นโยบายก้าวออกไปของจีน ยังหมายถึงการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตกของจีนโดยย้อนรอยความรุ่งเรืองของเส้นทางสายไหมในอดีต ด้วยการรื้อฟื้นเส้นทางขนส่งทางบกที่เคยใช้ติดต่อการค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปโดยมีจีนเป็นศูนย์กลางเดินทางผ่านเอเชียกลางเข้าสู่ยุโรป เมื่อ ๕,๐๐๐ พันปีก่อน โดยการเชื่อมต่อคมนาคมทางบกระหว่างเอเชียกับยุโรปในศตวรรษที่ ๒๑ จะสามารถขนส่งสินค้าจากท่าเรือเหลียนหยูนก่างมณฑลเจียงซูไปยุโรปโดยไม่ต้องเอาสินค้าลงเรือออกสู่ทะเล แต่จะใช้ทางรถไฟหรือรถยนต์ย้อนเข้าแผ่นดินจีนสู่ซีอาน-กานซู-ซินเกียง ออกชายแดนประเทศจีนมุ่งสู่คาซัคสถาน-รัสเซีย-โปแลนด์-เยอรมนี-เนเธอร์แลนด์ จนถึงท่าเรือร็อตเตอร์ดัม รวมระยะทาง ๑๐,๘๐๐ กิโลเมตร
เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมืองในมณฑลตอนในฝั่งตะวันตกที่จะมีนครซีอานเป็นศูนย์กลางรัฐบาลจีนได้อนุมัติโครงการจัดตั้งท่าสินค้านานาชาติขึ้นที่เมืองซีอาน (Xi’an International Trade & Logistic Park) โดยได้เริ่มก่อสร้างในปี ๒๕๕๑
ที่ตั้ง เขตท่าสินค้านานาชาติซีอานตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของนครซีอานบริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำป้าและแม่น้ำเว่ย ทิศตะวันตกขนาบแม่น้ำป้า ทิศเหนือติดเส้นทางรถไฟวงแหวนเหนือ ทิศตะวันออกติดทางหลวงซีหาน และทิศใต้ติดทางด่วนยกระดับอ้อมเมืองซีอาน รวมทั้งเป็นแหล่งรวมของแม่น้ำ ๔ สาย คือ แม่น้ำจิง เว่ย ฉ่าน และป้า
การพัฒนาพื้นที่เขตท่าสินค้านานาชาติยึดต้นแบบการพัฒนาแบบ “แผนหนึ่งเดียว-แยกดำเนินการเป็นขั้น” แบ่งเป็น ๔ เขตหลัก คือ เขตสินค้าทัณฑ์บนและโลจิสติกส์ เขตโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ เขตโลจิสติกส์ภายในประเทศ และเขตกลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ คาดว่าจะสามารถรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าได้ปีละ ๖๖.๕ ล้านตัน แยกเป็นการขนส่งระบบราง ๒๘ ล้านตัน โดยการขนส่งผ่านตู้คอนเทนเนอร์ขนาดมาตรฐานได้ ๓.๐๕ ล้านตู้/ปี และการขนส่งทางหลวง ๓๘.๕ ล้านตัน ซึ่งจะทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของส่านซีเพิ่มขึ้นกว่า ๕๔,๐๐๐ ล้านหยวนเมื่อสิ้นสุดแผน ๕ ปีฉบับที่ ๑๒ ในปี ๒๕๕๘
ท่าสินค้านานาชาติซีอานมีการคมนาคมที่สะดวก ตั้งอยู่ห่างจากใจกลางธุรกิจของนครซีอานเพียง ๕ กิโลเมตร และห่างจากสนามบินนานาชาติซีอาน-เสียนหยาง ๒๘ กิโลเมตร มีสนามบินหยาวชุนอยู่ภายในเขต พื้นที่ของโครงการตามแผนที่ได้วางไว้เมื่อถึงสิ้นสุดแผน ๕ ปีฉบับที่ ๑๓ ในปี ๒๕๖๓ จะมีขนาดพื้นที่รวม ๔๔.๖ ตารางกิโลเมตร และจะขยายได้ถึง ๑๒๐ ตารางกิโลเมตร ยอดเงินลงทุน ๙,๘๐๐ ล้านหยวน จุดเด่นคือมีเครือข่ายการคมนาคมภายในมณฑลที่เชื่อมต่อเป็นรูปตัวอักษร สามารถกระจายสินค้าสู่เมืองและมณฑลที่ติดกันทั้ง ๘ ทิศ ได้แก่ มองโกเลียใน หนิงเซี่ย กานซู เสฉวน ฉงชิ่ง หูเป่ย เหอหนาน และซานซี
การเดินทางเชื่อม ๘ ทิศจะคล่องตัวด้วยความช่วยเหลือของทางด่วนยกระดับอ้อมเมืองซีอาน และจะสามารถเดินทางสู่สนามบินซีอาน-เสียนหยางได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยไม่ต้องแล่นผ่านตัวเมืองเลี่ยงปัญหารถติด ก่อนตัดสู่ทางด่วนสายต่างๆ ตามรูปตัวอักษร ได้แก่ “ทางด่วนจิงคุน (ปักกิ่ง-คุนหมิง)” “ทางด่วนเหลียนฮั่ว (เจียงซู-ซินเจียง)” “ทางด่วนส่านฮู่ (ส่านซี-เซี่ยงไฮ้)” “ทางด่วนเปาเม่า (มองโกเลียใน-กวางตุ้ง)” โดยมีสถานีขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ระบบราง เพื่อให้เป็นท่าสินค้านานาชาติตอนในของจีนและฮับโลจิสติกส์อันทันสมัยที่เชื่อมต่อกับ “เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน” “เขตเศรษฐกิจหวนป๋อไห่” “เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง” และ “เขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำจูเจียง”
๑. สถานีตู้คอนเทนเนอร์ระบบราง ซึ่งนับเป็น ๑ ใน ๑๘ สถานีตู้คอนเทนเนอร์ระบบรางของจีน (คือ กว่างโจว ฮ่องกง อู่ฮั่น เจิ้งโจว หนิงโป เซี่ยงไฮ้ ชิงเต่า ปักกิ่ง เทียนจิน ต้าเหลียน เสิ่นหยาง ฮาร์บิน อุรุมชี หลานโจว เฉิงตู ฉงชิ่ง คุนหมิง และซีอาน) มีพื้นที่ ๒,๐๕๘ หมู่ หรือประมาณ ๘๖๐ ไร่ (๒.๔ หมู่เท่ากับ ๑ ไร่) รวมมูลค่าการลงทุน ๖๓๐ ล้านหยวน เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๑ ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง ๒ ปี และสามารถรองรับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ได้มากสุดถึงปีละ ๒๓ — ๒๘ ล้านตัน
ทั้งนี้ การขนส่งสินค้าจากซีอานหากมีระยะทางเกินกว่า ๔๐๐ — ๕๐๐ กิโลเมตร มักนิยมขนส่งสินค้าด้วยระบบรางมากกว่าทางถนน เพื่อสิ้นเปลืองน้ำมันและค่าทางด่วน เส้นทางขนส่งทางรถไฟที่นิยมมาก คือ ทางรถไฟสายหลงไห่ ซึ่งเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดในการขนส่งทางรถไฟสู่ท่าเรือเหลียนหยูนก่างเพื่อส่งสินค้าไปญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง ทางรถไปแล่นผ่าน ๕ มณฑล ได้แก่ กานซู (หลานโจว) - ส่านซี (ซีอาน) - เหอหนาน (ลั่วหยางและเจิ้งโจว) - อันฮุย - เจียงซู (เมืองเหลียนหยุนก่าง) รวมระยะทางทั้งสิ้น ๑,๗๕๙ กิโลเมตร โดยไม่ต้องเสียเวลาเปลี่ยนถ่ายสินค้าส่งตรงถึงท่าเรือน้ำลึกเหลียนหยุนก่างได้เลย นอกจากนี้ยังสามารถขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟหรือทางด่วนไปยังท่าเรือใหญ่ของจีนได้อีกหลายเมือง เช่น ท่าเรือเทียนจิน ชิงเต่า กวางตุ้งและฝูเจี้ยน
เส้นทาง New Asia-Europe Land Bridge พาดผ่านจากจีนสู่เอเชียกลางและยุโรป โดยใช้ทางรถไฟสายหลงไห่ซินหลาน ซึ่งเป็นทางรถไฟ ๒ สายเชื่อมต่อกันคือ สายหลงไห่และสายซินหลาน จากซีอานแล่นผ่านหลานโจวในมณฑลกานซู และนครอุรุมชีในซินเจียง เข้าสู่เอเชียกลางและยุโรป ซึ่งยุโรปเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ ๑ ของซีอาน ส่านซีมาอย่างต่อเนื่อง
๒. เขตถนนและท่าเทียบถ่ายสินค้า เป็นเขตบริการด้านโลจิสติกส์ มีพื้นที่ ๓,๐๐๐ หมู่ มูลค่าการลงทุน ๓,๐๐๐ ล้านหยวน ประกอบด้วยโซนจอดรถ โซนข่าวสารข้อมูล โซนสิ่งอำนวยความสะดวก และโซนโกดังสินค้า เป็นต้น เพื่อรองรับกับแผนเครือข่ายทางด่วนในลักษณะตัวอักษร ?และโครงการ “ เครือข่ายทางด่วน ๒๖๓๗ ” ที่รัฐบาลได้กำหนดแผนเมื่อปี ๒๕๕๒โดยมีเป้าหมายการเดินทางจากนครซีอานสู่ ๘ มณฑลเพื่อนบ้านรอบทิศทาง และกำหนดสร้างทางด่วนครอบคลุมส่านซีให้มีระยะทางรวม ๘,๐๘๐ กิโลเมตร ภายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ๕ ปีฉบับที่ ๑๓ (ปี ๒๕๕๙ — ๒๕๖๓) หรืออีก ๑๐ ปีข้างหน้าต่อจากนี้ โดยเป็นทางด่วนระดับประเทศ ๓,๘๘๘ กิโลเมตร และทางด่วนระดับมณฑล ๔,๑๙๒ กิโลเมตร รวมมูลค่าการลงทุน ๔๒๐,๐๐๐ ล้านหยวน
๓. เขตสินค้าทัณฑ์บนและโลจิสติกส์ เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๒ และเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๓ รวมพื้นที่ ๓.๓ ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย อาคารสำนักงานงานขนาด ๖,๐๐๐ ตารางเมตร จุดตรวจช่องทางเข้าออกอย่างละ ๕ ช่องทาง ซึ่งติดตั้งระบบเครื่องชั่งอิเล็กทรอนิกส์และระบบวิดีโอเฝ้าระวัง อีกทั้งเชื่อมต่อกับเครือข่ายของศุลกากรและสำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรค (CIQ) ของนครซีอาน โกดังเก็บสินค้าและห้องวิดีโอวงจรปิด ทั้งนี้ เขตสินค้าทัณฑ์บนและโลจิสติกส์ภายในท่าสินค้านานาชาติซีอานนับเป็นเขตสินค้าทัณฑ์บนและโลจิสติกส์แห่งเดียวในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
๔. ศูนย์โลจิสติกส์ด้านเวชภัณฑ์ทันสมัยแห่งภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เกิดจากการรวมตัวของ ๓ อุตสาหกรรมหลัก คือ แพทย์แผนจีนร่วมสมัย โลจิสติกส์เวชภัณฑ์ และการบรรจุภัณฑ์เวชภัณฑ์ มีพื้นที่รวม ๗๐ หมู่ มูลค่าการลงทุน ๓๐๐ ล้านหยวน หากการก่อสร้างแล้วเสร็จ คาดว่าจะสามารถให้บริการขนส่งเวชภัณฑ์ได้ปีละ ๓.๕ ล้านตู้คอนเทนเนอร์ สามารถตอบสนองต่อธุรกิจเวชภัณฑ์ในมณฑลส่านซีและภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนทั้งทางด้านการกระจายสินค้า การขนส่ง คลังสินค้าและการจำหน่ายได้อย่างครบถ้วน กลายเป็นศูนย์โลจิสติกส์ด้านเวชภัณฑ์ที่ติดอันดับ ๑ ของภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนต่อไป
๕. เขต Xi’an China South City ดำเนินงานโดยนักลงทุนจากเซินเจิ้น China South City (Shenzhen) Co., Ltd. เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ พื้นที่ประมาณ ๓ ตารางกิโลเมตร เฟสแรกเริ่มการลงทุนมากกว่า ๖,๐๐๐ ล้านหยวน สามารถรองรับผู้ประกอบการรายย่อยได้ราว ๒๕,๐๐๐ — ๓๐,๐๐๐ ราย ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางทางการค้า โลจิสติกส์และแหล่งกระจายสินค้าที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดของจีน สามารถรองรับผู้ประกอบการรายย่อยได้ ๑๐๐,๐๐๐ ราย และมีการจ้างงานกว่า ๑ ล้านคน
๖. เขตศูนย?กลางพาณิชย์ธุรกิจ เป็นศูนย์กลางการค้าสมัยใหม่สำหรับลูกค้าตลาดบน ที่รวมทั้งอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม ภัตตาคาร ศูนย์ประชุม และศูนย์ออกกำลังกาย ฯลฯ
๗. เขตเมืองใหม่ จะเป็นเขตที่พักอาศัยทันสมัยมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน โรงพยาบาล สนามกีฬา ศูนย์การค้า พื้นที่สีเขียวสวนสาธารณะ เขตเมืองใหม่สามารถรองรับผู้อยู่อาศัยได้ ๑๑,๐๐๐ ครัวเรือน
๘. โครงการอื่นๆ ที่อยู่ในระหว่างเจรจา อาทิ
ศูนย์โลจิสติกส์ด้านรถยนต์และชิ้นส่วนแห่งภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ประกอบด้วย ศูนย์แสดงรถยนต์ ศูนย์จำหน่ายรถยนต์ คลังรถยนต์ และแหล่งรวมศูนย์บริการรถยนต์ยี่ห้อดัง เป็นต้น
ศูนย์โลจิสติกส์ด้านอาหารและธัญพืชแห่งภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ประกอบด้วย คลังกักเก็บอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ เขตอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และเขตการขนส่ง เป็นต้น
ศูนย์โลจิสติกส์ด้านทรัพยากรแห่งภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เป็นศูนย์โลจิสติกส์ด้านทรัพยากรแบบบูรณาการขนาดใหญ่ ที่มีตั้งแต่การจัดงานแสดง การขนส่ง คลังสินค้าและการบริการด้านทรัพยากรอย่างครบถ้วน รวมถึงมีศูนย์การค้า ภัตตาคารและแหล่งบันเทิงอย่างครบครัน
ศูนย์โลจิสติกส์ของกลุ่มประเทศเอเชียกลาง ความร่วมมือทางการค้าระหว่างจีน-เอเชียกลางเพิ่มขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะซีอานเป็นเมืองที่สามารถเชื่อมเมืองทางชายฝั่งทะเลตะวันออกของจีนเข้าสู่เอเชียกลางและยุโรปได้ กับเอเชียกลางเข้าสู่ยุโรปได้
เรียบเรียงโดย : สิริรัตน์ วงศ์ไพโรจน์พานิช สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองซีอาน
แหล่งข้อมูล : ศูนย์ธุรกิจไทยในจีน ณ เมืองซีอาน และ www.itl.gov.cn และ www.baike.baidu.com
ที่มา: http://www.depthai.go.th