“พาณิชย์” ร่วมประชุมลิมอดาซาร์ครั้งที่ 2 หวังใช้ประโยชน์ AEC สูงสุด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 2, 2011 11:00 —กรมส่งเสริมการส่งออก

นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1-5 มิถุนายนทึ่จะถึงนี้ตนจะนำคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชน และทางกรมส่งเสริมการส่งออกได้นำนักธุรกิจส่งออกสินค้าและบริการของไทยไปเข้าร่วมการประชุมลิมอดาซาร์ (Lima Dasar Summit) ครั้งที่ 2 ณ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ภายใต้โครงการตามนโยบาย 3 วงแหวน 5 ประตูการค้า ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนนักธุรกิจไทยให้สามารถขยายการค้าการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อใช้ประโยชน์จากกรอบการค้าเสรีของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเพื่อนบ้าน โดยยึดหลักการผลประโยชน์ร่วมกัน

สืบเนื่องจากการจัดประชุม Lima Dasar Summit ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 23-24 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา ณ จังหวัดสงขลา ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างยิ่งในการสร้างเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น ได้มีการหารือโครงการต่างๆที่จะดำเนินการร่วมกันระหว่างไทยและมาเลเซียอย่างเป็นรูปธรรม โดยที่ประชุมได้กำหนดกลุ่มจังหวัด/รัฐคู่กัน และจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินโครงการต่าง จำนวน 5 กลุ่มสาขาเศรษฐกิจ คือ กลุ่มการค้า (นราธิวาส/กลันตัน) กลุ่มการลงทุน (ยะลา/เปอร์ลิส) กลุ่มโลจิสติกส์ (สงขลา/ปีนัง) กลุ่มการท่องเที่ยวและการศึกษา (สตูล/เคดะห์) กลุ่มอุตสาหกรรมฮาลาล (ปัตตานี/เปรัค) นอกจากการประชุมแล้ว ภายใต้โครงการประตูการค้า ด้านใต้ยังจัดกิจกรรมงานแสดงสินค้าและกิจกรรมเพื่อการสร้างเครือข่ายจับคู่ธุรกิจของนักธุรกิจทั้งประเทศอีกด้วย

“การนำคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนไทยเดินทางไปเข้าร่วมการประชุม Lima Dasar Summit ในครั้งนี้ จะเป็นการติดตามและผลักดันผลการดำเนินการตามที่ได้หารือในการประชุมครั้งก่อนให้นำไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น โครงการจัดทำ Lima Dasar Business Card (LDCB) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ถือบัตรในการผ่านแดนในระยะแรก และในระยะต่อไป

ซึ่งคณะทำงานกลุ่มสาขาการค้า จะได้ทำการศึกษาและกำหนดแนวทางการดำเนินการเพื่อให้บัตร (LDCB) เป็นบัตรทดแทน visa ในอนาคต กลุ่มสาขาการค้าการลงทุน ได้เสนอโครงการแลกเปลี่ยนดูงานและจับคู่ธุรกิจระหว่างกัน เพื่อการใช้ประโยชน์ของศักยภาพด้านวัตถุดิบ ฐานการผลิต และการทำการค้าร่วมกัน กลุ่มสาขาการท่องเที่ยวและการศึกษา ได้มีการเสนอโครงการพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ รวมทั้ง โครงการจัดทำป้ายบอกทางและป้ายแหล่งท่องเที่ยว 2 ภาษา เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวและกระตุ้นการท่องเที่ยวระหว่างกัน” นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม การนำคณะฯ เดินทางเยือนมาเลเซียในครั้งนี้ นอกจากการเข้าร่วมการประชุมแล้ว ทางกรมส่งเสริมการส่งออกยังนำคณะผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า The 2nd Lima Dasar Expo ณ Queensbay Mall ปีนัง ระหว่างวันที่ 1-5 มิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นการจัดงานควบคู่ไปกับการจัดงานแสดงสินค้า Friendship Fest 2011 ในครั้งนี้มีผู้ผลิตผู้ส่งออกสินค้าและบริการของไทยจาก สงขลา นราธิวาส ยะลา สตูล พัทลุง และ กทม. เข้าร่วมงาน 33 ราย รวม 38 คูหา แบ่งเป็นกลุ่มสินค้าและบริการต่างๆ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและสิ่งทอ ของขวัญของตกแต่งบ้าน แฟชั่นอัญมณี สุขภาพและความงาม บริการท่องเที่ยว โรงพยาบาล การศึกษาและอาชีพ เป็นต้น ภายในงานนอกจากการค้าปลีกและรับคำสั่งซื้อแล้ว ยังได้จัดให้มีการเจรจาการค้า เพื่อการสร้างเครือข่ายการค้าและการลงทุนระหว่างนักธุรกิจของทั้งสองประเทศด้วย

ประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันโดยเฉพาะทางด้านการค้า โดยมีมูลค่าการค้ารวมของประเทศทั้งสองในปี 2553 จำนวน 21,275.58 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 648,905.19 ล้านบาท เป็นการส่งออกสินค้าไทยมูลค่า 10,566.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 322,284.38 ล้านบาท และเป็นการนำเข้าสินค้าจากมาเลเซียมูลค่า 10,708.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 326,621.45 ล้านบาท หรือขาดดุลทางการค้า 4,337.07ล้านบาท (ลดลงจากปี 2552 ที่ไทยขาดดุลการค้ามาเลเซีย 34,452 ล้านบาท)

นายราเชนทร์ พจนสุนทร รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ประธานคณะทำงาน 3 วงแหวน 5 ประตูการค้าของกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเสริมว่า การค้าระหว่างประเทศของประเทศไทยและมาเลเซียมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในปี 2552-2553 มีการขยายตัวการค้ารวม 14.7 % การขยายตัวการส่งออกของไทย 19.42% การขยายตัวการนำเข้าจากมาเลเซีย 10.44% และในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2554 การส่งออกไปมาเลเซียมีมูลค่า 3,859 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึงร้อยละ 46 โดยการค้าที่ดำเนินอยู่กว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าการค้ารวมเป็นการค้าชายแดน มูลค่าการค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจาก ความร่วมมือของอาเซียนที่มุ่งลดอุปสรรคการค้าโดยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งทำให้อัตราภาษีส่วนใหญ่ของประเทศสมาชิกจะลดเหลือร้อยละ 0-5 และ การดำเนินการของกระทรวงพาณิชย์ภายใต้โครงการ 3 วงแหวน 5 ประตูการค้า ตามนโยบายของ นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะด้านการค้าชายแดน การลงทุน อุตสาหกรรมฮาลาล อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว และการศึกษา ให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น อันจะเป็นการสร้างงานแก่ประชาชนในพื้นที่ และทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และ ส่งผลให้การค้าของประเทศในอาเซียนรวมถึงการค้าระหว่างไทยและมาเลเซียขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยและมาเลเซียในปี 2554 จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 สนใจข้อมูลเพื่อเติมและจับคู่ทางการค้าผ่านเว็บไซท์ www.limadasar.com

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ