สรุปภาวะเศรษฐกิจในเขตตอนกลาง (Midwest) ของสหรัฐอเมริกา (เขตความดูแลของสำนักส่งเสริมการค้าฯ ณ ชิคาโก)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 23, 2011 15:48 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เขตพื้นที่ตอนกลางของประเทศ (Midwest) สหรัฐฯ เป็นแหล่งการผลิตที่สำคัญที่สุด ทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล และ เคมีภัณฑ์ ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมกลับขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นตัวถ่วงดุลย์มิให้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของภูมิภาคเลวร้ายลงไป

ปัจจุบัน ภูมิภาคตอนกลาง (Midwest) ของสหรัฐฯ เป็นพื้นที่มีภาวะเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องและแข็งแกร่งที่สุดของประเทศก็ว่าได้ จะเห็นได้ มีอัตราการว่างงาน (Unemployment) ต่ำที่สุดของประเทศ หรือโดยเฉลี่ยร้อยละ 7.1 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 (อัตราเฉลี่ยของประเทศในช่วงเดียวกันนี้คิดเป็นร้อยละ 8.8) โดยมี มลรัฐ North Dakota (ร้อยละ 3.7) มลรัฐฯ South Dakota (ร้อยละ 4.2) มลรัฐ Nebraska (ร้อยละ 4.8) และมลรัฐ Iowa (ร้อยละ 6.1) เป็นพื้นที่ที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดของประเทศ แม้ว่ามลรัฐมิชิแกนในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย มีอัตราการว่างงานสูงที่สุดของประเทศ ถึงร้อยละ 16 แต่ปัจจุบันลดลงเป็นร้อยละ 10.3 เป็นต้น

         มลรัฐที่มี่อัตราการว่างงานต่ำที่สุดของประเทศ                     มลรัฐที่มี่อัตราการว่างงานสูงที่สุดของประเทศ
        มลรัฐ      มกราคม    กุมภาพันธ์      มีนาคม               มลรัฐ       มกราคม   กุมภาพันธ์     มีนาคม
                    2554       2554       2554                            2554      2554      2554
  1. North Dakota    3.8        3.7        3.6      1.  Nevada            13.2      13.6      14.2
  2. Nebraska        4.3        4.3        4.2      2.  California        12.0      12.1      12.4
  3. South Dakota    4.7        4.8        4.9       3.  Florida          11.1      11.5      11.9
  4. Iowa            6.1        6.0        6.1       4.  Rhode Island     11.0      11.2      11.3
  5. Wyoming         6.3        6.2        6.2        5.  South Carolina   9.9      10.2      10.5

นอกจากนั้นแล้ว การส่งออกสินค้า (Export) ของภูมิภาคนี้ขยายตัวในอัตราสูง 20.42 และการนำเข้าสินค้า (Import) ก็ขยายตัวในอัตราสูง ร้อยละ 22.40 เช่นกัน

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve Bank) เขต 7 ประจำนครชิคาโก รายงานว่า Midwest Economic Index (MEI) สาขา การผลิต บริการ และ การใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับแต่ไตรมาสสุดท้ายปี 2553 จนถึงปัจจุบัน โดยดัชนีในเดือนมีนาคม 2554 เพิ่มขึ้น 0.39 จุด จากเดือนกุมภาพันธ์ของปีเดียวกัน

ในขณะเดียวกัน ดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจตอนกลางของประเทศ (Mid-America Leading Economic Indicator) จัดทำโดย College of Business, Creighton University ในรัฐ Nebraska รายงานว่า ดัชนี้อยู่ในระดับ 61.4 จุด ในเดือนมีนาคม 2554 (50 จุดเป็นระดับที่พอใจ ดัชนีเต็ม 100 จุด) โดยดัชนีดังกล่าวขยายตัวโดยต่อเนื่องมาโดยตลอดนับตั้งแต่ต้นปี 2553 ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า ภูมิภาคตอนกลาง (Midwest) ของสหรัฐฯ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ปัจจัยสำคัญผลักดันการขยายตัวเศรษฐกิจ เป็นผลจาก การเพิ่มผลผลิตทางเกษตรกรรม และ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับสินค้าเกษตรกรรม (Agricultural based, value-added products) เช่น Bio-diesel และ Ethanol และ Life Sciences/Biotechnology ตลอดจนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ฟื้นตัวและขยายตัวต่อเนื่อง

ปัจจัยที่จะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวเศรษฐกิจของภูมิภาค Midwest ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 คือ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจาก จะมีผลต่อการลดหรือชะลออำนาจในการซื้อสินค้า/บริการของผู้บริโภค

อนึ่ง พื้นที่ตอนกลางของประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเขตอาณาดูแลของสคร.ชิคาโก ครอบคลุมจำนวน 16 มลรัฐ ได้แก่ Arkansas, Illinois, Indiana, Iowa, Kansas, Kentucky, Louisiana, Michigan, Missouri, Minnesota, Nebraska, North Dakota, Ohio, Oklahoma, South Dakota และ Wisconsin

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ