รายงานการเดินทางไปหารือและเยี่ยมพบผู้นำเข้าสินค้าอาหาร
บริษัท Santini Co., Ltd.
16505 Worthley Dr., San Lorenzo Calfornia 94580
www.santinifoods.com
วันที่ 19 มกราคม 2554
ผู้เข้าร่วมการหารือ
1. นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สคร. ลอสแอนเจลิส
2. นายสมคะเน ยอดพราหมณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สคร. ลอสแอนเจลิส 3. นายวิษณุ ชมศิล ผู้ช่วยดำเนินการ สคร. ลอสแอนเจลิส 4. Ms. Franca Chung Director of International Business Development
5. Ms. Lek Teevorachevin Manager of International Business Development
6. Mr. Vikram J. Chand Director of Specialty Foods ข้อมูลบริษัท
บริษัท Santini ได้ก่อตั้งมากว่า 55 ปี โดยเริ่มจากการขายอาหารประเภทแป้งพาสต้า และประสบความสำเร็จในการขายสินค้าอาหารประเภทต่างๆ โดยเฉพาะ นมข้นหวาน ผลิตภัณฑ์นม โดยมีคู่ค้าสำคัญที่เป็นบริษัทที่มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์นม ได้แก่ บริษัท Mcdonald, Starbuck, Nestle, Safeway, Trader Joe's เป็นต้น บริษัทมีโรงงานขนาดใหญ่ถึง 100,000 ตารางฟุต มีกำลังการผลิตนมข้นหวาน 5000 กระป๋องต่อวัน โดยสามารถผลิตได้ตลอด 24 ชั่วโมง คลังเก็บสินค้าเป็น
ของตัวเองถึง 7 แห่ง มีพนักงาน 110 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ที่มิใช่แรงงานจากหลายเชื้อชาติ เช่น อินเดีย จีน ลาว รวมถึงเจ้าหน้าที่ชาวไทย และมีนโยบายขยายตลาดโดยกระจายสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ (ตลาดMainstream) เช่น Ralphs, Safeway, Wholefood เป็นต้น ปัจจุบันได้มีการนำเข้าสินค้าอาหารจากประเทศไทยบ้างแล้ว ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซอสปรุงรสต่างๆ เครื่องแกง เช่นเครื่องต้มยำ ต้มข่า เป็นต้น
สรุปผลการหารือ
1. บริษัท Santini สนใจนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยประเภทอาหาร และ เครื่องดื่มจากประเทศไทย โดยต้องการกระจายสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดประเภท Mainstream ได้แก่ ตลาดสินค้าที่คนอเมริกันส่วนใหญ่ใช้จับจ่ายซื้อสินค้าเช่น Ralphs, Cost Plus, Safeway, Wholefood เป็นต้น และต้องการให้สคร. แนะนำคู้ค้าและผู้ส่งออกสินค้าประเภทอาหารให้
2. ปัญหาสำคัญในการนำสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดหลัก คือราคาสินค้าไทยสูง โดย บริษัทฯ ได้เริ่มเจรจาซื้อขายกับผู้ส่งออกบางรายที่มาเข้าร่วมงานฯ Fancy Food แล้ว ปรากฏว่าสินค้าอาหารบางประเภท เช่นราคาอาหารกล่องสำเร็จรูปพร้อมอุ่นและรับประทานได้เลยมีราคาขายส่งเกือบเท่าราคาขายปลีกในตลาด ดังนั้นบริษัท Santini จึงไม่สามารถรับซื้อได้ เนื่องจากบริษัทฯ ต้องนำสินค้าไปขายต่อให้กับผู้กระจายสินค้า (Distributor) ต่ออีกทอดหนึ่ง ก่อนที่จะเข้าสู่ตลาดหลัก ดังนั้น บริษัทไทยจึงจำเป็นต้องปรับตัว โดยอาจปรับเปลี่ยนลักษณะสินค้า เมนูอาหาร น้ำหนัก หีบห่ออาหารเพื่อให้สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่ผู้ซื้อต้องการ
3. บริษัท Santini ให้ความเห็นว่าแนวโน้มตลาดสินค้าอาหารประเภท Specialty Food ยังคงสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรัฐแคลิฟอเนียที่เป็นถิ่นฐานของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ทำให้มีการเปิดรับวัฒนธรรมการบริโภคอาหารต่างชาติได้ง่าย เช่นอาหารอินเดีย ซึ่งในแต่ก่อนไม่ค่อยเป็นที่นิยมแพร่หลาย แต่ในปัจจุบันจำนวนร้านอาหารอินเดียเพิ่มขึ้นมาก
ซึ่งจำนวนร้านอาหารมีส่วนสัมพันธ์กับสินค้าที่จะนำมาวางขายในตลาดหรือห้าง เนื่องจากหากผู้บริโภคมีความคุ้นเคยกับอาหารใด ก็จะเริ่มเสาะหาวัตถุดิบเพื่อมาประกอบอาหารเองที่บ้านด้วย เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบริโภคอาหารนอกบ้าน นอกจากนี้บริษัทฯ ยังให้ความเห็นว่าวัตถุดิบเพื่อการประกอบอาหารไทยน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี
4. แนวโน้มของสินค้าอาหารปัจจุบันยังคงเป็นลักษณะอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารที่ชะลอความชราประเภท Antioxidant ซึ่งมีมากในผลไม้ เช่นทับทิม และน้ำมะพร้าว นอกจากนี้บริษัทยังให้มุมมองเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคของชาวอเมริกันรุ่นใหม่ว่าไม่ชอบการเตรียมอาหารที่ต้องใช้หลายขั้นตอน เช่น ต้องตัดก่อน แล้วหั่น แล้วนำไปล้างก่อนปรุง ดังนั้นการที่สามารถลดขั้นตอนการเตรียมอาหารให้กับผู้บริโภคกลุ่มเหล่านี้ได้ เช่นอาหารประเภทพร้อมรับประทาน หรือกึ่งพร้อมรับประทาน จะช่วยทำให้สินค้าขายได้ดีขึ้น
5. สคร. ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับงานแสดงสินค้าอาหารนานาชาติ Thaifex World of Food และแนะนำเวปไซต์ของกรมฯ และสคร. อเมริกา โดยบริษัทให้ความสนใจในการเข้าเยี่ยมชมงานฯ ดังกล่าว และสนใจติดต่อกับบริษัทไทยที่มาเข้าร่วมงานฯ Fancy Food ด้วย
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลีส
ที่มา: http://www.depthai.go.th