อินเดียเป็นเมืองแห่งความหลากหลายทางวัฒธรรม มีโบราณสถานมากมายที่สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของอินเดียในอดีต วันนี้พี่จะพาน้องไปสัมผัสกับสถานที่สำคัญต่างๆ ในอินเดีย เรียงลำดับ ABC กันเลย
ป้อมอักรา (Agra Fort) สร้างขึ้นสมัยจักรวรรดิโมกุล โดยจักรพรรดิอักบาร์ (Akbar) ในระหว่างปี ค.ศ. 1565-1574 ตั้งอยู่ไม่ไกลจากทัชมาฮัลนักบริเวณคุ้งน้ำของแม่น้ำยมุนา เมื่อไปเที่ยวทัซมาฮัลแล้วคนไทยมักจะไปเยือนป้อมแห่งที่ด้วยเสมอ ลักษณะของป้อมเป็นสีแดงเนื่องจากสร้างด้วยหินทรายสีแดง ประตูทางเข้าที่ตกแต่งประดับประดาด้วยกระเบื้องหลากสีสัน ภายในตกแต่งด้วยหินอ่อนเป็นหลักในการก่อสร้าง แม้ว่าจะเริ่มสร้างในสมัยจักรพรรดิอักบาร์ แต่มาเสร็จสมบูรณ์เอาในสมัยพระเจ้าชาร์ จาฮัน (Shah Jahan) ซึ่งเป็นหลานของพระองค์ และเป็นผู้สร้างทัชมาฮาลอันโด่งดัง
เสาอโศก พบเห็นได้ทั่วไปในตอนเหนือของอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณสังเวชนียสถาน 4 ตำบล พระเจ้าอโศกครองราชในราวพุทธศตวรรษที่ 3 (ช่วงปี 260-218 ก่อนคริสตกาล) อาณาจักรของพระองค์ได้แผ่ขยายไปทุกสารทิศ ทางตะวันตกแผ่ไปถึงอัฟกานิสถาน (Bactria)และเปอร์เซีย ตะวันออกแผ่ไปถึงอ่าวเบงกอลและอัสสัม และทางใต้ไปถึงเมืองไมซอร์
นอกจากนั้น พระองค์ยังได้ส่งพระธรรมทูตออกไปเผยแพร่พุทธศาสนาถึง 9 สายด้วยกัน ดังนี้
สายที่ 1 ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ แคว้นกัษมิระ คือ รัฐแคชเมียร์ ประเทศอินเดียปัจจุบัน และแคว้นคันธาระ ในปัจจุบัน คือ รัฐปัญจาป
สายที่ 2 ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแคว้นมหิสมณฑ ปัจจุบัน คือเมืองไมเซอร์และดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโคธาวารี ซึ่งอยู่ในตอนใต้ประเทศอินเดีย
สายที่ 3 ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ วนวาสีประเทศ ในปัจจุบันได้แก่ ดินแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย
สายที่ 4 ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ อปรันตกชนบทปัจจุบันสันนิษฐานว่าคือดินแดนแถบชายทะเลเหนือเมืองบงมุมไบ
สายที่ 5 ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ แคว้นมหาราษฎร์ ปัจจุบัน ได้แก่ รัฐมหาราษฎร์ของประเทศอินเดีย
สายที่ 6 ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในเอเซียกลาง ปัจจุบันได้แก่ ดินแดนที่เป็นประเทศกรีก (เมือง Athens) อียิปต์ (เมือง Alexandria) อิหร่าน และตุรกี (เมือง Antioch ในอดีต)
สายที่ 7 ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ดินแดนแถบภูเขาหิมาลัย สันนิษฐานว่า คือ ประเทศเนปาล และลุ่มน้ำ Tarim ของจีน
สายที่ 8 ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งปัจจุบันคือ ประเทศในคาบสมุทรอินโดจีน เช่น พม่า ไทย ลาว เขมร เป็นต้น
สายที่ 9 พระไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ลังกาทวีป ในรัชสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ กษัตริย์แห่งลังกาทวีป ปัจจุบัน คือ ประเทศศรีลังกา
พุทธคยาในรัฐพิหาร เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์และสำคัญสูงสุดของชาวพุทธ สิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้นั้น ยิ่งใหญ่ถึงขนาดเกิดสิ่งมหัศจรรย์มากมาย ดังที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ดังนี้
ในคืนวันตรัสรู้ ที่พระพุทธองค์บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ โพธิบัลลังก์ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิที่พุทธคยา ได้เกิดสิ่งอัศจรรย์ พื้นมหาปฐพีสะเทือนเลื่อนลั่น มวลพฤกษ์พรรณดารดาษล้วนผลิดอกชูช่องดงามตระการตา หมู่เทพทุกชั้นฟ้าต่างแซ่ซ้องสาธุการโปรยปรายสุคนธชาติบุปผามาลัยถวายสักการะเป็นพุทธบูชา พร้อมเอ่ยวาจาพร้อมเพรียงกันเป็นที่อึกทึกกึกก้องทั่วท้องปฐพีว่า “พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก”
วัดบริหดีศวรา (Brihadeeswara) หรือในชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันว่าวัดตันจะวูร์ (Thanjavur) เป็นวัดของมหาเทพศิวะ(บางครั้งเรียกมูลวา)ผู้ยิ่งใหญ่ อยู่ที่เมืองตันจะวูร์ เป็นวัดหินที่สูงที่สุดในโลกด้วยความสูง 60 เมตร ตั้งอยู่ในรัฐทมิฬนาฑู หากเดินทางจากเจนไนด้วยทางหลวงหมายเลข 45 A(NH 45-A) ไปทางใต้จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง
ลักษณะวัดเป็นพระปรางค์ (แขกเรียกว่าวิมาน หรือวิมานะ) แบบพุทธคยา สลักเสลาเทวรูปมากมายแบ่งเป็นชั้นๆ ไปจนถึงยอดสุดของปรางค์ วิธีการการก่อสร้างเป็นแบบเดียวกับนครวัด กล่าวคือมีการนำก้อนหินแกรนิตมาเรียงกันก่อนที่จะสลักหินเป็นรูปร่าง และเทวรูปต่างๆ ตามที่ต้องการ ต้องยอมรับในความอึดของช่างแกะสลักและสถาปนิคแขกโบราณที่สลักเสลาหินนับแสนก้อนจนกลายเป็นทวยเทพจำนวนมากราวกับมีชีวิตจริงได้อย่างน่าอัศจรรย์ บนยอดสุดของปรางค์จะมีโดมที่เรียกว่า Kalash หรือ Chikharam ทำด้วยแผ่นทองคำครอบเอาไว้กันฝน หินแกรนิตเป็นวัสดุหาได้ง่ายมีอยู่ดาษดื่นทั่วไปในในรัฐทมิฬนาฑูแถมยังเป็นสินค้าส่งออกอีกด้วยนะ
วัดนี้สร้างในปี ค. ศ. 1010 ในรัชสมัยของกษัตริย์ราชราชาโจละที่ 1 แห่งอินเดียใต้ผู้ยิ่งใหญ่ ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดย UNESCO แล้ว
น้องอาจสงสัยว่าทำไมเขาถึงต้องสร้างวัดใหญ่โตมโหราฬเช่นนี้ เหตุผลมี 2 ประการคือ ประการแรก แน่นอนว่าเพื่อประกาศศักดาของจักรพรรดิราชผู้ขยายดินแดนแห่งอณาจักรของตนไปสุดขอบฟ้า ส่วนเหตุผลที่สองเพื่อเป็นที่ระลึกในการมีชัยเหนืออาณาจักรอีแลม ซึ่งเป็นซื่อเดิมของศรีลังกา นี่อาจเป็นต้นเค้าของชื่อกบถพยัฆทมิฬอีแลมในศรีลังกาก็เป็นได้ ด้านหน้ามีโคนันทิดำทมึนขนาดยักษ์สลักจากหินแท่งเดียวโดยไม่มีรอยต่อยาว 16 ฟุต สูง 13 ฟุตหมอบอยู่ด้านหน้าองค์พระปรางค์ สำหรับห้องโถงด้านในมีศิวลึงค์ใหญ่โอฬารตั้งเด่นเป็นสง่ารอคอยผู้แสวงบุญไปกราบไหว้บูชา
นอกจากเทวรูปของเทพประธานพระศิวะแล้ว เราจะยังได้ชมเทวรูปงามๆ ของเทพอื่นๆ ขนาดใหญ่สูงราว 6 ฟุตอยู่โดยรอบ อาทิเช่น เทพทักษิณามูรติ สุริยเทพ พระจันทร์ (Chandran) รวมทั้งเทพประจำทิศทั้งแปด ประกอบด้วยพระอินทร์ วรุณเทพ อัคณี อัสนี วายุ นิรุต ยามา และกุพิรา
แต่เดิมนั้นวัดนี้ชื่อคือวัดราชราชาสวรัมต ตามชื่อกษัตริย์ผู้สร้าง แต่ต่อมาหลังจากที่ในราชวงศ์โจละได้ล่มสลายลง แล้วในปี ค.ศ. 13 กษัตริย์ในยุคหลังนาม Nayak และกษัตริย์ Marath ได้ซ่อมแซมวัดนี้และได้เปลี่ยนซื่อเป็นวัดบริหดีศวราซึ่งเป็นชื่อในปัจจุบัน
ร้านอาหารส่วนใหญ่ในเมืองนี้จะเป็นอาหารเจ เนื่องจากคนอินเดียเป็นชาวมังสะวิรัติกว่า 60% และทุกครั้งที่ไปเที่ยวัดก็นิยมกินเจกัน ก็อร่อยไปอีกแบบ สำหรับอาหารไทยควรลองไปทำตลาดอาหารเจในอินเดียดูบ้างน่าจะติดตลาดไม่ยาก อยากรู้ว่าเจแขกเป็นอย่างไรน้องลองไปชิมแถวหลังวัดแขกสีลมดู มีให้อร่อยหลายร้าน แจ่มอย่าบอกใคร
พรุ่งนี้ค่อยมาว่ากันต่อสำหรับสถานที่อื่นๆ ที่น่าสนใจ
ที่มา: http://www.depthai.go.th