สถานการณ์การเมือง
จากการที่นายกรัฐมนตรี Jose Socrates ของโปรตุเกส ได้ขอลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2554 หลังจากมาตรการรัดเข็มขัดอย่างเข้มข้นรอบใหม่ของรัฐบาลไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐสภา หลังจากนั้น ประธานาธิบดี Cavaco Silva ได้ตัดสินใจยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ในวันที่ 5 มิถุนายน 2554
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2553 นาย Jose Socrates ในฐานะนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลรักษาการ ได้ออกแถลงการณ์ยอมรับความพ่ายแพ้ต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศโดยลำพัง และได้ตัดสินใจขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากภายนอกแล้วซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้หลังจากที่พยายามปฏิเสธความช่วยเหลือทางการเงินจากต่างประเทศมาเป็นระยะๆในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากประสบภาวะหนี้ในระดับสูงโดยไม่สามารถเพิ่มเงินในตลาดทุนได้อีกต่อไป หลังจากที่ธนาคารต่างๆในโปรตุเกสได้พร้อมใจกันออกมาเตือนรัฐบาลว่า ไม่สามารถจะแบกรับหรือเข้าซื้อหนี้ของประเทศไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่
ซึ่งโปรตุเกสมีกำหนดจะต้องชำระคืนพันธบัตรจำนวนมากในอนาคตอันใกล้ ขณะเดียวกันอัตราผลตอบแทนในการจ่ายดอกเบี้ยคืนสำหรับพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปีและ 10 ปีทะยานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ระดับกว่าร้อยละ 8
ในเบื้องต้น คาดว่าโปรตุเกสต้องการเงินช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป และ IMF ในวงเงินประมาณ 5-8 หมื่นล้านยูโร
คาดการณ์ทางเศรษฐกิจของโปรตุเกส
ธนาคารชาติโปรตุเกส คาดการณ์ว่า GDP ของโปรตุเกสปีนี้จะหดตัวลงร้อยละ 1.4 และจะขยับขึ้นเป็นร้อยละ 0.3 ในปี 2555 ทั้งนี้ เมื่อมาตรการรัดเข็มขัดล่าสุดเพื่อหวังจะลดการขาดดุลการคลังได้เริ่มขึ้นแล้ว จะทำให้อุปสงค์ภายในประเทศลดลงร้อยละ 3.6 ในปีนี้ และลดลงอีกร้อยละ 1 ในปีถัดไป ส่วนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนก็จะปรับตัวในทิศทางเดียวกันคือลดลงร้อยละ 1.9 และ 1.0 ในช่วงสองปีข้างหน้าตามลำดับ โดยจะมีอัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 3.6 ขณะที่อัตราการว่างงานจะยังสูงอยู่ที่ระดับ 11.2 และอุปสงค์ที่ลดลงจะส่งผลให้การนำเข้าสินค้าลดลงร้อยละ 1.6 ในปี 2554
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงตามลำดับ ทำให้ประชาชนรู้สึกผิดหวังกับหนทางการฟื้นวิกฤตของประเทศในครั้งนี้ โดยมีกลุ่มชุมนุมต่างๆประกาศดำเนินการประท้วงต่อไปและเพิ่มจำนวนมากขึ้นต่อมาตรการรัดเข็มขัดอย่างเข้มข้นของรัฐบาลที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ต้นปีนี้ จากตัวเลขการขาดดุลการคลังปี 2553 ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ออกมาเปิดเผยว่าอยู่ที่ร้อยละ 8.6 ซึ่งขัดแย้งกับตัวเลขที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ที่ร้อยละ 7.3 เสมือนมีนัยว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามปกปิดความจริงและปรับตัวเลขให้ดูน่าเชื่อถือมาโดยตลอด
นอกจากนั้น ทั้งฝ่ายรัฐบาลรักษาการและพรรคฝ่ายค้าน พยายามสงวนท่าทีไม่ต้องการได้ชื่อหรือถูกประณามว่าเป็นผู้ไปขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศเข้ามาและทำให้เสียศักดิ์ศรีของชาติ ทั้งนี้ ไม่ว่าฝ่ายใดจะมาเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งทั่วไป ยังจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการขจัดปัญหาการลดการขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่องและจริงจังต่อไป โดยมีเป้าหมายจะต้องลดการขาดดุลจากร้อยละ 7 ของ GDP ในปีที่ผ่านมาให้อยู่ระดับร้อยละ 4.6 ภายในปีนี้ และร้อยละ 3 และ 2 ในปี 2555 และ 2556 ตามลำดับตามข้อกำหนดของแผน EU-Stability and Growth Pact ของสหภาพยุโรป ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามลดแรงเสียดทานจากประชาชนในภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มสหภาพแรงงาน กลุ่มพนักงานของรัฐ หรือ กลุ่มคนเกษียณที่รับบำนาญจากรัฐที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการถูกตัดรายได้ลง นอกจากนั้น ยังมีมีปัญหาการว่างงานที่ส่อว่าจะรุนแรงขึ้นเป็นลำดับอีกด้วย
ภาพรวมการส่งออกของไทย
ในปี 2553 ไทย-โปรตุเกส มีมูลค่าการค้ารวม 204 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไทยส่งสินค้าไปยังโปรตุเกสเป็นมูลค่า 169 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่นำเข้าจากโปรตุเกส 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 134 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยได้แก่ รถยนต์/อุปกรณ์
และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ก๊อก/วาล์วและส่วนประกอบ และด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ ตารางแสดงมูลค่าการค้าไทย-โปรตุเกส ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2554
ก.พ. 2554 ม.ค.-ก.พ. 2554 เพิ่ม/ลด (%) เพิ่ม/ลด (%) จาก มูลค่า (Mil. US$) จากเดือนก่อน มูลค่า (Mil. US$) ช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งออก 18.77 +5.43 36.6 +24.74 นำเข้า 2.96 -19.19 6.6 -4.63 การค้ารวม 21.73 +1.26 43.2 +19.34 ดุลการค้า +15.81 +11.81 +30.0 +33.93 ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ไทยกับโปรตุเกสมีมูลค่าการค้ารวม 21.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยเป็นฝ่ายส่งออกไปโปรตุเกส 18.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.43 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยมีหมวดสินค้าสำคัญที่ปรับตัวเพิ่ม คือ เม็ดพลาสติก (+90.76%) ก๊อก/วาล์วและส่วนประกอบ (+318.98%) ผลิตภัณฑ์ยาง (+22.64%) และเครื่องรับวิทยุ/โทรทัศน์และส่วนประกอบ (+6.05%) แต่ก็มีสินค้าหลักหลายรายการที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ รถยนต์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-20.41%) ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ (-24.84%) และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (-68.80%) ขณะที่ไทยนำเข้าจากโปรตุเกส มูลค่า 2.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯลดลงร้อยละ 19.19 ทั้งนี้ ไทยได้ดุลการค้าในเดือนนี้เพิ่มขึ้นอีก 15.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในช่วง 2 เดือนแรก ปี 2554 ไทย-โปรตุเกส มียอดการค้ารวม 43.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยไทยมียอดส่งออกไปโปรตุเกสรวม 36.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.74 ซึ่งสามารถแบ่งโครงสร้างสินค้าส่งออก ได้ดังนี้
ตารางแสดงโครงสร้างมูลค่าสินค้าส่งออกไทยมายังโปรตุเกส ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2554
ที่ ประเภทสินค้า มูลค่า (Mil. USD) สัดส่วน (%) เปลี่ยนแปลง (%) 1 เกษตรกรรม(กสิกรรม+ปศุสัตว์+ประมง) 1.5 4.10 -12.28 2 อุตสาหกรรมการเกษตร 1.0 2.73 +66.50 3 อุตสาหกรรม 34.1 93.17 +26.06 รวม 36.6 100.00 +24.74 ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร
เมื่อเทียบกับช่วง 2 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา พบว่าประเภทสินค้าเกษตรกรรม มีสัดส่วนร้อยละ 4.1 มีอัตราการขยายตัวลดลงร้อยละ 12.28 ซึ่งเป็นผลจากสินค้าข้าวที่ปรับตัวลดลงมาก ขณะเดียวกัน ประเภทสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวได้ดีถึงร้อยละ 66.50 โดยเฉพาะจากสินค้าอาหารกระป๋องและแปรรูปที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง แต่หมวดนี้ก็มีสัดส่วนโดยรวมเพียงร้อยละ 2.73 เท่านั้น ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 93.17 ของสินค้าส่งออกไทยโดยรวม และสามารถเติบโตได้ร้อยละ 24.74 โดยมีสินค้าสำคัญ ได้แก่ รถยนต์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง และวัสดุสิ่งทอ
ตารางแสดงมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังโปรตุเกส 10 อันดับแรก ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2554
ที่ สินค้า มูลค่า (Mil. USD) สัดส่วน (%) เปลี่ยนแปลง (%) 1 รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ 9.5 25.86 +4.65 2 เม็ดพลาสติก 5.2 14.12 +368.5 3 เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 3.2 8.63 +21.41 4 ก๊อก วาล์วและส่วนประกอบ 2.5 6.93 +429.27 5 ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ 2.2 6.15 -14.67 6 ผลิตภัณฑ์ยาง 2.1 5.79 +32.04 7 เครื่องรับวิทยุ/โทรทัศน์และส่วนประกอบ 1.4 4.63 +1272.20 8 วงจรพิมพ์ 1.2 3.29 +77.60 9 เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 1.0 2.81 +17.20 10 เครื่องวิดีโอ/เครื่องเสียง/อุปกรณ์และ 0.8 2.21 -69.56 ส่วนประกอบ ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร
จากโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทย พบว่าสินค้า 10 อันดับแรก จะเห็นว่ามีสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 ของยอดส่งออกทั้งหมด จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงของสินค้าที่เหลือไม่ค่อยมีผลกระทบกับยอดการส่งออกมากนัก โดยมีรถยนต์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ ที่ครองสัดส่วนสูงที่สุดเกินกว่า 1 ใน 4 ของยอดส่งออกรวม แต่ถ้านับเฉพาะสินค้า 5 อันดับแรก ก็จะมีสัดส่วนการส่งออกเกินกว่าร้อยละ 60
สรุปผลกระทบต่อการส่งออกไทย
จากยอดการส่งออกของไทยไปยังโปรตุเกส มีสัดส่วนมูลค่าเพียงร้อยละ 0.09 ของยอดรวมการส่งออกไทยทั้งหมด ดังนั้น การล่มสลายทางการเงินของโปรตุเกสจึงมีผลกระทบกับการส่งออกไทยในภาพรวมในอัตราที่ต่ำมากหรือเรียกได้ว่าไม่มีผลกระทบเลย
ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมของโปรตุเกสในปี 2553 ที่ผ่านมาจะยังไม่สามารถก้าวพ้นภาวะถดถอยที่กินเวลายาวนานต่อเนื่องกว่า 2 ปีก็ตาม แต่สินค้าไทยก็สามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 25.17 และต่อเนื่องมาถึงตอนต้นปี 2554 ก็ยังเติบโตต่อไปได้อีกร้อย 24.74 ท่ามกลางปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจที่รุมเร้า กอปรกับปัญหาการขาดดุลการคลังที่รัฐบาลยังต้องยึดนโยบายรัดเข็มขัดอย่างเข้มข้นและปัญหาเงินเฟ้อที่ทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ อันจะส่งผลบีบบังคับให้ผู้บริโภคยังต้องระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยต่อไป
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2554 ยอดการส่งออกของไทยในตลาดโปรตุเกส จะยังขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 15 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 194 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าสำคัญที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ลดลง ได้แก่ รถยนต์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และวัสดุก่อสร้าง
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงมาดริด
ที่มา: http://www.depthai.go.th