รายงานการเยี่ยมชมงานแสดงสินค้า Baselworld 2011
ระหว่างวันที่ ๒๔-๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔
ณ ศูนย์จัดแสดงสินค้าเมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
๑.ภาพรวมของงาน
งานแสดงสินค้า Baselworld เป็นงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับนาฬิกา อัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในโลก ผู้จัดงานโดย Schweizer Mustemesse Basel (เป็นองค์กรบริหารแบบเอกชน แต่มีเครือข่ายสนับสนุนจากภาครัฐ) นับเป็นงานที่ผู้อยู่ในวงการนาฬิกาอัญมณีและเครื่องประดับจะพลาดไม่ได้ งานนี้จัดขึ้นในช่วงมีนาคม ของทุกปี ที่เมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปีนี้ ๒๕๕๔ จัดระหว่างวันที่ ๒๔-๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔
งานนี้จัดครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๖๐ และเริ่มให้มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าจากต่างประเทศนอกยุโรปครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๙ แต่เปิดอาคารแสดงสินค้าใหม่ (Hall ๖) ให้ผู้ร่วมแสดงสินค้าจากเอเชียหรือต่างประเทศอื่นในปี ๒๕๔๗ และเดิมใช้ชื่องานว่า Basel เพิ่งจะเปลี่ยนชื่อเป็นงาน Baselworld เมื่อปี ๒๕๔๖ และจากพัฒนาการของงานที่จัดต่อเนื่องมาเกือบร้อยปีนั้น เพื่อให้การขยายอาคารแสดงสินค้าใหม่ให้เหมาะสมและรองรับตลาดผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าและผู้ชมงาน ผู้จัดงานมีแผนจะปรับเลิกอาคาร ๖ และใช้พื้นที่อาคาร ๑ และบริเวณใกล้เคียง เพื่อก่อสร้างเป็นอาคารแสดงสินค้าใหม่ จะแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๖ จะทำให้มีการปรับผังการใช้อาคารต่างๆใหม่ และคูหาประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ที่เดิมอยู่ในอาคาร ๖ จะไปอยู่ในอาคาร ๒ แทน ซึ่งในปีปัจจุบัน ประเทศอินเดีย เกาหลีใต้ได้พัฒนาและเจรจาต่อรองพื้นที่กับผู้จัดงาน พร้อมกับสร้างภาพลักษณ์ประเทศให้เกิด Impact เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการเข้าร่วมงานของผู้ประกอบการไทยลดลงไปบ้าง และไม่ได้เน้นจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ ทำให้ภาพลักษณ์สินค้าประเทศไทยในปีนี้ ไม่โด่ดเด่นเท่าที่ควร
กำหนดวันจัดงานครั้งต่อๆ ไป เป็นดังนี้
- ปี ๒๕๕๕ : ๘ - ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๕
- ปี ๒๕๕๖ : ๒๕ เมษายนะ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖
- ปี ๒๕๕๗ : ๒๗ มีนาคมะ ๓ เมษายน ๒๕๕๗
๒. รูปแบบของงาน
การแบ่งโซนอาคารแสดงสินค้า ซึ่งมี ๖ อาคาร โดยแบ่งตามประเภทสินค้าที่จัดแสดงสำหรับผู้เข้าร่วมงานทั่วไป สินค้า Brand /Premium และแยกอาคารเฉพาะกลุ่มคูหาประเทศต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากนอกยุโรป ดังนี้
Watch Brands
Hall 1.0 : Hall of Dreams เป็นนาฬิกาที่มียี่ห้อมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกมานาน ราคาแพง
Hall 1.1 : Hall of Desires เป็นนาฬิกาที่มียี่ห้อมีชื่อเสียง เน้นภาพลักษณ์ยี่ห้อและการสื่อสาร
เป็นกลยุทธ์การตลาด อาจเป็นยี่ห้อที่มีสินค้าหลายประเภท
Hall 2.0 : Hall of Fascinations เป็นนาฬิกามียี่ห้อ
Hall 3.0 : Hall of Sensations เป็นนาฬิกามียี่ห้อ
Hall 4.U, 4.0, 4.1 : Hall of Inspirations เป็นนาฬิกามียี่ห้อ
Hall 5.0, 5.1 : Hall of Emotions เป็นนาฬิกามียี่ห้อ
Baselworld Palace : เป็นนาฬิกามียี่ห้อ แต่อาจไม่มีชื่อเสียงระดับโลกมากนัก
Jewellery Brands
Hall 2.0 : Hall of Impressions เป็นโรงงานผู้ผลิตเครื่องประดับ
Hall 2.0, 2.1 : Hall of Feelings เป็นเครื่องประดับที่เน้นการสื่อสารที่มี Concept
Hall 2.1, 2.2 : Hall of Visions เป็นเครื่องประดับหรู ราคาแพง
Hall 2.2 : Hall of Visions/First Avenue เป็นเครื่องประดับหรู ราคาแพง
Related Brands
Hall 3.0, 3.1 : Hall of Elements เป็นอัญมณี เพชร พลอย มุก หินมีค่า
Hall 3.U, 3.2 : Hall of Innovations เป็นนาฬิกาติดผนัง สายนาฬิกา กล่องบรรจุภัณฑ์ ที่แสดงสินค้า/ Display เครื่อง
มือ/เครื่องจักร อื่นๆ
National Pavilions
Hall 6.0 : Hall of Universe เป็นคูหาประเทศต่างๆ
กิจกรรมพิเศษในงาน
ตลอดระยะเวลาของงาน ผู้จัดงานได้สร้างกิจกรรมพิเศษเพื่อทำให้งานมีความน่าสนใจ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมงานและผู้ร่วมงานแสดงสินค้านี้อย่างมากมาย เพื่อเป็นเวทีทั้งการเจรจาสั่งซื้อ การพบปะสังสรรค์ของผู้อยู่ในอุตสาหกรรม การพบ/ประชุมประจำปีของตัวแทนจัดจำหน่าย การติดตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและด้านต่างๆ การสร้าง Trend และนำเสนอสินค้าใหม่ๆ
ทั้งนี้ มีการจัดกิจกรรมมีทั้งที่จัดโดยผู้จัดงานเอง หรือจากองค์กร/สมาคมการค้า หรือจากเอกชนเจ้าของแบรนด์/ยี่ห้อสินค้าเอง และมีการจัดให้เฉพาะสำหรับ Press หลายกิจกรรม เช่น Official Press Conference Baselworld 2011 , Press Conference, Press Cocktail, Press Event, Press Preview, Press Lunch นอกจากนี้ก็มีการจัดเลื้อยงรับรอง Cocktail, Party ให้กับแขก ลูกค้า ตัวแทนจำหน่ายอีกมากมาย บางองค์กร/บริษัทมีการแฟชั่นโชว์พร้อมการเลี้ยงรับรองพิเศษ เป็นต้น
๓. ผู้เข้าร่วมจัดงานแสดงสินค้า
งาน Baselworld ในปี ๒๕๕๔ นี้ มีพื้นที่แสดงสินค้ากว่า ๑๖๐,๐๐๐ ตารางเมตร โดยมีผู้เข้าร่วมงาน ๑,๘๙๒ รายจาก ๔๕ ประเทศทั่วโลก ซึ่งลดลงจากปีก่อนจำนวน ๕๓ รายหรือลดลงร้อยละ ๒.๗ สืบเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ประกอบกับการชะลอตัวของตลาดนาฬิกา/อัญมณี/ เครื่องประดับทั่วโลก ซึ่งถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย
งานนี้มีผู้เข้าร่วมงานในยุโรป ๑,๒๐๖ ราย คิดเป็นร้อยละ ๖๓.๗ ของผู้ร่วมแสดงสินค้าทั้งหมด (กลุ่มใหญ่ได้แก่ สวิสมากกว่า ๔๕๐ ราย เยอรมันมากกว่า ๑๕๐ ราย ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ฯ) จากเอเชีย ๕๒๒ ราย คิดเป็นร้อยละ ๒๗.๖ ของผู้ร่วมแสดงสินค้าทั้งหมด (ฮ่องกงประมาณ ๒๘๐ ราย ไทย ๕๐ ราย จีน อินเดีย ฯ) จากอเมริกาเหนือ ๘๕ ราย คิดเป็นร้อยละ ๔.๕ ของผู้ร่วมแสดงสินค้าทั้งหมด และอื่นๆ ๗๙ ราย คิดเป็นร้อยละ ๔.๒ ของผู้ร่วมแสดงสินค้าทั้งหมด
ประเภทสินค้าที่จัดแสดง แบ่งเป็นนาฬิกา ๖๒๗ ราย เครื่องประดับ ๗๓๖ ราย และสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ เช่น อัญมณี วัตถุดิบเครื่องประดับ เครื่องมือ/บริการ ๕๒๙ ราย โดยพื้นที่แสดงสินค้าส่วนใหญ่เป็นนาฬิกากว่าร้อยละ ๓๐.๙ เครื่องประดับร้อยละ ๓๙.๖ และสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ ร้อยละ ๒๙.๕
๔. ผู้เข้าชมงาน
ในปี ๒๕๕๔ นี้ มีผู้ชมงานที่เป็นนักธุรกิจ-ผู้ซื้อผู้ขายในวงการ กว่า ๑๐๓,๒๐๐ ราย จากประเทศต่างๆ มากกว่า ๑๐๐ ประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๓ จำนวนประมาณ ๒,๕๘๐ รายหรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๒.๕ นอกจากนี้ยังมี Journalist เข้าชมงานมากกว่า ๒,๙๐๐ ราย จาก ๗๐ ประเทศทั่วโลก ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีผู้ชมงานเพิ่มมากกว่าปีที่แล้ว แม้ว่าจำนวนที่เพิ่มจะไม่มากนักแต่ คุณภาพของผู้ชมงานเป็นในแนวทางที่ดีขึ้นมาโดยตลอด
๕. การเข้าร่วมงานของประเทศไทย
งาน Baselworld นี้ สมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (TGJTA) เป็นผู้บริหารจัดการนำผู้ส่งออกเข้าร่วมงานและรวมกันเป็นกลุ่มคูหาไทย ( Thailand Pavilion ) อยู่บริเวณด้านหน้าอาคาร ๖ โดยเสนอภาพลักษณ์และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมอัญมณีเครื่องประดับไทย ได้แก่ มีคูหางาน Bangkok Gems & Jewelry Fair, Banner หน้าอาคาร ๖ , Banner/ Signage บริเวณคูหาผู้ส่งออกไทยในอาคาร ๖, ป้ายโฆษณาบน Shuttle Bus ในงาน ซึ่งในปี ๒๕๕๔ นี้ คูหาประเทศไทย ได้เลื่อนขึ้นมาอยู่ส่วนหน้าใกล้ทางเข้าอาคาร ๖ มากขึ้น
จำนวนผู้เข้าร่วมงานไทย มีทั้งหมด ๕๐ ราย ในพื้นที่ประมาณ ๑,๕๐๐ ตารางเมตร มีขนาดใกล้เคียงกับผู้เข้าร่วมงานไทยในปี ๒๕๕๓ (ลดลงจากปี ๒๕๕๓ จำนวน ๑ ราย เดิมมี ๕๑ ราย) ทั้งนี้ เป็นผู้ส่งออกไทยที่เข้าร่วมงานในอาคาร ๖ ซึ่งรวมกลุ่มเป็นคูหาประเทศไทย จำนวน ๓๐ ราย (ปี ๒๕๕๓ มี ๓๔ ราย) และมีผู้ส่งออกไทยที่มีแบรนด์สินค้าและได้รับเลือกเข้าร่วมงานในอาคารเด่นร่วมกับยุโรปอื่นๆ อีก ๒๐ ราย (ปี ๒๕๕๓ มี ๑๗ ราย แบ่งเป็นผู้เข้าร่วมงานไทยในอาคาร ๒ จำนวน ๗ ราย และอาคาร ๓ จำนวน ๑๓ ราย) อาทิ Pranda, Beauty Gems, Sofragem เป็นต้น
๖. ปัญหาและอุปสรรค
๖.๑ พื้นที่คูหาของผู้ส่งออกไทยที่รวมกันอยู่ใน Thailand Pavilion ได้รับการจัดสรรพื้นที่ให้อยู่ในอาคาร๖ ไกลจากอาคารทางเข้าหลัก (อาคาร ๑) ต้องใช้รถ Shuttle Bus คอยรับส่งผู้เข้าชมงาน แต่มีข้อดีที่อยู่ใกล้ทางเข้าอาคารบริเวณด้านหน้า ทำให้ผู้เข้าชมงานที่ตั้งใจเข้าเยี่ยมชมคูหาประเทศอื่นนั้น เห็นคูหาประเทศไทยก่อนซึ่งส่งผลให้มีผู้เข้ามาเยี่ยมชมและติดต่อเจรจาการค้ามากขึ้น
๖.๒ ในปีนี้ทางสมาคมฯ ไม่ได้จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการตลาดเพื่อเรียกความสนใจจากลูกค้าและไม่ได้แสดงภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้ดูโด่ดเด่นเพิ่มมากขึ้น ต่างจากประเทศคู่แข่งจากเอเชีย เช่นประเทศอินเดียและเกาหลี ได้พยายามเพิ่มการโฆษณาประชาสัมพันธ์ จัดกิจกรรมพิเศษเพิ่มมากขึ้น ทำให้คูหาประเทศไทยในปีนี้ แลดูเงียบเหงาและไม่โด่ดเด่นเท่าที่ควร
๗. ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
๗.๑ ในอาคาร ๖ ที่เป็นคูหานานาประเทศนั้น แม้ว่าไทยจะได้มี Flag Banner หน้าอาคารแสดงสินค้าก็ยังถือว่ามีสื่อประชาสัมพันธ์ที่น้อยกว่าคู่แข่งอื่นมาก โดยเฉพาะฮ่องกงและอินเดียที่จองพื้นที่เป็นกว่าครึ่งอาคารแสดงสินค้าซึ่งทราบจากผู้จัดงานว่า ฮ่องกงมีข้อตกลงในการจองพื้นที่แบบเหมาขนาดใหญ่ แม้ว่าจำนวนบริษัทผู้เข้าร่วมงานลดลงแต่ก็ปรับพื้นที่เหลือเป็นการให้บริการและประชาสัมพันธ์แทน สังเกตเห็นว่า มีการจัด Business Lounge ที่ตกแต่งสวยงามและมีกิจกรรมพิเศษดึงให้ลูกค้ามาใช้บริการ เช่น เครื่องดื่ม จัดบริการข้อมูล/นัดหมาย เดินแฟชั่นโชว์เล็กตามช่วงเวลา ฯลฯ ประกอบกับมีป้ายโฆษณาหรือใช้ Key Visual /Communication Concept ของอุตสาหกรรมนาฬิกา อัญมณีและเครื่องประดับของฮ่องกงทั่วบริเวณอาคาร 6 ส่วนอินเดียก็มีการลงป้ายโฆษณาทั้งในอาคาร ๖ และอาคาร ๒ เพิ่มการประชาสัมพันธ์แข่งกับประเทศคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับเจรจาต่อรองพื้นที่กับผู้จัดงานได้อยู่บริเวณด้านหน้าเพิ่มมากขึ้นด้วย
๗.๒ การเข้าร่วมแสดงสินค้าครั้งนี้ เนื่องจากอุปสรรคด้านเวลาเตรียมการของสมาคมฯ และด้านงบประมาณไทยทำให้ไม่มีส่วนนิทรรศการและกิจกรรมพิเศษที่จะสร้างภาพลักษณ์ให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยได้เต็มที่ จึงเป็นเพียงการลงสื่อประชาสัมพันธ์เท่านั้น สมาคมฯ และกรมฯควรให้การสนับสนุนกิจกรรมพิเศษเพิ่มมากขึ้น โดยอาจจัดกิจกรมพิเศษ เช่นการเลี้ยงรับรอง Cocktail Reception ช่วงกลางวันหรือกลางคืน การแสดงแฟชั่นโชว์ หรือการจัดให้บริการสปานวดไทย และร้านอาหารไทยบริเวณหน้าอาคาร ๖ ในลักษณะเดียวกับปี ๒๕๕๒ เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ Impact ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
๗.๓ จำนวนผู้ส่งออกไทยเข้าร่วมงานมีจำนวนเท่าๆ เดิม เทียบกับปี ๒๕๕๓ คือลดลงจำนวน ๑ รายแต่ผู้เข้าร่วมงานกลุ่มเครื่องประดับที่มีแบรนด์ในอาคาร ๓ เพิ่มขึ้นจาก ๙ รายเป็น ๑๓ ราย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่สินค้าเน้นแบรนด์และมี Concept ที่สร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
๗.๔ การที่ในปี ๒๕๕๖ จะมีการปรับเปลี่ยนอาคารแสดงสินค้าคูหานานาประเทศนั้น จำเป็นที่ประเทศไทย โดยสมาคมฯจะต้องมีการเตรียมการและวางแผนล่วงหน้าเป็นอย่างดี ตั้งแต่การผลักดันให้สามารถได้รับการจัดสรรพื้นที่ให้อยู่ในทำเลที่ดีและสามารถจัดสรรคูหาของผู้ส่งออกรายใหญ่ที่เข้าร่วมงานเองและรายย่อยที่เข้าร่วมกับสมาคม ให้สามารถอยู่ใกล้กันเพื่อให้ภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมอัญมณีไทยดูยิ่งใหญ่และมีเอกภาพ เพื่อเป็นรักษาการตลาดและได้เปรียบคู่แข่งขัน
๗.๕ สคร.แฟรงก์เฟิร์ต เห็นว่า เพื่อป้องกันมิให้อุตสาหกรรมนี้ถดถอยลงเรื่อยๆ จึงเห็นควรให้มีการประชุมระดมสมองร่วมกันระหว่าง ตัวแทนผู้จัดงานส่วนประเทศไทย (Mr. Nandor von der Luehe) สมาคมฯและกรมฯ เพื่อกำหนดกลยุทธ์การเข้าร่วมงานในปี ๒๕๕๕ - ๒๕๕๖ และการจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของไทยที่เหนือกว่าคู่แข่งขันให้กลับมาปรากฎแก่สายตาชาวโลกอีกครั้งหนึ่ง
จัดทำโดย นายอาทิตย์ กองเกตุ
ผู้ช่วยดำเนินการฯ คนที่ ๑ สคร.แฟรงก์เฟิร์ต
ที่มา: http://www.depthai.go.th