รายงานการเยี่ยมชมงานแสดงสินค้า Lifetime-Beauty 2011

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 28, 2011 13:50 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รายงานการเยี่ยมชมงานแสดงสินค้า Lifetime-Beauty 2011

(จัดระหว่างวันที่ 30 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2554, Dorint Hotel, Dsseldorf Germany)

1) ข้อมูลงาน

1.1 ความสำคัญของงาน

1.งานแสดงสินค้า Lifetime-Beauty เป็นงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับ Medical Beauty, Anti-aging, Wellness และ Cosmetics จัดโดยบริษัท InnoFairs Messe GmbH & Co.KG. (ซึ่งผู้บริหารบริษัทเคยทำงานให้กับ Messe Dsseldorf ในอดีต) ร่วมกับ สมาคมสปาเยอรมัน (Deutscher Wellness Verband), German Society for Cosmetic Dentistry, International Society of Aesthetic Medicine และ Global ethics ICADA งานนี้จัดปีละ 1 ครั้ง และปีนี้เป็นปีที่สอง จัดระหว่างวันที่ 30 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2554 รวม 2 วัน ณ Dorint Hotel (ชื่อเดิมIntercontinental Hotel, Dsseldorf

2.งานแสดงสินค้า Lifetime-Beauty เป็นงานลักษณะ Consumers Fair ธุรกิจที่มาเข้าร่วมงานเป็น ธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง โดยผู้จัดงานได้กำหนดขนาดของคูหาระหว่าง 9-30 ตรม. ราคา 320 ยูโรต่อตรม. ซึ่งได้รวมค่าลงทะเบียน ค่าคูหามาตรฐาน ค่าลงชื่อในแฟร์แคตตาล็อกพร้อมโลโก้และสรุปย่อเกี่ยวกับบริษัทฯ การเชื่อมโยงโลโก้บนโฮมเพจงาน ค่าบัตรประจำตัวของเจ้าหน้าที่ประจำคูหา (Exhibitor Passes) ป้ายชื่อบริษัท (Promotional material) และบัตรเข้างานสำหรับลูกค้าที่ได้รับเชิญพิเศษ

1.2 ผู้เข้าร่วมงานและสินค้าที่จัดแสดง

1.Lifetime-Beauty 2011 มีขนาดพื้นที่ประมาณ 1,000 ตรม. มีผู้เข้าร่วมงาน 52 ราย เป็นธุรกิจด้านคลินิก/สถาบันความงาม เครื่องสำอางค์ การทำศัลยกรรมพลาสติก ลบริ้วรอย โภชนาการ สปา ผู้จำหน่ายเครื่องมือด้านความงาม ตลอดจนผู้จัดหาสถานที่พักผ่อนในเชิงท่องเที่ยว ผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่มาจากเมืองต่างๆ ในประเทศเยอรมนี ออสเตรีย สวิส ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการในเยอรมันที่มีคนไทยเป็นเจ้าของจำนวน 2 ราย คือ (1) Villa Medica, Edenkoben ซึ่งเป็นคลินิกรักษาสุขภาพและความงามด้วยการฉีดเซลส์ตัวอ่อนของแกะ และ (2) Gold Elephant Royal Thai Wellness, Dsseldorf ซึ่งเป็นร้านนวดและสปาระดับบน และจากประเทศไทยจำนวน 1 ราย คือ Tropical Garden Paradise ซึ่งเสนอที่พักเพื่อพักผ่อนระยะยาว/Real Estate และมีสมาชิกไทยอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย โดยได้เข้าร่วมงานผ่านทางบริษัท Mice & More (Agent รับสมัคร exhibitor เข้าร่วมงาน)

2.การจัดแสดงสินค้าแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

  • สปา
  • การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ด้านความงาม เช่น การทำโบท็อกซ์ เทอราปี
  • อุปกรณ์เครื่องมือสนับสนุนธุรกิจเสริมความงาม สุขภาพ

1.3 ผู้ชมงาน ผู้ชมงาน (Visitor) ประมาณ 1,600 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภค (End-user) และคาดว่าอยู่ในประเทศเยอรมนี ทั้งนี้ ผู้เข้าชมงานต้องซื้อบัตรผ่านเข้าชมงานรายละ 8 ยูโร และไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนชมงานโดยผู้เข้าร่วมงานจะได้รับการบริการให้คำปรึกษาโดยแพทย์/ผู้เชี่ยวชาญ การทดลองใช้ผลิตภัณฑ์และเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น การนวด/ขัดเซลส์ผิวหนังที่ตายแล้ว การใช้เครื่องมือกระตุ้นเซลส์ใหม่ การฉีดตัวยาเข้าที่ใบหน้า การสาธิตการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ บนร่างกายตั้งแต่เส้นผมจรดเล็บเท้า ตลอดจนการนัดหมายเพื่อเข้ารับการรักษาในระยะต่อไป ในราคาพิเศษ

1.4 กิจกรรมพิเศษในงาน

ตลอดระยะเวลาสองวัน ผู้จัดงานได้จัดให้มีเวทีให้ผู้เข้าร่วมงาน (Exhibitor) ขึ้นไปพูด มีการซักถามโต้ตอบกับผู้เข้าชมงานที่สนใจ

2) ความเห็นและข้อเสนอแนะจากการเยี่ยมชมงาน

2.1 เครื่องมือ/ผลิตภัณฑ์เสริมความงามโดยแพทย์ยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค แม้ว่าจะเป็นของฟุ่มเฟือยและราคาสูง

2.2 ธุรกิจด้านความงามของไทยมีจุดแข็งและเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ เช่น โรงพยาบาลยันฮี คลินิกเสริมความงามต่างๆ ดังนั้น หากรายใดต้องการขยายตลาด/ฐานลูกค้า การเข้าร่วมงานนี้ก็น่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง แต่หากมองในมุมของผลิตภัณฑ์สินค้าเพื่อสุขภาพ/ความงาม หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติก็จะได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากกว่าที่ทำจากสารเคมี และควรมีแบรนด์และตัวแทนจำหน่ายในเยอรมันหรือยุโรป

2.3 Lifetime-Beauty เป็นงานขนาดเล็ก และมีลักษณะเป็น Consumers Fair จึงเหมาะกับธุรกิจขนาดกลาง-เล็กที่ต้องการมาพบกับลูกค้า (End user) โดยตรง และอาจเหมาะกับธุรกิจบริการเกี่ยวกับความงาม/การแพทย์เพื่อความงามที่ดึงลูกค้าไปใช้บริการที่ประเทศไทย

2.4 การจัดงานยังขาดความเป็นมืออาชีพทำให้งานดูด้อยคุณภาพลง ผู้เข้าร่วมงานน้อยทำให้ผู้เข้าชมงานน้อยลงไปด้วย การจัดบูธไม่น่าดึงดูดใจผู้เข้าชมงาน มีการประชาสัมพันธ์การจัดงานตลอดจนการใช้สื่อประชาสัมพันธ์ เช่น ป้ายโฆษณาน้อยเกินไป ทำให้ไม่เป็นที่รับทราบอย่างกว้างขวาง

2.5 แม้ว่าโรงแรมที่จัดนี้จะอยู่บนถนนหลักย่าน Shopping แต่สถานที่จัดงานเป็นห้องจัดเลี้ยงภายในโรงแรมอยู่ชั้นล่าง (ใต้ดิน) ทำให้ประชาชนที่ผ่านไปมาทั่วไปมองไม่เห็น ผู้ที่เข้าไปชมงานส่วนใหญ่จึงเป็นเฉพาะรายที่เจาะจงมางานเท่านั้น และยังมีการเก็บค่าบัตรเข้างานอีก ทำให้ความต้องการในการเข้างานลดน้อยลง แต่เป็นผู้ตั้งใจชมงานนี้จริงๆ

2.6 ผู้จัดควรเชิญ Celebrity หรือ ดารา พิธีกรดัง มาสร้างสีสรรในงานด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนสนใจมากขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ข้อมูล   SME  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ