มณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 23, 2011 11:35 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ข้อมูลทั่วไป

ประเทศจีนมีขนาดพื้นที่ ๙,๕๙๖,๙๖๑ ตารางกิโลเมตร ประชากร ๑,๓๓๖.๗ ล้านคน มีการแบ่งเขตบริหารประกอบด้วย ๒๓ จังหวัด/ มณฑล (จังหวัดที่ ๒๓ คือ ไต้หวัน) ๕ เขตปกครองตนเอง คือ กว่างซี มองโกเลียใน หนิงเซี่ยะ ซินเกียง ทิเบต และ ๔ เมืองที่มีอำนาจบริหารเทียบเท่ามณฑล คือ ปักกิ่ง ฉงชิ่ง เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน รวมทั้ง ๒ เขตบริหารพิเศษคือ ฮ่องกง มาเก๊า

มณฑลเหอหนานเป็น ๑ ใน ๒๓ มณฑลของจีนที่มีศักยภาพในการทำการค้ากับประเทศไทย ความสัมพันธ์อย่างเป็นรูปธรรมเริ่มต้นขึ้นในปี ๒๕๕๒ สภาธุรกิจไทย-จีนและสมาคมส่งเสริมการลงทุนการค้าไทย-จีน ได้จัดสัมมนาความร่วมมือการค้าการลงทุนไทย-เหอหนาน ซึ่งรัฐบาลมณฑลเหอหนานนำโดยนายกั๊ว เกิงม่าว ผู้ว่าการมณฑลนำคณะข้าราชการและนักธุรกิจจีนมาเยือนไทยเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าระหว่างกัน นครเจิ้งโจวเป็นเมืองเอกของมณฑลเหอหนาน มีพื้นที่ทั้งหมด ๗,๔๔๖.๒ ตารางกิโลเมตร เขตเมืองมีพื้นที่ ๑,๐๑๓.๓ ตารางกิโลเมตร เขตใจกลางเมืองมีพื้นที่ ๑๔๗.๗ ตารางกิโลเมตร เจิ้งโจวเป็นเมืองอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญคือ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องจักรเครื่องกล อุตสาหกรรมการทำโลหะผสม อุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของตลาดขายส่งสินค้าประเภทอาหารและธัญพืช ( The Zhengzhou Grain and Foodstuff Exchange) ซึ่งเป็นศูนย์กลางสำคัญด้านการค้าขายส่ง รวมทั้งเป็นตลาดล่วงหน้าสำหรับสินค้าประเภทอาหารและธัญพืชของประเทศจีนด้วย ราคาสินค้าของตลาดแห่งนี้เป็นราคาหลักอ้างอิงของการซื้อขายสินค้าประเภทธัญพืชในประเทศจีนและทั่วโลก

นครเจิ้งโจว มีความก้าวหน้าในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ คาดว่าภายในปี ๒๕๕๖ นครเจิ้งโจวจะมีกำลังการผลิตรถยนต์ ๗ แสนคัน และภายในปี ๒๕๕๘ นครเจิ้งโจวจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์สำคัญของประเทศจีน ที่มีกำลังการผลิตในระดับหลักล้านคัน โดยอุตสาหกรรมรถยนต์ของนครเจิ้งโจวจะต้องสามารถทำรายได้จากการจำหน่าย ๑.๓ แสนล้านหยวน

ในระยะ ๕-๗ ปีข้างหน้า นครเจิ้งโจวจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า ๑.๑ ล้านคันต่อปี โดยมีวิสาหกิจผู้ผลิตรถยนต์ ๔ รายใหญ่ของนครเจิ้งโจว ได้แก่ เจิ้งโจวนิสสัน (Zhengzhou NISSAN Automobile Co., Ltd.) อวี่ทงกรุ๊ป (Zhengzhou Yutong Group Corp.) ไห่หม่าเจิ้งโจว (Haima (Zhengzhou) Automobile Co., Ltd.) และเส้าหลินชี่เชอ (Henan Shaolin Auto Co., Ltd.) นอกจากนี้นครเจิ้งโจวยังมีวิสาหกิจผู้ผลิตรถยนต์ วิสาหกิจให้บริการรับแต่งรถยนต์ และวิสาหกิจผู้ผลิตอะไหล่รถยนต์ รวมประมาณ ๑๐๐ ราย ซึ่งมีมูลค่าของสินทรัพย์รวม ๑.๕๘ หมื่นล้านหยวน

การผลิตรถยนต์จะเน้นที่ ๘ ประเภท คือ รถโค้ชขนาดกลางและใหญ่ รถยนต์นั่ง รถปิกอัพ รถ SUV (Sport Utility Vehicle) รถ MPV (MultiPurpose Vehicles) รถโค้ชขนาดเล็ก รถบรรทุกขนาดกลางและใหญ่ และรถยนต์ใช้งานเฉพาะด้าน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจะพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ และสร้างนครเจิ้งโจวให้เป็นแหล่งซ่อมบำรุงรักษาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์รถยนต์ และเป็นตลาดค้าส่งผลิตภัณฑ์รถยนต์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้วย

การคมนาคมและโลจิสติกส์ทางการค้า

ทางบก

มณฑลซานตงได้สร้างทางหลวงหลัก ๒ เส้นทางด้วยงบประมาณทั้งสิ้น ๓,๓๐๐ ล้านหยวน เพื่อเชื่อมกับเมืองทางเหนือของมณฑลเหอหนาน และในปีเดียวกัน ยังได้สร้างทางด่วนเชื่อมระหว่างเมืองจี้หยวนและเมืองเจียวจั้ว และอีก ๑ เส้นทางเชื่อมระหว่างเมืองอันหยางและเมืองหลินโจว (เมืองหลินโจวเป็นเมืองเชื่อมระหว่างมณฑลเหอหนาน ซานซี และเหอเป่ย) นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเส้นทางด่วนสายหลักเชื่อมระหว่างกรุงปักกิ่งและมณฑลกวางตุ้งโดยผ่านมณฑลเหอหนาน

เส้นทางรถไฟของมณฑลเหอหนานมีความยาวรวม ๓,๙๘๙ กิโลเมตร และทางด่วนมีความยาวรวม ๔,๘๔๑ กิโลเมตร มณฑลเหอหนานเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางรถไฟ และเป็นจุดเชื่อมต่อกับมณฑลอื่น ๆ โดยเส้นทางรถไฟที่สำคัญ ๑๐ เส้นทาง สถานีขนส่งทางรถไฟในนครเจิ้งโจวเป็นหนึ่งในสถานีขนส่งผู้โดยสารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และเป็นสถานีเปลี่ยนเส้นทางที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียที่เชื่อมต่อระหว่างยุโรปและเอเชียตะวันออก โดยเป็นสถานีขนส่งปลายทางตะวันออกที่เชื่อมระหว่างท่าเรือเหลียนอวิ๋นของมณฑลเจียงซูกับท่าเรือรอทเทอร์ดัมของประเทศเนเธอร์แลนด์

ทางอากาศ

มณฑลเหอหนานมีสนามบิน ๓ แห่ง ได้แก่ สนามบินนานาชาติซินเจิ้ง (อยู่ในเจิ้งโจว) สนามบินลั่วหยาง สนามบินหนานหยาง มีเที่ยวบินไปกลับมากกว่า ๘๐๐ เที่ยวบินต่อสัปดาห์ระหว่างเมืองขนาดกลางและขนาดใหญ่ต่าง ๆ ในประเทศ ๔๖ เมือง มีเส้นทางการบินเกือบ ๗๐ เส้นทาง ปัจจุบันมีเที่ยวบินตรงกรุงเทพ-เจิ้งโจว โดยแวะจอดที่เมืองกวางโจวก่อนเดินทางสู่ประเทศไทย

การค้าระหว่างประเทศ ปี ๒๕๕๓

ศุลกากรของนครเจิ้งโจว มณฑลเหอหนานประกาศว่า ในปี ๒๕๕๓ มณฑลเหอหนานสร้างมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งสิ้น ๑๗,๗๙๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ ๓๒ นับว่าได้ฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินโลกแล้วค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ การนำเข้าจากต่างประเทศมีมูลค่าทั้งสิ้น ๗,๒๖๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ ๑๘.๔ และการส่งออกมีมูลค่าทั้งสิ้น ๑๐,๕๓๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๓.๔ แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตการค้าโดยรวมของมณฑลเหอหนานยังต่ำกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของจีน ซึ่งการนำเข้าต่ำกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของจีน แต่การส่งออกสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของจีน

ในด้านคู่ค้าของมณฑลเหอหนาน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และกลุ่มอาเซียนเป็นตลาดการค้าที่สำคัญที่สุด โดยมีมูลค่าการส่งออกของแต่ละประเทศมากกว่า ๑,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การค้าระหว่างไทยกับเหอหนาน การนำเข้าส่งออกโดยตรงระหว่างเหอหนานกับไทยยังมีไม่มากนัก ในปี ทั้งนี้ ในปี ๒๕๕๓ จากสถิติเบื้องต้นของสำนักงานศุลกากรแห่งนครเจิ้งโจว การค้ารวมระหว่างไทยกับเหอหนานมีมูลค่า ๘๐.๒๙ เหรียญสหรัฐฯ ประกอบด้วยเหอหนานส่งออกไปไทย ๖๘.๒๗ เหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากไทย ๑๒.๐๒ เหรียญสหรัฐฯ

สินค้า ๑๐ อันดับแรกที่มีศักยภาพ ได้แก่ สินค้าที่ไทยส่งออกไปจีน โดยเข้าที่มณฑลเหอหนานที่สำคัญคือ พืชผัก ยางพารา ยานพาหนะ อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องจักรไฟฟ้า พลาสติก เครื่องจักร อัญมณี และสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีน โดยส่งออกจากมณฑลเหอหนาน ได้แก่ พืชผัก เหล็กและเหล็กกล้า เคมีภัณฑ์ หินซีเมนต์ แป้ง อาหาร อัญมณี ธัญพืช เครื่องเทศ ชา กาแฟ

ความร่วมมือทางการค้าระหว่างไทยกับมณฑลเหอหนาน ในปี ๒๕๕๒ สภาธุรกิจไทย-จีนและสมาคมส่งเสริมการลงทุนการค้าไทย-จีน ในการสัมมนาเรื่องความร่วมมือการค้าการลงทุนไทย-เหอหนาน ซึ่งรัฐบาลมณฑลเหอหนานโดยนายกั๊ว เกิงม่าว ผู้ว่าราชการมณฑล นำคณะข้าราชการและนักธุรกิจจากเหอหนานมาเยือนไทยเพื่อศึกษาและร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างกัน

มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงเพื่อการค้าการลงทุนระหว่างไทย-เหอหนาน รวม ๘ โครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เมืองลั่วหยาง โครงการโรงงานยางรถยนต์ฟงเสินนำเข้ายางธรรมชาติและแผ่นยางผสมที่เมืองเจียวจั้ว โครงการจัดซื้อมันสำปะหลังแห้งของเครือเทียนก้วนที่เมืองหนานยาง โครงการผลิตถุงมือยางที่เมืองผู่หยาง โครงการส่งออก Acid sodium ที่เมืองโจวโค่ว โครงการลงทุนสวนยางพารากับบริษัทนำเส็งที่เมืองเจียวจั้ว โครงการเกษตรอุตสาหกรรมที่เจิ้งโจว และโครงการจุลินทรีย์รักษาสิ่งแวดล้อมที่จูหม่าเตี้ยน

นอกจากนั้นยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจา คือ ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) เปิดสาขาในเจิ้งโจว และเครือเจริญโภคภัณฑ์ร่วมมือกับมณฑลเหอหนานในการพัฒนาโครงการเกษตรสมัยใหม่

สถานะปัจจุบัน เมื่อเร็วๆ นี้ผู้บริหารระดับสูงของเมืองเจิ้งโจวเดือนได้เดินทางเยือนประเทศไทย และในโอกาสนี้ได้เข้าพบปะหารือผู้บริหารระดับสูงของกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับลู่ทางการค้าและโอกาสในการสานต่อความร่วมมือที่ได้มีการริเริ่มไว้แต่เดิม โดยฝ่ายจีนจะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของอาเซียน ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนด้านการผลิตและการส่งออกยางพาราของไทยเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในประเทศจีน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านงานแสดงสินค้าโดยนำสินค้าไทยไปจัดแสดงที่เจิ้งโจวโดยฝ่ายจีนจะสนับสนุนคูหาเข้าร่วมงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนทำธุรกิจในประเทศจีนเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของสองประเทศในระยะยาว

สรุปข้อมูลโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองซีอาน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ