Logistics Hub ของมณฑลกวางตุ้ง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 29, 2011 16:12 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและระบบโลจิสติกส์ของประเทศจีน ได้กำหนดศูนย์กลางพัฒนาระบบโลจิสติกส์บริเวณพื้นที่แถบภาคตะวันออกเลียบชายฝั่งทะเลของประเทศที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้รัฐบาลจีนได้มีการวางจุดยุทธศาสตร์กำหนดแต่ละเมืองของประเทศเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในด้านต่างๆ เช่น นครเซี่ยงไฮ้ เป็นเมืองท่าหลักบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกและเมืองเซินเจิ้นจะเป็น การของการขนส่งทางทะเลด้านตะวันออกเฉียงใต้เมืองเฉิงตูเป็นประตูสู่ภาคตะวันตกและเมืองเชียงรุ่งเป็นประตูสู่เอเชียอาคเนย์โดยมีฮ่องกงและไต้หวันเป็นพื้นที่เครือข่ายและให้เมืองคุนหมิงในมณฑลยูนนานเป็นศูนย์กลางเชื่อมอินโดจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รัฐบาลเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้งได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อเป็นช่องทางในการขยายการค้าระหว่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น จึงมีนโยบายที่จะพัฒนาให้มณฑลกวางตุ้งเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางตอนใต้ของจีน ทั้งนี้ จากรายงานของ Bureau of Foreign Trade and Economic Cooperation of Guangzhou Municipality รายงานว่า ในปี 2009 ธุรกิจด้านโลจิสติกส์ของเมืองกวางโจวได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมาก โดยอัตราปริมาณการบรรทุกขนส่งในเมืองกวางโจว คิดเป็นประมาณ 525 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 5.91%ในจำนวนนี้ แยกเป็นการขนส่งทางรถไฟ 64 ล้านตัน การขนส่งทางทะเล 84 ล้านตัน การขนส่งทางรถยนต์ 370 ล้านตัน การขนส่งทางอากาศ 6.81 แสนตันและการขนส่งทางท่อ 7.278 ล้านตัน ปัจจุบัน ในเมืองกวางโจวมีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านขนส่งมากกว่า 60,000 รายและในจำนวนนี้เป็นธุรกิจที่จดทะเบียนลงทุนโดยนักลงทุนชาวต่างชาติเองประมาณ 1,009 ราย นอกจากนี้ ในเมืองกวางโจวยังมีรถบรรทุกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งสิ้นประมาณ 1.45 ล้านคันและในแต่ละวันจะมีรถบรรทุกวิ่งเข้า-ออกเมืองกวางโจวเพื่อขนส่งและบรรทุกสินค้ามากกว่า 1 ล้านคัน

เพื่อพัฒนาให้เมืองกวางโจวเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์นานาชาติและศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภาคพื้นภูมิภาคเอเซีย รัฐบาลเมืองกวางโจวได้กำหนดแผนที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือหนานซา (Nansha) และหวงผู่(Hhuangpu) และบริเวณท่าอากาศยานไป๋หยุน (Guangzhou Baiyun International Airport) โดยจะจัดตั้งระบบการบริหารจัดการ คลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อรองรับการพัฒนาดังกล่าว

  • Nansha International Logistics Park เป็นศูนย์โลจิสติกส์ขนาดใหญ่ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายกำหนดให้เป็นศูนย์โลจิสติกส์นานาชาติทางตอนใต้แถบ Pan Pearl River Delta ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับเมืองกวางโจว เซินเจิ้น ฮ่องกง มาเก๊า จูไห่ ตงก่วน จงซาน และเจียงเหมิน โดยใช้เวลาในการเดินทางเพียง 10 กว่านาที เนื่องจากบริเวณ Nansha Port เป็นท่าเรือน้ำลึกเลียบแถบชายทะเลจีนตอนใต้ ขณะนี้การก่อสร้างในระยะแรกซึ่งมีพื้นที่กว่า 3.70 ตารางกิโลเมตร ได้เสร็จสิ้นแล้วและได้เปิดใช้เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2009 โดยศูนย์โลจิสติกส์ดังกล่าวจะมีบริการโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่ครบครันเพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศ เป็นศูนย์กลางการกระจายและส่งสินค้า มีคลังสินค้าทัณฑ์บน ห้องเย็น บริการขนส่งและโรงงานแปรรูปสินค้าเพื่อเตรียมการส่งออก ตลอดจนพิธีการทางด้านศุลกากรและตรวจสอบคุณภาพสินค้าของรัฐบาล
  • Huangpu International Logistics Park เป็นศูนย์โลจิสติกส์ขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่ทางรัฐบาลเมืองกวางโจวมีนโยบายสนับสนุน ศูนย์โลจิสติกส์ดังกล่าวตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองกวางโจว ที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงการขนส่งทางเรือคือท่าเรือหวงผู่ (Hhuangpu) ซินซา (XinSha) การขนส่งทางบก ทางรถไฟและเส้นทางด่วนพิเศษอื่นๆ เช่น Canton-Kawloon Canton-Park East Fast line ทั้งยังมีทางด่วนไปยังท่าอากาศยานไป๋หยุน ศูนย์โลจิสติกส์ดังกล่าวจะเป็นศูนย์โลจิสติกส์อีกแห่งหนึ่งเพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ กระจายและส่งสินค้าและบริการเก็บรักษาสินค้า การขนส่งและบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • Guangzhou Airport International Logistics Park ศูนย์โลจิสติกส์ดังกล่าวตั้งอยู่ทาง-3- ตอนเหนือของเมืองกวางโจว ใกล้กับท่าอากาศยานไป๋หยุน สนามบินไป๋หยุนมีสายการบินระหว่างประเทศ 50 เส้นทาง มีเที่ยวบินต่างประเทศกว่า 300 เที่ยวบินต่อสัปดาห์จากเมืองต่างๆ ทั่วโลกกว่า 100 เมือง นอกจากนี้ยังมีสายการบินในประเทศกว่า 120 สายการบิน ทั้งนี้ ศูนย์โลจิสติกส์ดังกล่าวได้เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2010 ปัจจุบัน Fed Ex ได้ตั้งสำนักงานอยู่ในศูนย์ดังกล่าว

จากแผนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของเมืองกวางโจว ประเทศไทยควรพิจารณาใช้ประโยชน์จากศูนย์โลจิสติกส์ดังกล่าว ตลอดจนควรศึกษาเส้นทางการส่งออกสินค้าไทยในปัจจุบันว่าควรจะใช้เส้นทางใดที่จะทำให้ประหยัดที่สุด สะดวกและเหมาะสมเพื่อสามารถลดต้นทุนได้ ปัจจุบัน จีนมีบทบาททางเศรษฐกิจต่อไทยและอาเซียนเป็นอย่างมาก เนื่องจากจีนมีปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและมีความมั่นคงดังนั้น สิ่งที่ไทยควรทำก็คือการเป็นพันธมิตรทางโลจิสติกส์ โดยการใช้ประโยชน์ร่วมกันจากศูนย์โลจิสติกส์ที่กล่าวมา

สคร.กวางโจว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ