รายงานตลาดสินค้าเครื่องประดับอัญมณี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 22, 2011 13:39 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1.  สินค้า          :    เครื่องประดับอัญมณีและทองรูปพรรณ

2.  พิกัดศุลกากร HS. :    7113

3.  การนำเข้ารวม:

ยูเออีมีรัฐดูไบเป็นศูนย์กลางการนำเข้าและดำเนินธุรกิจทองคำแท่ง เครื่องประดับอัญมณีมีค่า ของประเทศ สัดส่วนการนำเข้าคิดเป็น 80% ของการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ทั้งสิ้น

การนำเข้าเครื่องประดับอัญมณีในช่วงปี 2008-2010 ของยูเออีพอสรุปได้ดังนี้

ปี 2008 นำเข้าปริมาณ 270,242 กก. มูลค่า 6,154 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ปี 2009 นำเข้าปริมาณ 237,502 กก. มูลค่า 5,172 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าลดลง 16%

ปี 2010 นำเข้าปริมาณ 295,653 กก. มูลค่า 6,1501 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าเพิ่มขึ้น 19%

3.1. ประเทศต่างๆที่นำเข้าปี 2010 มีสัดส่วนตลาดมากน้อย ดังต่อไปนี้ : มาเลเซีย 24% อินเดีย 17% อิตาลี 11% สิงคโปร์ 9% ตุรกี 7% ฮ่องกง 6% อินโดนีเซีย 5% ซาอุดิอาระเบีย 3.4% คูเวตและบาห์เรน 2.8% สวิตเซอร์แลนด์และไทยประมาณ 2.0% ตามลำดับ

3.2 การนำเข้าจากไทย: อัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าของไทยมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และมีอัตราการขยายตัวในเชิงมูลค่าเพิ่มขึ้น กล่าวคือ

ปี 2008 ปริมาณ 7,383 กก. มูลค่า 75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ปี 2009 ปริมาณ 6,296 กก. มูลค่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือมูลค่าลดลง -19.7%

ปี 2010 ปริมาณ 39,476 กก. มูลค่า 114 ล้านเหรียญศหรัฐฯ หรือมูลค่าเพิ่มขึ้น 89.1%

4. การผลิตในประเทศ/การส่งออก/การส่งออกต่อ (Re-Export) :

เฉพาะในรัฐดูไบมีร้านจำหน่ายปลีกเครื่องประดับอัญมณีในดูไบมีประมาณ 850 ร้าน จำนวนร้อยละ 80 เป็นร้านประเภท Stan-alone ส่วนอีกร้อยละ 20 เป็น Chain store โรงงานผู้ผลิตขนาดใหญ่มีประมาณ 11 ราย ส่วนใหญ่เป็นร้านเล็กๆส่วนหนึ่งของร้านขายเครื่องประดับ

นอกจากนี้เพื่อส่งเสริมให้ดูไบเป็นศูนย์กลางการค้าทองคำและเครื่องประดับอัญมณี รัฐบาลดูไบได้จัดตั้ง Dubai Metals and Commodities Center (DMCC) ให้ความสะดวกและส่งเสริมการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติทำธุรกิจในเขตดังกล่าวและถือว่าเป็น Offshore หรืออยู่นอกเขตยูเออี เพื่อสำหรับใช้ดูไบเป็นฐานเก็บสินค้าอัญมณีเพื่อสำหรับใช้กระจายสินค้าไปในภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา CIS อิหร่าน และอิรัค พร้อมได้จัดตั้ง Internatinal Colored Gemestone Association (ICA) เพื่อส่งเสริมธุรกิจอัญมณีมีค่า โดยนำเข้าวัตถุดิบจากกลุ่มประเทศอัฟริกา ประเทศอัฟกานิสถาน เพื่อใช้ในประเทศและส่งออกต่อ

ในเขตพิเศษดังกล่าวผู้ลงทุนต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ 100% มีสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคอย่างครบถ้วน สำหรับผลิตเครื่องประดับอัญมณี ค้าส่ง บรรจุภัณฑ์ เจียรนัย ศูนย์รับรองและตรวจสอบอัญมณี และ Hallmarking อีกทั้งเป็นบริเวณที่กำหนดให้ผู้ค้าอัญมณีในรัฐดูไบตั้งโรงงานและ workshop ในเขตนี้

5.การส่งออก/การส่งออกต่อ (Re-Export) :

มูลค่าการส่งออกต่อสินค้าเครื่องประดับอัญมณีกลุ่มนี้ของรัฐดูไบเมื่อปี 2010 มีปริมาณ 200,952 กก. มูลค่า 3,689.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปประเทศอิหร่าน บาห์เรน อิรัค ฮ่องกง กาตาร์ คูเวต สหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษ เป็นต้น

สำหรับสินค้าส่งออกต่อ (Re-export) มีปริมาณ 295,653 กก. มูลค่า 6,151 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปประเทศมาเลเซีย อินเดีย อิตาลี สิงคโปร์ ตุรกี ฮ่อ่งกง อินโดนีเซีย ซาอุดิอาระเบียและคูเวต

6. ช่องทางการนำเข้าสู่ตลาด :
          - ผู้นำเข้า/ค้าส่ง        ร้อยละ :  60
  • ร้านขายปลีกเครื่องประดับร้อยละ : 40
7. ฤดูกาลจำหน่ายและสั่งซื้อ :

ตลอดปี และขายดีในช่วงหลังฤดูถือศีลอด หรือเทศกาล Eid Al Fitr และช่วงหลังกลับจากประกอบพิธีฮัจจ์ หรือเทศกาล Eid Al Adha ช่วงก่อนออกเดินทาง พักร้อนของชาวต่างชาติประมาณเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม และช่วงเดือนธันวาคม - เมษายน ที่ชาวอาหรับพื้นเมืองนิยมแต่งงาน

8. การแข่งขัน : เครื่องประดับทองรูปพรรณมีการแข่งขันระหว่างผู้นำเข้าและกับผู้ผลิตในประเทศ

9. ภาษีนำเข้าจากราคา CIF: ร้อยละ 5

10. สิทธิพิเศษทางศุลกากร : ไม่มี

11. เอกสารประกอบการนำเข้า : Invoice, Certificate of Origin ประทับตรารับรองจากหอการค้าไทยและ Legalize จากสถานทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในประเทศไทย Bill of Lading และ Packing List

12. กฏระเบียบข้อบังคับอื่น ๆ :

12.1 ประเทศยูเออีมีกฎหมาย Federation Law No.(9) of 1933 ประกอบ กฎกระทรวงเศรษฐกิจ และการค้า (Ministry of Economic & Commerce)กำหนดให้สินค้าเครื่องประดับที่ทำด้วยโลหะมีค่าและอัญมณีว่าจะต้องได้รับตรารับรองคุณภาพ (Hallmark) กฎหมายกำหนดให้ผู้ขายต้อง ระบุราย ละเอียดของ อัญมณีเกี่ยวกับ ชื่อ ชนิด น้ำหนัก สี ระดับความบริสุทธิ์ คุณสมบัติ (specification) ตำหนิ และราคา สินค้าทุกชิ้นต้องระบุความบริสุทธิ์ของเนื้อทองคำที่ใช้ผลิต หรือระบุในใบเสร็จรับเงินของเครื่อง ประดับอัญมณีทุกชิ้น

13 .กลุ่มผู้ซื้อและ รูปแบบเครื่องประดับ

ผู้ซื้อเครื่องประดับในดูไบสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

1) กลุ่มนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวชาวยุโรป ชาวอาหรับส่วนเหนือ นิยมซื้อเครื่องประดับทอง 18 กะรัต และเครื่องประดับประกอบมุก ส่วนนักท่องเที่ยวจากกลุ่มยุโรปตะวันออก กลุ่มประเทศ CIS จะนิยมซื้อเครื่องประดับทองรูปพรรณ 18 กะรัต นักท่องเที่ยวอินเดียวนิยมเครื่องประดับทองรูปพรรณ 22 กะรัต และ 24 กะรัต

2) กลุ่มชาวอาหรับพื้นเมืองผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีหรือเป็นนักธุรกิจรายใหญ่ นิยมซื้อเครื่องประดับทั้งชุด โดยมีสร้อย ตุ้มหู กำไล เป็นต้น เครื่องประดับเพชรเป็นที่นิยมสูงสุด รองลงไปเป็นเครื่องประดับประกอบอัญมณี เช่น มรกต ทับทิมและไพลิน

3) กลุ่มชาวอินเดียและปากีสถานซึ่งเป็นชาวต่างชาติส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในยูเออีมีความนิยมซื้อไว้เป็นเครื่องประดับและเพื่อการสะสมทรัพย์

รูปแบบสินค้าที่จำหน่ายในตลาดได้แก่

  • แบบโบราณคลาสสิค เครื่องประดับทองรูปพรรณกลิ่นอายอินเดีย ใช้ทองคำเนื้อ 22 กะรัต และเครื่องประดับแบบอาหรับพื้นเมืองและกลุ่มประเทศอ่าวอาระเบียนนิยมทองคำเนื้อ 21 กะรัต
  • แบบสมัยใหม่ ตามแฟชั่นอิตาลีนิยมทองคำเนื้อ 18 กะรัต บางส่วนใช้ทองคำเนื้อ 22 กะรัตผลิตเพิ่มมากขึ้น สำหรับสินค้าไทยจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าประเภทนี้ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับทองประกอบอัญมณี และเครื่องประดับทองรูปพรรณ 99.99%
14. สรุปและแนวโน้ม :

1. ผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดียและปากีสถาน นิยมซื้อเครื่องประดับทองรูปพรรณที่ทำจากเครื่องจักร์ สไตลล์อินเดีย ส่วนใหญ่นำเข้าจาก มาเลเซีย สิงคโปร์ และผลิตในยูเออี แต่สำหรับสินค้าไทยส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับประกอบอัญมณี โดยมีผู้ซื้อชาติอื่นๆ และนักท่องเที่ยว เป็นกลุ่มผู้ซื้อสินค้าเครื่องประดับอัญมณีของไทย ชาวอาหรับพื้นเมืองเป็นกลุ่มผู้ซื้อชุดเครื่องประดับอัญมณีประกอบด้วยสร้อย แหวน และต่างหู รูปแบบแฟชั่นยุโรป

สำหรับงานแต่งงานเจ้าสาวนิยมเครื่องประดับเป็นชุด โดยมีเพชรเป็นหลัก รองไปคือทับทิม มรกต เป็นต้น นอกจากนี้งานแต่งงานเป็นโอกาสเดียวที่สตรีอาหรับที่ไปร่วมงานเลี้ยงกลางคืนสามารถสวมใส่เครื่องประดับอัญมณีชุดใหญ่ตกแต่งกับชุดราตรียาว

2. สินค้าไทยที่ส่งไปจำหน่ายควรปรับปรุงรูปแบบให้ทันสมัยตามแฟชั่นยุโรป และเปลี่ยนแปลงรูปแบบเสมอ

3. เครื่องประดับอัญมณีเพชรสีขาวยังคงได้รับความนิยมซื้อหา หากเป็นเครื่องประดับ อัญมณีมีค่า ทับทิม ไพลินและมรกตยังคงเป็นสินค้ายอดนิยม เครื่องประดับชาวอาหรับพื้นเมืองใช้เป็นชุดสร้อยคอ แหวน ต่างหู เข้ากัน

4. นักท่องเที่ยวนิยมเครื่องประดับชิ้นเล็กรูปแบบเรียบหรู

5. เครื่องประดับอัญมณีที่มี(พลอยสี) นำเข้าจากฮ่องกง ไทยเป็นหลัก ส่วนเครื่องประดับทอง รูปพรรณนิยมชนิดเนื้อ 22 กะรัต โดยมีรูปแบบตามความนิยมของชาวอินเดีย และปากีสถาน ส่วนสินค้าที่เป็นทอง 18 กะรัตเป็นสินค้านำเข้าจากอิตาลี

6. แนวโน้มของเครื่องประดับอัญมณีจะเปลี่ยนเป็นสินค้าที่มียี่ห้อ เพื่อสร้างจุดขายให้กับเครื่องประดับและเพื่อขยายตลาด โดยจะเน้น การโฆษณาและประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นรูปแบบของสินค้าที่เปลี่ยนไปตามแฟชั่น หรือสำหรับเทศกาลสำคัญ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ