1. การผลิตและยอดการจำหน่าย
ในช่วงไตรมาสแรกปี 2554 นี้ยอดการจำหน่ายเครื่องประดับและของใช้ทำด้วยโลหะมีค่าของเยอรมนีมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น สืบเนื่องจากการที่คนงานมีรายได้ เงินเดือนสูงขึ้น แต่หลังจากที่เกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้าปรมณูในญี่ปุ่นได้รับความเสียหาย การจราจลในหลายประเทศที่อัฟริกาตอนเหนือ รวมทั้งการจัดตั้งงบประมาณช่วยเหลือประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่มีปัญหาด้านการเงินและเพื่อป้องกันเงินสกุลยูโรอ่อนค่าลง เหล่านี้ได้สร้างความไม่มั่นใจให้กับผู้บริโภค จะมีแนวโน้มทำให้การซื้อสินค้าประเภทนี้ลดลงบ้างในช่วงต่อจากนี้ไป สำหรับการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศของเยอรมนีคาดว่ายังคงจะมีแนวโน้มที่แจ่มใส โดยเฉพาะสินค้าประเภททองคำ โลหะมีค่าต่างๆที่ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อเก็บไว้เพื่อการเก็งกำไร ตามตัวเลขสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี เดือนมกราคมปี 2554 มียอดการจำหน่ายเครื่องประดับแท้และของใช้ทำด้วยโลหะมีค่าเป็นมูลค่า 25.5 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.7 เป็นการจำหน่ายในประเทศมูลค่า 13.9 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 และในต่างประเทศมูลค่า 11.6 ล้านยูโร มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 80.3
2. สถานการณ์การนำเข้า
สินค้าที่เยอรมนีนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นทองคำ แพลทินัม และโลหะมีค่าอื่นๆ อย่างไรก็ตามความต้องการสินค้าเครื่องประดับแท้และโดยเฉพาะเครื่องประดับเทียมในตลาดเยอรมนียังคงมีสูงต่อเนื่อง ในช่วงเดือนแรกปี2554 มีการนำเข้าสินค้ารายการนี้เป็นมูลค่า 1,506 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.1 สินค้าส่วนใหญ่ที่เยอรมนีนำเข้าจะเป็น โลหะมีค่า ได้แก่ ทองคำนำเข้าเป็นมูลค่า 360 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.3 แพลทินัมมูลค่า 339 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.2 แหล่งนำเข้าที่สำคัญๆได้แก่ แอฟริกาใต้ เบลเยี่ยม และสหรัฐฯ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 18, 16 และ 11 ตามลำดับ สำหรับ เครื่องประดับแท้ทำด้วยทองคำและเงิน มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 106 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.4 แหล่งนำเข้าที่สำคัญๆ ได้แก่ เดนมาร์ค มีการนำเข้ามูลค่า 34.8 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น4,654 % คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 32.8 จากไทยนำเข้ามูลค่า 15.6 เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2 (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14.7) จีน มูลค่า 13.9 เพิ่มขึ้นร้อยละ18.9 (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 13) สวิส มูลค่า 9.0 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 11)
3. การส่งออกของไทยไปตลาดเยอรมนี
ในปี 2554 (ม.ค.-มี.ค.) ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปเยอรมนีเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 66.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 6.8 ของการส่งออกสินค้าไทยไปเยอรมนีทั้งสิ้น มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 21.0 สินค้าที่ส่งออกมากอันดับแรกจะเป็น เครื่องประดับแท้ มูลค่า 49.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 74.8 ของการส่งออกสินค้ารายการนี้ไปเยอรมนี มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 คิดเป็นส่วนแบ่งในตลาดเยอรมนีร้อยละ 21.0 รองลงมาเป็นสวิส และจีนมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ20 และ 13 ตามลำดับ สำหรับ เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไทยส่งออกไปเยอรมนีมูลค่า 6.2 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 188.7 แหล่งนำเข้าสำคัญของเยอรมนีจะเป็นจีนมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 58 % ออสเตรีย ร้อยละ 19 และฮ่องกง ร้อยละ 4 ส่วนไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน
ที่มา: http://www.depthai.go.th