งานแสดงสินค้า International Boston Seafood Show (IBSS) และ Seafood Processing America (SPA) 2011

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 31, 2011 14:54 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก ได้เดินทางไปเยี่ยมชมงานแสดงสินค้า International Boston Seafood Show (IBSS) และ Seafood Processing America (SPA) 2011 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๓๐ ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๒ มีนาคม ๒๕๕๔ ณ อาคาร Boston Convention & Exhibition Center ณ เมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซส ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นงานแสดงสินค้าประเภทอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในแถบอเมริกาเหนือ อาทิเช่น อาหารทะเลสด-แช่แข็งและกระป๋อง, แบบบรรจุภัณฑ์ และเครื่องมือแปรรูปอาหารต่างๆ ทุกปีจะมีผู้ซื้อกว่า ๑๗,๐๐๐ ราย และผู้เข้าร่วมแสดงสินค้ากว่า ๙๐๐ คูหา จาก ๑๐๐ ประเทศทั่วโลก อาทิเช่น จีน,เอกวาดอร์, ไอซ์แลนด์, อินเดีย, ไทย, อินโดนีเซีย, ไอแลนด์, ญี่ปุ่น, เกาหลี, มาเลเซีย, เม็กซิโก, ฟิลิปปินส์, แคนนาดา, สเปน, ไต้หวัน, ตุรกี, เวียดนาม, แอฟริกา เป็นต้น

กรมส่งเสริมการส่งออกร่วมกับสมาคมอาหารแช่เยือกแข็ง (Thai Frozen Food Association: TFFA) ได้นำคณะผู้ส่งออกไทยมาเข้าร่วมงานแสดงสินค้า เป็นจำนวน ๑๐ บริษัท คือ Apitoon Enterprise Industry Co, SJ.Oceanworld Co.,Ltd, Span Marine Co.,Ltd, Lompamasitt Co.,Ltd, Narong Seafood Co.,Ltd, Seafresh Insudtry Plc, Crystal Frozen Foods Co.,Ltd, J.M. Food Industry Co.,Ltd, Surapon Foods Public Company, Thaveevong Industry Co.,Ltd และบริษัทไทยที่เข้าร่วมงานฯ และออกคูหาเอง มีจำนวน ๕ บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทที่มีสำนักงานสาขาในประเทศสหรัฐอเมริกา (ภาพประกอบดังเอกสารแนบ ๑) ได้แก่

๑. บริษัท CP Intertrade มีสำนักงานฯ อยู่ในรัฐแมรี่แลนด์

๒. บริษัท Empress International (Thai Union Frozen Co., Ltd.) มีสำนักงานฯ อยู่ใน Long Island นิวยอร์ก

๓. บริษัท Chicken of the Sea (Thai Union Frozen Co., Ltd.) มีสำนักงานฯ อยู่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย

๔. บริษัท Handy International มีสำนักงานฯ อยู่ในรัฐแมรี่แลนด์

๕. บริษัท Lucky Union Foods Co.,Ltd

สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งได้นำสินค้าอาหารทะเลหลากหลายประเภท อาทิ กุ้งค็อกเทล กุ้งเทมปุระ ปลาหมึกซุปแป้งทอด น้ำซอสสำเร็จรูป ฯลฯ ซึ่งมีความแตกต่างจากปีก่อน มีการนำสินค้าที่เป็น Value-added มาแสดงมากขึ้น การเข้าร่วมงานในปีนี้ของบริษัทไทย มีผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ มีการเจรจาระหว่างผู้ค้าภายในคูหา และผู้เข้าชมงานสนใจสอบถามรายละเอียดของสินค้าไทยที่แสดงในงานฯ เป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าในปีนี้ จะมีผู้เยี่ยมชมคูหาไทยน้อยกว่าปีที่แล้ว จากเดิม ๑๐๖ ราย ลดลงเหลือ ๙๐ ราย และในปีนี้ส่วนใหญ่บริษัทที่เยี่ยมชมคูหาไทย มาจากประเทศอื่นๆ อาทิเช่น จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย เวียดนาม เกาหลี อาร์เจนติน่า สิงค์โปร์ เม็กซิโกญี่ปุ่น เป็นต้น และจำนวน ๑๙ ราย อยู่ในเขตดูแลของ

สคร. นิวยอร์ก (ดังเอกสารแนบ ๒)

รายละเอียดเกี่ยวกับคูหาไทย

คูหาของไทย เป็นคูหารวมของสมาคมฯ มีพื้นที่รวม ๘๐๐ ตารางฟุต เปิดมุม ๒ ด้าน (คูหาหมายเลข ๘๔๑) อยู่ในส่วนของ IBSS ตกแต่งคูหาเป็นแบบเปิดสำหรับแสดงสินค้าและสำหรับเจรจาการค้า รวมทั้งมีการแสดงวิธีการทำอาหารไทย โดยผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัท ณรงค์ซีฟู้ด ใช้น้ำซอสแช่แข็งสำเร็จรูป อาทิเช่น ซอส- ผัดไทย ต้มข่า แกงเขียวหวาน และซอสเป็ดมะขาม ผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทณรงค์ซีฟู้ด ที่ต้องการเปิดตลาด ในสหรัฐอเมริกา ในงานนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่บรรจุในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ แช่แข็ง สำหรับร้านอาหารในการนำไปประกอบอาหารได้เลย โดยใส่ส่วนผสมที่เป็นของสด เช่นผัก, เนื้อสัตว์ เข้าไปเท่านั้น ก็สามารถขายให้กับลูกค้า ในร้านอาหารได้ เหมาะสำหรับร้านอาหารขนาดเล็ก หรือประเภทจานด่วน ซึ่งต้องอาศัยความรวดเร็วในการบริการลูกค้า และลดความจำเป็นในการใช้พ่อครัวที่มีความสามารถสูง ปัจจุบันได้ร่วมลงทุนกับร้านอาหารไทยไปแล้ว ๕ ร้านในประเทศออสเตรเลีย

ในครั้งนี้ สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ได้เดินทางมาเยี่ยมชมงานฯ และจัดการประชุม ร่วมกับ สคร. นิวยอร์ก และคณะผู้ส่งออกไทยจากสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งกับ Mr. Robert LaFrankie ที่ปรึกษากฎหมาย ของบริษัท Hughes Hubbard & Reed ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษากฎหมายที่กรมการค้าต่างประเทศได้จัดจ้างกรณี AD/CVD/SG ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๔ การหารือในครั้งนี้เกี่ยวกับเรื่องความคืบหน้าสินค้ากุ้งแช่แข็งของไทยที่อยู่ภายใต้มาตรการ AD ของสหรัฐอเมริกา

ผู้นำเข้าที่เข้าชมงานฯ ในปีนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้นำเข้าและค้าปลีก เจ้าหน้าที่ของร้านอาหารแบบ Chain ซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งรายชื่อผู้นำเข้าที่สำคัญที่เข้าชมงาน ได้แก่ BJ’s Wholesale Club, C&S Wholesale Grocers, Captain D’s Seafood, McCormick & Schmicks, PF Chang, Price Shopper Restaurant Depot, Safeway, Sam’s Club, Stop & Shop, Subway, Sysco Corporate, Target, United Supermarket, Wal-mart, Wegman’s, Whole Food Market, Au Bon Pain etc.

ในส่วนของคู่แข่งขันและผู้แสดงสินค้าที่น่าสนใจ ในปีนี้มีคูหาจากต่างชาติแบบ Pavilion เช่น จีน, ไต้หวัน, เกาหลี, เอกวาดอร์, อินเดีย, มาเลเซีย, เม็กซิโก, แคนนาดา, สเปน, เวียดนาม เป็นต้น

กิจกรรมพิเศษภายในงานฯ

          1.          การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ต่อเนื่องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสินค้าประเภทอาหารทะเลในตลาดสหรัฐอเมริกา
          2.          Game Lounge ในช่วงบ่ายของทุกวันมีการจัดคูหาเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้มีการเล่นเกมส์ผ่อนคลายเป็นครั้งแรกของปีนี้
          3.          New England Food Show มีการจัดเวทีแสดงวิธีทำอาหาร และขนม

สถานกาณ์การนำเข้าอาหารทะเลของสหรัฐอเมริกา

เดือนมกราคมปี ๒๕๕๔ ประเทศสหรัฐอเมริกา นำเข้าสินค้าประเภทปลาและอาหารทะเลจากตลาดโลก ประมาณ ๑,๐๔๔ ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมปี ๒๕๕๓ ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า ๘๑๘ ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากประเทศจีนป็นอันดับที่หนึ่ง รองลงมาคือ แคนนาดา ไทย ชิลี และ เวียดนาม ตามลำดับ

การนำเข้าปลาและอาหารทะเลจากประเทศไทยเดือนมกราคมปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๙๑.๗๗ ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมปี ๒๕๕๓ ในช่วงเดียวกัน ซึ่งมีมูลค่า ๖๑.๙๐ ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่สหรัฐอเมริกานำเข้าจากไทยมาก คือ สินค้าประเภทอาหารทะเลแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งและกุ้ง ตามลำดับ

จากตัวเลขการนำเข้าของสินค้าอาหารทะเลแช่แข็ง ซึ่งมีการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น และพบว่าสินค้าอาหารทะเลที่นำเข้ามาในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการนำเข้าในหลายรูปแบบ คือ แบบแช่แข็ง, แบบแปรรูปและแบบพร้อมรับประทาน ซึ่งสินค้าประเภท Ready to Eat นั้นถูกรวบรวมสถิติการนำเข้าไว้ในหมวดสินค้าประเภท Prepared Meat, Fish and Seafood ซึ่งมีแนวโน้มการเจริญเติบโตที่สูงขึ้นอย่างชัดเจนเช่นกัน

ปัญหาและอุปสรรค

การเก็บภาษีทุ่มตลาดกับสินค้านำเข้ากุ้งแช่แข็ง ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้เรียบร้อย ยังคงปัญหาหลักในการนำเข้ากุ้งในปี ๒๕๕๔ แต่จากการคาดการณ์ทั้งด้านผู้บริโภคในสหรัฐ และผู้ส่งออกจากประเทศต่างๆ ตามสถิติ คาดว่าในปี ๒๕๕๔ จะมีการนำเข้ากุ้งเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะการผลิตภายในประเทศสหรัฐอเมริกา ยังมีปัญหาหลายด้าน และเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นจะทำให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารทะเลโดยเฉพาะกุ้งมากขึ้น

ความคิดเห็นของสคร. นิวยอร์ก

๑. สินค้าอาหารเป็นจุดแข็งของประเทศไทย การสร้างมูลค่าเพิ่มและการประชาสัมพันธ์ พร้อมกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบ รสชาติของอาหารจากส่งออกวัตถุดิบ กึ่งวัตถุดิบ เป็นการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปสำหรับผู้บริโภคผ่าน Mainstream Department Store Outlet ยังคงเป็นทางเลือกที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง และเป็นที่นิยมของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน

๒. บริษัทผู้ส่งออกไทยที่เข้าร่วมงานฯ และมีสำนักงานสาขาหรือ warehouse ในประเทศสหรัฐอเมริกายังคงเป็นช่องทางการทำการตลาดที่ได้ผลในสหรัฐฯ เนื่องจากส่งสินค้าได้ทันต่อความต้องการของลูกค้า สามารถแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว รวมทั้งสร้างความน่าเชื่อถือในการเลือกซื้อสินค้านั้นๆ

๓. บริษัทผู้ส่งออกน่าจะพิจารณาในการรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งตัวแทนจำหน่ายย่อยในเมืองที่สำคัญ เพื่อรวบรวมข้อมูล ตลอดจนอุปสรรคและปัญหาที่จะเกิดขึ้นและจัดทำเป็นข้อมูลเวียนเผยแพร่ให้กับสมาชิก เพื่อป้องกันปัญหาทางการค้า โดยเฉพาะเรื่องการเรียกเก็บเงินที่มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ

๔. การเข้าร่วมงาน International Boston Seafood Show (IBSS) ในปี ๒๕๕๕ ควรปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการเข้าร่วมงานรายบริษัท เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา มีผู้ส่งออกไทยเดินทางเข้าร่วมงานมากขึ้นทำให้ พื้นที่ส่วนกลางที่จัดไว้สำหรับการเจรจาการค้าไม่เพียงพอและสะดวกในการเจรจาการค้า หากในปีหน้าสามารถปรับรูปแบบการเข้าร่วมงานเป็นรายบริษัทได้ จะทำให้สามารถจัดผังบริษัทและพื้นที่ส่วนกลางให้เหมาะสม สวยงาม และใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ซึ่งในเบื้องต้นตัวแทนสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยรับไปประสานงานแล้ว และจะแจ้งให้กรมฯทราบต่อไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก นิวยอร์ก   Spa  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ