ญี่ปุ่นนิยมบริโภคไก่และไก่แปรรูปเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 20, 2011 11:27 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ไก่ เป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำและย่อยง่ายเหมาะกับผู้สูงอายุ ยิ่งกว่านั้นยังมีราคาถูกกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ เนื้อไก่สด และไก่แปรรูปจึงเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นทุกเพศและวัย และเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ธุรกิจภัตตาคาร อุตสาหกรรมอาหารเพื่อจำหน่ายปลีกในร้านสะดวกซื้อ และการบริโภคของครัวเรือน

ภาพรวมตลาดและการบริโภคไก่ของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นบริโภคไก่ปีละประมาณ 2.1-2.5 ล้านตัน ผลิตได้เองในประเทศปีละ 1.4 ล้านตัน หรือประมาณ 65-70 % ที่เหลือมาจากการนำเข้าปีละ 650,000-750,000 ตัน

ก่อนปี 2547 ไก่ชนิดที่ญี่ปุ่นนำเข้า เป็นไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง ร้อยละ 60 และไก่แปรรูป ร้อยละ 40 แต่ นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดนกในแหล่งส่งออกสำคัญของเอเชีย รวมทั้งไทยเมื่อปี 2547 ญี่ปุ่นสั่งห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจาก ไทย และ จีน แต่ยังอนุญาตให้นำเข้าไก่ปรุงสุกที่ผ่านความร้อน หรือทำให้สุกแล้ว ส่งผลให้ สัดส่วนของปริมาณการนำเข้าไก่สด ต่อ ไก่แปรรูปได้เปลี่ยนไปจากเดิม 60 :40 เป็นประมาณ 50:50 ในปัจจุบัน

ความต้องการนำเข้าไก่สดและไก่แปรรูปในญี่ปุ่นได้เพิ่มสูงขึ้นมากนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2553 เนื่องจากหลายปัจจัย ได้แก่ การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในแหล่งผลิตไก่สำคัญของญี่ปุ่นที่จังหวัดคาโกชิมา ทำให้ผลผลิตเนื้อไก่สดของญี่ปุ่นลดลง ภัยพิบัติทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นที่ทำลายฟาร์มปศุสัตว์ของหลายจังหวัด เกิดภาวะการปนเปื้อนในดินและหญ้าที่ใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ อาจทำให้ชาวญี่ปุ่นลังเลที่จะบริโภคเนื้อวัว เนื้อสุกร และอาหารทะเล นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจที่กลับมาชะลอตัวอีกครั้งเพราะผลของแผ่นดินไหว และการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทำให้ผู้บริโภคงดกิจกรรมบันเทิง และประหยัดการใช้จ่าย อุตสาหกรรมอาหารจึงมีแนวโน้มสั่งซื้อเนื้อไก่เพื่อทดแทนเนื้อวัว เป็นการลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อน ความต้องการเนื้อไก่สด และไก่แปรรูปจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2554

ตลาดไก่ ในญี่ปุ่น จำแนกได้เป็น 2 ส่วน คือ (1) ไก่สดแช่แข็ง สำหรับใช้ในภัตตาคาร อุตสาหกรรมอาหาร และการขายปลีกในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อใช้ปรุงเป็นอาหารบริโภคของครัวเรือน และ (2) ไก่แปรรูป สำหรับตลาดภัตตาคาร อุตสาหกรรมอาหารพร้อมทาน และจำหน่ายเป็นอาหารแช่แข็ง ด้วยตลาดที่แยกออกเป็น 2 ส่วน ญี่ปุ่นจึงต้องการนำเข้าไก่ทั้งชนิดไก่สดแช่แข็ง และไก่แปรรูป ตลาด 2 ส่วนนี้ แม้จะทดแทนกันได้บ้าง แต่ก็ไม่สามารถทดแทนได้ทั้งหมด ในแง่ของความต้องการซื้อแล้ว ญี่ปุ่นต้องการกระจายแหล่งนำเข้าไก่สดแช่แข็ง เพราะไม่ต้องการพึ่งพาแหล่งผลิตใดเพียงแหล่งเดียว ทั้งนี้ ญี่ปุ่นห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็น แช่แข็งจากไทยมาตั้งแต่ปี 2547 เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกครั้งใหญ่ แม้ว่า ประเทศไทยได้ปลอดจากการระบาดของไวรัสไข้หวัดนกมานานแล้ว แต่ยังล่าช้าในการดำเนินการเพื่อขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นถอดชื่อประเทศไทยออกจากบัญชีแหล่งแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดนก

การนำเข้าและแหล่งนำเข้า

ในปี 2553 ญี่ปุ่นนำเข้าไก่และผลิตภัณฑ์ รวม 788,866.4 ตัน มูลค่า 2,682.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณนำเข้าเพิ่มร้อยละ 21.6 และมูลค่าเพิ่มร้อยละ 22.3 เทียบกับการนำเข้าปี 2552 และช่วง 4 เดือนแรกปี 2554 (มค.-เม.ย.) นำเข้า 267,675.2 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 มูลค่า 1,016.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 38.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดังนี้

1. ชนิดของไก่ที่ญี่ปุ่นนำเข้ามากที่สุด ยังคงเป็น ไก่สดหั่นเป็นชิ้นแช่แข็ง ( HS 0207.14 ) จำนวน 415,535 ตัน มูลค่า 1,084.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วน 52.7 % ของปริมาณ และ 40.4 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ไก่แปรรูปปรุงสุก (HS: 1602.32) จำนวน 368,598.4 ตัน คิดเป็น 46.7 % ของปริมาณ และ 59.2 % ของมูลค่การนำเข้าในปี 2553 อันดับต่อมา คือ ไก่สดทั้งตัวแช่แข็ง (HS: 0207.12) จำนวน 4,727.3 ตัน มูลค่า 10,428.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับช่วง 4 เดือนแรกปี 2554 นำเข้า ไก่สดหั่นเป็นชิ้นแช่แข็ง ( HS 0207.14 ) จำนวน 141,835.9 ตัน เพิ่มขึ้น 8.5% มูลค่า 449.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 48.2% ไก่แปรรูป (HS: 1602.32) จำนวน 124,572.2 ตัน เพิ่มขึ้น 13.6 % มูลค่า 567.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 31.6 % และไก่สดทั้งตัวแช่แข็ง(HS: 0207.12) จำนวน 1,266.4 ตัน มูลค่า 2,975.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

2. แหล่งนำเข้าไก่ ประกอบด้วย

2.1 ไก่สดหั่นเป็นชิ้นแช่แข็ง ( HS 0207.14 ) ด้วยเหตุที่ญี่ปุ่นยังประกาศห้ามนำเข้าไก่สดจากไทย ทำให้ไก่สดจากบราซิลเข้าไปครองตลาดสูงถึง 90 % ของปริมาณนำเข้า แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ สหรัฐฯ(8.2 %)และฟิลิปปินส์ (0.9 %)

2.2 ไก่แปรรูป (HS: 1602.32) ประเทศไทยครองตลาด 51.6 % ของการนำเข้า รองลงมาได้แก่ จีน(47.6 %) เกาหลีใต้( 0.3 %)

2.3 ไก่สดทั้งตัวแช่แข็ง (HS: 0207.12) บราซิลครองตลาดเช่นกัน โดยมีส่วนแบ่ง 92.7 % แหล่งนำเข้าอื่น ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (2.7 %) สหรัฐฯ (2.6 %) ฝรั่งเศส (1.0 %)

สถิติการนำเข้า ปรากฎในตารางที่แนบ

การนำเข้าจากไทยและชนิดของไก่แปรรูป

หลังจากปี 2547 เป็นต้นมา ไก่ที่ไทยส่งไปญี่ปุ่น จึงมีเฉพาะไก่แปรรูปที่ทำให้สุกด้วยความร้อน โดยญี่ปุ่นนำเข้าจากไทย 190,143.8 ตัน มูลค่า 895.980 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2553 และจำนวน 61,391.8 ตัน มูลค่า 298.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯในช่วง 4 เดือนแรกปี 2554 การนำเข้าจากไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอัตราสูงตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งปริมาณและมูลค่า คู่แข่งสำคัญของไทยสำหรับไก่แปรรูปในตลาดญี่ปุ่น คือ จีน ชนิดของไก่แปรรูปที่ ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทย ได้แก่ ไก่ทอด ไก่ชุบแป้งทอด (Karaage) น่องไก่นึ่งและทอด ไก่เสียบไม้ย่าง ขณะที่ไก่แปรรูปที่นำเข้าจากจีนจะค่อนข้างหลากหลายกว่า ได้แก่ ไก่ย่าง (เช่น Yakitori / ซึ่งจีนได้เปรียบเรื่องต้นทุน ความรวดเร็วและรสชาด, Chicken stake, Roasted leg) ไก่ทอด (Fried chicken, Karaage, Skewered karaage, middle wing karaage, shin karaage) และประเภทนึ่ง (Steamed gizzard, Steamed boneless chicken) ไก่ที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากบราซิล ส่วนใหญ่เป็นไก่สดแช่งแข็ง และ Chicken Nuggets และสหรัฐฯ จะเป็นไก่สดแช่แข็ง

จุดแข็งของไก่แปรรูปจากไทย

กลุ่มผู้นำเข้าและสมาคมนำเข้าสัตว์ปีกแห่งญี่ปุ่นเชื่อมั่นเรื่องคุณภาพและมาตรฐานด้านความปลอดภัยของการผลิตอาหารแปรรูปของไทย รวมทั้งกำลังการผลิตที่สามารถรองรับความต้องการซื้อปริมาณมากได้และมีผลผลิตป้อนตลาดได้อย่าสม่ำเสมอ ขณะที่สินค้าจากจีนยังคงตรวจพบสารตกค้าง เช่น Melamine, Nitrofranes เป็นระยะๆ จึงยังไม่เชื่อมั่นเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยของสินค้าอาหารจากจีน

การที่ประเทศไทยยังอยู่ในบัญชีแหล่งแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดนก และในภาวะที่ความต้องการบริโภคอยู่ในช่วงสูงขึ้น ญี่ปุ่นจึงต้องพึ่งพาการนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากบราซิลเพียงแหล่งเดียวทำให้ขาดทางเลือก กลุ่มผู้นำเข้าจึงพยายามล็อบบี้เจ้าหน้าที่ของไทยขอให้เร่งรัดเจรจากับญี่ปุ่น โดยให้ข้อมูลว่า แม้ว่าผู้นำเข้าและอุตสาหกรรมอาหารจะได้รับความสะดวกจากการนำเข้าไก่แปรรูปปรุงสุกพร้อมจำหน่าย แต่ไก่สดแช่แข็งก็มีตลาดเฉพาะของตนเองที่เติบโตและไม่สามารถทดแทนกันได้ หากญี่ปุ่นเปิดให้นำเข้าไก่สดจากไทยอีกครั้งก็เชื่อว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวอีกมาก

ภาษีและกฎระเบียบการนำเข้า

ด้วยไก่และไก่แปรรูปเป็นสินค้าอาหารที่ญี่ปุ่นจำเป็นต้องนำเข้า เพราะผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ในการเจรจาเปิดตลาดการค้าเสรี หรือ Economic Partnership Agreement (EPA) หรือ Free Trade Agreement (FTA) ที่ญี่ปุ่นเจรจากับประเทศคู่ค้า สินค้าไก่สดแช่งแข็งและไก่แปรรูป จึงมักจะเป็นรายการหนึ่งที่ญี่ปุ่นยินยอมเปิดตลาดด้วยการลดภาษี ในความตกลง JTEPA ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นได้ลดภาษีนำเข้าไก่สดและไก่แปรรูปที่นำเข้าจากไทยลง ซึ่งก็ถือว่าเป็นแต้มต่อให้ไก่สดและแปรรูปจากไทย ที่บริษัทนำเข้าถือว่าเพิ่มอำนาจแข่งขันและสร้างแรงจูงใจให้เพิ่มการสั่งซื้อจากไทย

ด้วยเหตุที่การลดภาษีนำเข้าเป็นผลของการเจรจา อัตราภาษีนำเข้าที่ญี่ปุ่นจัดเก็บจากการนำเข้าไก่สด และไก่แปรรูป จากแต่ละแหล่งผลิตสำคัญจึงแตกต่างกัน ดังนี้

                 HS Code                     Country            EPA/FTA Tariff         WTO rate
1602.32.290 Heat processed chicken Thailand                         3.5 %'                 6%
                                           ASEAN                    5.6%                   6%
                                           Mexico           3.6 % (pooled quota)           6%
0207.14.210 Bone-in Leg, frozen           Mexico            6.8%(pooled quota)            8.5%
0207.12.220 Cuts, Frozen                  Thailand                  9.1%                 11.9%
                                           Philippines      8.5% (pooled quota)          11.9%
                                           Mexico           8.5% (pooled quota)          11.9%
                                           Chile            8.5% (pooled quota)          11.9%
Source : Japan Imported Poultry Association

ญี่ปุ่นบังคับใช้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าอาหารที่สำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ The Domestic Infectious Diseases Control Law เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคพืชและแมลง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries : MAFF) และ Food Sanitation Law เกี่ยวข้องกับสารตกค้างและสิ่งปลอมปนที่ติดไปกับอาหาร เช่น Food Additive อยู่ภายใต้การดูแลของ Ministry of Health and Welfare (MHLW)

แนวทางผลักดันการส่งออกของไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นปฎิบัติตามหลักสากล ของ OIE กล่าวคือ หากประเทศไทยปลอดจากการระบาดของไวรัสเป็นระยะเวลาติดต่อกันนานกว่าที่กำหนด (90 วัน) กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ของไทยสามารถยื่นข้อมูลการควบคุมและตรวจสอบโรค จัดส่งให้กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นพิจารณา และส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ ก่อนประกาศเป็นเขตปลอดโรคและเปิดให้นำเข้า

โดยที่ประเทศไทยปลอดจากการแพร่ระบาดของไวรัสเกินกว่าเวลาที่กำหนดมานานมากแล้ว แม้ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านเทคนิก (โรคระบาดในสัตว์) ของไทยจะได้ดำเนินการยื่นเอกสารการตรวจสอบการระบาดของโรคต่อทางการญี่ปุ่น เพื่อให้ญี่ปุ่นส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในขบวนการที่เนิ่นนานมาหลายปี และอาจจะรวมถึงความไม่เชื่อมั่นเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกภายในประเทศไว้ได้ ทำให้ไทยยังคงส่งออกได้เฉพาะไก่แปรรูปปรุงสุกไปต่างประเทศ

ญี่ปุ่น มักสังเกตุความเคลื่อนไหว และดำเนินการตามสหภาพยุโรป หากไทยสามารถผลักดันให้สหภาพยุโรปเปิดตลาดให้ไก่สดแช่แข็งจากไทย โอกาสที่ญี่ปุ่นจะเปิดให้นำเข้าก็จะง่ายขึ้น ประเทศไทยเคยเสนอระบบการเลี้ยงไก่แบบปิด หรือ Compartmentalization ให้ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปพิจารณา แต่ระบบดังกล่าวยังไม่เป็นที่ยอมรับ หากประเทศไทยสามารถทำให้ญี่ปุ่นเชื่อมั่นได้ว่าระบบดังกล่าวทันสมัยและปลอดภัย โอกาสที่จะประกาศห้ามเฉพาะฟาร์มหรือพื้นที่เมื่อเกิดปัญหา ก็จะง่ายต่อการควบคุม ไม่ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งระบบ และจะช่วยนำไปสู่การพัฒนาระบบฟาร์มของไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ