การวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 7, 2011 13:39 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1) ภาวะเศรษฐกิจ ปี 2553

1. สิงคโปร์ยังเป็นตลาดคู่ค้าสำคัญของไทย การนำเข้าจากไทยในปี 2553 (ประเทศคู่ค้าอันดับ 9) มีมูลค่า 10,268.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.36 ทั้งนี้ ประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยในอาเซียน คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ส่วนประเทศคู่แข่งที่สำคัญอื่นๆ คือ จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน และอินเดีย

2. การค้ารวมของสิงคโปร์ในปี 2553 มีมูลค่า 661,578.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.67 ประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ซาอุดิอาระเบีย ไทย และอินเดีย

3. การเจริญเติบโตเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 14.5 และคาดการณ์ว่า ในปี 2554 จะมีอัตราขยายตัวร้อยละ 4-6

2) ปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการ เติบโตเศรษฐกิจของสิงคโปร์ปี 2553 ให้ดีขึ้น ได้แก่

(1) การส่งเสริมให้ไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะ :

  • การเข้าไปลงทุนในจีน ซึ่ง Mr. Goh Chok Tong, Senior Minister สิงคโปร์ ให้คำแนะนำแก่บริษัทขนาดเล็กของสิงคโปร์เพื่อการเข้าไปลงทุนในจีน ได้แก่ (1) ใช้สิทธิประโยชน์จาก China-Singapore Free Trade Agreement เพื่อลดค่าใช้จ่ายต้นทุน (2) ใช้ประโยชน์จาก Business Councils ที่มีสัมพันธไมตรีกับภาครัฐซึ่งดูแลมณฑลในจีน เพื่อลดความเสี่ยงการเริ่มต้นในการลงทุน และ (3) ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งของ Singapore-Chinese Business Association (SCBA) เพื่อช่วยเหลือและเพิ่มโอกาสในการลงทุนและดำเนินธุรกิจการค้าในจีนที่กำลังเติบโตอย่างมาก ทั้งนี้ ด้วยวัฒนธรรมและภาษาพูดที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงสัมพันธไมตรีอันแน่นแฟ้นระหว่างสิงคโปร์กับจีน ซึ่งจีนเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับ 3 ของสิงคโปร์ อีกทั้ง บริษัทจีนตั้งอยูในสิงคโปร์มากกว่า 3,000 ราย โดย 160 บริษัท ขึ้นทะเบียนหุ้นกับ Singapore Exchange รวมถึงสิงคโปร์มีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาต่างๆในจีน เช่น Suzhou Industrial Park และ Tianjin Eco-City ทำให้คาดหวังว่า การเข้าไปลงทุนในจีนจะเป็นไปด้วยความสะดวกและมีความเสี่ยงน้อย
  • การขยายธุรกิจในอินโดนีเซียของธนาคารสำคัญ คือ ธนาคาร DBS, UOB และ OCBC ซึ่งมุ่งเน้นในด้านการให้ยืมเงินเป็นสำคัญ โดยธนาคาร DBS Indonesia และ OCBC NISP ได้รับความนิยมจากลูกค้าที่เป็นบริษัท และธนาคาร UOB Buana ได้รับความนิยมด้าน Consumer Banking และการบริการเครดิตการ์ด ทั้งนี้ ในปัจจุบัน แนวโน้มของเศรษฐีอินโดนีเซียจะเปลี่ยนจากการนำเงินสดเพื่อหาผลกำไรในต่างประเทศ เป็นการใช้บริการธนาคารในการจัดการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศให้เกิดรายได้แทน อนึ่ง กิจการและมูลค่าทรัพย์สินของธนาคารทั้ง 3 แห่ง ณ วันที่ 30 กันยายน 2553 มีดังนี้ 1) DBS Indonesia มีสาขา 40 แห่งใน 11 เมือง มูลค่าทรัพย์สิน 4.03 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ เงินที่ให้กู้รวม 2.94 พันล้านเหรียญฯ 2) OCBC NISP มีสาขา 411 แห่ง ใน 62 เมือง มูลค่าทรัพย์สิน 6.03 พันล้านเหรียญฯ เงินที่ให้กู้รวม 3.78 พันล้านเหรียญฯ 3) UOB Buana มีสาขา 213 แห่ง ใน 29 เมือง มูลค่าทรัพย์สิน 5.6 พันล้านเหรียญฯ เงินที่ให้กู้รวม 3.92 พันล้านเหรียญฯ
  • การร่วมลงทุนกับบริษัทเวียดนาม ประมาณมูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 390 ล้านเหรียญสิงคโปร์) เพื่อทำการพัฒนาโครงการที่พักอาศัยในเมืองโฮจิมินส์ โดยโครงการใหญ่ที่สุดคือ Gated Villa มูลค่า 115 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นความร่วมมือระหว่าง Keppel Land สิงคโปร์ กับ Tien Phuoc เวียดนาม สำหรับในโครงการอื่นๆ รวมถึงโครงการ 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ระหว่าง CapitaLand -สิงคโปร์ และ No Va Land Investment Group Corporation —เวียดนาม เป็นโครงการสำหรับผู้บริโภคระดับกลาง ทั้งนี้
ในปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นประเทศอันดับ 5 ที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม มีเงินลงทุนประมาณ 17.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ใน 851 โครงการ ที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างศูนย์อุตสาหกรรม การพัฒนาท่าเรือ และการสร้างที่พักอาศัย สำหรับการค้ารวมระหว่างกันในปี 2551 มีมูลค่า 13.4 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ และเวียดนามเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 14 ของสิงคโปร์
  • การส่งเสริมการขยายธุรกิจไปยังอินเดียและรัสเซีย โดย International Enterprise (IE) Singapore จัดให้มีการอบรมภายใต้ Business Fellowship (iBF) Programme ซึ่ง IE ให้การสนับสนุนบริษัทที่สนใจเข้าร่วมการอบรม สำหรับค่าเข้าร่วมอบรมร้อยละ 70 และค่าตั๋วเครื่องบินร้อยละ 50 หัวข้อในการอบรมได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและแนวโน้มสังคม ระบบการเงิน กฎ/ระเบียบต่างๆ ลักษณะการทำงานของบุคคลากร การบริหารจัดการธุรกิจ ตลาดการค้าปลีก ประสบการณ์ของบริษัทที่ได้เข้าไปลงทุนแล้ว รวมถึงการเดินทางไปอบรมในอินเดีย (ระหว่างวันที่13-19 ตุลาคม 2553) และรัสเซีย (ระหว่างวันที่ 8-11 พฤศจิกายน 2553) ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก Tata Management Training Center (อินเดีย) และ Skolkovo Moscow School of Management : MSM (กรุงมอสโคว์, รัสเซีย)
  • การสร้างโรงงานผลิตน้ำใน UAE ของบริษัท Sembcorp Industries ซึ่งได้สัญญามูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดย Sembcorp Utilities ได้ลงนาม Memorandum of Understanding (MOU) กับ Abu Dhabi Water and Electricity Authority สร้างโรงงานผลิตน้ำที่จะเริ่มดำเนินการได้ในปลายปี 2558 โดยใช้ระบบการกรอง “reverse osmosis” ในการแยกเกลือและสารปนเปื้อนอื่นๆออกจากโมเลกุลน้ำ สามารถผลิตน้ำดื่มได้ 136.5 ลิตรต่อวัน และจำหน่ายให้ Abu Dhabi Water and Electricity Authority ภายใต้ข้อตกลง 20 ปี นอกจากนี้ บริษัทฯได้ลงทุนมูลค่า 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2549 สร้าง Fujairah 1 (โรงงานผลิตน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก) และโรงงานผลิตน้ำ Salalah, Oman
  • การขยายธุรกิจไปยังจีนและเวียดนาม ของบริษัท CapitaLand ในธุรกิจการก่อสร้างที่พักอาศัยในเขตชุมชนเมือง เงินลงทุนประมาณ 300-500 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ในการสร้างบ้านราคาพอสมควรจำนวน 50,000 หลัง บริษัทฯ เชื่อมั่นว่า จะได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดจีนและเวียดนาม และคาดว่า จะมีรายได้ประมาณ 2 พันล้านเหรียญสิงคโปร์จากเวียดนามภายใน 3-5 ปีข้างหน้า สำหรับในตลาดจีน ทำรายได้คิดเป็นร้อยละ 35-45 ของธุรกิจบริษัทฯ ซึ่งมีโครงการสร้างบ้านจำนวน 16,000 หลัง โดยมีเป้าหมายการจำหน่ายปีละ 3,000 หลัง ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2553 สามารถจำหน่ายบ้านในเมืองคุนซาน ปักกิ่ง และเฉิงตู ได้ 1,200 หลัง

(2) การสร้างสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ที่สำคัญ ได้แก่

  • สิงคโปร์กับดูไบ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ได้มีการลงนาม Memorandum of Understanding (MOU) ระหว่าง Maritime and Port Authority of Singapore และ Dubai Maritime City Authority (DMCA) ซึ่งทำให้ MPA and DMCA มีความร่วมมมือในการวางนโยบายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับท่าจอดเรือและการเดินเรือ นอกจากนี้ ครอบคลุมขอบเขตความร่วมมืออื่นๆ ได้แก่ การส่งเสริมการป้องกันสภาวะการเดินเรือ การจัดการฝึกอบรมและค้นคว้าเกี่ยวกับการเดินเรือ ทั้งนี้ MPA ได้ทำงานร่วมกับ United Arab Emirates ส่งเสริมความปลอดภัยการเดินทางทะเล และปกป้องสภาวะการเดินทะเลใน Straits of Malacca และ Singapore (SOMS) ด้วย
  • สิงคโปร์กับ Mauritius ได้ลงนาม Air Services Agreement (ASA) โดยผู้ลงนามคือ Mr. Lee, Yuen Hee, Deputy Secretary (International) for Ministry of Transport ของสิงคโปร์ และ Mr. Suresh Chundre Seeballuck, Secretary to the Cabinet and Head of Civil Service ของ Mauritius ข้อตกลงนี้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นด้าน Civil Aviation ระหว่างสิงคโปร์กับ Mauritius ให้สามารถดำเนินการเที่ยวบินบริการขนส่งสินค้าอย่างยืดหยุ่น และการบริการผู้โดยสารจำนวน 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ระหว่าง 2 ประเทศและปลายทางอื่นๆที่ทั้ง 2 ประเทศมีข้อตกลง นอกจากความร่วมมือระหว่างกันด้านการบิน/พัฒนาเครือข่ายการบินแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมทั้งด้านการค้าและการท่องเที่ยวด้วย
  • สิงคโปร์กับ United Kingdom (UK) มีสัมพันธไมตรีต่อกันมาช้านาน UK เป็นอันดับ 2 ที่ลงทุนและมีบริษัทมากกว่า 2,900 แห่งในสิงคโปร์ ที่สำคัญๆ ได้แก่ Glaxo SmithKline (GSK), Rolls-royce, Shell Group, Barclays, Diageo, Standart Chartered Bank, HSBC, BP และ Royal Bank of Scothland สำหรับสิงคโปร์เข้าไปลงทุนใน UK มูลค่า 25.1 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ (2551) บริษัทสำคัญได้แก่ SembCorp, ComfortDelgro และ Singapore Technologies ทั้งนี้ UK เป็นประเทศคู่ค้าของสิงคโปร์อันดับที่ 15 การค้ารวมระหว่างกันมีมูลค่า 13.7 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ (คิดเป็นเกือบร้อยละ 16 ของการค้ารวมของสิงคโปร์กับ EU) และสิงคโปร์กับ UK ตั้งเป้าหมายในความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่างๆในอนาคต ได้แก่ การผลิตสินค้ากลุ่ม Transport Engineering ได้แก่ Aerospace, Energy and Chemical, Pharmaceuticals & Biomedical Sciences และความร่วมมือ FTA ( EU-Singapore FTA : EUSFTA)

(3) การส่งเสริม R&D และธุรกิจเกี่ยวกับ Clean Energy ได้แก่

  • ภาครัฐสนับสนุน R&D ช่วงปี 2554-2558 ได้กำหนดวงเงินไว้ 16.1 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากมูลค่า 13.6 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ที่ให้การสนับสนุนในช่วงปี 2549-2553 โดยเชื่อว่า R&D จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว มีความสำเร็จมั่นคงในระยะยาว และยกระดับให้สิงคโปร์เป็นประเทศเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความรู้และการสร้างสรร รวมถึงมีผลต่อไปยังด้านทรัพย์สินทางปัญญา ให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่สามารถแข่งขันทางการค้า มีระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมสูงเพื่อโอกาสการเปิดตัวสินค้าใหม่ในตลาดนานาชาติ ปัจจุบันความต้องการของโลกหันมาสู่เอเชีย ดังนั้น การมีศักยภาพและประสิทธิภาพด้าน R&D จะส่งให้สิงคโปร์สามารถเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติที่หันเหสู่ตลาดเอเชียให้เข้ามาลงทุน R&D ในสิงคโปร์มากขึ้นต่อไป
  • การสนับสนุน Biomedical Sciences R&D ซึ่ง Biomedical Sciences (BMS) Executive Committee ได้จัดสรรเงิน 3.7 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ เพื่อการค้นคว้าวิจัยในช่วงปี 2554-2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากช่วงปี 2549-2553 ผลผลิต BMS ในปี 2552 มูลค่า 21 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า ของมูลค่า 6.3 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ในปี 2543 และในส่วนของการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็น 13,000 อัตรา จากเดิมจำนวน 6,000 อัตรา ในปัจจุบัน บริษัท Biomedical Sciences จากทั่วโลกมากกว่า 100 ราย จัดตั้งสำนักงานในสิงคโปร์ ที่สำคัญได้แก่ Abbott, GlaxoSmithKline, Merck Sharp & Dohme, Pfizer, Roche, Becton Dickinson, Medtronic, Siemens และ Hill-Rom
  • การส่งเสริมตลาดการค้าสินค้าคาร์บอนในสิงคโปร์ให้มีการเติบโตขึ้น โดยมีบริษัทใหม่ๆจัดตั้งสำนักงานขึ้นในสิงคโปร์ เพื่อการค้าคาร์บอนในเอเชีย เนื่องจากสิงคโปร์เป็นศูนย์การเงินนานาชาติสำคัญ จึงเป็นที่นิยมสำหรับผู้ค้า ได้แก่ Tricorona และ Gazprom เป็นผู้ค้าคาร์บอนชั้นนำของโลกตั้งสำนักงานในสิงคโปร์ ถึงปัจจุบัน มีผู้ค้าคาร์บอน 30 บริษัทในสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจาก 2-3 รายเมื่อ 2-3 ปีก่อน ตลาดการค้าคาร์บอนทั่วโลกได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว การเติบโตในปี 2551 มีมูลค่า 90 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 163 พันล้านเหรียญสิงคโปร์) คาดว่า ในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 1.2 ล้านล้านปอนด์ สำหรับสิงคโปร์ภาครัฐส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าวโดยให้การสนับสนุนบริษัทด้านค่าใช้จ่ายการพัฒนาข้อมูลสำหรับ Carbon Credit Projects ที่ได้รับประทับตราจาก United Nations ภายใต้ Clean Development Mechanism (CDM) Scheme รวมถึงให้ผู้ค้าคาร์บอนในสิงคโปร์ได้รับการลดหย่อนภาษีอีกด้วย
  • การจัดตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อ Clean Energy ของสิงคโปร์ ใช้ชื่อว่า ERI@N (Energy Research Institute @ Nanyang Technological University (NTU) เพื่อทำการศึกษาวิจัยในภาคที่ส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตและรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การลงทุนด้านพลังงานของบริษัทสำคัญๆ ดังนี้
  • Temasek ลงทุนด้านพลังงาน โดยการจัดซื้อหุ้นบริษัทพลังงานในประเทศต่างๆ ได้แก่ (1) บราซิล : บริษัท Odebrecht Oil and Gas (OOG) มูลค่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (2) สหรัฐฯ : บริษัท Chesapeake Energy Corp มูลค่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ (3) อินเดีย : บริษัท GMR Energy มูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ Solar power, electric vehicles และ smart power grids รวมถึง Energy materials, wind energy และ sustainable buildings ซึ่งจะได้รับเงินทุนสนับสนุน 200 ล้านเหรียญสิงคโปร์จากหลายหน่วยงาน ได้แก่ Economic Development Board (EDB), National Research Foundation (NRF) และ Agency for Science, Technology and Research (A*Star) ทั้งนี้ ERI@N จะทำการศึกษาวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง 6 แห่ง คือ Austrian Institute of Technology, Ecole Poly-technique Federale de Lausanne (Switzerland), Imperial College London, University of Science and Technology (Norway), University of Cambridge และ Technical University of Munich เพื่อแก้ไขปัญหาพลังงานทั้งของสิงคโปร์และทั่วโลก
  • การส่งเสริม Biofuel ทำจากน้ำมันพืช ไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากเป็น renewable resource และราคาถูกกว่า (ราคา 1.07 เหรียญสิงคโปร์/ลิตร) commercial diesel (ราคา 1.30 เหรียญสิงคโปร์/ลิตร) ในปัจจุบัน มี 2 บริษัท ลงทุนในการผลิต Biofuel คือ บริษัท Alpha Biofuels สามารถผลิตได้ 2.4 ล้านลิตรต่อปี มีลูกค้า ได้แก่ Smart Taxis, SingTel และ Starbucks และบริษัท Fuelogical สามารถผลิตได้ประมาณ 17 ล้านลิตรต่อปี
  • การส่งเสริม Electric Vehicle (EV) หน่วยงาน Energy Market Authority (EMA) และ Land Transport Authority (LTA) ได้แต่งตั้งบริษัท Robert Bosch (SEA) Pte. Ltd. (“Bosch”) เพื่อออกแบบ พัฒนา เตรียมพร้อมในการดำเนินการและซ่อมบำรุงสถานีเติมพลังงานแก่ EV นับเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการพัฒนา EV ซึ่งสิงคโปร์เป็นแห่งแรกนอกเยอรมันในการทดสอบระบบสถานีเติมพลังงานที่ผลิตและสร้างโดย Bosch โดยในครั้งแรกจะใช้กับรถยนต์ Mitsubishi i-MiEVs ที่จะพร้อมใช้ในปี 2554 เพื่อส่งเสริมให้มีการคมนาคมทางถนนมีความสอาดกว่า และลดสารคาร์บอน ทั้งนี้ Bosch จะสร้างสถานีธรรมดาเติมพลังงานจำนวน 25 แห่ง (เติมเต็มใช้เวลา 8 ชั่วโมง) และสถานีด่วนจำนวน 1 แห่ง (เติมเต็มใช้เวลา 45 นาที) ส่งเสริมให้สิงคโปร์เป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด ทั้งนี้ บริษัทที่เข้าร่วมโปรแกรมการพัฒนา EV สามารถยื่นขอการลดหย่อนภาษี Additional Registration Fees (ARF), Certificate of Entitlement (COE), Road tax และ Excise duty ได้เป็นระยะเวลา 6 ปี

(4) นอกจากนี้ สิงคโปร์มุ่งเน้นให้เป็นเมืองที่ดีขึ้นและมีรายได้สูงขึ้นภายในปี 2560 โดยตั้งเป้าหมายให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดของโลก และให้เป็นหนึ่งใน 10 อันดับแรกของโลก เช่นเดียวกับ Zurich, Vienna, Vancouver และ Munich ในปัจจุบันสิงคโปร์ได้รับอันดับที่ 28 จากการสำรวจของ Mercer (Human Resource Consulting Firm) สำหรับรายได้เฉลี่ย ตั้งเป้าหมายให้มีอัตราเพิ่มขึ้นอีก 1/3 ภายใน 10 ปีข้างหน้า ปัจจุบันรายได้เฉลี่ยประมาณ 2,400 เหรียญสิงคโปร์ต่อเดือน หากสิงคโปร์ทำให้ประเทศมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นเป็น 3,100 เหรียญสิงคโปร์ต่อเดือนในระยะ 10 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ สาขาต่างๆที่สามารถส่งเสริมให้มีการเติบโต ได้แก่ การสร้างเมืองทันสมัย การบริหารจัดการน้ำ การให้บริการแก่กลุ่มชนรายได้ปานกลางในภูมิภาคในด้านการรักษาสุขภาพ-การท่องเที่ยว-การศึกษา-การพักผ่อนหย่อนใจและการเงิน ทั้งนี้ ภาครัฐได้จัดตั้ง Economic Strategies Committee (ESC) ทำการศึกษาและเสนอข้อคิดเห็นในการสร้างให้ประเทศมีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ซึ่งได้เสนอให้ส่งเสริมความ สามารถในการผลิตให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 2-3 ต่อปี (จากเดิมร้อยละ 1)

(5) การส่งเสริมให้สิงคโปร์มีการเติบโตก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในอนาคต

กระทรวงการคลังสิงคโปร์ประกาศเป้าหมายสำคัญ 6 ประการเพื่อส่งเสริมให้ประเทศเติบโตก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในอนาคต สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1) Economic growth that sustainable : โดยบ่งชี้ภาคอุตสาหกรรมสำคัญที่ทำให้เกิดการเติบโต การสร้างโอกาส

การจ้างงาน และพัฒนาบุคคลากรให้สามารถแข่งขันได้กับนานาชาติ

2) Having a strong social security framework : ให้ความมั่นใจเสถียรภาพด้านการเงิน ส่งเสริมและพัฒนาการ

รักษาสุขอนามัยและที่พักอาศัยซึ่งประชากรสามารถจ่ายได้โดยไม่มีความลำบาก

3) A world-class environment and infrastructure : ให้เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาของโลก การคมนาคมขนส่งสะดวก

และสภาวะแวดล้อมรักธรรมชาติ

4) A Singapore that is secure and influential : การเตรียมพร้อมสำหรับช่วงวิกฤตต่างๆ และสร้างให้มีความ

เป็นอยู่ที่ดี

5) Having strong families, cohesive society : ให้มีการศึกษาที่ได้ระดับนานาชาติ ให้ความสำคัญต่อประชากร

6) Effective government : สร้างบุคคลากรให้เป็นผู้นำ ควบคุมมวลชนให้ตั้งอยู่ในความสงบและปราศจากอาวุธปราบ

การคอร์รัปชั่น เจ้าหน้าที่ภาครัฐปฏิบัติงานด้วยความตั้งใจและสุจริต และการใช้เครือข่ายข้อมูลให้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

3) การคาดการณ์เศรษฐกิจสิงคโปร์ ปี 2554

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์คาดหวังว่า การเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ ปี 2554 ยังคงอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจาก (1) การสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและระดับการเติบโตที่มั่นคงของเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนา ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมการผลิตของสิงคโปร์ (2) ในภูมิภาคเอเชีย ความต้องการสินค้าภายในภูมิภาคจะส่งผลดีต่อการค้า Intra-regional ให้มีความคล่องตัวและส่งผลประโยชน์โดยตรงต่อกลุ่มการค้าส่งของสิงคโปร์ (3) นักท่องเที่ยวเยือนสิงคโปร์มีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศเศรษฐกิจสำคัญในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นตัวสนับสนุนให้สิงคโปร์มีการเติบโตของกลุ่มธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว (4) ปัจจัยจากการค้าภายในประเทศ ได้แก่ การขยายกำลังการผลิตของสินค้าอิเล็คทรอนิกส์และ Biomedical ที่จะเป็นตัวสำคัญส่งเสริมให้มีการเติบโตในภาค อุตสาหกรรมการผลิตในปี 2554 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงสำคัญยังคงมีอยู่ 3 ประการ คือ (1) การที่เศรษฐกิจ EU ยังมีความกังวลเกี่ยวกับหนี้สินที่ยังคงคาราคาซังอยู่ (2) ปัญหาอัตราเงินเฟ้อในเอเชีย อาจจะทำให้เกิดนโยบายการคลังที่เคร่งครัดขึ้นอีก และ (3) ปัญหาแรงงานขาดแคลน ดังนั้น จากปัจจัยสำคัญ 3 ประการดังกล่าว ทำให้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ ปี 2554 เป็นร้อยละ 4.0-6.0

4) คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์ ปี 2554

หน่วยงาน Monetary Authority of Singapore (MAS) ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ปี 2554 โดยจัดเป็น 2 ประเภท คือ

1) การคาดการณ์โดยใช้ระบบการคิดที่ไม่รวมถึงราคาที่พักอาศัยและรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อ ปี 2554 จะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์เดิม ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.0-3.0

2) การคาดการณ์โดยรวมถึงราคาที่พักอาศัยและรถยนต์ส่วนตัว จะทำให้อัตราเงินเฟ้อ ปี 2554 ปรับเปลี่ยนจากร้อยละ 2.0-3.0 เป็น ร้อยละ 3.0-4.0 ทั้งนี้ คาดว่า ในช่วง 2-3 เดือนแรกของปี 2554 อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.0-6.0 และหลังจากนั้น อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับปานกลางจนถึงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2554 ทำให้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ปี 2554 เป็น ร้อยละ 3.0-4.0

(ทั้งนี้ สิงคโปร์ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ แทนการใช้อัตราดอกเบี้ย)

5) SWOT Analysis

ตลาด เป็นตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสูง พึ่งการนำเข้า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็น Trading Firm นำเข้าสินค้าจากทั่วโลก สามารถเป็นฐานกระจายสินค้าไทยไปในภูมิภาคและทั่วโลก ตลาดมีการเจริญเติบโตขยายตัวได้ เนื่องจากมีการลงทุนในการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสินค้าอุปกรณ์การก่อสร้างเฟอร์นิเจอร์ และของใช้ตกแต่งสถานที่ นอกจากนี้ ธุรกิจบริการเป็นหัวใจสำคัญ จึงทำให้สินค้าอาหาร/เครื่องดื่ม มีโอกาสที่จะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น

Strength

1. นโยบายการค้าตลาดเสรี ไม่มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้า (ยกเว้นสินค้า 4 รายการ คือ 1. เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ 2. บุหรี่และยาสูบ 3. น้ำมันปิโตรเลียม และ 4. รถยนต์/รถจักรยานยนต์) มีแต่การเก็บภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax : GST) ร้อยละ 7

2. เป็นแหล่งกระจายสินค้าไทยไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก

3. มีระบบ Logistics ที่มีประสิทธิภาพ และมีความพร้อมในด้าน IT

Weakness

ตลาดผู้บริโภคมีเพียง 5.08 ล้านคน (มิย. 2553) ทำให้ส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทยต้องแข่งขันกับประเทศคู่ค้าสำคัญๆอื่นๆ ที่สำคัญ อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย และจีน

Opportunity

โอกาสสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในการทดสอบตลาดก่อนที่จะขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ได้แก่ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เป็นต้น

Threat

การแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะสินค้าจากจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

6) แนวโน้มของสินค้าที่อยู่ในความสนใจของสิงคโปร์

สินค้าสำคัญๆที่สิงคโปร์นำเข้าจากไทยได้แก่ แผงวงจรอิเล็คทรอนิกส์ ส่วนประกอบและเครื่องใช้ในสำนักงาน เครื่องคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ ข้าวและอาหารทะเลสด/แช่แข็ง ผัก-ผลไม้ นอกจากสินค้าดังกล่าวจะใช้บริโภค-อุปโภคในสิงคโปร์แล้ว ยังจะนำไปส่งออกอีกต่อหนึ่ง (re-export) ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจสิงคโปร์เป็นอย่างยิ่ง ในส่วนของการเป็นคู่แข่งกับไทย สิงคโปร์ต้องการพัฒนาให้ขึ้นมาเป็นผู้นำในด้านการศึกษา การสาธารณสุข อุตสาหกรรมสื่อ (mass media) การบิน การกลั่นน้ำมัน และการจัดการประชุมและนิทรรศการระหว่างประเทศ (meeting, incentive, convention and exhibition: MICE)

ลู่ทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนาคตระหว่างสองฝ่ายยังมีอีกมาก อาทิ การที่ผู้ส่งออกสินค้าของไทยติดต่อโดยตรงกับผู้นำเข้าสิงคโปร์ เพื่อส่งออกสินค้าสำหรับการบริโภคภายในประเทศ หรือใช้สิงคโปร์เป็น Gateway ในการส่งออกต่อสินค้าไทยไปยังประเทศที่ 3 ซึ่งพ่อค้าสิงคโปร์มีความเชี่ยวชาญอย่างมาก

การขยายตลาดธุรกิจบริการ ซึ่งด้านที่เด่นของไทย ได้แก่ อาหารไทย และนวดแผนไทย นอกจากจะส่งผลให้ไทยได้รับชื่อเสียงและมีภาพลักษณ์ที่ดี ยังทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้าประเภทวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารไทย น้ำมันนวด/ลูกประคบและผลิตภัณฑ์สปาของไทย ทั้งนี้ จากการที่กรมส่งเสริมการส่งออกได้มีโครงการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ร้านอาหารไทยที่ได้รับ Thai Select ในสิงคโปร์ ทำให้สามารถสร้างความมีมาตรฐานอาหารไทยและการยกระดับพ่อครัว/แม่ครัวไทย เพื่อให้ชาวสิงคโปร์นิยมบริโภคอาหารไทย รวมถึงได้เผยแพร่เอกลักษณ์วัฒนธรรมการบริโภคของไทย และสร้างงานให้กับคนไทยในสิงคโปร์

ในด้านสินค้า OTOP ประเภทสินค้าที่ได้รับความนิยมในตลาดสิงคโปร์ ได้แก่ ของใช้ในครัวเรือนที่ทำด้วยไม้ ของประดับตกแต่งบ้าน ดอกไม้ประดิษฐ์เหมือนจริง และผลิตภัณฑ์สปาที่ทำจากสมุนไพร เป็นต้น นอกจากจะเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทยในการติดต่อค้าขายกับสิงคโปร์แล้ว ยังสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้มากขึ้นด้วย

สินค้าไทยที่มีศักยภาพในตลาดสิงคโปร์ ได้แก่ 1) อาหาร(สด/แช่เย็น/แช่แข็ง ผักและผลไม้ ข้าวหอมมะลิ) 2) รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ 3) เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ 4) เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ 5) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 6) แก้วและกระจกอื่นๆเพื่อการก่อสร้าง 7) เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ 8) เคมีภัณฑ์ 9) ผลิตภัณฑ์สปา 10) อัญมณีและเครื่องประดับแฟชั่น

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญของสิงคโปร์ ได้แก่ 1) อิเล็คทรอนิกส์ 2) เคมีภัณฑ์ 3) Biomedical 4) เภสัชภัณฑ์ 5) ธุรกิจบริการ โดยเฉพาะการโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร เติบโตมาก

ภาคผนวก

          หน่วยราชการไทยที่สำคัญในสิงคโปร์          :

Royal Thai Embassy

370 Orchard Road, Singapore 238870

Tel : (65) 6737 2644, 6737 2158

Fax : (65) 6732 0778

Email : thaisgp@singnet.com.sg

Office Hours : 09.00-12.00 hrs., and 14.00-17.00 hrs., Monday-Friday

Office of Commercial Affairs (Thailand Trade Officee)

Address : 370 Orchard Road, Royal Thai Embassy, Singapore 238870

Tel : (65) 6737 3060, 6732 7769

Fax : (65) 6732 2458

Email : enquiry@thaitrade.sg

Office of Labour Affairs

Address : 180 Cecil Street, Bangkok Bank Building, #04-01A, Singapore 069546

Tel : (65) 6224 9940, 6224 1797

Fax : (65) 6225 9995

Email : minister_counsellor@thaitrade.org.sg

Office of Defence Attache

Address : 53 Branksome Road, Singapore 439586

Tel : (65) 6346 6372

Fax : (65) 6346 6385

Email : thnasing@singnet.com.sg

Tourism Authority of Thailand

Address : 370 Orchard, C/O Royal Thai Embassy, Singapore 238870

Tel : (65) 6235 7901, 6235 7694

Fax : (65) 6733 5653

Email : tatsin@singnet.com.sg

ชื่อ ที่ติดต่อหน่วยงานส่งเสริมการค้าของประเทศสิงคโปร์ในประเทศไทย

International Enterprise Singapore c/o Embassy of The Republic of Singapore

183 South Sathorn Road, Bangkok 10120, Thailand

Tel: 662-287 0897 Fax: 662-287 0971

E-mail: Bangkok@iesingapore.gov.sg

ผู้จัดทำ : สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ