ข้อบังคับด้านภาชนะบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 11, 2011 15:23 —กรมส่งเสริมการส่งออก

กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง

หน่วยงานของรัฐบาลแคนาดา ได้มีการกำหนดข้อบังคับด้านภาชนะบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร โดยมีบทบัญญัติควบคุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ดังนี้

1. “พระราชบัญญัติอาหารและยา” มาตราที่ 23 ออกโดย Health Products and Food Branch (HPFB) กระทรวงสาธารณสุข (Health Canada)

2. The Meat Inspection Act มาตรา 92(2) (b) ของ Department of Justice โดยการกำกับ ดูแลของ Canadian Food Inspection Agency (CFIA)

3. มาตรา 23 ข้อ B.23.001 ของพระราชบัญญัติอาหารและยา โดยการกำกับ ดูแลของ Canadian Food Inspection Agency (CFIA)

1.“พระราชบัญญัติอาหารและยา” มาตราที่ 23

“พระราชบัญญัติอาหารและยา” มาตราที่ 23 ซึ่งควบคุมโดย Health Products and Food Branch (HPFB) กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการแสดงกฎ ระเบียบที่เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยของภาชนะบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศแคนาดา โดยภายใต้กฎระเบียบนี้กล่าวถึงความหมายของ ภาชนะบรรจุภัณฑ์ไว้ว่า “อะไรก็ตามที่มีส่วนประกอบหรือถูกบรรจุด้วย อาหาร เครื่องสำอางค์ หรือ อุปกรณ์เหล่านั้นทั้งหมดหรือบางส่วน” หรือ สามารถอธิบายได้ในอีกทางหนึ่ง คือภาชนะบรรจุภัณฑ์สำหรับใช้ในการขายปลีกของผลิตภัณฑ์อาหารและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับอาหาร รวมทั้งในกระบวนการผลิตและจัดส่งสำหรับการจัดจำหน่าย โดยรวมถึงภาชนะบรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์ การจัดเก็บ และยานพาหนะสำหรับขนส่ง อย่างไรก็ตามคำจำกัดความนี้ไม่ได้ขยายรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ สำหรับผู้บริโภค อาทิ เครื่องใช้ในครัวเรือน หรือการห่อและบรรจุภัณฑ์ในครัวเรือนเนื่องจากบทบัญญัติมาตราที่ 23 ครอบคลุมเฉพาะภาชนะบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารเท่านั้น

อย่างไรก็ดีภายใต้“พระราชบัญญัติอาหารและยา” มาตราที่ 23 ยังมีบทบัญญัติย่อยที่ควรพิจารณาสำหรับการผลิต/การใช้ภาชนะ บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร ดังนี้

1.1) มาตรา 23 ข้อ B.23.001 ข้อกำหนดทั่วไปเกี่ยวกับความปลอดภัยสำหรับภาชนะบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร ใจความว่า “บุคคลไม่ควรจำหน่ายอาหารในบรรจุภัณฑ์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพสำหรับผู้บริโภคอาหารนั้นๆ” ข้อกำหนดนี้ทำให้ผู้จัดจำหน่ายต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบทางด้านกฎหมายต่อความปลอดภัยของภาชนะบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร แม้ว่าการกำหนดในเรื่องความปลอดภัยนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องได้รับการยืนยันจากรัฐบาลของประเทศแคนาดาก่อนที่ผลิตภัณฑ์จะถูกนำไปใช้ หรือผู้ผลิตอาหารสามารถร้องขอผู้จัดจำหน่ายภาชนะบรรจุภัณฑ์เพื่อขอรับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศแคนาดาว่าภาชนะบรรจุภัณฑ์ สำหรับอาหารนั้นๆมีความปลอดภัยสำหรับการใช้สำหรับผู้บริโภค

1.2) เอกสารแสดงความเห็นด้านความปลอดภัยสำหรับอุปกรณ์ ภาชนะ (Letter ofOpinion)

เนื่องด้วยหน่วยงานกำกับดูแลด้านสินค้าสุขภาพและอาหารของแคนาดา (Health Products and Food Branch - HPFB) ยังไม่ได้มีการประกาศรายชื่อส่วนประกอบ วัตถุดิบที่ปลอดภัยในการผลิตภาชนะ บรรจุภัณฑ์ต่างๆอย่างเป็นทางการ ดังนั้นผู้ประกอบการสินค้าภาชนะ บรรจุภัณฑ์จึงควรมีการยื่นขอหนังสือที่เรียกว่า “Letter of opinion” จากหน่วยงาน Health Canada เพื่อเป็นการรับรองด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ชนิดนั้น ทั้งนี้ ในแต่ละปีมีผู้ประกอบการทั่วโลก ยื่นคำร้องขอ Letter of opinion จาก HPFB กว่า 1,500 ครั้งและหน่วยงานได้มีการยื่นจดหมายตอบกลับมากกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนการยื่นคำร้อง

ใจความของ Letter of opinion เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของคุณสมบัติ/ลักษณะภาชนะบรรจุภัณฑ์ว่าเหมาะสม ปลอดภัยสำหรับการใช้กับผู้บริโภค แต่มิได้มีข้อผูกพันทางกฎหมายซึ่งผู้ประกอบการผลิตอาหารนั้นจะต้องพึงปฏิบัติตามบทบัญญัติอาหารและยาหัวข้อ 23 อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการ/ผู้ผลิตอาหารส่วนใหญ่จะให้ระดับความสำคัญต่อความเห็นของ HPFB ซึ่งหาก HPFB เห็นว่าภาชนะบรรจุภัณฑ์มีความปลอดภัยและเหมะสมกับการใช้กับอาหาร ก็จะนำมาใช้ในกระบวนการผลิต หรือในทางกลับกันหาก HPFB เห็นว่าไม่เหมาะสมในการใช้กับอาหารผู้ประกอบการโดยส่วนใหญ่จะปฏิเสธต่อการใช้ภาชนะบรรจุภัณฑ์นั้น หรือจำนวนน้อยรายอาจจะมีการใช้ต่อไป

การยื่นคำร้องขอ Letter of opinion จาก HPFB สำหรับภาชนะบรรจุภัณฑ์ (Finished Pachaged) จะต้องมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

1) รายละเอียดของภาชนะบรรจุภัณฑ์ โดยต้องแสดงชื่อทางค้า , ส่วนประกอบ/วัตถุดิบทุกชนิด, ขนาด, สารเคมีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการใช้งาน หรือกระบวนการผลิต เป็นต้น

2) ลักษณะการใช้งาน รวมทั้งลักษณะของผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย (finished package) อาทิ ขวด , พลาสติกห่ออาหาร เป็นต้น นอกจากนั้น ยังต้องแสดงรายละเอียดขนาด อัตราส่วนของน้ำหนักอาหารต่อขนาดของบรรจุภัณฑ์, ระยะเวลา อุณหภูมิที่เหมาะสมในการจัดเก็บผลิตภัณฑ์ตั้งแต่กระบวนหารการผลิตจนกระทั่งถึงผู้บริโภค

3) ข้อมูลเพิ่มเติม (หากมีการขอเพิ่ม หลังจากการยื่นเอกสาร) นอกจากนั้น ผู้ประกอบการประเภทวัตถุดิบหลัก อาทิ พลาสติกเรซิ่น สามารถยื่นคำขอกับ HPFB เพื่อขอให้เป็นวัตถุดิบหลัก (master listing) ในการผลิตสินค้า โดยมีการแสดงว่าวัตถุดิบหลักนี้ปลอดภัยต่อการใช้ในอุตสาหกรรมภาชนะบรรจุภัณฑ์อาหาร แต่การยื่นขอลักษณะวัตถุดิบหลักนี้จะมีความยากกว่าการยื่นขอภาชนะบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ผู้ประกอบการประเภทวัตถุดิบสามารถยื่นคำร้องได้โดยต้องแสดงเอกสารดังนี้

1) ข้อมูล รายละเอียดของส่วนประกอบ / วัตถุดิบ

2) ข้อมูลวัตถุประสงค์การใช้วัตถุดิบ

3) ข้อมูลการใช้สารเคมีต่างๆ ในขั้นตอนการผลิต

4) ข้อมูลแสดงทางพิษวิทยา

หมายเหตุ ในบางกรณีข้อมูลต่างๆ ที่ได้มีการยอมรับมาตรฐานในประเทศสหรัฐอเมริกา มักจะได้รับการยอมรับจากหน่วยงานของแคนาดา แต่บางครั้งหน่วยงาน HPFB จะดำเนินการตรวจสอบด้วยตนเอง

2.“The Meat Inspection Act มาตรา 92(2) (b)”

ภายใต้มาตรา 92(2) (b) ของ The Meat Inspection Act ได้กำหนดลักษณะภาชนะบรรจุภัณฑ์สำหรับเนื้อและเนื้อสัตว์ปีก ว่า “วัสดุหรือฉลากที่ใช้ในการบรรจุสำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์นั้น หากไม่ได้รับการจดทะเบียนจาก The Meat Inspection Act เป็นสิ่งไม่ควรที่จะนำไปจัดจำหน่าย”

อย่างไรก็ตาม สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่ใช้ในการขนส่งผลิตภัณฑ์ระหว่างรัฐนั้น ต้องได้รับการจดทะเบียนจากหน่วยงานตรวจสอบอาหาร ดังนั้นผู้จัดจำหน่ายภาชนะบรรจุภัณฑ์ต้องทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ของตนเองกับกระทรวงสาธารณสุขในประเทศแคนาดาก่อนที่จะนำไปตรวจสอบกับหน่วยงานตรวจสอบอาหารภายหลัง

ข้อมูลเพิ่มเติมอาจศึกษาได้จากเว็ปไซต์http://lawslois.justice.gc.ca/eng/regulations/SOR-90-288/page-35.html#h-24

3. มาตรา B.23.001 ของพระราชบัญญัติอาหารและยา โดยการกำกับของ Canadian Food Inspection Agency (CFIA)

หน่วยงาน Canadian Food Inspection Agency (CFIA) ซึ่งมีหน้าที่กำกับ ดูแลผลิตภัณฑ์อาหารทุกประเภทรวมทั้งการนำเข้าสำหรับแคนาดา ได้วางข้อกำหนดของสินค้าที่สัมผัสอาหารในส่วนของบรรจุภัณฑ์(Food Packaging Material) ตามข้อบังคับ “พระราชบัญญัติอาหารและยา” มาตราที่ B.23.001 ไว้ว่า ห้ามให้มีผู้ประกอบการรายใดจำหน่ายอาหารในภาชนะ บรรจุภัณฑ์ใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ชนิดนั้นต้องสามารถป้องกันอาหารจากการเจือปนหรือปนเปื้อนจากสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ อย่างไรก็ดีCFIA ได้กำหนดลักษณะการตรวจสอบ รูปแบบของบรรจุภัณฑ์ไว้2 กรณี ดังนี้

1. ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีภาชนะบรรจุภัณฑ์ เป็นที่รู้จักและยอมรับการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารโดยทั่วไป อาทิ กระป๋อง (Metal Can) , แก้ว (Glass) , กล่องกระดาษ, เป็นต้น จะยกเว้นจากการตรวจสอบ (pre-approval process) จาก CFIA

2. หากภาชนะบรรจุภัณฑ์ไม่เป็นที่ยอมรับการใช้งานด้านความปลอดภัยอย่างสากลผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออกจะต้องมีการส่งแบบฟอร์มแสดงรายการ พร้อมชี้แจงรายละเอียดของบรรจุภัณฑ์ เพื่อผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานในแคนาดา ดังนี้

2.1 ใบสมัครสำหรับการขอใช้บรรจุภัณฑ์Food Packaging Material Application (แบบฟอร์ม CFIA ACIA form 2000-

06) สามารถดาว์นโหลดได้ที่ http://www.inspection.gc.ca/english/for/pdf/c3826e.pdf

2.2 เอกสารระบุรายละเอียดบรรจุภัณฑ์อย่างชัดเจน

2.3 รายการอาหาร/ผลิตภัณฑ์ ซึ่งบรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์นั้น

2.4 เอกสารระบุส่วนผสม สารเคมี วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตภาชนะบรรจุภัณฑ์ โดยต้องระบุปริมาณการใช้สารประกอบ ชื่อสามัญ และ

ผู้ผลิตส่วนผสมอย่างชัดเจน

2.5 เอกสารที่ระบุส่วนผสม สารเคมีอื่น ๆ ที่ใช้สำหรับกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน

2.6 ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ซึ่งได้ระบุคุณสมบัติ ส่วนประกอบตามข้างต้น โดยผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออกจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบการจัดส่งแบบ

F.O.B ไปยังสำนักงาน CFIA

ทางหน่วยงาน CFIA กำหนดระยะเวลาการดำเนินการตรวจสอบใบสมัคร/คำขอในระยะเวลาประมาณ 8 เดือน โดยผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็ปไซต์:

http://www.inspection.gc.ca/english/fssa/reference/refere.shtml

หรือผู้ประกอบการ / ผู้ส่งออกสามารถสอบถามข้อมูลหรือจัดส่งเอกสารไปได้ที่:

Non-Food Chemical and Container Integrity Programs

Food Safety Division, Ottawa Laboratory (Fallowfield),

Food Safety Risk Analysis Unit

Canadian Food Inspection Agency

1400 Merivale Road,

Ottawa , Ontario K1A 0Y9

Telephone: +1 (613) 773.5840

Fax : +1 (613) 733.5642

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ