มาตรฐานใหม่สินค้าเตียงนอนเด็ก (Toddler Beds) ของสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 26, 2011 13:52 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความเป็นมา

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 คณะกรรมาธิการความปลอดภัยของสินค้าบริโภคของสหรัฐฯ (U.S. Consumer Product Safety Commission - CPSC) ได้ดำเนินการสั่งเรียกเก็บ (Recall) เตียงเด็ก (Toddler Beds) จำนวนหลายล้านชิ้น ซึ่งสินค้าจำนวนไม่น้อยนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น เม็กซิโก จีน อินโดนิเซีย เวียดนาม และ ไทย เนื่องจาก เตียงนอนเด็กก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กกว่า 122 ราย เสียชีวิต 4 ราย และ บาดเจ็บ 43 ราย อันตรายที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจาก ปัญหาข้อบกพร่องของโครงสร้าง อุปกรณ์ และ ส่วนประกอบเตียงนอนที่นำมาผลิตที่ไม่ถูกต้องหรือขาดความปลอดภัย

มาตรฐานใหม่เตียงนอนเด็ก

เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กเสียชีวิตหรือได้รับอันตรายจากเตียงนอนเด็ก สำนักงาน CPSC จึง กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเตียงนอนเด็ก และเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2554 คณะกรรมการ CPSC ได้มีมติเอกฉันท์ 5-0 เห็นชอบกับข้อบังคับมาตรฐานใหม่สำหรับเตียงนอนเด็ก (Mandatory Safety Standard for Toddler Bed) ซึ่งมีหลักการใกล้เคียงกับมาตรฐานฉบับ ASTM F 1821- 09 (Standard Consumer Safety Specification for Toddler Beds) ของ หน่วยงาน ASTM International (formerly the American Society for Testing and Materials) และได้เพิ่มเติมข้อกำหนดในบางส่วนของมาตรฐาน เพื่อให้รัดกุมยิ่งขึ้น และจะมีผลบังคับใช้ทั้งเตียงนอนเด็กที่ผลิตในประเทศสหรัฐฯ และนำเข้าจากต่างประเทศ นับตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2554 เป็นต้นไปและสาระสำคัญของมาตรฐานเตียงนอนเด็กสรุปได้ ดังนี้

1. ลูกกรงกั้นข้างเตียง (Guardrail) กำหนดความสูงระหว่างขอบด้านบนของลูกกรงกั้นข้างเตียง (Top Rail) และผิวด้านบนของฟูกนอน (Top Mattress Surface) จะต้องไม่ต่ำกว่า 5 นิ้ว (โดยสมมุติฐานว่าฟูกมีความหน้า 6 นิ้ว) ดังนั้น Guardrail จะต้องมีความสูงอย่างต่ำ 11 นิ้ว

2. การทดสอบความแข็งแรง: แผ่นไม้ (Spindle/Slat) รองฟูกนอนของเตียงนอนเด็ก (Toddler Bed) ต้องได้รับการทดสอบความแข็งแรงในด้านการรองรับน้ำหนัก โดยให้สอดคล้องกับการทดสอบเตียงเด็กอ่อน (Crib)

3. การติดฉลากคำเตือน "Warning " หรือ "Caution ": ตามมาตรฐานที่กำหนดขึ้น ใหม่นี้ บังคับให้ผู้ผลิตเตียงนอนเด็กต้องติดฉลากและสัญญลักษณ์ คำเตือน 2 แบบ

3.1 ฉลากเตือนระบุอันตรายที่เกิดจากติดในซี่ลูกกรง/แผ่นไม้ (Entrapment) 3.2 ฉลากเตือนอันตรายที่เกิดจากเชือกพัน/รัดคอทำให้หายใจไม่ออก (Strangulation)

ฉลากทั้ง 2 แบบ จะต้องติดอยู่บนเตียงเด็ก และจะต้องมีข้อความตรงตามตัวอย่าง ดังนี้

WARNING INFANTS HAVE DIED IN TODDLER BEDS FROM ENTRAPMENT. Openings in and between bed parts can entrap head and neck of a small child. NEVER use bed with children younger than 15 months. ALWAYS follow assembly instructions.

WARNING STRANGULATION HAZARD NEVER place bed near windows where cords from blinds or drapes may strangle a child. NEVER suspend strings over bed. NEVER place items with a string, cord, or ribbon, such as hood strings or pacifier cords, around a child's neck. These items may catch on bed parts.

4.การทดสอบโดยบุคคลที่สาม (Third Party) กำหนดให้เตียงเด็กนอนต้องได้รับ การทดสอบโดยบุคคลที่สาม (Third Party) ซึ่งเป็นบุคคล/องค์ในบัญชีเห็นชอบของ CSPC เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย Consumer Product Safety Standards ซึ่งกำหนดให้สินค้าใช้กับเด็ก (Children Products) ต้องได้รับการทดสอบโดยบุคคลที่สาม เนื่องจาก CPSC กำหนดว่า เตียงนอนเด็กจัดให้อยู่ในกลุ่มสินค้าใช้กับเด็ก

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

1. มาตรฐานใหม่สินค้าเตียงนอนเด็ก (Toddler Beds) จะส่งผลต่อการเพิ่มค่าใช้จ่ายของผู้ผลิต/จัดจำหน่ายในด้าน การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การทดสอบสินค้า การตลาด และ บุคคลากร ซึ่งจะเป็นผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเตียงเด็กนอนสูงขึ้น และ ราคาจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น

2. ผู้ผลิตเตียงนอนเด็ก (Toddler Beds) ของสหรัฐฯ มีจำนวน 41 ราย แยกเป็นรายใหญ่ 7 ราย และ ขนาดกลางและเล็กจำนวน 34 ราย และ ระเบียบด้านมาตรฐานใหม่นี้จะส่งผลเสียต่อผู้ผลิตขนาดขนาดและเล็กของสหรัฐฯ เนื่องจาก ผู้ผลิตมีข้อจำกัดในด้านเงินทุนหรือการขอเพิ่มเงินทุนเพื่อนำมาใช้ในการยกระดับการผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน และจะเป็นปัจจัยผลักดันให้ผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดเล็กปรับกลยุทธ์การค้า โดยการลด/ยกเลิกการผลิตเตียงนอนเด็ก และหันไปนำเข้าเตียงนอนเด็กที่ผลิตได้ตรงตามมาตรฐานของสหรัฐฯ จากต่างประเทศ มาจำหน่ายทดแทนการผลิตในประเทศสหรัฐฯ

3. ในมุมกลับ มาตรฐานสินค้าเตียงนอนเด็ก (Toddler Beds) ฉบับใหม่นี้ จะสร้างโอกาสและลู่ทางในการเพิ่มการส่งออกสินค้าไทยในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิต/ส่งออกไทยต้องยกระดับการผลิตสินค้าให้ได้ตรงตามมาตรฐานใหม่ของสหรัฐฯ ผู้ผลิต/ส่งออกไทยที่สนใจศึกษารายละเอียดของมาตรฐานใหม่สินค้าเตียงนอนเด็กของสหรัฐฯ เพื่อนำไปประกอบเป็นแนวทางในการผลิต ได้จากแหล่งข้อมูล ดังนี้

3.1 มาตรฐานเตียงเด็ก: http://edocket.access.gpo.gov/2011/pdf/2011-9421.pdf

3.2 ASTM: www.astm.org/Standard/index.shtml : Toddler Beds - ASTM F1821

3.3 Third Party Test Lab: www.cpsc.gov/cgi-bin/labsearch

3.4 สมาคมสินค้าใช้กับเด็ก: www.jpma.org (Juvenile Product Mfg. Association)

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ