รายงานผลการดำเนินงาน โครงการ Thailand Outlet 2011 ระหว่างวันที่ 17 - 20 กุมภาพันธ์ 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 25, 2011 13:53 —กรมส่งเสริมการส่งออก

โครงการ Thailand Outlet 2011 ระหว่างวันที่ 17 - 20 กุมภาพันธ์ 2554

สถานที่ Diamond Island Exhibition & Convention Center (Koh Pich Center)

กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

ตามที่กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการโครงการงานแสดงสินค้า Thailand Outlet 2011 ณ กรุงพนมเปญ โดยมีผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้นำเข้า ตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่นำสินค้าจากไทยไปดำเนินการตลาดในประเทศกัมพูชาจำนวน 150 คูหา และมอบคูหาอนุเคราะห์ (ไม่คิดค่าใช้จ่าย) ให้แก่รัฐบาลกัมพูชาสำหรับผู้ประกอบการสินค้าหนึ่งจังหวัดหนึ่งผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการ SME จำนวน 25 คูหา เพื่อเข้าร่วมแสดงและจำหน่ายสินค้า นั้น

บัดนี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ได้ดำเนินงานตามโครงการฯ ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว จึงขอรายงานผลการดำเนินงาน ดังนี้

1. สถานที่จัดงานและการดำเนินการ

1.1 สถานที่จัดคือ Diamond Island Exhibition & Convention Center (Koh Pich Center) กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

1.2 ผู้นำเข้า/ตัวแทนจำน่ายสินค้าไทยในกัมพูชา ซื้อคูหาจากสำนักงาน จำนวน 72 บริษัท 150 คูหา แบ่งเป็น

1.2.1 หมวดสินค้าวัสดุก่อสร้างและเครื่องจักรกล จำนวน 9 บริษัท 15 คูหา

1.2.2 หมวดบริการ (โทรคมนาคม) จำนวน 1 บริษัท 4 คูหา

1.2.3 หมวดสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 26 บริษัท 35 คูหา

1.2.4 หมวดสินค้าเครื่องนุ่งห่ม จำนวน 3 บริษัท 16 คูหา

1.2.5 หมวดสินค้าสุขภาพและความงาม จำนวน 21 บริษัท 33 คูหา

1.2.6 หมวดสินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือนและเครื่องครัว จำนวน 12 บริษัท 47 คูหา

1.3 ผู้ประกอบการกัมพูชา จำนวน 25 คูหา แบ่งเป็น

1.3.1 หมวดสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 10 คูหา

1.3.2 หมวดสินค้าเครื่องประดับ จำนวน 2 คูหา

1.3.5 หมวดสินค้าของตกแต่งบ้าน จำนวน 4 คูหา

1.3.6 หมวดสินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือน จำนวน 4 คูหา

1.3.7 หมวดสินค้าสุขภาพและความงาม จำนวน 5 คูหา

2. ผลการดำเนินงาน

2.1 พิธีเปิดงานแสดงสินค้า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 17.00 น. ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอลงกรณ์ พลบุตร ได้ให้เกียรติเป็นประธานฝ่ายไทย และ H.E CHAM Prasidh รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา เป็นประธานฝ่ายกัมพูชา มีผู้เข้าร่วมในพิธีประมาณ 300 คน

2.2 การจัดงานแสดงสินค้าไทยครั้งนี้เป็นการจัดครั้งที่ 10 ในกรุงพนมเปญ เพื่อสนับสนุนผู้นำเข้า/ตัวแทนจำหน่ายสินค้าไทยในกัมพูชา เน้นการขายปลีกแก่ผู้บริโภคโดยตรง

การโฆษณา/ประชาสัมพันธ์ การจัดงานฯ ได้แก่ การจัดแถลงข่าว การแจกข่าว การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ทางสถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ การติดป้ายโฆษณา Bill Board ตามเสาไฟฟ้ารอบเขตกรุง ด้านหน้าทางเข้างาน และภายในอาคารแสดงสินค้า รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมพิเศษ ได้แก่ การสอนแกะสลักผลไม้ให้แก่ประชาชนกัมพูชา ตามคำร้องขอของกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาตั้งแต่วันที่ 14-20 กุมภาพันธ์ 2554 ระยะเวลา 56 ชั่วโมง มีผู้สนใจเข้าเรียน 50 คน รวมถึงการจัดดนตรีโดย TV 5 กัมพูชาทุกวัน เวลา 18.00-20.30 น.

3.ความสำเร็จในการจัดงาน

จากจำนวนของผู้เข้าชมงานวันละประมาณ 2 หมื่นคน จึงนับได้ว่าการจัดงานแสดงสินค้าไทยมีผู้ให้ความสนใจที่จะเดินทางมาชมงานและเลือกซื้อสินค้า ในงานมีการจัดซุ้มจำหน่ายสินค้าราคาพิเศษ จัดจำหน่ายสินค้าราคาถูกเพื่อดึงดูดให้คนมาชมงานมากยิ่งขึ้น เช่น การจำหน่ายไข่ไก่ของบริษัท ซีพี ฟองละ 100 เรียล (ประมาณ 80 สตางค์) วันละ 20,000 ฟอง จำกัดจำนวนซื้อคนละ 30 ฟอง หรือ 1 แผง การจำหน่ายสินค้าไทยราคานาทีทอง ซึ่งสร้างบรรยากาศสนุกสนานสร้างอารมณ์ให้มีความต้องการซื้อเพิ่มเติม

การจัดงานแสดงสินค้าไทยเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สินค้า/บริการของไทยไปสู่ผู้บริโภคกัมพูชาโดยตรง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในสินค้า/บริการของไทย การจัดครั้งนี้เป็นการจัดเสริมในโอกาสพิเศษเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลกัมพูชา เป็นการจัดขึ้นท่ามกลางกระแสการเมืองที่ร้อนระอุและมีการปลุกกระแสชาตินิยม การจัดงานที่ผ่านพ้นไปโดยสวัสดิภาพจึงถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง บรรลุตามวัตถุประสงค์คือ

3.1 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดกัมพูชาว่าประชาชนกัมพูชามีความนิยมชมชอบสินค้าไทย มีกำลังซื้อ และมีความเป็นมิตรต่อคนไทย ผลจากการสอบถามคนส่วนใหญ่ต่างยอมรับว่า สินค้าไทยเป็นสินค้าคุณภาพที่คนกัมพูชานิยมและต้องการหาซื้อเพื่อการอุปโภคและบริโภค

3.2 แสดงให้เห็นว่าคนไทยสามารถเดินทางเข้ามากัมพูชาเพื่อทำการค้าได้อย่างปลอดภัย เพราะระหว่างการจัดงานไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นแต่อย่างใด

3.3 สินค้าไทยยังอยู่ในใจของคนกัมพูชาซึ่งผู้ประกอบการต้องรักษาตลาดนี้ไว้ให้ได้เพราะไม่เช่นนั้นจะถูกสินค้าจากประเทศอื่นแย่งชิงตลาด

3.4 ผู้ประกอบการไทยต้องมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลกัมพูชาว่าสามารถควบคุมและจัดการกับประชาชนของตนได้ แม้ในขณะที่มีปัญหาการสู้รบกับไทย

3.5 การจัดงานแสดงสินค้าไทยเป็นช่องทางเชื่อมความสัมพันธ์ระดับรัฐบาล ขณะที่ช่องทางการทูต การเมือง และการทหารถูกปิด

3.6 รัฐบาลกัมพูชาต้องการแสดงให้ประชาชนทั้งโลกเห็นว่า กัมพูชาได้แยกเรื่องการค้า การลงทุน ออกจากความขัดแย้งด้านอื่นๆ

มูลค่าการซื้อขายสินค้าในงานมีดังนี้

3.1 มูลค่าการซื้อสินค้าในช่วงระหว่างงาน ประมาณ 50 ล้านบาท

3.2 มูลค่าที่คาดว่าจะมีการสั่งซื้อภายใน 1 ปี ประมาณ 1,200 ล้านบาท

4.ปัญหา/อุปสรรค

4.1 ความหวาดกลัวและหวาดหวั่นต่อสถานการณ์ที่มีการสู้รบตามแนวชายแดนทำให้ประชาชนไม่กล้ามาชมงานเพราะกลัวมือที่สามมาแทรกทำให้เกิดการเข้าใจผิดและอาจมีอันตรายต่อชีวิต

4.2 การเสนอข่าวที่สับสนเกี่ยวกับการยกเลิก การเลื่อนการจัดงานแสดงสินค้าไทยอันเนื่องมาจากสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ทำให้ประชาชนทั้งไทยและกัมพูชาเกิดความสับสน สำนักงานฯ จึงได้เร่งโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การจัดงานให้ประชาชนกัมพูชาได้รับทราบอย่างทั่วถึง

4.3 สินค้าที่นำมาแสดงไม่มีความหลากหลายและแปลกใหม่ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีจำหน่ายในท้องตลาดอยู่แล้ว ผู้มาชมงานบางส่วนจึงผิดหวัง

4.4 สื่อต่างๆ ยังคงเสนอข่าวความขัดแย้ง ระหว่างสองประเทศ ทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่ากัมพูชาไม่มีความสงบ

4.5 ประชาชนกัมพูชาส่วนหนึ่งมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อประเทศไทยและรู้สึกชาตินิยม จึงมีการต่อต้านไม่มาชมงาน

5.ข้อคิดเห็น

ท่ามกลางความไม่มั่นใจและหวาดกลัวเรื่องการสู้รบระหว่างไทยและกัมพูชาตามแนวชายแดนว่าจะขยายผลความไม่พอใจไปทั่วประเทศ รวมถึงประชาชนคนกัมพูชาจะเกลียดคนไทยและเกิดการต่อต้านสินค้าไทย นั้น การจัดงานแสดงสินค้าไทยในภาวะวิกฤติเช่นนี้แสดงให้เห็นได้ว่า เรื่องการค้าและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศแยกเด็ดขาดจากปัญหาเรื่องการเมืองและการทูต ความสำเร็จของการจัดงานจึงไม่เพียงแต่แสดงด้านมูลค่าการซื้อขายเท่านั้น แต่ต้องมองภาพใหญ่ว่าเป็นเวทีที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่จัดเพิ่มได้แก่

5.1 การสร้างความรู้สึกที่ดีระหว่างประชาชนของสองประเทศ การแสดงน้ำใจไมตรีของไทย ต่อกัมพูชา โดยการแสดงตนเป็นผู้ให้ เช่นให้ความรู้ ทักษะในการสอนแกะสลักผลไม้ สามารถสร้างความรู้สึกที่ดีต่อคนไทย สินค้าไทยและ ความสัมพันธ์ที่ดีต่อไป ตามนโยบาย สืบสานการค้า สานต่อวัฒนธรรม เชื่อมต่อสังคม

5.2 การจัดทำ Business Matching มีผู้แสดงความประสงค์เจรจาการค้า 23 ราย สามารถเจรจาการค้ากับฝ่ายกัมพูชา 15 คู่ ได้แก่ สินค้าเครื่องจักรกลการเกษตร สินค้าอาหาร เครื่องดื่ม ยากันยุงโรงสี และ เครื่องนุ่งห่ม

5.3 การจัดประชุมระหว่างหอการค้า นักธุรกิจไทย-กัมพูชา เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์และเจรจาการค้า การแก้ไขปัญหาความล่าช้าเรื่องเอกสาร และการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยการจัดตั้งสมาคมมิตรภาพการค้าไทย-กัมพูชา

5.4 การเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีกัมพูชา (สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน) ยืนยันสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้าไทย โดยกล่าวว่าแม้ว่าจะมีปัญหาความขัดแย้งเรื่องพรมแดนระหว่างกัมพูชาและไทย ถือว่าเป็นการกระทบกระทั่งเหมือนลิ้นกับฟัน แต่การค้าและการลงทุนยังคงต้องดำเนินการต่อไปเพราะเราเป็นเพื่อนบ้านที่มีรั้วติดกัน ไม่อาจแยกกันได้

5.5 การจัดแสดงดนตรีโดย TV 5 กัมพูชาทุกวัน เวลา 18.00-20.30 น. เพื่อสร้างบรรยากาศสนุกสนาน ควบคู่ไปกับการเดินซื้อสินค้าไทยในราคาพิเศษ ภายใต้สโลแกน งานแสดงสินค้าไทย งานเดียวที่ทุกคนรอคอย คนซื้อก็คอยซื้อสินค้าราคาพิเศษ คนขายก็คอยจัดสินค้าเพื่อสมนาคุณตอบแทนน้ำใจลูกค้า ถือเป็นการจัดงานโปรโมชั่นประจำปี

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ