รู้จักจีน รู้จักซีอาน (ตอนที่ ๕) : เส้นทางขนส่งสินค้าจากไทยสู่ซีอาน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 6, 2011 11:53 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การค้าขายระหว่างประเทศไทยกับเมืองซีอาน มณฑลส่านซีที่รัฐบาลจีนกำหนดให้เป็นหัวมังกรนำความเจริญสู่เมืองอื่นๆ ในภาคตะวันตกตอนเหนือของจีน ปัจจัยเรื่องเส้นทางและค่าใช้จ่ายในการขนส่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากซีอานเป็นเมืองที่ล้อมรอบไปด้วยแผ่นดิน (landlocked city) และอยู่ห่างไกลจากทะเล ในปัจจุบันการนำเข้าสินค้าไทยมาขายในซีอานส่วนใหญ่นำเข้าผ่านมณฑลทางตะวันออกและทางใต้ของจีน สินค้าไทยที่เข้าสู่ซีอานโดยตรงยังมีไม่มาก สินค้าไทยที่มีวางจำหน่ายเป็นสินค้าที่ชาวจีนท้องถิ่นและผู้แทนจำหน่ายตามเมืองหลักของจีนเป็นผู้นำเข้าสู่ตลาด ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการชาวซีอานมีความตื่นตัวที่จะซื้อสินค้าจากไทยโดยตรง ไม่ต้องการซื้อผ่านตัวแทนเช่นเดิม ประกอบกับผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทยเองก็มีความคิดเห็นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสินค้าสดที่เน้นเรื่องความใหม่สด ต้องการความรวดเร็วในการขนส่ง เช่น ผลไม้ ดอกไม้ และอาหาร

ซีอานเป็นเมืองเอกของมณฑลส่านซี ซึ่งรัฐบาลกลางได้กำหนดให้เป็นเมืองศูนย์กลางระบบโลจีสติกส์ที่สำคัญที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน อีกไม่นานเมื่อการก่อสร้างระบบพื้นฐานเสร็จสิ้นสมบูรณ์ สินค้าใดก็ตามที่เข้าถึงนครซีอานจะสามารถกระจายสู่มณฑลรอบข้างได้ทั้งสี่ทิศภายในเวลาไม่เกิน ๑ วัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของมณฑลส่านซีมีความแตกต่างกันอย่างมาก ดังนั้นการวางแผนสร้างเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงพื้นที่ให้ทั่วถึงทุกเมืองในมณฑล และเชื่อมต่อสู่มณฑลอื่นๆ ตลอดจนประเทศต่างๆ ที่มีชายแดนติดกับจีน จึงเป็นงานหลักที่ท้าทายเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายสำคัญในการกระจายความเจริญสู่ชนบทเพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่และกระจายรายได้ให้เกิดความเสมอภาคกันของรัฐบาลจีน

ลักษณะภูมิประเทศของมณฑลส่านซี มีความแตกต่างกันอย่างเด่นชัดแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ

ตอนเหนือ เป็นที่ราบสูงดินเหลืองและเขตทะเลทราย ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และเกลือ และเป็นที่ตั้งของเมืองหยูหลิน และเมืองเอี๋ยนอาน

ตอนกลาง เป็นที่ราบกวานจง ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มและมีแม่น้ำไหลผ่าน จึงเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในมณฑล และเป็นที่ตั้งของเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจต่าง ๆ คือ นครซีอาน เสียนหยาง เว่ยหนาน เป่าจี ถงชวน และเขตอุตสาหกรรมไฮเทคทางการเกษตรหยางหลิง

ตอนใต้ เป็นแนวเทือกเขาฉินหลิ่ง (พรมแดนทางธรรมชาติที่ขีดแบ่งสาขาของแม่น้ำเหลืองและแยงซีเกียงออกจากกัน) และเขาปาซาน โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแนวเทือกเขาและเนินเขาสูงกว่าระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐ — ๒,๐๐๐ เมตร อีกทั้งเป็นพื้นที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และเป็นที่ตั้งของเมืองฮั่นจง อานคัง และซางลั่ว

เส้นทางการคมนาคมและขนส่งระหว่างประเทศที่สำคัญ

การขนส่งสินค้าไทยสู่ภาคตะวันตกจีน โดยเฉพาะนครซีอาน มักนิยมใช้เส้นทางขนส่งทางเรือ โดยออกจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือในฮ่องกง ใช้เวลา ๔ -๕ วัน จากนั้นขนส่งทางรถยนต์เข้าไปที่เซินเจิ้นหรือกวางโจว ใช้เวลา ๑๒ ชั่วโมง ก่อนจะกระจายสินค้าไปทั่วประเทศจีน ซึ่งรวมเวลาทั้งสิ้นประมาณ ๑๐ วัน

การขนส่งทางบก

เส้นทางการขนส่งทางบกระหว่างกรุงเทพฯ - ซีอาน สามารถใช้เส้นทาง R3E (ไทย-ลาว-จีน) ระยะทางประมาณ ๓,๓๔๒ กิโลเมตร รวมเวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ ๔๕ ชั่วโมง เป็นอีกทางเลือกหนึ่งได้ คือ

  ผ่านประเทศ                           เส้นทาง (ด่าน/เมือง)                   ระยะทาง (กม.)    ระยะเวลา (ชม.)ไทย — ลาว     กรุงเทพ — ด่านเชียงของ จ.เชียงราย — ด่านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว             ๘๙๐               ๑๒
ลาว           ด่านห้วยทราย — ด่านบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา                               ๒๒๙               ๔
ลาว — จีน      ด่านบ่อเต็น — ด่านชายแดนโม่ฮาน—จิ่งหง (เชียงรุ้ง) มณฑลยูนนาน                ๑๘๕            ๒ ชม.ครึ่ง
จีน            จิ่งหง — คุนหมิง — เข้าสู่ชายแดนมณฑลเสฉวน                               1028              ๑๕
จีน            อำเภอสุ่ยฝู — เมืองอี้ปิน (พรมแดนยูนนาน/เสฉวน) — เมืองเฉิงตู                ๓๕๐               ๔
จีน            เฉิงตู — ฮั่นจง — ซีอาน                                               ๖๖๐            ๗ ชม.ครึ่ง

อนึ่ง ทางด่วน “นครซีอาน — เมืองฮั่นจง” ช่วยลดเวลาการเดินทางจากซีอานถึงเฉิงตูเหลือเพียง ๗ ชั่วโมงครึ่ง จากเดิมที่ต้องใช้เวลาเดินทางถึง ๑ วัน เส้นทางด่วนสาย “นครซีอาน — เมืองฮั่นจง” นี้เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงของประเทศ GZ40 เริ่มต้นที่นครซีอาน ผ่านเมืองอานคัง ที่อำเภอหนิงส่าน ถึงเมืองฮั่นจง ซึ่งลดเวลาการเดินทางจากซีอานสู่ฮั่นจงจากเดิม ๖ - ๗ ชั่วโมงเหลือเพียง ๓ ชั่วโมง

ถึงแม้การขนส่งทางบกเส้นทาง R3, R9, R12 ได้สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่นักธุรกิจชาวซีอานและผู้ส่งออกของไทยในการที่จะได้มีโอกาสขยายการค้าแบบที่ทั้งสองฝ่ายได้มีโอกาสเห็นกันและกัน เนื่องจากที่ผ่านๆ มาการค้าทำผ่านคนกลางมาโดยตลอด แต่ก็ต้องยอมรับว่าเส้นทางการขนส่งทางบกที่ช่วยอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าทั้งหมดนี้ ก็ยังมีข้อเสียเปรียบทางทะเลอยู่บ้าง ซึ่งแม้การขนส่งสินค้าไทยสู่ภาคตะวันตกจีนโดยใช้เส้นทางบก R3E จะใช้เวลาประมาณ ๔ - ๖ วัน แต่จากผลของการวิจัยก็ยังพบว่าโลจิสติกส์การขนส่งทางเรือในภาพรวมยังมีต้นทุนที่ต่ำกว่าและมีประสิทธิภาพความน่าเชื่อถือที่สูงกว่า

บทสรุป

ด้วยผลของเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์ของอาเซียนสินค้าไทยจะได้ประโยชน์จากการขนส่งทางบกเชื่อมต่อระหว่างอาเซียนกับจีน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดตะวันตกตอนเหนือของจีนซึ่งคือตลาดเกิดใหม่ในดินแดนที่เพิ่งเปิดออกสู่โลกภายนอกได้ไม่นานของจีน และยังจะเป็นการช่วยลดอุปสรรคที่เกิดจากการซื้อขายแบบผูกขาดของพ่อค้ารายเดิมๆ ที่กำอำนาจเหนือตลาดมายาวนาน เพื่อให้ประโยชน์หันมาตกอยู่กับผู้บริโภคและผู้ทำการค้าส่วนใหญ่ของไทยและจีน

รายงานโดย นางสาวสิริรัตน์ วงศ์ไพโรจน์พานิช

ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้า ณ เมืองซีอาน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ