รายงานสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยไปอิตาลี ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๔

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 31, 2011 13:25 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. สถานการณ์ส่งออก

ในช่วง ๔ เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ของปี ๒๕๕๔ ไทยส่งออกสินค้ามายังอิตาลีทั้งสิ้น ๖๘๕.๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๕๖๗.๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ ๒๐.๘๐% โดยมีสินค้าส่งออก ๕ อันดับแรก ได้แก่ ยางพารา ๗๓.๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๙๓.๐๕%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ๗๑.๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๒.๖๘%) อัญมณีและเครื่องประดับ ๖๖.๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๐.๖๓%) ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง ๔๑.๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๓๕.๘๙%) ผลิตภัณฑ์ยาง ๒๙.๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๒๐.๗๒%)

๒. การวิเคราะห์สถานการณ์โดยรวม

การส่งออกมาอิตาลีในช่วง ๔ เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ของปี ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้น +๒๐.๘๐% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งไม่แตกต่างมากจากเมื่อช่วง ๓ เดือนที่แล้วของปี ๒๕๕๔ (+๑๖.๙๔%) วิเคราะห์ได้ดังนี้

๒.๑ ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีการเจริญเติบโตอย่างอ่อนแอ และการบริโภคภายในประเทศคงที่ เนื่องจากรายได้ประชาชนที่ลดลงอันเนื่องมาจากมาตรการเข้มงวดด้านงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลและการว่างงานที่ยังคงมีอยู่ ประกอบกับเหตุการณ์ทางการเมืองและภัยธรรมชาติ ได้แก่ ปัญหาความไม่สงบในลิเบียและประเทศตะวันออกกลาง การเกิดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น มีผลทำให้ประชาชนอิตาลีลดการใช้จ่ายและเพิ่มการออม เนื่องจากความไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจในอนาคต โดยมีการใช้จ่ายในสินค้าอาหาร และสินค้าอื่นๆในระดับสูงกว่าช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี ๒๕๕๐ และปี ๒๕๔๘ เพียงเล็กน้อยซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

๒.๒ สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (ISTAT) รายงานเบื้องต้นว่า GDP ในไตรมาสแรกของปี ๒๕๕๔ ยังคงเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย +๐.๑% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ ๔ ของปี ๒๕๕๓ และ +๑% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดีคาดการณ์ว่า GDP ของปี ๒๕๕๔ จะขยายตัวขึ้น +๐.๕% สำหรับอัตราเงินเฟ์อยังคงเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน (+๒.๖% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และ+๐.๕% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา) ในขณะที่อัตราเงินเฟ์อของค่าจ้างเงินเดือนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย +๒% ทั้งนี้เนื่องจากค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายในบ้านเพิ่มขึ้น (โดยเฉพาะค่าไฟฟ์า)

๒.๓ ISTAT ได้รายงานว่า การสั่งซื้ออุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๕๔ (+๖.๓% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วและ +๑๘.๕% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๓) โดยเกิดจากทั้งคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ (เพิ่มขึ้น +๑๐.๑% และ +๒๑.๕%) และคำสั่งซื้อจากภายในประเทศ (เพิ่มขึ้น +๔.๑% และ +๑๖.๘%) โดยเฉพาะกลุ่มเคมีภัณฑ์ โลหะและเครื่องจักร

๒.๔ Confindustria รายงานว่า ในเดือนเมษายน ๒๕๕๔ ต้นทุนวัตถุดิบยังคงมีเสถียรภาพหากเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกลับเพิ่มสูงขึ้น (+๑๙%) โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าแฟชั่น/สิ่งทอ (+๔๓%) และอาหาร (+๔๔%)

๒.๕ การเปรียบเทียบอัตราการขยายตัวการส่งออกแบบรายเดือนกลับพบว่า การส่งออกมาอิตาลีในช่วงเดือนเมษายนเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ลดลง -๒๑.๓๙% แต่การส่งออกในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น +๓๔.๗๙% ทั้งนี้สาเหตุหลักของการลดลงเนื่องจาก การลดการนำเข้าสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วน (รวมทั้งยางรถยนต์) และเครื่องประดับ

๒.๖ ISTAT ได้รายงานว่ายอดจำหน่ายปลีกในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ชะลอตัวโดยอัตราขยายตัวลดลง -๑๐% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และขยายตัว +๒.๑% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยยอดจำหน่ายอาหารขยายตัว +๒.๐% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา และ+๓.๐% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน แต่ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ โดยสินค้าที่ยอดจำหน่ายปลีกเพิ่มขึ้นได้แก่ ยาและผลิตภัณฑ์ (+๑.๔%) สินค้าที่ยอดจำหน่ายปลีกลดลงได้แก่ เครื่องอุปกรณ์และดนตรี เครื่องใช้ไฟฟ์าในบ้านและทีวี (-๑.๙%) โดยการขายปลีกในห้าง Outlet ขนาดใหญ่ลดลง -๒.๒% ส่วนการขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ขายอาหารแบบลดราคาเพิ่มขึ้น +๑.๕%

๒.๗ ข้อมูลการนำเข้าล่าสุด (เดือนม.ค.-ก.พ. ๕๔) ของ WTA ปรากฎว่าอิตาลีนำเข้าจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น ๒๑.๓๘% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน โดยมีประเทศที่อิตาลีนำเข้าสำคัญ ๕ อันดับแรก ได้แก่ เยอรมัน (มูลค่านำเข้า ๑๓,๐๐๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๑๔.๕๓%) จีน(มูลค่า ๗,๑๒๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๗.๙๖%) ฝรั่งเศส (มูลค่า ๗,๐๙๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๗.๙๓%) เนเธอร์แลนด์ (มูลค่า ๔,๒๗๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๔.๗๘%) และสเปน (มูลค่า ๓,๗๖๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๔.๒๑%)

ประเทศที่อิตาลีนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย (+๑๕๑.๐๗%) อียิปต์ (+๖๔.๖๐%) บราซิล (+๕๒.๒๙%) และลิเบีย(+๔๘.๐๗%) ซึ่งส่วนใหญ่กว่าร้อยละ ๘๐ เป็นการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และสินแร่

ประเทศคู่แข่งอื่นๆที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น (มูลค่า ๑,๐๓๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๑.๑๖%) อินเดีย (มูลค่า ๑,๐๐๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๑.๑๓%) เกาหลีใต้ (มูลค่า ๖๖๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๗๔%) ไต้หวัน (มูลค่า ๒๕๙ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๕๙%) และอินโดนีเซีย (มูลค่า ๕๐๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๕๖%) โดยไทยเป็นอันดับที่ ๔๕ มูลค่า ๓๓๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๓๘%

๒.๘ ISTAT ได้รายงานเบื้องต้นว่า การค้าระหว่างอิตาลีและประเทศนอกสหภาพยุโรปในเดือนเมษายน ๒๕๕๔ อิตาลีส่งออกเพิ่มขึ้น +๑๗.๘% ในขณะที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น +๓๐.๐% โดยสินค้านำเข้าส่วนใหญ่ ได้แก่ สินค้าทุน (+๔๒.๔%) และสินค้าขั้นกลางคือส่วนประกอบ และชิ้นส่วน สิ้นค้ากึ่งสำเร็จรูป (+๔๒.๒%) ทำให้อิตาลีขาดดุลการค้าอยู่ ๓,๐๗๒ ล้านยูโร

๓. ทั้งนี้ วิเคราะห์แยกรายสินค้าที่มีการส่งออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ได้ดังนี้

๓.๑ อัญมณีและเครื่องประดับ

การส่งออกในช่วง ๔ เดือนแรก (ม.ค. - เม.ย.) ของปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๖๖.๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๖๖.๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ-๐.๖๓ เนื่องจาก

(๑) เป็นสินค้าที่มีราคาแพงและถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งผู้บริโภคอิตาลีนิยมซื้อในโอกาสพิเศษและเทศกาล เช่น คริสต์มาส วันวาเลนไทน์ และการฉลองทางศาสนาในช่วงฤดูใบไม้ผลิ โดยเห็นได้จากการส่งออกของไทยในเดือนมกราคม ๒๕๕๔ ที่สูงขึ้นถึง ๗๒๗.๑๔% ในขณะที่เดือนเมษายนลดลง -๓๐.๘๒%

(๒) ราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาทองคำต่อกรัม (เมื่อสัก ๑ ปีที่มาแล้วราคา ๒๐ - ๒๕ ยูโรต่อกรัม ปัจจุบันราคา ๓๓ ยูโรต่อกรัม) ส่งผลให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อลง

(๓) จากผลการสำรวจความต้องการซื้อสินค้าเครื่องประดับในอิตาลีของนิตยสาร Vicenzaoro Charm พบว่า ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมาความต้องการซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของผู้บริโภคอิตาลีลดลง -๑๓% และยอดการส่งออกลดลง -๕.๕% และผลกระทบต่อวิกฤตเศรษฐกิจทำให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในอิตาลีต้องปิดตัวลง เช่น ในเมืองวิเชนซ่ามีบริษัทปิดกิจการลงถึง ๖๐๐ บริษัทและทำให้มีคนถูกยกเลิกการจ้างงาน ๗,๐๐๐ ราย ผลผลิตเครื่องประดับของอิตาลีลดลง -๒๐% (เมื่อเทียบกับก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี ๒๕๕๐) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกอัญมณีและอัญมณีกึ่งมีค่าของไทยโดยตรง

(๔) ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของอิตาลีจึงจำเป็นต้องพยายามลดมาร์จินกำไร โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าสำหรับลูกค้าระดับกลาง และไม่สามารถตั้งราคาสินค้าให้สูงขึ้นเนื่องจากจะเสี่ยงต่อยอดขายที่ตกลงไปเป็นศูนย์เลยก็ได้

(๕) อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของอิตาลีมีประมาณ ๑๑,๐๐๐ บริษัทและมีแรงงานในอุตสาหกรรมประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ คน โดยบริษัทผู้ผลิตทั้งหมดให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและการวิจัยพัฒนาสินค้าเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้ในธุรกิจจากภาวะวิกฤตเช่นนี้ โดยทางเลือกเชิงกลยุทธ์ได้นำไปใช้กับผลิตภัณฑ์โลหะ (แทนทองและเงิน) เช่นนำเอาทองแดง (สีขาว) และทองเหลืองมาใช้เป็นวัสดุแทนเพื่อลดต้นทุน บริษัทต่างๆลงทุนในการสร้างสรรค์สินค้าอัญมณีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้การออกแบบและใช้วัสดุผสมกันให้เกิดความหลากหลาย จากการวิจัยของ ASSOLOWCOST รายงานว่า ในปี ๒๕๕๓ ภาคธุรกิจต้นทุนต่ำ (low cost sector) (สินค้าและบริการ) มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น +๑๓.๕๓% เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๒ (มูลค่าการค้ารวม ๗๙.๖ พันล้านยูโร) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ พบว่าสินค้าเครื่องประดับแบรนด์ "Griffe" ยังเป็นแบรนด์ที่สำคัญในกลุ่มสินค้าเครื่องประดับอยู่ จากการสำรวจพบว่า คนอิตาเลี่ยน ๙.๔% ยังคงนิยมซื้อแบรนด์นี้ในขณะที่คน ๔๘.๘% หันไปชื่นชอบการซื้อสินค้าต้นทุนต่ำแล้ว

(๖) การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับของอิตาลีประมาณร้อยละ ๗๕ เป็นการนำเข้าประเภทกึ่งสำเร็จรูปและกระจุกอยู่เมืองหลัก ๔ เมืองได้แก่ มิลาน(๓๐%) อะเล็ซซานเดรีย(๓๐%) โรม(๘%) และวิเชนซ่า(๘%) ประเทศที่อิตาลีนำเข้าสำคัญคือ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป โดยเฉพาะสวิสเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยมและฝรั่งเศส

ราคานำเข้าสินค้าของหมวดเครื่องประดับจากไทยมาอิตาลี (เครื่องประดับที่เป็นโลหะมีค่าหรืออัญมณีแต่ไม่ใช่เครื่องเงิน) เมื่อเปรียบเทียบราคาแบบ CIF แล้วสินค้าจากไทยมีราคาแพงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชีย(ยกเว้นอินเดีย) กล่าวคือโดยเฉลี่ยราคาสินค้าจากทั่วโลกอยู่ที่ ๓๖.๒๕ เหรียญสหรัฐฯต่อกรัมเทียบกับราคาเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ ๓๒.๓๒ เหรียญสหรัฐฯต่อกรัม (แต่จากจีน ๘.๓๖ เหรียญสหรัฐฯ ต่อกรัม ฮ่องกง ๒๓ เหรียญสหรัฐฯ ต่อกรัมและอินโดนีเซีย ๒๑ เหรียญสหรัฐฯ ต่อกรัม

(๗) ข้อมูลการนำเข้าล่าสุดจาก WTA ในเดือน ม.ค. - ก.พ. ของปี ๒๕๕๔ ไทยครองตลาดอันดับที่ ๑๕ (สัดส่วน ๑.๐๔%) โดยประเทศที่อิตาลีนำเข้า ๕ อันดับได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ (สัดส่วนนำเข้า ๒๖.๑๗%) แอฟริกาใต้ (๑๑.๗๗%) ฝรั่งเศส (๑๐.๖๗%) สหรัฐอเมริกา (๘.๓๘%) และเยอรมัน (๖.๖๖%)

ประเทศคู่แข่งสำคัญ ได้แก่ จีน (อันดับที่ ๙ สัดส่วนนำเข้า ๒.๗๒%) อินเดีย (๑.๒๐%) ฮ่องกง (๐.๘๑%)

ประเทศอิตาลีนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ฝรั่งเศส (+๑๑๖.๑๖%) สเปน (+๑๓๓.๕๒%)รัสเซีย (+๒๐๗.๘๑%) สหราชอาณาจักร (+๑๓๕.๒๕%) โรมาเนีย (+๑๘๐.๘๔%) โคลัมเบีย (+๔๗๒.๑๑%) ศรีลังกา (+๘๘๐.๑๕%) มอลต้า (+๑๙๖.๑๕%)

๓.๒ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

การส่งออกในช่วง ๔ เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ของปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๒๘.๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๓๖.๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ -๒๒.๓๘ เนื่องจาก

(๑) จากการวิเคราะห์ตัวเลขการส่งออกสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเฉพาะเดือนเมษายน ๒๕๕๔ พบว่ามีอัตราขยายตัวลดลงถึง -๔๔.๑๙% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากสาเหตุการเพิ่มคำสั่งซื้อรถยนต์อย่างผิดปรกติในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้มีการนำเข้ามากขึ้นในเดือนมีนาคมถึง +๖๕.๐๙% อย่างไรก็ดีเนื่องจากในช่วงต้นปี ๒๕๕๓ รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินเพื่อกระตุ้นยอดขายจึงทำให้มีคำสั่งซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นกว่าปรกติ แต่ในปี ๒๕๕๔ นี้รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการออกมาตรการกระตุ้นยอดขายอีกทำให้สภาพตลาดเป็นไปตามธรรมชาติและส่งผลให้มีการขยายตัวลดลงดังกล่าว

(๒) ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ๒๕๕๔ สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งชาติ (National Automotive Industries Association-ANFIA) ได้รายงานว่า มีการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่จำนวน ๖๗๑,๗๘๘ คัน (ลดลง -๑๙% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) โดยพบว่าเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลลดลง -๒๘.๙% (ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด ๖๘%) และรถยนต์ที่ใช้กาซ/มีเทนลดลง - ๘๐% (เป็นกลุ่มรถยนต์ที่ได้รับสิทธิตามมาตรการกระตุ้นแรงจูงใจในการซื้อรถที่รักษาสภาพแวดล้อมในปี ๒๕๕๓) ส่วนตลาดรถ "มือสอง" มีการจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้น +๔% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (๑,๖๐๔,๐๙๖ คันที่ดำเนินการโอนทะเบียน)

          (๓) สมาคมและผู้ประกอบการภาคเอกชนยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตราการกระตุ้นแรงจูงใจอีกครั้ง เพื่อส่งผลให้เกิดยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้น ๓๕๐,๐๐๐ คันและการจ้างงานในอุตสาหกรรมอีก ๑๐.๐๐๐ ราย                       (๔)  ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีเสถียรภาพ และอำนาจซื้อที่ลดลงของประชาชน ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างมาก (น้ำมันเบนซิน +๑.๒% ดีเซล +๒.๕% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน) ทำให้คนอิตาลีหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชน รถจักรยานหรือรถมอเตอร์ไซด์แทน (ซึ่งช่วยรักษาสภาพแวดล้อมป์องกันมลพิษด้วย)

(๕) สินค้าหลักที่อิตาลีนำเข้าจากไทย ได้แก่ รถบรรทุก(เครื่องดีเซลและมีขนาดเครื่องยนต์เท่ากับหรือน้อยกว่า๕ เมตริกตัน) ๓๘% ของการนำเข้ารถยนต์ทั้งหมดจากไทย และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (เครื่องดีเซลและขนาดเครื่องยนต์มากกว่า ๑,๕๐๐ ซีซี) ๒๖% ของการนำเข้าทั้งหมดจากไทย และชิ้นส่วนมอเตอร์ไซค์ ๒๐% ของการนำเข้าทั้งหมดจากไทย อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าสังเกตว่า มีการนำเข้ารถยนต์ส่วนบุคคล (เครื่องดีเซลขนาด ๒,๕๐๐ ซีซี) จากไทยเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญคือ +๒๙๕% ทั้งนี้เนื่องจากแนวโน้มความต้องการซื้อรถยนต์ขนาดใหญ่เริ่มมีมากขึ้น และคนอิตาลีนิยมเดินทางโดยใช้รถยนต์ส่วนตัวไปในการท่องเที่ยวและทำงานต่างเมือง การใช้รถยนต์ขนาดใหญ่ช่วยให้สะดวกสบายและปลอดภัยกว่าการใช้รถยนต์ขนาดเล็ก

ส่วนการนำเข้าจากประเทศคู่แข่งอื่นๆ ได้แก่ จีน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ทั้งรถบรรทุกรถนั่งส่วนบุคคล และรถมอเตอร์ไซค์ ส่วนอินเดียเป็นการนำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลและชิ้นส่วน (FIAT เป็น joint venture กับ TATA) ส่วนการนำเข้าจากเกาหลีใต้เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (แบรนด์ฮุนไดและKIA) และการนำเข้าจากใต้หวันเป็นรถมอเตอร์ไซค์และชิ้นส่วน โดยขณะนี้ได้มีการเสนอขายรถยนต์รุ่นใหม่ในตลาดอิตาลีดังนี้ นิสซันรุ่นใหม่ (จากญี่ปุ่น) QASHQAI และฮุนไดรุ่นใหม่ X35 (จากเกาหลีใต้)

(๖) จากข้อมูลการวิจัยของ UNRAE (สมาพันธ์ผู้แทนขายรถยนต์จากต่างประเทศของอิตาลี) รายงานว่า ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา คนหนุ่มสาว (อายุ ๑๘ - ๓๕ ปี) ซื้อรถยนต์น้อยลง (จาก ๒๗.๑% เป็น ๒๒.๖%) และคนสูงวัย (อายุมากกว่า ๕๕ ปี) ซื้อรถยนต์มากขึ้น (จาก ๒๗.๖% เป็น ๓๐.๖%) ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาการหางานทำของคนหนุ่มสาวและคนสูงวัยมีรายได้สูงกว่า ในขณะเดียวกันถ้าเปรียบเทียบระหว่างเพศ พบว่า เพศหญิงซื้อรถยนต์มากขึ้น (จาก ๓๙.๗% เป็น ๔๑.๗%) ส่วนเพศชายซื้อรถยนต์น้อยลง (จาก ๖๐.๓% เป็น ๕๘.๓%)

ตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในอิตาลีในช่วง ๔ เดือนแรกของปี ๒๕๕๔ (ม.ค. - เม.ย.) ปรากฎว่าเป็นรถยนต์ดีเซล ๕๕% (เพิ่มขึ้น +๑๐.๑%) รถยนต์ที่ใช้เบนซิน ๔๐% และรถที่ใช้พลังงานทางเลือกอื่น ๕% ในส่วนของขนาดรถยนต์ ปรากฎว่ารถที่มีขนาดกลางและขนาดเล็กครองตลาด ๖๖% มีรถยนต์แบรนด์ของอิตาลี ๒๙.๒% (ลดลง - ๒๕.๑% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน)

(๗) ข้อมูลการนำเข้าล่าสุดจาก WTA ในเดือนม.ค. - ก.พ. ของปี ๒๕๕๔ ไทยครองตลาดอันดับที่ ๒๓ (สัดส่วน ๐.๓๓%) โดยประเทศที่อิตาลีนำเข้า ๕ อันดับได้แก่ เยอรมัน (สัดส่วน ๓๒.๒๐%) ฝรั่งเศส (๑๒.๓๒%) สเปน (๑๐.๗๙%) โปแลนด์ (๘.๔๒%) และสหราชอาณาจักร (๖.๐๒%) ประเทศคู่แข่งสำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น (สัดส่วน ๔.๒๐%) จีน (๑.๘๔%) อินเดีย (๑.๓๕%) เกาหลีใต้ (๑.๒๖%) และไต้หวัน (๐.๖๘%)

๓.๓ เครื่องนุ่งห่ม

การส่งออกในช่วง ๔ เดือนแรก (ม.ค. - เม.ย.) ของปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๑๕.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๑๕.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ -๔.๓๐ เนื่องจาก

(๑) ความต้องการภายในประเทศค่อนข้างคงที่ โดยผู้บริโภคอิตาลีได้ลดความถี่และค่าเฉลี่ยในการซื้อเสื้อผ้าต่อครั้งลง แต่หันไปซื้อเครื่องประดับที่มีราคาระดับกลาง-ต่ำแทน จากข้อมูลการบริโภคล่าสุด ISTAT รายงานว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๕๔ การบริโภคเครื่องนุ่งห่มลดลง -๑.๑% ต่อปี

(๒) การเพิ่มขึ้นอย่างมากของต้นทุนวัตถุดิบและเส้นใย (ราคาเส้นใยและฝ์ายเพิ่มขึ้นถึง ๑๑๔% และ ๑๔๐% ตามลำดับ) ส่งผลให้ผู้ประกอบการและผู้นำเข้ากังวลที่จะต้องจ่ายชำระเพิ่มขึ้น และรอดูสถานการณ์ตลาดก่อนตัดสินใจ ปัจจุบันต้นทุนวัตถุดิบถีบตัวขึ้นสูงมาก +๔% ต่อเดือน และ ๔๓% ต่อปี โดยเฉพาะเส้นใยขนสัตว์ (๑๐% ต่อเดือน) เส้นใยสังเคราะห์ (๑.๗% ต่อเดือน) จึงส่งผลให้ลดการซื้อสินค้า (โดยพยายามใช้ของในสตอกให้หมดก่อนจึงสั่งใหม่) นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังให้ความเห็นว่า ราคาที่เพิ่มขึ้นนี้โดยเฉลี่ยส่งผลต่อราคาสินค้าเสื้อผ้าตามเทรนด์แฟชั่น โดยทำให้ราคาเพิ่มขึ้น +๕% เนื่องจากค่าผ้าเพิ่มขึ้น +๑๐% และส่งผลต่อราคาสินค้าเสื้อผ้าแบบเบสิคเพิ่มขึ้นมากกว่า +๑๐% ทั้งนี้เสื้อผ้ากลุ่มนี้ขายอยู่ตามซุปเปอร์มาร์เก็ต (เช่นเสื้อยืด ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกมาจากไทย) และเสื้อกล้ามหรือเสื้อกั๊กที่ใช้ผ้ามากกว่า ๘๐%

(๓) ปัญหาเรื่องความไม่แน่นอนของราคาวัตถุดิบและความกังวลที่ผู้นำเข้าพยายามที่จะให้ผู้ผลิตลงนามในข้อตกลงเรื่องราคาเฉลี่ยของสินค้าเพื่อจำกัดการขึ้นราคาสินค้า ซึ่งความไม่แน่นอนเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการเสื้อผ้าต้องจัดทำรายการราคาสินค้าไปก่อนล่วงหน้า โดยที่ไม่ทราบถึงราคาต้นทุนสุดท้ายที่ผู้ผลิตจะเรียกเก็บจากตนได้เลย (และส่งผลถึงมาร์จินกำไรที่ผู้ประกอบการจะได้รับด้วย)

(๔) จากผลการวิจัยของ CONFCOMMERCIO รายงานว่า ในช่วง ๑๕ ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมแฟชั่นอิตาลีหดตัวลงอย่างมากทั้งในแง่มูลค่าการซื้อขายและการจ้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงของช่องทางการจัดจำหน่าย ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงปี ๒๕๓๘ ผู้ค้าปลีกครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ ๗๐% และร้านค้า outlet และผู้กระจายสินค้ารายใหญ่มีส่วนแบ่งอีก ๓๐% ที่เหลือแต่ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ จนถึงปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดจะกลับกันผู้ค้าปลีกครอง ๓๘% และผู้กระจายสินค้ารายใหญ่ ๖๒%

(๕) ผู้ประกอบการอิตาลีในอุตสาหกรรมสิ่งทอประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องและปัญหาความยากลำบากของภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างมาก

(๖) จากการวิเคราะห์การส่งออกของไทยมาอิตาลีแบบรายเดือนพบว่า การส่งออกในเดือนเมษายน ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้น +๑๘.๕๒% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากเป็นการเริ่มต้นฤดูร้อน อากาศเริ่มมีความอบอุ่นขึ้นกว่าในช่วงเดือนมีนาคมที่อากาศยังไม่แน่นอน ทำให้คนอิตาเลี่ยนเริ่มซื้อเสื้อผ้าคอลเลคชั่นใหม่สำหรับฤดูร้อน

(๗) สินค้าที่อิตาลีนำเข้าจากไทยส่วนใหญ่เป็นเสื้อ T-shirt ในตลาดระดับกลาง-ต่ำ (๒๓% ของการนำเข้าจากไทยทั้งหมด) ตามด้วยเสื้อผู้หญิง (๑๘%) โดยแนวโน้มของ T-shirt ในตลาดอิตาลีลดลงในขณะที่เสื้อผ้าผู้หญิงมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากมีคุณภาพดีและราคาเฉลี่ยใกล้เคียงกับสินค้าจีน (๑๓ เหรียญสหรัฐฯต่อชิ้นเมื่อเทียบกับสินค้าจีนราคา ๑๒ เหรียญสหรัฐฯต่อชิ้น) ในขณะที่ราคาสินค้าจากอินเดียราคาถูกกว่าคือ ๑๐ เหรียญสหรัฐฯต่อชิ้น จีนยังคงเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาด (มีส่วนแบ่งตลาด ๒๓.๗๐%) อิตาลีนำเข้ามากเป็นอันดับ ๑ ตามด้วยอินเดีย (ส่วนแบ่ง ๕%) และอินโดนีเซียและไทย (๐.๙% และ ๐.๔๘% ตามลำดับ)

(๘) จากสถิติการนำเข้าของ WTA ล่าสุดในเดือนมค. - กพ. ของปี ๒๕๕๔ (พิกัด ๖๑ Knit Apparel) ไทยครองตลาดอันดับที่ ๒๒ (มูลค่า ๗.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๕๐%) อิตาลีนำเข้าจากประเทศ ๕ อันดับแรก ได้แก่ จีน (มูลค่า ๔๒๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๒๘.๗๑%) บังคลาเทศ (มูลค่า ๑๐๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๗.๒๓%) ตุรกี (มูลค่า ๑๐๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๖.๙๘%) สเปน (มูลค่า ๙๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๖.๓๑%) ฝรั่งเศส (มูลค่า ๘๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๕.๖๐%)

(๙) โดยมีประเทศคู่แข่งสำคัญได้แก่ อินเดีย (มูลค่า ๖๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๔.๒๐%) ศรีลังกา (มูลค่า ๔๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๓.๐๓%) อินโดนีเซีย (มูลค่า ๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๕๗%) และเวียดนาม (มูลค่า ๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๔๗%)

๔. ข้อคิดเห็น

๔.๑ ธนาคารแห่งอิตาลีได้เปิดเผยว่า อิตาลีเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นแต่ค่อนข้างช้ากว่าประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปอื่นๆ กล่าวคือ เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมาอิตาลี +๐.๑% ฝรั่งเศส +๑% เยอรมัน +๑.๕% เนื่องจากปัญหาด้านโครงสร้างที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การมีอัตราภาษีสูง การลงทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ และสังคมประชากรสูงอายุ ส่วนภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังคงขึ้นกับการส่งออก มีการลงทุนน้อยลงเนื่องจากผลมาร์จินกำไรที่ได้รับมีข้อจำกัด ราคาวัสดุเพิ่มสูงขึ้น และค่าแรงต่อหน่วยการผลิตสูง

๔.๒ สถาบัน ISTAT รายงานว่า ในเดือนพฤษภาคมดัชนีความเชื่อมันของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นทุกด้าน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเศรษฐกิจทั่วไปและสถานการณ์ด้านตลาดแรงงาน) แต่ในทางตรงกันข้ามดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ผลิตและผู้กระจายสินค้ากลับลดลง ผู้ผลิตคาดการณ์ว่าในอนาคตคำสั่งซื้อและการผลิตจะลดลงอย่างเลวร้ายที่สุดรวมถึงตลาดแรงงานด้วย แต่ตลาดหุ้นยังคงมีเสถียรภาพ สำหรับดัชนีของผู้กระจายสินค้าพบว่า ลดลงทั้งในกลุ่มผู้กระจายสินค้าขนาดใหญ่และผู้กระจายสินค้าแบบดั่งเดิม ตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นในขณะที่ความคาดหวังในการขายลดลง (เช่นเดียวกับเดือนที่ผ่านมา)

๔.๓ หน่วยงาน Adusbef และ Federconsumatori ซึ่งเป็นหน่วยงานคุ้มครองสิทธิ์ผู้บริโภคได้กล่าวว่า การลดลงของยอดจำหน่ายปลีกนับเป็นอุปสรรค อย่างมากต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และเห็นว่าเศรษฐกิจอิตาลีจะสามารถฟื้นตัวโดยการกระตุ้นความต้องการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้น ด้วยวิธีการลดการเก็บภาษีด้านค่าครองชีพและภาษีรายได้ของประชาชน ส่วนสมาพันธ์ผู้จำหน่ายปลีกแห่งอิตาลี (Confcommercio) มีความเห็นเช่นเดียวกันว่า สถานการณ์ค้าปลีกในอิตาลียังคงไม่สดใส ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ที่ชะลอตัวจากความต้องการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่อ่อนแอ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างช้าๆ ซึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการส่งออก ที่มีสถานะดีกว่า ในขณะที่ตลาดภายในประเทศค่อนข้างย่ำแย่

๔.๔ ธนาคารแห่งอิตาลีได้เปิดเผยผลการสำรวจว่าในไตรมาสแรกของปี ๒๕๕๔ ธนาคารในอิตาลีได้เข้มงวดในการให้กู้ยืมแก่ภาคครอบครัว และผู้ประกอบธุรกิจมากขึ้น โดยกำหนดเงื่อนไขในการให้กู้ยืมที่เป็นข้อจำกัดมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าในช่วง ๓ เดือนข้างหน้าการขอกู้เงินของผู้ประกอบธุรกิจจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่การขอกู้เงินเพื่อซื้อบ้านภาคครอบครัวและสินเชื่อผู้บริโภคจะคงที่ โดยความต้องการกู้ยืมของผู้ประกอบการธุรกิจ จะถูกขับเคลื่อนโดยการปรับโครงสร้างหนี้ และความจำเป็นในการจัดหาแหล่งเงิน เพื่อชำระค่าวัสดุ และการลงทุนด้านการเงิน

๔.๕ สินค้าที่คาดว่ายังมีแนวโน้มที่ดี ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เนื่องจากเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิและอากาศที่อบอุ่นขึ้นทำให้คนอิตาเลี่ยนหันมาใช้รถจักรยานยนต์มากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัด รวมถึงการซื้อเครื่องปรับอากาศ ซึ่งกำลังมีการส่งเสริมการขายล่วงหน้าก่อนฤดูร้อนที่จะมาถึง และกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็งแช่เย็น (รวมถึงปลาหมึกสดแช่เย็น แช่แข็ง) เนื่องจากคนอิตาเลี่ยนนิยมรับประทานอาหารเบาๆ ในช่วงฤดูร้อน เช่นสลัดทูน่า เป็นต้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ