กรมส่งเสริมการส่งออกร่วมนำอาหาร และสินค้าไทยมอบแก่ผู้ประสบภัยในจังหวัดเซนได

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 24, 2011 13:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

แผ่นดินไหว และซึนามิ ที่เกิดขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น (โทโฮกุ) และการรั่วของกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ์าพลังงานนิวเคลียร์ ไดอิชิ ที่เมืองฟุกุชิมา ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญหลวงแก่ชีวิต ทรัพย์สิน และการดำรงชีพของประชาชนในเขตโทโฮกุ 8 จังหวัด และยังส่งผลกระทบในวงกว้างต่อชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน การดำเนินธุรกิจ และเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ประชาชนมากกว่า 400,000 คนขาดที่อยู่อาศัย เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม ประชาชนที่ประสบภัยสูญเสียทรัพย์สิน ของใช้ส่วนตัว บาวส่วนไม่มีเงินสำหรับใช้จ่ายซื้ออาหารและของใช้จำเป็น ต้องพำนักอาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราวที่รัฐบาลจัดให้ และรอคอยวันที่จะสร้างชีวิตใหม่

เพื่อปลอบขวัญและให้กำลังใจแก่ผู้ประสบภัย สถานเอกอัครราชทูต และสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ร่วมกับวัดปากน้ำญี่ปุ่น บริษัท P.K. Siam ผู้ประกอบการและพ่อครัวภัตตาคารอาหารไทย และประชาชนชาวไทยที่พำนักในญี่ปุ่น ได้ร่วมมือกัน จัดนำอาหารไทยไปปรุงและเสิร์ฟแก่ ผู้ประสบภัยที่อาศัยในศูนย์ Togajo City Civic Auditorium อำเภอโทกาโจ เมืองเซนได จังหวัดมิยากิ ในโอกาสเดียวกันนนี้ ได้นำถุงยังชีพประราชทาน น้ำดื่มตราช้าง ของใช้จำเป็น เช่น ไฟฉายพร้อมถ่าน เสื้อผ้า เครื่องเขียน ของเด็กเล่น เสื้อผ้า ไปมอบให้แก่ผู้ประสบภัยด้วย

ชาวญี่ปุ่นในเขตโทโฮกุส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตร ปศุสัตว์ และประมง ใช้ชีวิตที่เรียบง่ายและรักถิ่นที่อยู่อาศัย จึงคุ้นเคยกับอาหารในท้องถิ่น การนำอาหารไทยไปให้บริการนี้ จึงจัดเมนูที่มีรสชาติปานกลาง และเป็นอาหารที่ทานได้ง่ายสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ ได้แก่ ผัดไทย กวยเตี๋ยวน้ำ ผัดกระเพราไก่ หมูพะโล้(คล้ายโอเด้งญี่ปุ่น) ข้าวหอมมะลิ กระเพาะปลา วุ้นกระทิ และน้ำดื่ม โดยได้นำส้ม และสับปะรดภูแล ไปให้ทดลองรับประทานด้วย ในลักษณะออกร้านแจกอาหาร เพื่อให้แต่ละคนสามารถทดลองชิมอาหารหลากหลาย ตามความสนใจและพอใจ

ภาพการเข้าแถวรับอาหารอย่างเป็นระเบียบและการสอบถามเมนูอาหารไทยอย่างสนใจทำให้ทราบว่าชาวญี่ปุ่นในจังหวัดเซนไดยังรู้จักอาหารไทยไม่มากนัก เมื่อได้ทดลองชิมก็มีความประทับใจและจดจำ ผู้อพยพบางรายเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวและซึนามิทำลายบ้านเรือนและชีวิต อาหารที่ได้รับบริจาคส่วนใหญ่เป็นอาหารญี่ปุ่นที่ทำอย่างง่ายๆ เช่น ข้าวปั้นและอาหารกล่องแบบญี่ปุ่น (O-Bento) สุขภาพของผู้อาศัยในสนานพักพิงชั่วคราวโดยเฉพาะผู้สูง อายุเริ่มเสื่อมถอยลง การที่หน่วยงานของไทย และภัตตาคารได้จัดปรุงอาหารหลายชนิดและ เสริฟอาหารประเภทร้อน ทำให้สามารถรับประทานได้มากขึ้น จึงถือว่าเป็นการนำอาหารไทยแทรกซึมเข้าสู่จิตในของชาวญี่ปุ่น ที่ต่างก็บอกว่าประทับใจ ทั้งรสชาติอาหารและน้ำใจของชาวไทย

คนญี่ปุ่นมีนิสัยเหมือเอเชียทั่วไป ที่จะจดใจน้ำใจ ที่ได้รับในยามที่เขาทุกข์ยาก และเชื่อว่าเขาจะนึกถึงอาหารไทยและประเทศไทยเมื่อเขาสามารถลุกขึ้นยืนและก้าวเดินไปข้างหน้าได้อีกครั้ง

ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ทำให้เห็นว่า นอกจากชาวญี่ปุ่นด้วยกันที่พร้อมจะช่วยเหลือกันเองแล้ว ชาวต่างชาติจำนวนมาก ต่างก็พร้อมจะเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูเพื่อให้พวกเขาฟื้นกลับขึ้นมาประสบความสำเร็จอีกครั้ง ความช่วยเหลือจึงหลั่งไหลจากทั่วสารทิศโดยไม่มีชาติใดคิดถึงเรื่องการขายทำกำไร หรือฉกฉวยโอกาส เพราะทุกชาติ ต่างก็ตระหนักดีว่า ผลทางธุรกิจจะติดตามมา เพราะชาวญี่ปุ่นไม่ลืมมิตรยามยากในคราวที่ตนเองทุกข์หรือขากแคลน สถานเอกอัครราชทูต สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และชาวไทยในญี่ปุ่น จึงจะยังมุ่งเดินหน้า ออกเยี่ยมพบ และนำอาหาร ของใช้ของไทยเข้าไปยังพื้นที่ที่ยังขาดแคลนและต้องการปัจจัยดำรงชีพ เพื่อนำสินค้าไทยเข้าไปให้ถึงมือชาวญี่ปุ่นในเขตอื่นๆ ของภูมิภาคโทโฮกุต่อไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ