ประชากรอินเดียทะลุ 1,200 ล้านคนแล้ว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 7, 2011 11:31 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รัฐบาลอินเดียประกาศผลการสำรวจสำมะโนประชากรล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้พบว่าอินเดียมี ประชากรประมาณ 1,210 ล้านคน ( ณ วันที่ 1 มีนาคม 2554) เพิ่มขึ้น 182 ล้านคนเมื่อเทียบกับปี 2544 ที่มีประชากร 1,028 ล้านคน คาดว่าจะแซงหน้าจีนในอีก 20 ปีข้างหน้า ทูตพาณิชย์ชี้ผู้ส่งออกควรเร่งเจาะตลาดใน 10 เมืองที่มีประชากรหนาแน่น

ในจำนวนประชากร 1,210 ล้านคน เป็นชาย 623.7ล้านคน เป็นหญิง 586.4 ล้านคน อัตราการเพิ่มของประชากรมีแนวโน้มลดลงและมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยในทศวรรษ ค.ศ. 2001-2011 มีการขยายตัวเพียง 17% โดยคาดว่าในปี 2603 อินเดียจะมีประชากร 1,650 ล้านคน ขณะที่สัดส่วนของประชากรอายุ 0-6 ปีมีขนาดลดลงจาก 163.8 ล้านคนในปี 2001 เป็น 158.8 ล้านคน ในปี 2011

ข้อมูลประชากรอินเดีย

หน่วย :ล้านคน

                                                       2011      2001        เพิ่มขึ้น %
รวม                                                1,210.10     1,028             18
   ชาย                                                623.7     532.2            9.5
   หญิง                                                586.4     496.5            8.9
อัตราส่วน หญิง (หน่วย :คน) ต่อ ชาย 1,000 คน               940.27    932.91           7.36
ความหนาแน่นของประชากร คน / ตารางกิโลเมตร                  382       325           17.5
ช่วงอายุ  0-6 ปี                                           158       163           -0.5
   ชาย                                                 82.9        85           -0.2
   หญิง                                                 75.8      78.8          -0.29
อัตราส่วน หญิง  ต่อ ชาย 1,000 คน (0-6 ปี)                 914.23    927.31          13.08
อัตราการรู้หนังสือ %                                       74.04     64.83           9.21
   ชาย                                                82.14     75.26           6.88
   หญิง                                                65.46     53.67          11.79

รัฐที่มีประชากรมากที่สุด ได้แก่ อุตรประเทศ มหารัชตระ (มหาราษฏร์) พิหาร เบกอลตะวันตก อานธรประเทศ มัธยประเทศ และทมิฬนาฑู ขณะที่รัฐที่มีประชากรน้อยที่สุด ได้แก่ อุตรขันต์และ จามูแคสเมียร์ สำหรับรัฐที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดได้แก่ กรุงนิวเดลี (11,297 คน/ตารางกิโลเมตร) และจัณฑีครห์ (9,252 คน/ตารางกิโลเมตร) ตามลำดับ ส่วนรัฐที่มีความแน่นน้อยที่สุด คือ อรุณาจัลประเทศ (17 คน/ตารางกิโลเมตร) และ หมู่เกาะอันดามันและนิโคบา (16 คน/ตารางกิโลเมตร) ตามลำดับ ส่วนเขตที่มีคนหนาแน่นมากที่สุดคือเขตตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงนิวเดลี (37,346 คน/ตารางกิโลเมตร) และเขตเทศบาลเมืองเจนไนในรัฐทมิฬนาฑู (26,903 คน/ตารางกิโลเมตร) สำหรับเขตที่มีความหนาแน่นน้อยที่สุดคือเขต Dibang Valley ในรัฐอรุณาจัลประเทศ (1 คน/ตารางกิโลเมตร) และ Samba ของจามมูและแคสเมียร์ (2 คน/ตารางกิโลเมตร)

ผลการสำมะโนยังแสดงผลในด้านบวกมากขึ้นในหลายด้าน ได้แก่ ด้านอัตราส่วนเพศชาย-หญิง และอัตราการรู้หนังสือโดยเฉพาะในกลุ่มเพศหญิง อัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชาย โดยในเพศชายทุก 1,000 -คน- มีเพศหญิงเพิ่มขึ้นจาก 932 คนในปี พ.ศ. 2544 เป็น 940 ในปี 2544 แต่เมื่อดูลึกลงไปแล้ว พบว่าอัตราส่วนเพศชาย-หญิงในช่วงวัย 0-6 ในเพศชายทุก 1000 คนมีจำนวนเพศหญิงลดลงจาก 927 ในปี 2544 เป็น 914 คนในปี 2554 ต่ำสุดนับจากที่อินเดียได้รับเอกราช การเปลี่ยนแปลงนี้นักประชากรศาสตร์เห็นว่าน่าจะเกิดจาการที่ภาวะโภชนาการที่ดีขึ้นและการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของเพศหญิงมีมากขึ้น ขณะที่การลดลงของสัดส่วนเพศหญิงในวัยเด็กตอนต้นเกิดจากค่านิยมของการมีลูกชายยังมีอยู่อย่างกว้างขวางในอินเดีย ทำให้มีการลักลอบการทำแท้งทารกในครรภ์ที่เป็นเพศหญิ่ง

นายไพศาล มะระพฤกษ์วรรณ ผอ. สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองเจนไน กล่าวว่าผลการสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับผลการศึกษาของสำนักงานฯ ที่พบว่า มีเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ 10 เมืองที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าไทย ได้แก่ มุมไบ (รัฐมหารัชตระ)นิวเดลี โกลกัตตา (เบงกอลตะวันตก) บังกะลอร์(กรณาฏกะ) เจนไน (ทมิฬนาฑู) ไฮเดอราบัด (อานธรประเทศ) อาห์เมดาบัด (กุจรัต) ปูเน่ (รัฐมหารัชตระ) สุรัติ (กุจรัต) และกานปูร์(อุตรประเทศ) ซึ่งล้วนเป็นเมืองที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงและประชากรมีรายได้ระดับปานกลาง-สูง อีกทั้งมีปัจจัยเอื้อต่อการค้าการลงทุนในหลายด้าน ทั้งอุตสาหกรรมและบริการ อาทิ ประชากรในวัยแรงงานจำนวนมากทั้งแรงงานท้องถิ่นและแรงงานจากพื้นที่ชนบทที่หลั่งไหลเข้ามาทำงานในเมืองเหล่านี้มากขึ้น ค่าจ้างแรงงานโดยเฉลี่ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ความพร้อมด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนมากกว่าพื้นที่อื่นโดยเปรียบเทียบ จึงเป็นตลาดเป้าหมายที่กรมส่งเสริมการส่งออกมุ่งเน้นเจาะตลาดในปัจจุบัน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ