นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เผยว่า ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นต้องนำเข้าสินค้าออร์แกนิคเกือบทั้งหมด โดยผลผลิตสินค้าออร์แกนิคในญี่ปุ่นมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.20 ของผลผลิตทางการเกษตรเพื่อการบริโภคทั้งหมด ซึ่งกว่าร้อยละ 86 ในจำนวนนี้เป็นผักและข้าว สินค้าออร์แกนิคประเภทเครื่องสำอางค์ และผลิตภัณฑ์จากฝ้ายยังเป็นที่นิยมแก่ชาวญี่ปุ่นนอกจากอาหาร ซึ่งผลิตภัณฑ์ฝ้ายออร์แกนิคมีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งนิยมให้เด็กสวมเสื้อผ้าที่ทำจากฝ้ายออร์แกนิคเพราะเกรงว่าฝ้ายที่มีราคมถูกจะทำให้เด็กเกิดอาการภูมิแพ้ได้
“สินค้าออร์แกนิคทั้งหมดที่นำเข้ามาขายในประเทศญี่ปุ่นต้องปฎิบัติตามกฎระเบียบ Organic JAS ซึ่งเป็น 1 ในมาตรฐานของ 8 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อาร์เจนตินา คอสตาริกา อินเดีย อิสราเอล และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานเทียบเท่ากับมาตรฐานในยุโรป และปัจจุบันสินค้าออร์แกนิคที่ผลิตในญี่ปุ่นและผ่านมาตรฐาน Organic JAS มีปริมาณที่น้อยมากในปี 2009 มีเพียง 2% ของสินค้าต่างประเทศที่ได้รับมาตรฐานดังกล่าว
อย่างไรก็ดี จากเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และสึนามิเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาประกอบกับการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดฟุกุชิมา ทำให้รัฐบาลต้องห้ามการจำหน่ายและบริโภคสินค้าบางรายการจากพื้นที่ดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียง ทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรซึ่งรวมถึงสินค้าออร์แกนิคในประเทศญี่ปุ่นลดลง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการกระจายสินค้าออร์แกนิคของไทยที่ศักยภาพสูงเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น ถึงแม้ตลาดญี่ปุ่นจะมีขนาดเล็กกว่ายุโรปก็ตาม แต่ถือได้ว่าญี่ปุ่นเป็นตลาดสำคัญอันดับ 2 ของเอเชีย และขณะนี้ชาวญี่ปุ่นเองเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพของตนเอง ทำให้ตลาดออร์แกนิคในญี่ปุ่นมีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้น
ที่มา: http://www.depthai.go.th