เกษตรกรผู้ปลูกข้าวของเม็กซิโกต่อต้านการนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ และปากีสถาน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 8, 2011 13:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2011 สภาผู้ผลิตข้าวแห่งเม็กซิโก (Consejo Mexicano del Arroz) ได้แจ้งข่าวผลผลิตข้าวภายในประเทศเม็กซิโกประจำปี 2011 คาดการณ์ผลผลิตจำนวน 340,000 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากปี 2010 ร้อยละ 17 แต่ยังคงเทียบได้เพียงประมาณร้อยละ 30 ของปริมาณความต้องการข้าวเพื่อการบริโภคภายในประเทศเม็กซิโก ที่มีปริมาณความต้องการรวมประมาณปีละ 800,000 -1 ล้านตันต่อปี

ประเทศเม็กซิโกนำเข้าข้าวจากสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก โดยในปี 2010 เม็กซิโกได้นำเข้าข้าวจากสหรัฐฯในปริมาณ 842,410 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2009 ร้อยละ 2.5 แหล่งนำเข้าข้าวรองจากสหรัฐฯ ได้แก่ อุรุกวัย (1,560 ตัน) ไทย (222 ตัน) อิตาลี (84 ตัน) และปากีสถาน (36 ตัน)

พื้นที่การเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของเม็กซิโกอยู่ในรัฐตอนกลางของเม็กซิโกของทั้งสองฝั่งมหาสมุทร ฝั่งแปซิฟิกได้แก่รัฐ Michoacan Nayarit Colima Sinaloa และ Jalisco ฝั่งแอทแลนติกได้แก่รัฐ Veracruz Campeche Tamaulipas และ Campeche การนำเข้าจากสหรัฐฯ ได้มีจุดเริ่มต้นที่รัฐ Sinaloa และประเภทของข้าวที่เป็นที่รู้จักสำหรับผู้บริโภคเม็กซิโกแยกได้เป็นสองประเภทคือ ประเภท Sinaloa long grain หรือประเภท Morelos short grain โดยข้าวประเภท long grain มักจะเป็นข้าวที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ราคาของข้าว long grain ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ และปากีสถานมีราคาที่ต่ำกว่าราคาข้าวที่ผลิตภายในประเทศถึงร้อยละ 20 ได้ส่งผลให้ตลาดของข้าวประเภท Morelos ที่ผลิตภายในประเทศเป็นที่นิยมน้อยลง ถึงแม้ว่ารัฐบาลของเม็กซิโกจะได้เริ่มการรณรงค์ด้านโภชนาการและสุขภาพ เมื่อต้นปี 2010 เพื่อส่งเสริมให้ชาวเม็กซิกันหันมาทานข้าวที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราการบริโภคข้าวต่อหัวโดยทั่วไปได้แสดงแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากคนละ 5.8 กิโล เป็น 6.5 กิโลต่อปีในระหว่างปี 2009-2011

นอกจากปัจจัยด้านราคาข้าวนำเข้าที่ถูกกว่า สภาผู้ผลิตข้าวแห่งเม็กซิโก ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตข้าวไม่ขยายตัวเท่าที่ควร คือความล่าช้าในการปล่อยเครดิตให้แก่เกษตรกรของธนาคารเพื่อการพัฒนาชนบท และปัญหาระบบชลประทาน นอกจากนี้แล้ว โครงสร้างการจัดจำหน่ายข้าวยังมีความโน้นเอียงไปหาผู้ทำการบรรจุข้าวสำหรับตลาดปลีกย่อยที่นิยมซื้อข้าวจากผู้นำเข้าข้าวมากกว่าการซื้อจากผู้ผลิตภายในประเทศ

สภาผู้ผลิตข้าวแห่งเม็กซิโกได้แสดงความห่วงใยในกรณีการขายโรงสีข้าวในรัฐ Sinaloa แห่งหนึ่ง โดยโรงสีดังกล่าวเป็นผู้รับซื้อข้าวจากผู้ผลิตภายในประเภทในปริมาณถึงร้อยละ 35 ของผลผลิตภายในประเทศ ในขณะเดียวกันยังเป็นผู้นำเข้าข้าวจากสหรัฐที่สำคัญ โดยมีส่วนแบ่งในตลาดนำเข้าข้าวถึงร้อยละ 20-25 หากเจ้าของใหม่ผู้ที่ซื้อโรงสีดังกล่าว หันไปนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ ที่มีราคาถูกกว่าเพิ่มขึ้น จะบีบบังคับให้ผู้ผลิตข้าวภายในประเทศไม่มีแหล่งระบายผลผลิตของตน ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อผลผลิตภายในประเทศในอนาคตต่อไปได้

สภาผู้ผลิตข้าวแห่งเม็กซิโกได้เรียกร้องให้มีการบีบการแข่งขังจากข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศโดยการใช้มาตรฐานด้านสุขภาพเป็นมาตรฐานควบคุม โดยข้าวเม็กซิกันมีข้อแตกต่างจากข้าวที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ประการหนึ่ง คือเป็นพันธุ์ข้าวบริสุทธิ์ ไม่ได้เป็นข้าวจำลองพันธุ์ (transgenic) และเร่งรัดให้การรณรงค์ชาวเม็กซิกันได้ตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างข้าวที่ผลิตในประเทศกับที่นำเข้าจากต่างประเทศให้มากขึ้น

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:

http://www.jornada.unam.mx/ultimas/2011/05/25/buscan-arroceros-contratos-para-enfrentar-importacion

http://www.yucatan.com.mx/20110523/nota-17/124964-el-arroz--tiene-buen-futuro.htm

http://agecon2.tamu.edu/people/faculty/salin-victoria/research/ricetrans.pdf

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ