ตามรายงานของสมาคมอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์ในปี 2553 ที่ผ่านมามียอดขายรวมทั้งสิ้นเป็นมูลค่า 165,000 ล้านยูโรเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 13.8 โดยมีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก แต่เมื่อเทียบกับในช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่มียอดขายราว 200,000 ล้านยูโร นั้นยังคงจะต้องใช้เวลาอีกนานหลายปี สำหรับปี 2554 นี้ คาดว่ายอดขายรวมทั้งสิ้นจะเป็นมูลค่า 175,000 ล้านยูโรหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากการที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการสินค้าแปลกใหม่ ทันสมัย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติ เหล่านี้เป็นสินค้าที่ผู้ผลิตเยอรมันให้ความสนใจ มีการคิดค้นและพัฒนาการผลิตมาโดยตลอด ที่สำคัญๆ ได้แก่ การผลิตไฟฟ้าใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ลม หรือการผลิตรถใช้ไฟฟ้าที่ปัจจุบันได้รับการส่งเสริม สนับสนุนโดยรัฐบาลมาก จึงทำให้อุตสาหกรรมแขนงนี้มีแนวโน้มที่แจ่มใสอย่างยิ่ง
ตามสถิติกรมศุลกากรไทยในช่วง 5 เดือนแรกปี 2554 นี้ไทยส่งออก เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปเยอรมนีมูลค่า 171.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 10.9 ของการส่งออกสินค้าไทยไปเยอรมนี มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 62.9 ที่สำคัญๆ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ มูลค่า 68.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.7 ไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 4 แหล่งนำเข้าสำคัญของเยอรมนี ได้แก่ เช็ค ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 23, 17 และ 7) อุปกรณ์ไฟฟ้าให้สัญญานเสียงแสง มูลค่า 24.0 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.4 โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 4 แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่นและฮังการี (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 27, 11 และ 8 สำหรับ เครื่องใช้อิเล็คทรอนิกส์ ไทยส่งออกไปเยอรมนีเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 278.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 17.6 ของการส่งออกสินค้าไทยไปเยอรมนี มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ที่สำคัญๆ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบมูลค่า 144.4 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าลดลงร้อยละ 18.0 ไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.0 แหล่งนำเข้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ จีน เนเธอร์แลนด์ และเช็ค (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 39, 20 และ 10) วงจรพิมพ์ มีการส่งออกไปเยอรมนีเป็นมูลค่า 29.7 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 ไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.8 แหล่งนำเข้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ จีน ออสเตรีย และใต้หวัน (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 32, 12 และ 9) ความต้องการสินค้าประเภททุน ได้แก่ เครื่องจักรกล เครื่องใช้อิเล็คทรอนิกส์ต่างๆ ยังคงเป็นที่ต้องการของต่างประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย ผู้ผลิตในเยอรมนีจึงมีความต้องการสินค้าประเภทชิ้นส่วนและส่วนประกอบมากขึ้นสำหรับการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปต่อไป สินค้าของไทยโดยเฉพาะแผงวงจรต่างๆ จึงยังมีโอกาสตลาดสูง มีแนวโน้มส่งออกเป็นมูลค่าสูงมากขึ้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศฯ ณ กรุงเบอร์ลิน
ที่มา: http://www.depthai.go.th