นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ “DEmark Show 2011” ณ Crystal Design Center, อาคารดี โดยงานนิทรรศการจะมีตั้งแต่วันที่ 10-14 มิถุนายน 2554 โดยมีนายวุฒิชัย ดวงรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก นางมาลี โชคล้ำเลิศ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติมาร่วมงานอย่างคับคั่ง
ภายในงานนางนันทวัลย์ เผยว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการยกระดับและพัฒนาศักยภาพด้านงานออกแบบที่มีคุณภาพมาตรฐานของสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศจึงได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก ดำเนินโครงการรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดีประจำปี 2554 หรือ Design Excellent Award 2011 (DEmark 2011) ขึ้น ตามแนวคิดที่ว่า สินค้าที่มีการออกแบบดีสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นที่ต้องการของตลาด
“ทางกรมส่งเสริมการส่งออกมุ่งหวังที่จะสร้างเครื่องหมาย DEmark ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างแพร่หลาย เพื่อยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าไทยให้เทียบเท่าสินค้าที่มีการออกแบบดีจากนานาชาติ พร้อมกระตุ้นผู้ประกอบการไทยให้พัฒนาด้านการออกแบบสินค้า และส่งผลงานเข้าร่วมโครงการ เพื่อรับรางวัลสินค้าที่มีการออกแบบดี โดยกรมส่งเสริมการส่งออกได้รับความร่วมมือจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญีปุ่น (JETRO) และสมาคมส่งเสริมการออกแบบแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Institute Design Promotion) (JDP)” นางนันทวัลย์ กล่าวเพิ่มเติม สำหรับโครงการ DEmark 2011 นี้ มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 300 ชิ้นงาน เป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้าร่วมประมาณ 30% ตั้งเป้าคัดเลือกผู้รับตราสัญลักษณ์ในปีนี้จำนวน 100 ชิ้นงาน ซึ่งกติกาต้องมีสินค้าจำหน่ายอยู่ในตลาดนานกว่า 3 เดือน ไม่จำเป็นต้องเป็นแบรนด์คนไทย แต่ขอให้มีโรงงานผลิตและออกแบบโดยคนไทย โดยผลงานที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก จะถูกนำมาโชว์ในงานนิทรรศการ DEmark Show 2011 การแสดงผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบ ในระหว่างวันที่ 10-14 มิถุนายน 2554 นี้ ที่ Crystal Design Center (CDC), อาคาร D ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือกและได้รับรางวัล 3 อันดับแรก จะได้เข้ารับรางวัลจาก นายกรัฐมนตรี ในงาน Prime Minister’s Export Award รางวัลผู้ส่งออกสินค้าและบริการดีเด่น จัดโดยกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ที่จัดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล
นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัล DEmark ยังได้เข้าร่วมการแข่งขัน และได้รับรางวัล Good Design Award (G-Mark) ที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่ได้รับ DEmark ไปเข้าร่วม และได้รับรางวัล G-Mark มากถึง 64 ราย จากผู้ส่งผลงานเข้าประกวด G-Mark จำนวน 3,000 ถึง 4,000 ชิ้นงาน ผ่านการคัดเลือกและได้รับ G-Mark จำนวนประมาณ 1,000 ชิ้นงาน จะเห็นว่าประเทศญี่ปุ่นให้การยอมรับในสินค้าคุณภาพการออกแบบ และเอกลักษณ์จากประเทศไทย และเราก็เป็นประเทศแรกที่ได้รับรางวัลการออกแบบ G-Mark เพราะที่ผ่านมามอบให้กับนักออกแบบในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการที่เราจะทำประชาสัมพันธ์ ตราสัญลักษณ์ DEmark ในต่างประเทศ
ด้านม.ล.คฑาทอง ทองใหญ่ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก เผยว่า ในส่วนสินค้าที่เข้าร่วมคัดเลือกในโครงการ จะแบ่งออกเป็น 5 ประเภทของกลุ่มสินค้า ได้แก่ กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ (Furniture Household Items) กลุ่มไลฟ์สไตล์ (Gift & Decorative Items) กลุ่มแฟชั่น (Fashion / Jewelry/Textite) กลุ่มอุตสาหกรรม (Home Appliances/Equipment and Facilities for Office) กลุ่มบรรจุภัณฑ์ (Food packaging/Health & Beauty Products Packaging) โดยผลงานส่งเข้าร่วมมากที่สุดในปีนี้ เป็นกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ไลฟ์สไตล์ และ แฟชั่น เพราะเป็นกลุ่มสินค้าไทยที่มีศักยภาพด้านงานดีไซน์ และเป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศอย่างเป็นทางที่ทราบกันดี
“ปัจจุบันหลายกลุ่มสินค้าในบ้านเรา เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของงานดีไซน์และการส่งเสริมการสร้างแบรนด์ของตัวเอง ส่วนใหญ่กลุ่มเหล่านี้จะผันตัวเองจากการรับจ้างเป็นผู้ผลิต OEM ขึ้นมาเป็น ODM และสินค้าจากประเทศไทยหลายตัวก็เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ เพราะถ้าในเรื่องคุณภาพการผลิต ความประณีตในการทำงาน สินค้าจากประเทศไทยไม่ได้เป็นรองใคร และประสบการณ์จากการเป็น OEM มาก่อนทำให้เชื่อมั่นได้ถึงคุณภาพของสินค้าแบรนด์ไทย”
ม.ล.คฑาทอง กล่าวต่อว่า โครงการ DEmark จะช่วยยกระดับคุณภาพงานออกแบบของดีไซน์เนอร์ และผลิตภัณฑ์ของคนไทย และต้องการให้คนไทย บริโภคสินค้าออกแบบดี คุณภาพสูง ในราคาที่เหมาะสม เพราะของดีแบรนด์ดังไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศอย่างเดียว และทางกรมฯไม่ได้ต้องการให้ผู้ประกอบการที่ได้ตราสัญลักษณ์ DEmark จะต้องส่งออกแต่เพียงอย่างเดียว แต่เราต้องการเห็นสินค้าไทย คุณภาพดี ได้ขายให้กับคนไทยด้วยกันเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย ดังจะเห็นตัวอย่าง จากประเทศญี่ปุ่นที่สินค้าคุณภาพดี เขาจะผลิตเองขายภายในประเทศ ในขณะที่สินค้าส่งออกจะใช้การว่าจ้างโรงงานผลิตในต่างประเทศ เช่น ไทย เวียดนาม หรือจีน
นอกจากนี้ การจัดงานนิทรรศการในครั้งนี้ คาดหวังว่าจะได้รับการตอบรับจากผู้เข้าชมงาน ทั้ง ผู้ประกอบการ นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป ให้ได้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านงานออกแบบของดีไซน์เนอร์คนไทย ว่ามีการพัฒนาไม่ได้ด้อยกว่าใคร และต้องการให้เห็นว่า งานดีไซน์ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนจับต้องได้ และใช้ในชีวิตประจำวัน มีฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ เพราะที่ผ่านมาทุกคนจะมองว่าสินค้าที่มีการออกแบบดีจะต้องมีราคาแพง แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป
ที่มา: http://www.depthai.go.th