รายงานสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยไปอิตาลี ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๔

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 23, 2011 16:47 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. สถานการณ์ส่งออก

ในช่วง ๓ เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปี ๒๕๕๔ ไทยส่งออกสินค้ามายังอิตาลีทั้งสิ้น ๕๒๗.๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๔๕๑.๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ ๑๖.๙๔% โดยมีสินค้าส่งออก ๕ อันดับแรก ได้แก่ ยางพารา ๖๒.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๑๑๕.๖๘) อัญมณีและเครื่องประดับ ๕๙.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๒.๓๙%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ๕๑.๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (- ๙.๙๙%) ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง ๓๐.๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ( +๔๖.๖๔%) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ๒๒.๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๒๔.๔๙%)

๒. การวิเคราะห์สถานการณ์โดยรวม

การส่งออกมาอิตาลีในช่วง ๓ เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปี ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๖.๙๔ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน วิเคราะห์ได้ดังนี้

๒.๑ ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีการเจริญเติบโตอย่างอ่อนแอ และการบริโภคภายในประเทศคงที่ เนื่องจากรายได้ประชาชนที่ลดลงอันเนื่องมาจากมาตรการเข้มงวดด้านงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลและการว่างงานที่ยังคงมีอยู่ ประกอบกับเหตุการณ์ทางการเมืองและภัยธรรมชาติ ได้แก่ ปัญหาความไม่สงบในลิเบียและประเทศตะวันออกกลาง การเกิดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น มีผลทำให้ประชาชนอิตาลีลดการใช้จ่ายและเพิ่มการออม เนื่องจากความไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจในอนาคต โดยมีการใช้จ่ายในสินค้าอาหาร และสินค้าอื่นๆในระดับสูงกว่าช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี ๒๕๕๐ และปี ๒๕๔๘ เพียงเล็กน้อยซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

๒.๒ ผลการสำรวจของสมาคมผู้ค้าปลีกแห่งอิตาลี (CONFCOMMERCIO) ปรากฎว่าความสามารถด้านรายได้ของประชาชนในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมาลดลงอย่างต่อเนื่อง (ปี ๒๕๕๑ ลดลง -๓% ปี ๒๕๕๒ ลดลง -๒.๕%และปี ๒๕๕๓ ลดลง -๐.๗%) นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น(เดือนมี.ค. ๕๔ เพิ่มขึ้น +๒.๕%เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนและ+๐.๔% เมื่อเทียบกับเดือนกพ.๕๔) โดยเฉพาะราคาน้ำมัน อาหาร การขนส่งและค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง และส่งผลกระทบทางลบต่อความเชื่อมั่นในอนาคต โดยเฉพาะปัญหาการว่างงานที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้การบริโภคลดลงถึงร้อยละ ๓๐

๒.๓ สมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งอิตาลี (CONFINDUSTRIA) เปิดเผยว่าในเดือนมี.ค. ๕๔ ราคาวัตถุดิบยังคงเพิ่มสูง แต่ในอัตราที่ลดลง (+๓๗.๒%เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และ +๕.๕% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า) โดยเฉพาะราคาน้ำมันและเชื้อเพลิง(+๘.๑%เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และ+๔๐.๒% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน) และวัตถุดิบเส้นใย เช่น ฝ้ายและขนสัตว์(+๑๔.๖% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และ+๑๑๔.๖% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน

๒.๔ ข้อมูลจาก ISTAT ปรากฎว่าในเดือนม.ค.-ก.พ.๕๔ การผลิตภาคอุตสาหกรรมของอิตาลีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (+๑.๓%) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี ความต้องการภายในประเทศและต่างประทศยังค่อนข้างอ่อนแอ เนื่องจากนโยบายเข้มงวดด้านการเงินการคลังของสหภาพยุโรป ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตาม และการแข็งค่าของเงินยูโรเมื่อเทียบกับเงินสหรัฐฯ ทำให้อิตาลีส่งออกเพิ่มขึ้นไม่มากนัก (เดือนม.ค.๕๔ ส่งออกเพิ่มขึ้น +๑๗.๐๔%) สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นได้แก่ เหล็ก เครื่องจักร ส่วนสินค้าที่อิตาลีส่งออกลดลงได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และสินค้าแฟชั่น

๒.๕ ข้อมูลการนำเข้าล่าสุด (เดือนม.ค.๕๔) ของ WTA ปรากฎว่าอิตาลีนำเข้าจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น ๒๓.๐๗% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน โดยมีประเทศที่อิตาลีนำเข้าสำคัญ ๕ อันดับแรก ได้แก่ เยอรมัน (มูลค่านำเข้า ๖,๐๕๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๑๓.๘๒%) จีน(มูลค่า ๓,๖๒๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๘.๒๘%) ฝรั่งเศส (มูลค่า ๓,๓๔๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๗.๖๓%) เนเธอร์แลนด์ (มูลค่า ๒,๑๐๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๔.๘๑%)และรัสเซีย (มูลค่า ๑,๙๙๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๔.๕๖%)

ประเทศที่อิตาลีนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย (+๒๒๓.๖๑%) ซึ่งเป็นการนำเข้า อียิปต์(+๙๙.๕๐%) บราซิล (+๗๐๒๙%) และลิเบีย(+๕๗.๖๘%) ซึ่งส่วนใหญ่กว่าร้อยละ ๘๐ เป็นการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และสินแร่

ประเทศคู่แข่งอื่นๆที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น (มูลค่า ๕๓๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๑.๒๓%) อินเดีย (มูลค่า ๕๕๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๑.๒๖%) เกาหลีใต้ (มูลค่า ๓๕๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๘๑%) ไต้หวัน (มูลค่า ๒๕๙ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๕๙%) และอินโดนีเซีย (มูลค่า ๒๓๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๕๓%) โดยไทยเป็นอันดับที่ ๔๓ มูลค่า ๑๘๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๔๒%

๒.๖ ISTAT ได้คาดการณ์การค้าระหว่างอิตาลีและประเทศนอกสหภาพยุโรป ในช่วง ๓ เดือนแรก(ม.ค.-มี.ค.)ของปี ๒๕๕๔ ว่าอิตาลีจะส่งออกเพิ่มขึ้น +๒๓% ในขณะที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น +๓๑.๔% โดยสินค้านำเข้าส่วนใหญ่ ได้แก่ สินค้าขั้นกลาง (ส่วนประกอบ และชิ้นส่วน สิ้นค้ากึ่งสำเร็จรูป) ซึ่งมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง ๖๒% และสินค้าบริโภค (๑๐%ของการนำเข้าทั้งหมด) ซึ่งมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น +๑๗% ทำให้อิตาลีจะขาดดุลการค้าถึง ๑๑ พันล้านยูโร

๓. ทั้งนี้ วิเคราะห์แยกรายสินค้าที่มีการส่งออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ได้ดังนี้

๓.๑ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ

การส่งออกในช่วง ๓ เดือน (ม.ค.-มี.ค.) ของปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๕๑.๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๕๗.๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ -๙.๙๙ แต่หากพิจารณาเฉพาะเดือนมี.ค. ๕๔ ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น +๔๒.๔๗% เนื่องจาก

(๑) ผู้นำเข้าเริ่มสั่งซื้อใหม่เข้ามา เพื่อเตรียมสินค้าไว้ขายในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึงซึ่งเป็นช่วงพีค และร้านค้าต่างๆจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายช่วงฤดูร้อนซึ่งจะช่วยผลักดันให้ครอบครัวอิตาลีและภาคอุตสาหกรรมตัดสินใจซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น จะเห็นได้ว่าการส่งออกเครื่องปรับอากาศได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ก.พ.๕๔ ต่อเนื่องมี.ค. ๕๔ (+๔๒.๙๓% และ +๔๒.๔๗% ตามลำดับ)

(๒) ตลาดสินค้าเครื่องปรับอากาศแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ตลาดระดับล่าง (๕๐%) ซึ่งเป็นตลาดสินค้าราคาต่ำ มีราคาขายปลีกไม่เกิน ๒๕๐ ยูโร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากจีน และตลาดระดับกลางและสูง (Mediumhigh) ซึ่งเป็นตลาดสินค้าคุณภาพระดับกลางถึงสูง และเครื่องปรับอากาศชนิดประหยัดพลังงานซึ่งเป็นสินค้าของอิตาลีเอง และสินค้าจากญี่ปุ่น (มิตซูบิชิและไดกิ้น) และเกาหลีใต้ (แอลจี)

(๓) สินค้าไทยมีราคาแพงกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าจากประเทศคู่แข่งอื่นๆ โดยเฉพาะจีน ซึ่งปัจจุบันได้เข้ามาจัดตั้งบริษัทนำเข้าและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศแบรนด์ตนเองในอิตาลีคือบริษัทที่มิลาน และ บริษัทที่ตูริน โดยขายสินค้าราคาต่ำกว่าแบรนด์อื่นๆถึงร้อยละ ๕๐(ราคาขายของขนาด ๙,๐๐๐ และ ๑๒,๐๐๐ บีทียู จะอยู่ที่ ๑๔๙ ยูโร และ ๑๖๙ ยูโร ตามลำดับ ในขณะที่ราคาของแบรนด์อื่นๆ เช่น อริสตัน,เดอลองกี,มิตซูบิชิ, ไดกิ้น) จะอยู่ที่ ๒๒๙-๒๔๙ ยูโร

(๔) คาดว่าในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไปซึ่งเป็นฤดูใบไม้ผลิ ต่อเนื่องฤดูร้อน(กรกฎาคมกันยายน) ความต้องการซื้อเครื่องปรับอากาศในอิตาลีจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าและเชนสโตร์ต่างๆ จะเริ่มจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสำหรับช่วงฤดูร้อน

(๕) ผู้ประกอบการอิตาลีได้ให้ข้อสังเกตว่า สินค้าเครื่องปรับอากาศจากไทยยังคงมีศักยภาพและสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้อีก (ขณะนี้มีสัดส่วนตลาด ๑๒%) โดยจะต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและต้องมีการรับประกันหลังการขาย เพิ่มการประชาสัมพันธ์ในด้านการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงานและมีระบบความปลอดภัยที่ดี

(๖) แนวโน้มรูปแบบการปรับอากาศแบบใหม่ในอิตาลี คือระบบความร้อนและความเย็นผ่านฝ้าเพดาน (Radiant Ceiling) ซึ่งนิยมใช้กันในอาคารสมัยใหม่ ทั้งบ้านพักอาศัยและสำนักงาน เนื่องจากรับประกันในด้านประสิทธิภาพที่สูง การประหยัดพลังงาน และพลังงานสะอาด นอกจากนี้เครื่องยังไม่ส่งเสียงดังและมีระบบหมุนเวียนอากาศสะอาด อายุการใช้งานได้นาน และมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้ช่วยลดการใช้อุปกรณ์ และชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศลงได้ในอนาคต

(๗) จากข้อมูลการนำเข้าเครื่องปรับอากาศ (พิกัด ๘๔๑๕) ของ WTA ในปี ม.ค.๒๕๕๔ ปรากฎว่าไทยครองตลาดเป็นอันดับที่ ๓ โดยประเทศอิตาลีนำเข้า ๕ อันดับแรก ได้แก่ จีน (๒๐.๔๖%) เชครีพับลิค (๒๐.๑๗%) ไทย (๑๘.๙๔%) ญี่ปุ่น (๑๐.๘๗%) และเบลเยี่ยม (๖.๓๘%)

ประเทศคู่แข่งที่สำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย (๔.๐๒%) เกาหลีใต้ (๒.๖๔%) อินเดีย (๐.๑๒%) และไต้หวัน (๐.๐๙%)

๓.๒ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

การส่งออกในช่วง ๓ เดือนแรก (มค.-มีค.) ของปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๒๒.๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๓๐.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ -๒๔.๔๙ เนื่องจาก

(๑) ในปี ๒๕๕๔ รัฐบาลอิตาลีไม่ได้ออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินเพื่อกระตุ้นยอดขายตามที่ภาคเอกชนร้องขอ ทำให้ตลาดรถยนต์ในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๕๔ ค่อนข้างหดตัว โดยข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอิตาลี (Italian Association Automotive Industries-ANFIA) รายงานว่าในช่วง ม.ค.-มี.ค. ๕๔ มียอดรถยนต์จดทะเบียนจำนวน ๕๑๓,๗๑๐ คัน ลดลง- ๒๓.๑% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลอิตาลีได้ออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน) ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ย่ำแย่ในรอบ ๑๕ ปี โดยการซื้อของผู้บริโภคเอกชนลดลง -๓๓.๕% (คิดเป็น ๖๙% ของตลาด) และการซื้อรถขนาดเล็กลดลง -๓๕%

(๒) ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีเสถียรภาพ และอำนาจซื้อที่ลดลงของประชาชน ทำให้ตลาดรถยนต์มือสอง (second hand car) กลับมีแนวโน้มที่ดี โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๕๔ มียอดการจดทะเบียนรถมือสองจำนวน ๑,๒๐๐,๑๙๗ คัน เพิ่มขึ้น +๖.๔% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

(๓) ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างมากถึง +๔๐% ทำให้คนอิตาลีหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชน หรือรถมอเตอร์ไซด์แทน

(๔) สินค้าหลักที่อิตาลีนำเข้าจากไทย (๔๗% ของการนำเข้ารถยนต์ทั้งหมดจากไทย) เป็นรถบรรทุก(เครื่องดีเซลและมีขนาดเครื่องยนต์เท่ากับหรือน้อยกว่า๕ เมตริกตัน)และ ๒๔.๕% เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล(เครื่องดีเซลและขนาดเครื่องยนต์มากกว่า ๑,๕๐๐ ซีซี) และ ๒๔% เป็นชิ้นส่วนมอเตอร์ไซค์

ส่วนการนำเข้าจากประเทศคู่แข่งอื่นๆ ได้แก่ จีน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ทั้งรถบรรทุกรถนั่งส่วนบุคคล และรถมอเตอร์ไซค์ ส่วนอินเดียเป็นการนำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลและชิ้นส่วน (FIAT เป็น joint venture กับ TATA) ส่วนการนำเข้าจากเกาหลีใต้เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (แบรนด์ฮุนไดและKIA) และการนำเข้าจากใต้หวันเป็นรถมอเตอร์ไซค์และชิ้นส่วน

(๕) ตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในอิตาลีในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๕๔ ปรากฎว่าเป็นรถยนต์ดีเซล ๕๕% รถยนต์ที่ใช้เบนซิน ๔๐% และรถที่ใช้พลังงานทางเลือกอื่น ๕% ในส่วนของขนาดรถยนต์ ปรากฎว่ารถที่มีขนาดกลางและขนาดเล็กครองตลาด ๘๓.๔% และรถที่มีขนาดใหญ่ ๑๖.๒๘% โดยเป็นรถยนต์แบรนด์ต่างประเทศเพียง ๒๙.๒%

ทั้งนี้ สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งชาติ (National Automotive Industries AssociationANFIA) ได้คาดการณ์ว่าในปี ๒๕๕๔ ตลาดรถยนต์ยังคงมีแนวโน้มอ่อนตัวลง โดยรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจะลดลง -๕.๖%และรถบรรทุกที่ใช้ในการพานิชย์จะลดลง -๒.๗% เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับกลุ่มนี้

(๖) ข้อมูลการนำเข้าล่าสุดจาก WTA ในเดือน ม.ค. ของปี๒๕๕๔ ไทยครองตลาดอันดับที่ ๑๙ (สัดส่วน ๐.๑๙%) โดยประเทศที่อิตาลีนำเข้า ๕ อันดับได้แก่ เยอรมัน (สัดส่วน ๓๒.๗๘%) สเปน (๑๒.๕๐%) ฝรั่งเศส (๑๑.๙๐%) โปแลนด์ (๙.๘๖%) และสหราชอาณาจักร (๗.๕๔%) ประเทศคู่แข่งสำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น (สัดส่วน ๗.๔๙%) จีน (๐.๓๓%) อินเดีย (๑.๕๙%) เกาหลีใต้ (๑.๙๘%) และใต้หวัน (๐.๐๒%)

๓.๓ เครื่องนุ่งห่ม

การส่งออกในช่วง ๓ เดือนแรก (มค.-มีค.) ของปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๑๐.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๑๓.๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ-๑๕.๗๔ เนื่องจาก

(๑) ความต้องการภายในประเทศค่อนข้างคงที่ โดยผู้บริโภคอิตาลีได้ลดความถี่และค่าเฉลี่ยในการซื้อเสื้อผ้าต่อครั้งลง แต่หันไปซื้อเครื่องประดับที่มีราคาระดับกลาง-ต่ำแทน

(๒) การเพิ่มขึ้นอย่างมากของต้นทุนวัตถุดิบและเส้นใย (ราคาเส้นใยและฝ้ายเพิ่มขึ้นถึง ๑๑๔% และ ๑๔๐% ตามลำดับ) ส่งผลให้ผู้ประกอบการและผู้นำเข้ากังวลที่จะต้องจ่ายชำระเพิ่มขึ้น และรอดูสถานการณ์ตลาดก่อนตัดสินใจ

ทั้งนี้สมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งอิตาลี (CONFINDUSTRIA) ได้รายงานผลสำรวจว่าการเพิ่มขึ้นของราคาฝ้ายและน้ำมันส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งระบบ โดยเฉพาะเสื้อผ้าใส่ทำงานในกลุ่มลูกจ้างในร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม โรงพยาบาลและโรงเรียน(มีมูลค่าการค้ารวมกันถึง ๔ พันล้านยูโร) ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้มูลค่าการค้าลดลงถึง ๒๐%-๓๐%

(๓) ผู้ประกอบการอิตาลีในอุตสาหกรรมสิ่งทอประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องและปัญหาความยากลำบากของภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างมาก

(๔) สินค้าที่อิตาลีนำเข้าจากไทยส่วนใหญ่เป็นเสื้อ T-shirt ในตลาดระดับกลาง-ต่ำ (๒๔% ของการนำเข้าจากไทยทั้งหมด) ตามด้วยเสื้อผู้หญิง (๑๘%) โดยแนวโน้มของ T-shirt ในตลาดอิตาลีลดลงในขณะที่เสื้อผ้าผู้หญิงมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากมีคุณภาพดีและราคาฉลี่ยใกล้เคียงกับสินค้าจีน (๑๓ เหรียญสหรัฐฯต่อชิ้นเมื่อเทียบกับสินค้าจีนราคา ๑๒ เหรียญสหรัฐฯต่อชิ้น) ในขณะที่ราคาสินค้าจากอินเดียราคาถูกกว่าคือ ๑๐ เหรียญสหรัฐฯต่อชิ้น

(๕) จากสถิติการนำเข้าของ WTA ล่าสุดในเดือนมค.๕๔ (พิกัด ๖๑ Knit Apparel) อิตาลีนำเข้าจากประเทศ ๕ อันดับแรก ได้แก่ จีน (มูลค่า ๒๓๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๓๑.๖๗%) ตุรกี (มูลค่า ๕๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๗.๗๗%) บังคลาเทศ (มูลค่า ๕๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๖.๙๘%) สเปน (มูลค่า ๔๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๕.๕%) เบลเยี่ยม (มูลค่า ๔๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๕.๓๘%)

(๖) ไทยครองตลาดอันดับที่ ๒๓ (มูลค่า ๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๔๖%) โดยมีประเทศคู่แข่งสำคัญได้แก่ อินเดีย (มูลค่า ๒๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๓.๘๖%) ศรีลังกา(มูลค่า ๒๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๒.๙๑%) อินโดนีเซีย(มูลค่า ๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๕๔%) และเวียดนาม (มูลค่า ๓.๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๔๙%)

๓.๔ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

การส่งออกในช่วง ๓ เดือนแรก (มค.-มีค.) ของปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๑๐.๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๑๓.๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ-๑๗.๓๓ เนื่องจาก

(๑) อิตาลีมีการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบในช่วง ๒ เดือนแรก (มค.-กพ.) ของปี ๒๕๕๔ ลดลง -๑๑.๖% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

(๒) คนอิตาลีนิยมซื้อสินค้าเทคโนโลยีเพื่อให้เป็นของขวัญในเทศกาลต่างๆ ประกอบกับเป็นสินค้าที่คงทนและมีอายุการใช้งานนาน ผู้บริโภคจะไม่ซื้อสินค้าบ่อยครั้ง แต่จะซื้อใหม่เมื่อเครื่องเสียหายใช้งานไม่ได้

(๓) ผู้บริโภคอิตาลีหันไปซื้อสินค้าเทคโนโลยีอื่นแทน เช่น สมาร์ทโฟน และมัลติมิเดียอื่นๆ (I-PAD) ซึ่งสามารถใช้งานได้หลากหลายประเภทในเครื่องเดียวและสะดวกในการพกพา โดยผลการสำรวจของสถาบันวิจัย ACCENTURE คาดว่า ในปี ๒๕๕๔ สัดส่วนตลาดของผู้ซื้อคอมพิวเตอร์จะลดลงจาก ๒๘% ในปี ๒๕๕๓ เหลือเพียง ๑๗% ในขณะที่สัดส่วนตลาดของผู้ซื้อมัลติมีเดียอื่นๆ จะเพิ่มขึ้นจาก ๓% ในปี ๒๕๕๓ เป็น ๘% ในปี ๒๕๕๔

นอกจากนี้ สมาคมผู้ประกอบการสินค้าเทคโนโลยีแห่งอิตาลีก็คาดว่าในปี ๒๕๕๔ ตลาดจะขยายตัวเพียงเล็กน้อยคือ +๑.๓%

(๔) สินค้าที่ไทยส่งออกมาอิตาลีสส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะหน่วยเก็บความจำ (Storage unit) และมีราคานำเข้าสูงกว่าสินค้าจากประเทศคู่แข่งอื่นๆ

๔. ข้อคิดเห็น

๔.๑ คาดว่าเศรษฐกิจของอิตาลีในเดือนเมษายน ๒๕๕๔ จะชะลอตัว ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะลดลงโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้จัดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้จัดจำหน่ายขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ในภาพรวมของเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการคาดว่าภาวะเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้น และยังคงมีความกังวลต่อปัญหาการว่างงาน คำสั่งซื้อ ยอดขาย และสินค้าคงคลัง จะค่อนข้างคงที่

๔.๒ ธนาคารแห่งอิตาลีได้รายงานผลการสำรวจว่า ในไตรมาสแรกของปี ๕๔ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดใหญ่ (จำนวนลูกจ้างเกิน ๑,๐๐๐ คน) ซึ่งตั้งอยู่ในแถบตอนกลางและตอนใต้ของอิตาลี และผู้ประกอบธุรกิจบริการเห็นว่าเศรษฐกิจอิตาลียังคงมีความไม่แน่นอนสูง ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กในภาคอุตสาหกรรมและตั้งอยู่ในแถบตอนเหนือเห็นว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดี

๔.๓ รัฐบาลอิตาลีอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อออกมาตรการบัตรประกันสังคม (Social Card) เพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่ประสบกับภาวะเศรษฐกิจที่ลำบาก วงเงิน ๕๐ ล้านยูโร และมีจำนวนประมาณ ๕๐,๐๐๐ ครอบครัว โดยไม่จำกัดอายุผู้ได้รับความช่วยเหลือ และคาดว่าจะเริ่มมาตรการได้ในช่วงต้นปี ๒๕๕๕ ครอบคลุม ๑๒ เมือง และประชากรกว่า ๒๕๐,๐๐๐ คน (มิลาน, ตูริน, เวนิซ, เวโรนา, เจนัว, โบโลญญ่า, ฟลอเรนซ์, โรม, เนเปิลส์, บารี. คาตาเนีย และปาเลอโม) ทั้งนี้ ในปี ๒๕๕๑ รัฐบาลได้เคยออกมาตรการช่วยเหลือ Social Card มาแล้ว และจนถึงขณะนี้ มีผู้รับความช่วยเหลือแล้ว ๗๓๔.๐๐๐ คน วงเงิน ๕๐๐ ล้านยูโร

๔.๔ คาดว่าหากมาตรการรักษาเสถียรภาพด้านการคลังและเศรษฐกิจของรัฐบาล วงเงิน ๕.๗ พันล้านยูโร (สำหรับปี ๒๕๕๔) ซึ่งช่วยเหลือค่าประกันสังคมให้แก่นายจ้าง และการขยายเวลาไม่เก็บภาษีเงินโบนัสสามารถมีผลอย่างเป็นรูปธรรม ก็จะช่วยให้ภาวะเศรษฐกิจอิตาลีขยายตัวมากขึ้น และส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าไทยมากขึ้นตามไปด้วย

๔.๕ สินค้าที่คาดว่ายังมีแนวโน้มที่ดี ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เคื่องปรับอากาศ อาหารสัตว์เลี้ยง และรถยนต์โดยสมาพันธ์ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ต่างประเทศแห่งอิตาลี (UNRAE - Italian Union of Foreign Cars Representative) ได้เปิดเผยว่า อิตาลีมีรถยนต์เก่าอายุมากกว่า ๑๐ ปี ซึ่งจำเป็นต้องมีการซื้อใหม่ทดแทนถึง ๑๒ ล้านคัน

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ