ญี่ปุ่นมีประเพณีการให้ของขวัญในระหว่างปีในหลายๆโอกาส และการให้ของขวัญก็ถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่แสดงออกถึงการขอบคุณ ความระลึกถึงและห่วงใย ซึ่งก็มีทั้งที่เป็นการมอบให้แก่พันธมิตรทางธุรกิจ หุ้นส่วน และการให้ส่วนตัว ของขวัญที่นิยมให้จะแตกต่างกันไปตามระดับความสัมพันธ์และโอกาส แม้ว่าปัจจุบันชาวญี่ปุ่นจะประหยัดการใช้จ่ายและลดความถี่ในการส่งของขวัญให้แก่กันลงไปมาก แต่เทศกาลให้ของขวัญช่วงฤดูร้อน ในเดือนกรกฏาคม-สิงหาคม และช่วงเทศกาลปลายปี ยังมีความสำคัญอยู่มาก และนับว่าเป็นตลาดใหญ่ที่ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ต่างก็แข่งขันกันเลือกสรรสินค้าใหม่ๆ เพื่อจูงใจผู้ซื้อ
สินค้าที่ซื้อเพื่อให้เป็นของขวัญช่วงฤดูร้อน สำหรับภาคธุรกิจ ความนิยมจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี สินค้าที่ได้รับความนิยมสูง คือกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เพราะเป็นสัญญลักษณ์ของการให้ความสดชื่น เช่น เบียร์ น้ำผลไม้ น้ำสลัด ขนม ประเภท เยลลี่ หรือเค็กผลไม้ นอกจากนี้ก็มี ผลไม้สด ชา หรือกาแฟ เป็นต้น ราคาเฉลี่ยประมาณ 1,500-3,000 เยนต่อชิ้น (ประมาณ 570 -1,150 บาท) สำหรับการให้ส่วนบุคคล และขนาด 2,000-5,000 เยน (760-1,900 บาท) ต่อชิ้นสำหรับภาคธุรกิจ
นับตั้งแต่ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และประสบกับภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว สึนามิ และการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไดอิชิ ที่จังหวัดฟุกุชิมา เศรษฐกิจที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวก็กลับถดถอยลงอีกครั้ง การผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญต้องหยุดหรือชะลอการผลิต เพราะโรงงานชิ้นส่วนสำคัญถูกทำลาย ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานขาดตอนและกระทบต่อการส่งออก และรายได้ของภาคธุรกิจลดลง ในสภาวะเช่นนี้ ห้างสรรพสินค้าชั้นนำและร้านค้าจึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การขายให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ โดยหันมาเน้นการส่งเสริมสินค้าประเภท ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly products) และสินค้าพื้นเมืองที่ผลิตในเชตโทโฮกุ ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเนือของญี่ปุ่นที่ประสบภัย เพื่อสร้างความตระหนักถึงการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และการช่วยเหลือผู้ผลิตในจังหวัดที่ประสบภัยให้มีงานและรายได้ บางห้างยังส่งเสริมการขายด้วยการประชาสัมพันธ์ว่า จะมอบเงินร้อยละ 3 ของยอดขายให้แก่ผู้ประสบภัยด้วย ตัวอย่างสินค้าที่แนะนำ เช่น พัดสำหรับพกพา (Folding fan), Furin (Wind chimes) อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้หลอดแบบประหยัด (LED lighting equipment) สินค้าหัตถกรรม อาหารของท้องถิ่น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พบว่า ในปีนี้ความหลากหลายของสินค้าที่นำเสนอของห้างร้านต่างๆ นับว่ามีน้อยกว่าที่ผ่านมา โรงงานผลิตเบียร์ในเขตโทโฮกุที่ถูกคลื่นซึนามิทำลาย ทำให้คาดว่าอาจเกิดภาวะขาดแคลนเบียร์ในช่วงฤดูร้อนซึ่งจะเป็นช่วง Peak ของการจำหน่าย นอกจากนี้ คาดว่า ผลไม้สดและอาหารทะเลกระป๋อง จะเป็นสินค้าที่ผู้ซื้อต้องการและนิยมซื้อเพื่อให้เป็นของขวัญมากขึ้นในปีนี้
สภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นระยะในมุมต่างๆ ของโลก ทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องลดภาวะโลกร้อนจากเรือนกระจกและรักษาสิ่งแวดล้อม เชื่อว่านับจากนี้ไป สินค้าที่ช่วยลดอุณหภูมิของโลก สินค้ากลุ่ม Green product, Bio และสินค้าที่ผลิตด้วยระบบลดการใช้พลังงาน จะเป็นที่สนใจและนิยมมากขึ้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
อ้างอิง : Sales Blitz feature Tohoku, eco products; The Daily Yomiuri 8 June 2011
ที่มา: http://www.depthai.go.th