่น : ผลกระทบต่อสิงคโปร์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 29, 2011 15:30 —กรมส่งเสริมการส่งออก

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและซูนามิในญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ สิงคโปร์จะได้รับผลกระทบ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ระยะสั้น ดังนี้

1. สินค้าญี่ปุ่นจะขาดตลาดในสิงคโปร์ ส่งผลให้มีราคาสูงขึ้น

2. การนำเข้าสินค้าจะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดจากหน่วยงาน Agri-Food & Veterinary Authority (AVA) ในการตรวจสอบระดับรังสีปนเปื้อนในสินค้าเพื่อสุขอนามัยของผู้บริโภคในสิงคโปร์

3. การค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่นและสิงคโปร์อาจจะหยุดชะงักและชะลอตัว ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

4. รายได้จากนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเยือนสิงคโปร์ลดลง เนื่องจากห้องพักโรงแรมถูกยกเลิกอย่างกระทันหันเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ในปี 2553 นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเยือนสิงคโปร์ ประมาณ 528,817 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.5 ของจำนวนนักท่องเที่ยวรวมทั้งหมดที่เยือนสิงคโปร์

ระยะยาว

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อมูลค่าการค้าระหว่างสิงคโปร์และญี่ปุ่นลดลง อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ อาจจะได้รับประโยชน์ในแง่ของความต้องการด้านการก่อสร้างภายหลังเหตุการณ์สงบ ทำให้มีโอกาสทางการค้าของสิงคโปร์ในญี่ปุ่น โดยเฉพาะบริษัทก่อสร้าง ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของสิงคโปร์ไปญี่ปุ่นขยายตัวเพิ่ม่ขึ้น โดยเฉพาะการส่งออก raw materials ที่จำเป็นในการก่อสร้าง ซึ่งผ่าน Trading Company ในสิงคโปร์

อนึ่ง นักเศรษฐศาสตร์จากหน่วยงานต่างๆ ได้วิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิงคโปร์ ดังนี้

1. Nomura South-East Asia คาดว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์จะเติบโตในอัตราที่ลดลงเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 แต่จะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง สิงคโปร์จะได้รับผลกระทบในการส่งออกไปยังญี่ปุ่นเพียงในระยะสั้น สำหรับเงินลงทุนที่มาจากญี่ปุ่นและรายได้จากนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น จะทำให้การเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ชะลอตัวลงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 5.3

2. Citigroup ให้ความเห็นว่า ผลเสียหายในเขตอุตสาหกรรมญี่ปุ่นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของสิงคโปร์ไปยังญี่ปุ่นมากนัก แม้ว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของสิงคโปร์ อันดับที่ 6 แต่ญี่ปุ่นไม่ใช่ตลาดส่งออกสำคัญของสิงคโปร์ ในปี 2553 อัตราส่วนการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 5.7 ของการส่งออกรวมของสิงคโปร์ ซึ่งลดลงเป็นลำดับในขณะที่ปี 2548 มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 8-9 ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้ถูกจีนแซงหน้ากลายเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก

3. Bank of America-Merrill Lynch กล่าวว่า เมือง 2 แห่งที่ถูกทำลายโดยแผ่นดินไหวและซูนามิ สร้างผลผลิตต่อเศรษกิจญี่ปุ่นได้เพียงร้อยละ 2.5 ดังนั้น จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมากนัก จะส่งผลในเรื่องของความล่าช้าในการขนส่งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และคงเป็นแค่ในระยะสั้นเท่านั้น

4. OCBC คาดว่า การค้าที่หยุดชะงักส่งผลกระทบเล็กน้อยต่อการค้าระหว่างสิงคโปร์กับญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นเฉพาะในเดือนมีนาคมและเมษายน 2554 เท่านั้น

5. Barclays Capital คาดว่า ความต้องการสินค้าประเภทอิเล็คทรอนิกส์จะมีปริมาณและราคาเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัทสำคัญๆ ที่ติดต่อการค้ากับญี่ปุ่น มีความเห็น ดังนี้

1. บริษัท Infineon Technologies, German Chipmaker - การส่งสินค้า Semiconductor ที่ผลิตในสิงคโปร์ไม่สามารถส่งออกไปญี่ปุ่น เนื่องจากการปิดสนามบินเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คงเป็นไปในระยะเวลาสั้นๆ คาดว่า ในสัปดาห์หน้าจะสามารถส่งออกได้ตามปกติ

2. บริษัท National Forwarder Singapore ซึ่งได้รับผลกระทบจากการขัดข้องและล่าช้าของการส่งสินค้า Marine spare part จากญี่ปุ่น เนื่องจากสนามบินในโอซาก้าและโตเกียวปิดในช่วงเหตุการณ์แผ่นดินไหวและซูนามิ เพิ่งสามารถดำเนินการเคลียร์สินค้าเพื่อส่งออก

3. บริษัท Neptune Orient Line คาดว่า เรือขนส่งสินค้าที่ล่าช้าในโยโกฮามา คงจะเริ่มดำเนินการขนส่งสินค้าได้แล้ว หลังจากที่ปิดสำนักงานในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

4. บริษัท Rokko Holdings (สินค้า Precision Engineering) คาดว่า บริษัทผู้ผลิตในญี่ปุ่นยังมีอุปกรณ์และวัตถุดิบที่สามารถผลิตสินค้าให้ครบตามคำสั่งซื้อได้ แต่จะมีความล่าช้าในการจัดส่งสินค้า ซึ่งจะเป็นในระยะเวลาสั้นๆ ทั้งนี้ ในการผลิตสินค้าของบริษัทต้องพึ่งพาวัสดุจากญี่ปุ่นประมาณร้อยละ 30-40

ที่มา : International Enterprise Singapore & The Straits Times

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ