แนวโน้มการนำเข้าข้าวของซาอุดีอาระเบีย ปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 27, 2011 11:12 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ข้าวเป็นอาหารหลักของชาวซาอุฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมื้อกลางวัน และมื้อเย็น ส่วนใหญ่จะบริโภคในรูปของข้าวหมก (ใส่เครื่องเทศต่างๆ) ร่วมกับเนื้อแพะ/แกะ/ไก่/วัว

ปริมาณการนำเข้าข้าวของซาอุดีอาราเบีย (,000 ตัน)

     ประเทศ/ปี      2553      2552     2551     % 2553/2552      %2552/2551
อินเดีย               603       607      653            -0.66          -7.04
ไทย*                143       197      138           -27.49          42.96
ปากีสถาน             205       162      212            26.54         -23.58
สหรัฐฯ               115       115      131             0.00         -12.21
ประเทศอื่นๆ            20        15       35            33.33         -57.14
       รวม        1,086     1,096    1,169            -0.93          -6.23
ที่มา: USDA, Jan 2011
* ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยไปซาอุฯ

ในปี 2553 มีการประมาณการณ์ไว้ว่าซาอุฯ มีการนำเข้าข้าวรวมทั้งสิ้น 1.08 ล้านตัน โดยเป็นการนำเข้าจากอินเดียมากที่สุด 0.60 ล้านตัน ปากีสถาน 0.20 ล้านตัน และไทย 0.14 ล้านตัน ตามลำดับ ชาวซาอุฯ บริโภคข้าวในอัตราเฉลี่ย 43 กก./คน/ปี

สำหรับปี 2554 FAO (Jan, 2011) คาดการณ์ว่าซาอุฯ จะมีการนำเข้าข้าวทั้งสิ้น 1.20 ล้านตันซึ่งเป็นผลจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผู้บริโภคชาวซาอุฯ มีแนวโน้มที่จะบริโภคข้าวนึ่ง (Parboiled Rice) เพิ่มขึ้น เนื่องจากหุงต้มง่ายกว่าข้าวบาสมาติ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2554 มีปัจจัยเสี่ยงในส่วนของค่าเงินบาทที่ค่อนข้างแข็งเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ ผู้นำเข้าข้าวซาอุฯ อาจสนใจหันไปนำเข้าข้าวจากเวียดนามเพิ่มขึ้น จากการที่เวียดนามปรับลดค่าเงินของตนเองลงไป นอกจากนี้ ยังต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดในส่วนของแนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลกว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือไม่ แม้ว่าในขณะนี้ราคาข้าวในตลาดโลกปี 2554 ค่อนข้างอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับราคาข้าวในปี 2553 ซึ่งเป็นผลจากการคาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวของโลก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2554 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ปี 2554 (มค.-มีค.) ไทยส่งออกสินค้าข้าวไปซาอุฯ แล้วทั้งสิ้น 29,986 ตัน มูลค่า 21.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ปริมาณและมูลค่าการส่งออกข้าวของไทยไปซาอุดีอาระเบีย ลดลงร้อยละ 16.52 และ 15.94 ตามลำดับ ตัวเลขที่ลดลงน่าจะเป็นผลจากการที่ผู้นำเข้าซาอุฯ ชะลอการสั่งซื้อเพื่อดูแนวโน้มของราคาข้าวในตลาดโลก

ตามปกติชาวซาอุฯ จะมีการใช้จ่าย/บริโภคสินค้ากลุ่มอาหารค่อนข้างมาก ช่วงเดือนถือศีลอด (รอมฏอน) ของทุกปี โดยในปี 2554 จะเริ่มถือศีลอดประมาณวันที่ 1-28 สิงหาคม ดังนั้น ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2554 เป็นต้นไป ก็น่าจะเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ส่งออกสินค้าอาหารของไทย รวมทั้งข้าว ที่จะได้รับคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าว

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ