เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ ๕ ประเทศ ได้แก่ เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดนและไอซ์แลนด์ โดยรวมแล้วมีแนวโน้มดีขึ้น อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงมีการเจริญเติบโตอย่างช้าๆ(slow growth) โดยเกิดจากแรงขับเคลื่อนที่สำคัญทางเศรษฐกิจของสวีเดน ซึ่งมีการเจริญเติบโตสูงสุดของกลุ่มในปี 2553 และจากสถานการณ์ทางด้านการเงินของประเทศต่างๆ ที่ดีขึ้น ดังรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.1 สภาพเศรษฐกิจทั่วไป: แม้ว่าการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อปี 2552จะทำให้เดนมาร์กขาดดุลงบประมาณในปี 2553 ถึงร้อยละ 3.6 GDP แต่ก็ทำให้เศรษษฐกิจเดนมาร์กกลับมามีความแข็งแกร่งมากขึ้น ในปี 2554 คาดว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 1.9 แม้ว่าการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคยังค่อนข้างอ่อน แต่คาดว่าการเลือกตั้งทั่วไปในที่จะมีขึ้นในราวปลายปี 2554 จะเป็นแรงกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของภาคธุรกิจ ผู้บริโภค และเศรษฐกิจโดยรวมของเดนมาร์ก ฐานะการคลังของเดนมาร์กจัดเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางด้านการคลังที่สุดประเทศหนึ่งของสหภาพยุโรป และภายในปี พ.ศ.2556 รัฐบาลพยายามที่จะควบคุมการขาดดุลงบประมาณให้อยู่ในกรอบร้อยละ 3ของ GDP ตามที่สหภาพยุโรปกำหนด ในปี 2553เดนมาร์กมี อัตราว่างงานคิดเป็นร้อยละ 7.4 และคาดว่าจะลดลงเป็นร้อยละ 6.9ในปี 2554 ในด้านการส่งออกยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษบกิจที่สำคัญ คิดเป็นร้อยละ 31.2 ของGDP แต่เริ่มสูญเสียศักยภาพในการแข่งขัน อย่างไรก็ดี เดนมาร์กก็ยังมีจุดแข็งมีทรัพยากรน้ำมันและก๊าซ และยังเป็นประเทศผู้นำด้านการใช้และผู้นำด้านเทคโนโลยี่เพื่อสิ่งแวดล้อม คิดค้นนวัตกรรมพลังงานทดแทน
1.2 นโยบายเศรษฐกิจ: ในปี 2554การดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทำให้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น เช่น การประชาสัมพันธ์การใช้พลังงานทดแทน ( renewable energy) ทดแทนเชื้อเพลิงที่ได้จากฟอสซิล การปฏิรูปตลาดแรงงาน การเสนอมาตรการเพื่อเป็นการเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน และเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญของงบประมาณรวมในระยะกลาง อีกทั้ง รัฐสภาได้มีมติอนุมัติเบี้ยบำนาญการว่างงาน จาก 4 ปี เหลือเพียง 2 ปี ในกลางปี 2555 นอกจากนี้รัฐบาลยังได้เสนอให้มีการปฏิรูปเงินบำนาญผู้พิการ การเลื่อนการเกษียณอายุก่อนกำหนด ( early retirement) จากเดิมอายุ 60 ปี เป็น 62ปี และเลื่อนการเกษียณอายุ ( Normal Retirement ) จากอายุ 65 ปี เป็น 67 ปี โดยเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2557 แต่ฝ่ายค้านได้คัดค้านต่อนโยบายนี้ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านได้พิจารณาการปฏิรูปด้านอื่นๆ เพื่อเพิ่มการจ้างงาน เช่น การเจรจาเพื่อเพิ่มวันทำงาน เป็นต้น
จากผลกระทบจากภาวะวิกฤติการเงินโลกในปี 2551 และการลดการบริโภคภายในประเทศ ทำให้รัฐบาลเดนมาร์กต้องเข้ามาช่วยเหลือธนาคารของเดนมาร์กตั้งแต่ปี 2551 รวมไปถึงการประกันเงินฝากและหนี้ธนาคาร และการเพิ่มทุน และเมื่อสิ้นปี 2553 เดนมาร์กได้มีการออกหุ้นเพื่อประกันหนี้มีมูลค่าสูงถึง 34.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 11 ของจีดีพี ซึ่งธนาคารขนาดกลาง และขนาดใหญ่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายนี้ การโอนเงินกู้ยืมเงินทุนระหว่างธนาคารทำให้ธนาคารเหล่านี้รอดพ้นจากความเสี่ยงในตลาด ถึงแม้ว่าธนาคารขนาดเล็กของเดนมาร์กยังคงต้องประสบปัญหาในตลาด มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 จนทำให้ Finansiel Stabilitet (บริษัทการบริหารธนาคารของภาครัฐ)ได้เข้าควบคุมกิจการถึง 8 ธนาคาร และอาจจะต้องขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐบาลในเรื่องเงินทุนในช่วงนี้
1.3 เหตุการณ์ที่น่าจับตา: เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2554 คณะกรรมาธิการอียูของรัฐสภาได้ประกาศว่าจะสนับสนุนเดนมาร์กในการมีส่วนร่วมใน Euro Plus Pact ซึ่งเป็นสัญญาในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการปรึกษาหารือกันระหว่างกลุ่มประเทศที่ใช้เงินตรายูโร (Economic & Monetary Union: EMU) แต่ได้เปิดให้ประเทศสมาชิกอียูที่ไม่ได้ใช้เงินยูโร (เช่น เดนมาร์ก) เข้าร่วมด้วย สัญญานี้เป็นสิ่งที่สำคัญในการแสดงถึงการเพิ่มความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และการสร้างเครือข่ายกับกลุ่มประเทศที่ใช้เงินตรายูโรเพิ่มมากขึ้น อีกทั่งการเข้าร่วมสัญญานี้เป็นสัญญาณที่สำคัญว่า เดนมาร์กอาจจะเข้าร่วมระบบเงินตรายูโรในอนาคต
2.1 สภาพเศรษฐกิจทั่วไป: หลังจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อปี 2552 เศรษฐกิจสวีเดนมีการพัฒนาเป็นไปทางที่ดีขึ้นและรวดเร็วในปี 2553 ภาคการส่งออกได้รับผลประโยชน์จากการขยายตัวของการค้าโดยรวมของโลก ฐานะทางการเงินของครัวเรือนอยู่ในสภาพที่ดี และเกิดการส่งเสริมการบริโภคในตลาด การลงทุนและการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงในตลาดแรงงาน ภาคการเงินมีความเข้มแข็ง และมีแนวโน้มว่าเกินดุลคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1ของ จีดีพี ในปี 2554 คาดว่า Real GDP มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 1.8 เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 1.4 เป็นผลอันเนื่องมาจากราคาพลังงาน และค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น และอัตราว่างงานประมาณร้อยละ3.5
2.2 นโยบายทางเศรษฐกิจ: โครงการพันธมิตรของรัฐบาลมีนโยบายปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยการลดภาษี และปฏิรูปผลประโยชน์เพื่อลดบทบาทของภาครัฐ โดยมีการให้สิทธิเอกชนมากขึ้นแก่ผู้ถือครองหุ้นบริษัท และเปิดตลาดสินค้าให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อเพิ่มการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ มากกว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่สำคัญ หลังจากสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำเมื่อ 2551 รัฐบาลได้พยายามเปิดกว้างแก่โครงการเงินฝาก เงินประกัน และการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งรวมไปถึงการประกันเงินกู้รัฐบาลสำหรับธนาคาร โดยมีการใช้จ่ายประมาณ 750 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการคาดการณ์ว่า ภาคธนาคารจะยังไม่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐใดๆ ในช่วงนี้
2.3 เหตุการณ์ที่น่าจับตา: พรรคการเมืองทั้งหมดของสวีเดนสนับสนุนนโยบายของอียู และจะยังคงมีแนวโน้มเช่นนี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม สวีเดนยังคงไม่มีนโยบายการใช้เงินตรายูโร ถึงแม้ว่าค่าเงินโครนของสวีเดนจะมีความผันผวนช่วงปีที่ผ่านมา สวีเดนยังคงมีนโยบายเป็นกลาง แต่จะทำงานร่วมกับประเทศอื่นใน UN และ Partnership for Peace (PfP) ซึ่งเป็นแผนงานของ NATO การเลือกตั้งครั้งต่อไปมีกำหนดในเดือนกันยายน 2557 แต่จะยังคงเร็วเกินไปในการคาดการณ์แนวโน้ม และผลกระทบต่างๆ จากการเลือกตั้งในครั้งนี้
3. ฟินแลนด์
3.1 สภาพเศรษฐกิจทั่วไป: เศรษฐกิจฟินแลนด์ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2551-2552 ค่อนข้างรุนแรง GDP ลดลงถึงร้อยละ 8.2 เนื่องจากอุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยี่สารสนเทศซึ่งฟินแลนด์เป็นผู้นำการผลิตและกรส่งออกลดลงอย่างมาก แต่ก็ค่อยๆฟื้นตัวอย่างช้าโดยรวมของฟินแลนด์คาดว่าจะขยายตัวในปี 2554ร้อยละ 2.9 จากการขยายตัวของประเทศคู่ค้า เช่น เยอรมันนี สวีเดน และรัสเซีย เป็นผลทำให้การส่งออกของฟินแลนด์มีแนวโน้มดีขึ้นไปด้วย และรวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของภาคการลงทุนด้วย การเติบโตอย่างปานกลางของภาคการบริโภคของเอกชนเป็นผลอันเนื่องมาจากความเชื่อมั่นของครัวเรือน การออมที่ลดลง และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิต และแนวโน้มการลงทุนที่ดีขึ้น อัตราว่างงานคิดเป็นร้อยละ 8.4
3.2 นโยบายเศรษฐกิจ รัฐบาลคาดการณ์การขาดดุลลดน้อยลงจากร้อยละ 2.5 ของจีดีพีในปี 2553 เหลือเพียงร้อยละ 0.9 ของจีดีพีในปี 2554 นายกรัฐมนตรี Mari Kiviniemi ได้ออกมาตรการณ์การรวมตัวของภาคการเงินของรัฐบาลกลาง เพื่อให้ภาคการเงินของรัฐบาลกลับมาเกินดุล ในสิ้นปี 2553 รัฐบาลมีหนี้รวมร้อยละ 48.4 ของจีดีพี (ประมาณ 123.77 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 17.2 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ คาดการณ์ว่าการใช้จ่ายด้านเงินบำนาญ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อกลุ่มผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2555 — 2558 ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลต้องเพิ่มการออกเพื่อค่าใช้จ่ายนี้ รายรับของรัฐบาลกลางคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี ในช่วงปี 2555 — 2558
3.3 เหตุการณ์ที่น่าจับตา: -การขาดดุลการคลัง และหนี้สาธารณะจำนวนมากคิดเป็นร้อยละ 42 ของ GDP การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอัตราที่เร็วกว่าประเทศอื่นในสหภาพยุโรป และปัญหาแรงงานสัมพันธ์ในฟินแลนด์ยังคงมีอยู่ การเจริญเติบโตของรายได้จริงหยุดชะงัก เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ และสิ่งนี้เองเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างสหภาพแรงงาน และนายจ้างเมื่อต้นปี 2554 ซึ่งส่งผลให้เกิดการขู่หยุดงานประท้วง และการขู่การการดำเนินการใดๆ จากสหภาพแรงงาน และพนักงาน ซึงนายจ้างอาจจะไม่สามารถทำการตกลงตามเงื่อนไขของสหภาพแรงงานได้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนในขณะนี้ ปัญหานี้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมหลักของฟินแลนด์ ได้แก่ อุตสาหกรรมกระดาษ ( ซึ่งฟินแลนด์เป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลกรองจากแคนาดา ) เคมีภัณฑ์ และการผลิตอาหาร สหภาพแรงงานของโทรคมนาคมของบริษัท TeliaSonera หยุดงานในเดือนมีนาคม 2554 เพื่อแสดงความต้องการในสัญญาการจ้างงานที่มั่นคงของพนักงาน และการประท้วงที่มีการปลดพนักงานจำนวน 300 ตำแหน่ง เหตุการณ์ตึงเครียดนี้ยังเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอื่นๆ อีก เช่น การค้าส่งและค้าปลีก การขนส่งทางน้ำ และบริษัทการบินพาณิชย์
4. นอร์เวย์
4.1 สภาพเศรษฐกิจทั่วไป: สภาพเศรษฐกิจนอร์เวย์มีความมั่นคงมาก 2553 และยังมีแนวโน้มที่ดีมากขึ้นในปี 2554 สภาพแนวโน้มการเติบโตของการลงทุนในธุรกิจน้ำมันยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าความต้งการน้ำมันในตลาดโลกจะลดลง ตลาดแรงงานดีขึ้น ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังคงไม่น่าวิตกกังวลในช่วงนี้ เงินเฟ้อยังคงอยู่ในอัตราต่ำ ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงเพิ่มมากขึ้นในตลาดโลก ทำให้อัตราดอกเบี้ยของนอร์เวย์สูงเพิ่มขึ้นในระดับปานกลางในปี 2554 แต่อาจจะสูงเพิ่มมากขึ้นในปี 2555 อัตราแลกเปลี่ยนเงินโครนของนอร์เวย์ยังคงแข็งแกร่งในขณะนี้
4.2 นโยบาย: รัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายการเมืองที่เป็นกลาง สนับสนุนด้านการจ้างงาน นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การปฏิรูปการศึกษา และการดูแลสุขภาพ รัฐบาลสนับสนุนนโยบายทางการเงินอย่างยั่งยืนในระยะยาว การปฏิรูประบบบำนาญเริ่มต้นเมื่อปี 2554 พรรคร่วมรัฐบาลต้องการให้มีการปฏิรูปในระบบภูมิภาค แต่ยังคงไม่มีข้อตกลงอย่างชัดเจน และนโยบายนี้อาจจะล่าช้าออกไป และจากการฟื้นตัวของราคาในตลาดอหังสาริมทรัพย์ รัฐบาลจำเป็นต้องทบทวนระบบภาษีเพื่อป้องกันภาวะฟองสบู่ แต่แนวคิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านภาษีนี้ ยังคงไม่ได้รับความนิยม
4.3 เหตุการณ์ที่น่าจับตา: ถึงแม้ว่านอร์เวย์ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ความสัมพันธ์ระหว่างนอร์เวย์และสหภาพยุโรปเป็นไปอย่างเน้นแฟ้น นอร์เวย์เป็นสมาชิก European Free+Trade Association (EFTA) และ European Economic Area (EEA) นอร์เวย์ยังไม่มีทีท่าการเข้าร่วมการเป็นสมาชิกภาพอียู ถึงแม้ว่าไอซ์แลนด์ได้แจ้งความจำนงการเข้าร่วมสหภาพยุโรป แล้ว ซึ่งจะทำให้นอร์เวย์เป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ที่ไม่ได้เข้าร่วม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปัจจุบันนำด้วยพรรคแรงงานได้สนับสนุนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่พรรค SV และพรรคกลางได้แสดงความคิดเห็นขัดแย้งกับนโยบายนี้
5. ไอซ์แลนด์
5.1 สภาพเศรษฐกิจทั่วไป: จากภาวการณ์ล้มละลายของภาคการเงินของไอซ์แลนด์เมื่อปลายปี 2551 ทำให้อำนาจการซื้อภายในประเทศตกต่ำลงร้อยละ 21 ในปี 2552 และความต้องการบริโภคในประเทศยังคงตกต่ำลงต่อเนื่องในปี 2553 จีดีพีไอซ์แลนด์ลดลงร้อยละ 3.5 ภาคการลงทุนตกต่ำอย่างหนัก มีการคาดการณ์ว่าการลงทุนจะฟื้นตัวระดับปานกลางที่ร้อยละ 3 ในปี 2554 — 2555 การบริโภคของภาคเอกชนลดลงร้อยละ 16 ในปี 2552 เป็นผลมาจากรายได้ลดลง และหนี้สินเพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นเพียงร้อยละ 1 ในปี 2554 และ 2555 อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของไอซ์แลนด์มีปัญหารุนแรงในช่วงปี 2551 — 2552 การลดลงของปริมาณความต้องการการบริโภคในประเทศส่งผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศในปี 2552 ซึ่งนับเป็นร้อยละ 12.1 ของจีดีพี คาดการณ์ว่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ในปี 2554 และร้อยละ 3.2 ในปี 2555 การนำเข้ายังคงลดลง ความสมดุลจากต่างชาติมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อยในปี 2554 — 2555 ด้วยการเพิ่มขึ้นของความต้องการการบริโภคในประเทศระดับปานกลาง คาดว่าจีดีพีจะขยับตัวขึ้นร้อยละ 1 ในปี 2554 และร้อยละ 1.8 ในปี 2555
ภาคการค้าและการบริการเคลื่อนตัวจากภาวะติดลบในปี 2551 เป็นบวกในปี 2552 — 2553 อย่างไรก็ตาม บัญชีเดินสะพัดยังคงขาดดุล เนื่องมาจากรายรับของประเทศที่ไม่สมดุล คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเป็นบวกเล็กน้อยในปี 2554 — 2555
5.2 นโยบาย: โปรแกรม IMF กำลังจะสิ้นสุดเดือนสิงหาคม 2554 แต่รัฐบาลอาจจะดำเนินการต่อเนื่อง การขาดดุลของรัฐบาลลดลงจากร้อยละ 10 ของจีดีพีในปี 2552 เป็นร้อยละ 7.8 ในปี 2553 หนี้รัฐบาลอยู่ที่ประมาณร้อยละ 120 ของจีดีพี แต่หนี้สุทธิมีเพียงแค่ร้อยละประมาณ 43 รัฐบาลกำหนดแผนงาน 2 ส่วนสำหรับการผ่อนปรนควบคุมเงินทุน
5.3 เหตุการณ์ที่น่าจับตา: โปรแกรมการช่วยเหลือจาก IMF กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม 2554 หลังจากการล่าช้าเนื่องจากการเจรจาเรื่องแผนงานการเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ของงบประมาณ และหนี้ครัวเรือน ถึงแม้ว่าแผนงานนี้มีกำหนดการสิ้นสุดเดือนสิงหาคม 2554 ที่จะถึงนี้ แต่ไอซ์แลนด์อาจจะยังคงรับความช่วยเหลือด้านเงินทุนใหม่จาก IMF ต่อไป ซึ่งธนาคารชาติของไอซ์แลนด์ได้แสนงความจำนงขอรับความร่วมมือจาก IMF ต่อไปแล้ว เพื่อต่อสู้กับอุปสรรคทางด้านเศรษฐกิจทั้งภายใน และภายนอกประเทศ เหตุการณ์หนึ่งที่น่าจับตาคือ ภาครัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งโดนผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจตกต่ำเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ผันผวน และรายรับที่ลดลงจากตลาด นอกจากนั้น อัตราการว่างงานยังคงสูงอยู่ในระยะยาว
ที่มา EIU Country Report April (2011) Nordea Bank Report
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน
ที่มา: http://www.depthai.go.th