สถานการณ์สินค้ายานยนต์และยางรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น เดือนมีนาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 11, 2011 13:45 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1.จำนวนการผลิตรถยนต์ของประเทศญี่ปุ่นแบ่งแยกตามผู้ผลิตในเดือนมกราคม 2554

2.ความเคลื่อนไหวที่สำคัญในตลาดรถยนต์ญี่ปุ่น

ในวันที่ 11 มีนาคม 2554 เวลาโดยประมาณ 14.46 น. ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางทิศตะวันออกราว 300 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนวัดได้ 9.0 ริกเตอร์ ประชาชนบนเกาะฮอนชูสามารถรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนทั่วทั้งเกาะ นอกจากนั้นแผ่นดินไหวยังก่อให้เกิดสึนามิซัดถล่มชายฝั่งบริเวณเขต โทะโฮกุ อีกหลายครั้ง ประชาชนเสียชีวิตและสูญหายราว 20,000 คน นับเป็นความเสียหายครั้งร้ายแรงที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ความสูญเสียมีจำนวนมากจนปัจจุบันยังประเมินค่าไม่ได้ รวมถึงปัญหาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อีก 6 โรงที่จังหวัดฟุกุชิมะซึ่งได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากแผ่นดินไหว ยังคงปล่อยกัมมันตภาพรังสีในระดับที่ยังไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่คงสร้างความกังวลใจให้ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงเป็นอันมาก โดยเฉพาะจังหวัดมิยากิ เซนได และฟุกุชิมะ และล่าสุดวันที่ 24 มี.ค. ได้พบการปนเปื้อนของสารกัมมันตภาพรังสีในน้ำประปาที่กรุงโตเกียวแล้ว

อุตสาหกรรมรถยนต์และส่วนประกอบได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากบริเวณ โทโฮกุ เป็นเขตอุตสาหกรรม สำคัญที่อยู่ใกล้กับกรุงโตเกียว โดยจะขอรายงานโดยสรุปดังนี้

1. จากเหตุภัยภิบัติในครั้งนี้ โตโยต้า มอเตอร์ ได้หยุดพักการผลิตที่โรงงาน 14 แห่ง ในทวีปอเมริกาเหนือในวันเสาร์ (12 มี.ค.) ที่ผ่านมา เพิ่มเติมจากการหยุดโรงงานในประเทศทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถส่งชิ้นส่วนจากโรงงานในญี่ปุ่นไปยังสหรัฐฯได้ และสต็อกของชิ้นส่วนรถยนต์ที่สหรัฐก็มีปริมาณจำกัด

(เนื่องจากโรงงานเกือบทุกแห่งได้นำระบบ Just-in-time ของโตโยต้ามาปรับใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการเก็บสต็อกชิ้นส่วนจำนวนมาก จะนำซึ่งการลดต้นทุนการผลิต) โตโยต้า มอเตอร์ได้หยุดการผลิตในโรงงานในประเทศ เพื่อสำรวจความเสียหาย และตรวจเช็คปริมาณอะไหล่ และชิ้นส่วนในโรงงานต่างๆ จนถึงวันที่ 26 มีนาคม ซึ่งคาดว่าจะทำให้การผลิตรถยนต์ในปีนี้จะต้องลดลงประมาณ 1 แสนคัน อย่างไรก็ตามโตโยต้า ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าภายหลังวันที่ 26 มีนาคมแล้ว จะมีกำลังการผลิตในประเทศจะเหลืออยู่เท่าไร แต่คาดว่าโรงงานผลิตส่วนอะไหล่ซ่อมบำรุง และชิ้นส่วนที่ต้องส่งไปยังโรงงานต่างประเทศ น่าจะกลับมาเดินสายการผลิตได้ภายในอาทิตย์นี้

2. ส่วนผู้ผลิตรายอื่นได้รับผลกระทบดังนี้ - นิสสันมอเตอร์ จะหยุดการผลิตในโรงงานในประเทศจำนวน 5 แห่ง ซึ่งรวมถึงโรงงานที่โอปามะ (ซึ่งเป็นที่ผลิตรถยนต์ EV "ลีฟ" ของนิสสันด้วย) จนถึงวันที่ 20 มี.ค. ขณะที่โรงงานที่กิวชูจะสามารถดำเนินการได้ต่อไป ต่างจากโรงงานที่ อิวากิ ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยภิบัติ พอสมควร

  • ซูซูกิ มอเตอร์หยุดการผลิตในโรงงานทั้ง 6 แห่งในประเทศ จนถึงวันที่ 23 มี.ค. นี้
  • ฮอนด้า มอเตอร์หยุดการผลิตในโรงงานทั้งหมดในประเทศ จนถึงวันที่ 26 มี.ค. และจากการเสนอข่าวของซีเอ็นเอ็น รายงาน

ว่าฮอนด้าจะสูญเสียเงินถึง 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อวัน จากการหยุดสายการผลิตในประเทศญี่ปุ่น

  • ไดฮัทซุ มอเตอร์ แม้ว่าไม่ได้รับผลกระทบเลยจากเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ยังหยุดเดินสายการผลิตจนถึงวันที่ 20 มี.ค.

3. JAMA (Japan Automobile Manufacturer Association ) ได้สรุปสถานการณ์ปัจจุบันของผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นว่า ผู้ผลิตเกือบทุกรายกำลังประสบปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบ ซึ่งส่วนใหญ่รับมาจาก Supplier ขนาดย่อมในจังหวัดมิยากิ เมื่อ Supplier เกิดปัญหาไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ตรงตามเวลาที่กำหนด ผลเสียหายจะถูกกระทบต่อเนื่อง เป็นวงกว้างจนถึงตัวผู้ประกอบรถยนต์ ซึ่งบริษัทได้ส่งบุคลากรจากโรงงานอื่นๆในประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบ ลงไปช่วย Supplier ฟื้นฟูโรงงานแล้ว ส่วนบางโรงงานที่ไม่สามารถซ่อมแซมให้กลับมาผลิตได้ทัน ตัวผู้ประกอบรถยนต์เองก็เริ่มดัดแปลงเครื่องจักรในโรงงานเพื่อให้ผลิตชิ้นส่วนนั้นๆ ให้ได้ก่อน อย่างไรก็ตามการผลิตชิ้นส่วนต่างๆทั้งหมดจะถูกใช้เป็นอะไหล่เท่านั้น สายการประกอบรถยนต์แบบเต็มรูปแบบ ยังไม่สามารถเริ่มต้นได้เลย ชิ้นส่วนที่ Supplier ไม่สามารถส่งมอบได้ อาทิ ยาง เรซิ่น และอุปกรณ์ไฟฟ้าในรถยนต์ เป็นต้น

4. ปัญหาการขาดแคลน ชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ในครั้งนี้นอกจากจะทำให้ระบบ Supply Chain ในญี่ปุ่นของผู้ผลิตรถยนต์ ค่ายต่างๆประสบปัญหาเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงการส่งมอบชิ้นส่วนฯ กับผู้ประกอบรถยนต์รายต่างๆ ของโลกด้วย เนื่องจากบริเวณโทโฮกุ ที่เกิดภัยพิบัตินี้เป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนอิเลคโทรนิกส์ที่สำคัญ ของญี่ปุ่นโดยเฉพาะ 5 จังหวัดคือ อาโอโมริ อิวาเตะ มิยากิ ฟุกุชิมะ และ อิบารากิ นี้มีสัดส่วนการส่งออก ชิ้นส่วนอิเลคโทรนิกส์ฯ ถึง ร้อยละ 10.2 ของประเทศญี่ปุ่น

5. ปัญหาสำคัญอีกประการคือ ปัญหาด้านพลังงานเนื่องจากโรงไฟฟ้าที่จังหวัดฟุกุชิม่า กำลังประสบปัญหา เสียหายอย่างร้ายแรง เนื่องจากแผ่นดินยังไหวอยู่ และยังไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้ในเวลาอันสั้นได้ โรงงานต่างๆในจังหวัดใกล้เคียงทั้งที่เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ก็ไม่สามารถหาไฟฟ้ามาใช้ในการผลิตได้ และคาดว่าการแก้ไขปัญหาจะต้องใช้เวลาอีกนานมากกว่าที่จะซ่อมแซมโรงงานไฟฟ้าให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง

6. จำนวนการผลิตรถยนต์ของผู้ผลิตหลัก 3 ราย คือ โตโยต้า นิสสัน และฮอนด้า ที่หยุดชะงักลง อาจส่งผลต่อความล่าช้าในการส่งมอบรถยนต์จำนวนกว่า 200,000 คัน ในเดือนมีนาคมเป็นต้นไป และเป็นที่น่าเสียดายว่ารถยนต์ขนาดเล็กจำนวนราว 1,000 คัน ซึ่งกำลังถูกขนส่งขึ้นเรือบรรทุกที่ท่าเรือฮิตาชินากะ ในจังหวัดอิบารากิ ได้ถูกคลื่นสึนามิซัดผ่านจนเกิดความเสียหายทั้งหมด

3.ความเคลื่อนไหวที่สำคัญของผู้ผลิตยางรถยนต์ในตลาดญี่ปุ่น

ซุมิโตโม รับเบอร์ อินดัสตรี้ ผู้ผลิตยางรถยนต์ที่มีโรงงานตั้งอยู่ที่เมืองชิระกาวะ ในจังหวัดฟุกุชิมะ รายงานว่าไม่มีความเสียหายภายในโรงงาน และคาดว่าจะเดินสายการผลิตได้ภายในสัปดาห์นี้

บริดจ์สโตนน์ ผู้ผลิตยางรถยนต์รายสำคัญอีกบริษัทในญี่ปุ่นแจ้งว่าบริษัทได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวแต่สามารถซ่อมแซมและสามารถเดินสายการผลิตได้ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. โดยบริษัทจะให้ความสำคัญในการผลิตยางเรเดียล และยางรถบรรทุก และรถบัสเป็นอันดับแรก

จากจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้น้อยลงภายหลังเหตุแผ่นดินไหวนี้ ทำให้ความต้องการยางรถยนต์ปรับตัวลดตามไปด้วย และจะส่งผลให้การนำเข้ายางรถยนต์จากประเทศไทยมีมูลค่าลดน้อยลง ซึ่งในปี 2010 ญี่ปุ่น

นำเข้ายางรถยนต์จากประเทศไทยเป็นมูลค่า 142.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 15.62 ของการนำเข้ายางรถยนต์ทั้งหมดของญี่ปุ่น (ญี่ปุ่นนำเข้ายางรถยนต์จากอินโดนีเซียมากเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 22.36 ของการนำเข้าทั้งหมดส่วนไทยเป็นอันดับ 2) ส่วนการนำเข้ายางธรรมชาตินั้นญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยในปี 2010 มีมูลค่า 1,539.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 28.51 ของการนำเข้ายางของญี่ปุ่น (ญี่ปุ่นนำเข้ายางธรรมชาติจากไทยมากเป็นอันดับ 1 และนำเข้าจากอินโดนีเซียเป็นอันดับ 2 คิดเป็นร้อยละ 27.6 ของการนำเข้าทั้งหมด) หากเหตุการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น คาดว่าราคายางในตลาดอาจจะปรับตัวลง

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นคร โอซากา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ