รายงานความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสิงคโปร์กับเม็กซิโก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 8, 2011 14:18 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโกได้มีโอกาสเข้าร่วมการฟังการบรรยายการจัดสัมมนาของหน่วยงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนต่างประเทศของประเทศสิงคโปร์ (International Enterprise Singapore) ประจำประเทศเม็กซิโก ซึ่งเป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบประเทศในภูมิภาคอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ในหัวข้อเรื่อง "Singapore: The way to the impossible dream" จัดโดยหน่วยงานดังกล่าวฯ กับกับหอการค้าระหว่างประเทศของเม็กซิโก (COMCE) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2011 ที่โรงแรม J.W. Marriot ณ กรุงเม็กซิโก โดยมีผู้เข้าฟังการบรรยายจากภาคเอกเชนทั้งสองฝ่าย และสถาบันการศึกษาเม็กซิโก ประมาณ 100 ราย สรุปใจความสำคัญการสัมมนาได้ดังต่อไปนี้

1. Ms. Jocelyn Cai ผู้อำนวยการฝ่ายอเมริกาของหน่วยงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนต่างประเทศของประเทศสิงคโปร์ ได้กล่าวเชื้อเชิญให้นักธุรกิจเม็กซิโกพิจารณาโอกาสในการลงทุนในสิงคโปร์ เพื่อเพิ่มเติมจากการค้าแบบนำเข้าส่งออกเพียงด้านเดียว และได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสิงคโปร์ ความตกลงยกเว้นภาษีซ้ำซ้อนและความตกลงการค้าเสรีและความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศสิงคโปร์กับเม็กซิโก

Ms. Jocelyn ได้กล่าวถึงความนำหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของความได้เปรียบด้านการค้าและการลงทุนของสิงคโปร์ โดยการยกตัวอย่างของสนามบินชางฮีที่ได้รับรางวัล World's Best Airport ในปี 2010 โดยมีปัจจัยสนับ สนุนมาจากประสิทธิภาพของการดำเนินการด้านการบริหาร ความสามารถในการรับผู้โดยสาร และการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดเวลาการรอคอยของผู้โดยสาร

1.1 ข้อมูลเศรษฐกิจสิงคโปร์

ในปี 2010 สิงคโปร์มีพื้นที่ 712 ตารางกิโลเมตร ประชากร 5.08 ล้านคน ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ 303.7 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ (หรือ 222.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และรายได้ต่อหัว 59,813 เหรียญสิงคโปร์ (หรือ 43,867 เหรียญสหรัฐ) ส่วนการค้ารวมในปี 2010 มีมูลค่าเท่ากับ 902.1 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ (666.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) สิงคโปร์เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่สี่สำหรับภูมิภาคละตินอเมริกา

1.2 ความตกลงการยกเว้นภาษีซ้อน

สิงคโปร์มีความตกลงยกเว้นภาษีซ้อนซึ่งสามารถแย่งแยกเป็น 3 ประเภท คือ

1.2.1. ประเทศที่มีความตกลงยกเว้นภาษีซ้อนแบบเต็มรูปแบบกับสิงคโปร์ ทั้งหมด 66 ประเทศ อันได้แก่ ออสเตรเลีย ออสเตรีย บาห์เรน บังกลาเทศ เบลเยี่ยม บรูไน บุลกาเรีย แคนาดา จีน ไซปรัส สาธารณรับเชค เดนมาร์ก อียิปต์ เอสโตเนีย ฟิจิ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส จอร์เจีย เยอรมัน ฮังการี อินเดีย อินโดนีเซีย ไอร์แลนด์ อิสราเอล อิตาลี ญี่ปุ่น คาซักสถาน เกาหลีใต้ คูเวต ลัทเวีย ลิเบีย บิทูเนีย ลักซัมเบอร์ก มาเลเซีย มอลตา มอร์ริเซียส เม็กซิโก มองโกเลีย พม่า เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โอมาน ปากีสถาน ปาปัวนิกินี ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ โปรตุเกส คัทตาร์ โรเมเนีย สาธารณรัฐรัสเซีย สาธารณรัฐสโลวัค สโลเวเนีย แอฟริกาใต้ ศรีลังกา สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ ไต้หวัน ประเทศไทย ตุรกี ยูเครน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร อุซเบกีสถาน และเวียดนาม

1.2.2 ประเทศที่มีความตกลงยกเว้นภาษีซ้อนแบบจำกัดกับสิงคโปร์ 5 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน ชิลี อ่องกง โอมาน และ ซาอุดิอาระเบีย

1.2.3 ประเทศที่มีความตกลงยกเว้นภาษีซ้อนกับสิงคโปร์ที่เจรจาสำเร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ลงนาม หรือที่ลงนามแล้วแต่ยังไม่รับการให้สัตยาบัน จึงยังไม่มีผลบังคับ 14 ประเทศ ได้แก่ อัลเบเนีย บาห์เรน เบลเยี่ยม เอสโตเนีย อิตาลี เกาหลีใต้ มอลตา เม็กซิโก มอรอคโค ปานามา กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย สเปน และสวิสเซอร์แลนด์

1.3 ความตกลงเขตการค้าเสรีของสิงคโปร์

สิงคโปร์มีความตกลงเขตการค้าเสรีที่ครอบคลุมพื้นที่ 18 ภูมิภาคและ 24 ประเทศ ตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมา ซึ่งได้แก่ AFTA (อาเซียน), AANZFTA (ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์), ACFTA (อาเซียน-จีน), AIFTA (อาเซียน-อินเดีย), AJCEP (อาเซียน-ญี่ปุ่น), AKFTA (อาเซียน-เกาหลี), SAFTA (ออสเตรเลีย), CSFTA (จีน), SJFTA (จอร์แดน), CECA (อินเดีย), JSEPA (ญี่ปุ่น), KSFTA (เกาหลี), ANZSCEP (นิวซีแลนด์), PSFTA (ปานามา) และPeSFTA (เปรู)

1.4 สินค้านำเข้าสำคัญจากเม็กซิโก

สิงคโปร์เป็นประเทศที่ต้องนำเข้าอาหาร และโดยส่วนใหญ่นำเข้าจากภูมิภาคเอเชียและละตินอเมริกา สินค้าอาหารที่นิยมนำเข้าได้แก่ อาหารทะเล ผักและผลไม้ เนื้อสดและแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์นม ซีเรียล กาแฟ เครื่องเทศ และเครื่องดื่ม

ประเทศเม็กซิโกเป็นคู่ค้าอันดับสี่จากภูมิภาคละตินอเมริกาสำหรับสิงคโปร์ โดยผลิตภัณฑ์ที่สำคัญที่นำเข้าจากเม็กซิโกได้แก่ น้ำมันและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักร เชื้อเพลิง เคมีภัณฑ์ และเครื่องดื่ม ทั้งนี้ ผู้ส่งออกของเม็กซิโกมีความสนใจที่จะส่งออกสินค้าอาหารไปยังสิงคโปร์มากขึ้น แต่มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติที่ไม่สอดคล้องกับกฏระเบียบการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะสำหรับสินค้าออร์แกนิกส์ และเนื้อสัตว์

สำหรับสินค้าที่กลุ่มประเทศละตินอเมริการวมทั้งเม็กซิโกนำเข้าจากสิงคโปร์ ได้แก่ เครื่องจักร เครื่องจักรไฟฟ้า อัญมณี ผลิตภัณฑ์ยางพารา ผลิตภัณฑ์เภสัช ผลิตภัณฑ์เหล็ก พลาสติก สินค้าอาหารเบ็ดเตล็ด และสินค้าพิเศษ เช่น เครื่องมืออุปกรณ์ที่ทำจากเหล็ก/เหล็กกล้า

ในตอนท้ายของคำอภิปรายเปิดงานสัมมนาฯ Ms. Jocelyn Cai ได้เชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาฯ เดินทางไปร่วมงาน Latin Asia Business Forum 2011 ซึ่งสิงคโปร์จะเป็นเจ้าภาพจัดที่ประเทศสิงคโปร์ในวันที่ 5 ตุลาคม 2011

2. การนำเสนอภาคเศรษฐกิจที่มีโอกาสด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสิงคโปร์กับเม็กซิโก

เจ้าหน้าที่ของศูนย์ส่งเสริมการค้าและการลงทุนต่างประเทศของประเทศสิงคโปร์ Ms. Ana Zuccolotto ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับภาคโลจิสติกส์และภาคพลังงานของสิงคโปร์ ส่วน Mr. Gabriel Sanchez และMs. Sol Torres เจ้าหน้าการตลาดและการส่งเสริมการค้าของหน่วยงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนในต่างประเทศของสิงคโปร์ ณ กรุงเม็กซิโก ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับภาคเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม (Green technology) และการกำจัดขยะ (waste management) ภาคบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-government) และภาคอาหาร

2.1 ภาคโลจิสติกส์

Ms. Ana Zuccolotto ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบด้านการบริหารของบริษัท Portek ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการออกแบบและสร้างท่าเรือ อธิบายเกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารขององค์กรท่าเรือแห่งสิงคโปร์ (PSA) และได้อภิปรายเพิ่มเติมเกี่ยวกับส่วนประกอบสำคัญของความร่วมมือระหว่างองค์กรบริหารท่าอากาศยานชางฮี ซึ่งมีบริษัท Singapore Technologies Engineering และบริษัท CPG Consultants ที่สร้างความสำเร็จสำหรับการบริหารท่าอากาศยานชางฮี

ความตกลงการยกเว้นภาษีซ้ำซ้อนและความตกลงเขตการค้าเสรี เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับความสำเร็จของภาคโลจิสติกส์ในสิงคโปร์ โดยสิงคโปร์มีบริษัทโลจิสติกส์ที่ดำเนินการในสิงคโปร์มากกว่า 3,000 บริษัท

Ms. Zuccolotto ได้ยกตัวอย่างของบริษัทโลจิสติกส์คือ Singapore Airlines Cargo ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้ขยายตัวมาดำเนินการบริการโลจิสติกส์ในประเทศเม็กซิโก โดยให้บริการด้านโลจิสติกส์สำหรับธุรกิจนำเข้าส่งออกที่เมืองมอนเตอเรย์ กัวดาลาฮารา และกรุงเม็กซิโกซิตี้

2.2 ภาคพลังงาน

Ms. Zuccolotto ได้กล่าวถึงความสำเร็จในการพัฒนาภาคพลังงานในสิงคโปร์ ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่มีแหล่งทรัพยากรพลังงาน เช่น น้ำมันและก๊าซ แต่การส่งเสิรมศูนย์อุตสาหกรรมพัลงงานและปิโตรเคมีในเขตนิคมอุตสาหกรรมจูรง สามารถพัฒนาเป็นที่ตั้งของบริษัทภาคพลังงานระดับโลกถึง 95 บริษัท ยกตัวอย่าง เช่น บริษัท Shell, DuPont, Chevron, Sumitomo Chemical และ Exxon เป็นต้น ภาคพลังงานในเขตนิคมจูรงมีส่วนสมทบให้กับผลผลิตด้านอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ ถึงร้อยละ 32 ของภาคอุตสาหกรรม และได้มีส่วนในการจ้างงาน 8,000 คน รวมทั้งเป็นแหล่งที่มีอิทธิพลในอันดับสามของโลก ต่อการกำหนดราคาน้ำมันระหว่างประเทศ

2.3 ภาคเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม (Green technology) และการกำจัดขยะ (Waste Management)

Mr. Gabriel Sanchez ได้อภิปรายเกี่ยวกับภาคเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม และการกำจัดขยะในสิงคโปร์ว่า ภาคธุรกิจดังกล่าวมีความสำคัญสำหรับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความสำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ โดยกล่าวถึงปัญหาที่สิงคโปร์ประสบจากภัยน้ำท่วมฉับพลันที่เกิดจากพายุฝนบ่อยครั้งในอดีต ที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบการวัดระดับน้ำฝน ซึ่งมีผลผนวกกับการเก็บรักษา ไปสู่การกลั่นน้ำทะเล ซึ่งสร้างให้สิงคโปร์เป็นผู้นำในการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาการกลั่นน้ำทะเล รัฐบาลของสิงคโปร์มีเป้าหมายที่จะพัฒนาภาคการบริหารทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้านการบิรหาร และด้านการเก็บรักษา

ในด้านการกำจัดขยะ สิงคโปร์ได้พัฒนาพื้นที่การถมทิ้งขยะในเขต Pulau Semakau ที่มีความสามารถรับปริมาณขยะได้ถึง 63 ล้านคิวบิกเมตร ที่ได้เริ่มในปี 1999 และมีอายุการใช้งานได้ถึงปี 2045 นอกจากนี้แล้ว ยังมีโรงงานเผาขยะอีก 4 แห่ง ที่มีความสามารถกำจัดขยะได้ถึงร้อยละ 92 ของขยะที่ทิ้งทั้งหมด ในขณะเดียวกันยังให้ผลผลิตด้านพลังงานไฟฟ้าอีก 20 ล้านวัตต์ โดยกระบวนการในการกำจัดขยะของสิงคโปร์จะสามารถทำให้สิงคโปร์จำกัดอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึงร้อยละ 25 ภายในปี 2012

2.4 ภาคบริการรัฐบาลอีเล็คตรอนนิกส์ (e-government)

รัฐบาลของสิงคโปร์ได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) มาใช้ในการเชื่อมโยงรัฐบาลกับภาคเอกชนในการบริการธุรกิจและสังคม บริการรัฐบาลอิเล็กตรอนนิกส์ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านสาธารณสุข และขั้นตอนการนำเข้า รวมทั้งได้ส่งเสริมให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ อีกทั้งยังมีผลเพิ่มความโปร่งใส ลดคอรัปชั่น ลดต้นทุนในการดำเนินการและเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล หน่วยงานที่เข้าร่วมระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์ คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม และกรมศุลกากร

2.5 ภาคอาหาร

สิงคโปร์เป็นประเทศที่พึ่งการนำเข้าอาหาร เนื่องจากขาดทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบกับการไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการเกษตร และความจำเป็นในการใช้พื้นที่ ๆ มีอยู่เพื่อการประกอบอุตสาหกรรมการผลิตและเพื่อการสร้างที่อยู่อาศัย

สินค้านำเข้าหลักของสิงคโปร์ ได้แก่ สินค้าเกษตร อาหารทะเลและเนื้อสัตว์สดและแช่แข็ง โดยกลุ่มประเทศละตินอเมริกาเป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญสำหรับสินค้าเกษตร ส่วนอาหารทะเลและเนื้อสัตว์สดและแช่แข็งนั้นมีการนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ IE Singapore คาดว่าการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลและเนื้อสัตว์สดและแช่แข็งจากละตินอเมริกาจะเพิ่มขึ้นจนเป็นแหล่งสำคัญอีกแหล่งหนึ่ง

ในขณะเดียวกัน สิงคโปร์ยังเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารอีกด้วย เนื่องจากสมาคมอุตสาหกรรมอาหาร (National Food Manufacture Industry) และสมาคมร้านอาหารสิงคโปร์ (Restaurants National Association) ได้ร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมตราเครื่องหมายการค้า Tasty Singapore เพื่อให้มีการยอมรับมาตรฐานของสินค้าอาหารจากสิงคโปร์ให้สามารถแข่งขันในระดับโลกได้อย่างเด่นชัด

อนึ่ง ตามสถิติแจ้งว่ามีบริษัทของประเทศสิงคโปร์เข้ามามีส่วนร่วมในการค้าและการลงทุนในประเทศเม็กซิโกในปัจจุบันจำนวน 41 ราย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ