สรุปภาวะตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในตลาดเยอรมนี เดือนมิถุนายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 24, 2011 12:02 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. การผลิตและยอดการจำหน่าย

ยอดการจำหน่ายเครื่องประดับ ของใช้ทำด้วยโลหะมีค่าตลอดจนโลหะมีค่าต่างๆ ในตลาดเยอรมนียังคงมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง สืบเนื่องจากเศรษฐกิจของเยอรมนีมีความแข็งแกร่ง มั่นคง มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นทำให้มีจำนวนผู้บริโภคมากขึ้น นอกจากนี้เยอรมนีสามารถส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะโลหะมีค่าต่างๆ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อเก็บไว้เพื่อการเก็งกำไร ตามตัวเลขสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี ในช่วงไตรมาสแรกปี 2554 มียอดการจำหน่ายเครื่องประดับแท้และของใช้ทำด้วยโลหะมีค่าเป็นมูลค่า 96.6 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.4 เป็นการจำหน่ายในประเทศมูลค่า 51.2 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7 และในต่างประเทศมูลค่า 45.4 ล้านยูโร มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 83.8

2. สถานการณ์การนำเข้า

สินค้าที่เยอรมนีนำเข้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นทองคำ แพลทินัม และโลหะมีค่าอื่นๆ ความต้องการสินค้าเครื่องประดับแท้และโดยเฉพาะเครื่องประดับเทียมในตลาดเยอรมนียังมีสูงต่อเนื่อง ในช่วง 2 เดือนแรกปี 2554 นี้มีการนำเข้าเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,942 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.8 สินค้าส่วนใหญ่ที่เยอรมนีนำเข้าจะเป็น โลหะมีค่า ได้แก่ แพลทินัม นำเข้าเป็นมูลค่า 674 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.6 แหล่งนำเข้าที่สำคัญๆ ได้แก่ แอฟริกาใต้ รัสเชีย และเบลเยี่ยม มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 35, 15 และ 12 ตามลำดับ สำหรับ เครื่องประดับแท้ทำด้วยทองคำและเงิน มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 192 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.9 แหล่งนำเข้าที่สำคัญๆ ได้แก่ เดนมาร์ค มีการนำเข้ามูลค่า 58.2 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น4,951 % คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 30.0 จากไทยนำเข้ามูลค่า 34.9 เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.2 (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 18.1) จีน มูลค่า 20.4 ลดลงร้อยละ 1.4 (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 11) สวิส มูลค่า 20.2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.6 (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 11)

3. การส่งออกของไทยไปตลาดเยอรมนี

ในปี 2554 (ม.ค.-พ.ค.) ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปเยอรมนีเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 111.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 7.0 ของการส่งออกสินค้าไทยไปเยอรมนีทั้งสิ้น มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 28.9 สินค้าที่ส่งออกมากอันดับแรกจะเป็น เครื่องประดับแท้ มูลค่า 80.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 72.8 ของการส่งออกสินค้ารายการนี้ไปเยอรมนี มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.0 คิดเป็นส่วนแบ่งในตลาดเยอรมนีร้อยละ 19.0 รองลงมาเป็นจีน และสวิส มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12 และ 9 ตามลำดับ สำหรับ เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไทยส่งออกไปเยอรมนีมูลค่า 11.3 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 225.7 แหล่งนำเข้าสำคัญของเยอรมนีจะเป็นจีนมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 60 % ออสเตรีย ร้อยละ 18 และฮ่องกง ร้อยละ 5 ส่วนไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ