สถานการณ์ตลาดสินค้าเสื้อผ้าในญี่ปุ่น: กรณีตัวอย่าง Uniqlo

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 9, 2011 11:59 —กรมส่งเสริมการส่งออก

Fast Retailing บริษัทผู้ค้าปลีกเสื้อผ้ารายใหญ่ในญี่ปุ่นเจ้าของแบรนด์ Uniqlo (มาจาก Unique Clothing )ซึ่งเป็นที่นิยมทั้งในและต่างประเทศ มีสินค้าหลักคือเสื้อผ้าพื้นฐานที่จำเป็น (functional cloth) เช่น ยีนส์ T-shirt ถุงเท้า เป็นต้น ซึ่งไม่หวือหวาแต่มักพบเห็นได้ในตู้เสื้อผ้าของคนทั่วๆ ไป Uniqloก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2527โดยMr.Yanai Tadashi ซึ่งรับช่วงธุรกิจร้านตัดชุดสูทจากบิดา และผันสู่ธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้าพื้นฐาน Yanai กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นหลังจากประสพความสำเร็จสร้าง Uniqloจนกลายเป็นแบรนด์เสื้อผ้ารายใหญ่อันดับ 1 ของญี่ปุ่นและอันดับ 4 ของโลกรองจาก ZARA ของสเปน GAP ของอเมริกา และ H&M ของสวีเดน โดยมียอดขาย 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2553 สวนกระแสภาวะเงินฝืดของเศรษฐกิจในประเทศ และมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2ใน 3 ของบริษัทคู่แข่งจากต่างชาติ

โดยทั่วไปแล้ว ในญี่ปุ่นรูปแบบธุรกิจของบริษัทค้าปลีกเสื้อผ้าในมุมมองของห่วงโซ่การผลิตแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. บริษัทที่เน้นทำเฉพาะด้านการขาย เช่น Departmentstore, Forever 21

2. บริษัทที่วางแผนงานทั้งหมด จากนั้น outsource การผลิต เช่น Point

3. บริษัทที่ทำทั้งระบบ โดยควบคุมตั้งแต่การวางแผน การผลิต และการขาย เช่น GAP, ZARA, H&M

ในขณะที่ Uniqloอยู่นอกเหนือจากทั้ง 3 กลุ่ม โดยลงทุนลงแรงตั้งแต่การจัดซื้อวัตถุดิบด้วยตนเอง ด้วยการร่วมมือกับบริษัท Toray ซึ่งเป็นผู้ผลิตผ้าผืนที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นในการพัฒนาผ้าที่มีคุณสมบัติสูงอย่าง HeatTechซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในฤดูหนาวเนื่องจากเนื้อผ้ามีลักษณะบางเบาแต่สามารถรักษาอุณหภูมิในร่างกายไว้ได้ดีกว่าผ้าทั่วๆไป จุดแข็งของ Uniqloคือการผลิตสินค้าที่ลูกค้าต้องการที่มีคุณภาพในราคาประหยัด โดยสินค้ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ผลิตในประเทศจีนด้วยการควบคุมดูแลของ Uniqloสินค้าที่ผลิตมีการเปลี่ยนรุ่นไม่บ่อยครั้งเหมือนกับ ZARA และ H&M ที่เน้นก้าวทันแฟชั่น ทำให้ Uniqloมี line สินค้าเพียงประมาณ 1,000 รายการในหนึ่งปี ซึ่งทำให้ง่ายต่อการบริหารสต๊อกสินค้าและช่วยลดต้นทุนการผลิตจากการสั่งสินค้าในปริมาณมาก ทำให้สามารถขายสินค้าในราคาย่อมเยาว์ได้

ปัจจุบัน Uniqloมีสาขากว่า 800 แห่งในญี่ปุ่นและ 140 ในโลก และวางแผนจะเปิดสาขาใหม่ 500 แห่งต่อปี ในระยะเวลา 3-5 ปี โดยจะเน้นเพิ่มสาขาในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน ที่มีสาขาอยู่แล้ว 54 แห่งโดยตั้งเป้าหมาย 1,000 สาขาในจีน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้ยอดขายในต่างประเทศมีสัดส่วนสูงกว่ายอดขายในประเทศภายในปี 2558 ปัจจุบันยอดขายในต่างประเทศมีสัดส่วนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายทั้งหมดและกำลังเติบโตสูงขึ้นโดยเฉพาะยอดขายในจีน ฮ่องกงและเกาหลีใต้ โดยในระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2553 ยอดขายในต่างประเทศสูงขึ้น 29 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ ยอดขายภายในประเทศลดลงถึง 12 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ในปีงบประมาณ 2553 กำไรของบริษัทลดลงครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยหลายฝ่ายคาดว่าเป็นผลมาจากการดำเนินกลยุทธ์ที่ผิดพลาด เนื่องจากในระยะหลัง Uniqloหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าแฟชั่น เพื่อแข่งขันกับคู่แข่งที่มีภาพพจน์สินค้าที่ทันสมัยกว่า มีดีไซน์เก๋ไก๋ และราคาไม่แพง (cheap chic fashion) จากยุโรป ที่เข้ามาในญี่ปุ่น (ปัจจุบัน ZARA มี 63 สาขา H&M มี 10 สาขาในญี่ปุ่น) ในขณะที่จุดแข็งของบริษัทอยู่ที่การซื้อผ้าในจำนวนมากเพื่อผลิต functional clothing โดย Mr.Yanaiประธานบริษัทออกมายอมรับว่า Uniqloควรยึดติดกับ basic design สำหรับ functional cloth มากกว่าการมุ่งเน้นแฟชั่น เพื่อทำให้ตัวเองแตกต่างจาก ZARA และ H&M ในขณะที่นักวิเคราะห์จาก Euromonitorกลับมองว่าUniqloไม่ควรละทิ้งสินค้าแฟชั่นและความผิดพลาดเกิดจากการขยายจำนวนสาขาอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะสาขาในประเทศทั้งๆ ที่ตลาดกำลังหดตัวเนื่องจากประชากรที่ลดลง โดยUniqloควรเรียนรู้จากประสพการณ์ความผิดพลาดในการขยายสาขาอย่างรวดเร็วของ Starbucks

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าการเติบโตในปีที่ผ่านมาจะไม่มั่นคง แต่ Uniqloก็เติบโตถึงเท่าตัวภายในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งวางเป้าหมายให้มีรายได้เติบโตสูงขึ้นเป็น 6 เท่าตัว (60 ล้านเหรียญสหรัฐ) ภายในปี 2563 เพื่อก้าวแซงหน้า H&M และ ZARA

เหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว สึนามิ และการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าเนื่องจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ได้รับความเสียหายได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในวงกว้าง และรวมถึงบริษัทค้าปลีกอย่าง Uniqlo ซึ่งสาขาภายในประเทศจำนวน 160 แห่ง (20 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด) ต้องปิดตัวลงชั่วคราว โดยคาดว่ามูลค่าความเสียหายที่สูญเปล่าจะสูงถึง 1 พันล้านเยน

ข้อคิดเห็นและบทวิเคราะห์

Uniqloเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่ยังคงมีอยู่แม้ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย การขายสินค้าที่ลูกค้าต้องการย่อมได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้ามากกว่าการขายสินค้าที่ตนเองอยากขาย โดยสินค้าของ Uniqlo ไม่เพียงแต่ตอบสนองลูกค้าด้วยราคาที่ต่ำกว่าซึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งที่หลายๆ คนต้องการในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในขณะเดียวกันในแง่ functionและคุณภาพสินค้าของ Uniqloสามารถตอบโจทย์ได้ในทุกฤดูอันเป็นผลมาจากการใส่ใจตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกวัตถุดิบ เช่น ในฤดูหนาวมีเสื้อยืด HeatTech, เสื้อ Fleece, เสื้อแคชเมียร์ และ แจ็คเก็ตขนเป็ด ที่ช่วยให้ความอบอุ่นแก่ผู้สวมใส่ได้ในราคาที่ย่อมเยาว์กว่า ในฤดูร้อนมีเสื้อป้องกัน UV ที่ได้รับความนิยมตามกระแสการให้ความสำคัญกับสุขภาพและความงาม

การเรียนรู้เทคนิคกลยุทธ์ของ Uniqloนับเป็นตัวอย่างที่ดีและสามารถช่วยให้ผู้ส่งออกไทยเข้าใจตลาดญี่ปุ่นและรู้ถึงแนวทางในการเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่อย่างญี่ปุ่นที่กำลังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจซบเซาอีกทั้งยังมีการแข่งขันอย่างรุนแรงทั้งจากในและต่างประเทศได้ดีมากยิ่งขึ้น แหล่งข้อมูลและเอกสารอ้างอิง

1. "Disaster Raises Big 15 Retailers'sSpectial Losses to Y150 bn, The Nikkei, 22 April 2011

2. "H&M Remains World's Biggest Apparel Firm", The Nikkei, 25 March 2011

3. "Has the bubble burst for Japan's Uniqlo?", Euromonitor Global Market Research Blog, 1 February 2011

4. "Uniqlo Billionaire Yanai Revisits Drucker to End Slump", Bloomberg, 6 December 2010

5. "Uniqlo: Uniquely Positioned", The Economist, 24June 2010

6. "Conquering the world with discipline, politeness and Japan-ness", The Economist, 26 June 2010

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ