โอกาสของอาหารประมงและกุ้งไทยในอิตาลี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 28, 2011 14:26 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. ตลาดสินค้าประมงแช่แข็งในอิตาลี

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลกไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งในอิตาลี จะเห็นได้จากสถิติการขยายตัวที่สูงขึ้นแม้ว่าจะมีภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยกลับส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารทะเลแช่แข็งมากขึ้นเนื่องจากเห็นว่าอาหารทะเลแช่แข็งส่งผลต่อสุขภาพพอๆกับอาหารสดแต่ราคาไม่แพงและง่ายต่อการนำไปใช้ปรุงอาหาร ในแง่ของการบริโภคอาหารแช่แข็ง ประเทศอิตาลีมีการบริโภคนำหน้าประเทศในสหภาพยุโรปอื่นๆ แม้ว่าจะมีการบริโภคในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าก็ตาม

เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มดีดังนั้นจึงคาดการณ์ได้ว่าสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งจะมีบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ผู้ผลิตจะสามารถสนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ทั้งในเรื่องคุณภาพและการพัฒนาด้านคุณค่าทางโภชนาการด้วย โดยเฉพาะในปัจจุบันการใช้ชีวิตแบบใหม่ได้รวมเอาอาหารทะเลแช่แข็งเข้าไว้เป็นส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งของอาหารประจำวันในครอบครัวอิตาลีไปแล้ว กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปที่บริโภคอาหารทะเลแช่แข็งได้แก่ ครอบครัวที่มีเวลาจำกัดในการปรุงอาหาร กลุ่มคนหนุ่มสาวหรือคนโสดที่ต้องการความสะดวกสบาย รวมถึงผู้สูงวัยที่สนใจในเรื่องสุขภาพ

๑.๑ อัตราการบริโภค

อัตราการบริโภคอาหารทะเลแช่แข็งต่อหัวในอิตาลีสูงขึ้น กล่าวคือ จากเดิม ๑๐ กิโลกรัมต่อหัวในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาเป็น ๒๒ กิโลกรัมต่อหัวในปัจจุบัน แต่ยังคงต่ำกว่าบริโภคต่อหัวเมื่อเทียบกับประเทศในสหภาพยุโรปอื่นๆ ได้แก่ สเปน (๔๐ กิโลกรัมต่อหัว) ฝรั่งเศส (๓๐ กิโลกรัมต่อหัว) และเยอรมัน (๒๗ กิโลกรัมต่อหัว)

อย่างไรก็ดี บริษัทผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งใหญ่ๆ มีการนำเสนอสินค้าอาหารปลาแบบพร้อมรับประทานรวมการให้บริการระดับสูงที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคที่ไม่มีความรู้เรื่องการปรุงอาหารที่ซับซ้อน

จากกระบวนการแช่แข็งปลาเป็นเวลานานโดยไม่ใส่สารปรุงแต่งใดๆ ทำให้สามารถหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ การรักษาอุณหภูมิจะทำให้รักษาคุณสมบัติทางโภชนาการและลักษณะเฉพาะของปลา (สี รสชาด กลิ่นและความสม่ำเสมอ) การซื้ออาหารทะเลแช่แข็งมีความสะดวกและมีคุณภาพสูงสำหรับน้ำหนักสุทธิและสูญเสียน้อย แต่ผู้นำเข้าอิตาเลี่ยนส่วนใหญ่มักซื้อจำนวนมากและขายในราคาที่แข่งขันได้ ทั้งนี้ความต้องการสินค้าผลิตภัณฑ์ปลาที่นำเข้ากระบวนการมีการขยายตัวขึ้นแต่การบริโภคอาหารทะเลยังคงมีความสม่ำเสมอโดยยังนิยมสินค้าธรรมชาติ (ปลาทั้งตัว เนื้อปลา ปลาหมึก และปลาหมึก octopus ขนาดเล็ก)

ตารางแสดงอัตราการบริโภคสินค้าอาหารทะเล
             สินค้า                   อัตราการบริโภคต่อครอบครัว             อัตราขยายตัว ๒๕๕๓/๒๕๕๒
                                         (กิโลกรัม)                         (ร้อยละ)
อาหารทะเลสด                                 ๑๕.๓                             ๓.๔
อาหารทะเลแช่แข็ง                               ๖.๘                             ๒.๙
รวม                                         ๒๒.๑                             ๖.๓
ที่มา ISMEA

๑.๒ ลักษณะสินค้า

ผู้คนคงจะสามารถจินตนาการคำว่า "แช่แข็ง" ได้ในรูปแบบของปลาแช่แข็ง เช่น ปลาค๊อด หรือ ปลา finger เนื่องจากได้มีการเปิดตัวในตลาดมานานพอสมควร แต่ในปัจจุบันได้เริ่มมีการทำการศึกษาอย่างลึกซึ้ง รวมถึงการค้นพบคุณค่าที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์อาหารทะเลว่าเป็นแหล่งที่มาของโปรตีนและเกลือแร่ โดยแท้จริงแล้วปลาแช่แข็งยังคงรักษาคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้ดีกว่าปลาสดที่ค้างอยู่ในร้านค้าสองวันด้วยซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้นสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งก็ไม่มีของเสียทำให้สามารถประเมินมูลค่าที่แท้จริงได้ง่ายกว่าด้วย สินค้าอาหารทะเลแช่แข็งยังได้รับการแนะนำจากกุมารแพทย์และนักโภชนาการในเรื่องคุณสมบัติด้านสุขภาพอีกด้วย

อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งมีการนำเสนอความหลากหลายของสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการทุกอย่างได้ โดยเริ่มจากปลาเล็กไปถึงชิ้นปลาของปลาใหญ่ จากซุปไปถึงกุ้งหอยปูและ crustaceous หรือแม้แต่อาหารที่สร้างสรรค์ไปถึงอาหารพร้อมรับประทาน ๑.๓ การขาย

ความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เกิดการผลักดันให้มีการเสนอขาย เนื่องจากผลของยอดขายอาหารทะเลแช่แข็งเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีที่ผ่านมา กล่าวคือคนอิตาเลี่ยนซื้อสินค้าชนิดนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอาหารทะเลแช่แข็งกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสั่งซื้อและมีการเก็บสต๊อกเอาไว้ในบ้านครอบครัวอิตาเลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ ๑.๔ อัตราความถี่การบริโภคสินค้าประมงในอิตาลีปี ๒๕๕๓

หน่วย : ร้อยละของผู้บริโภคในอิตาลี

           อัตราความถี่                 อาหารสด                       อาหารแช่แข็ง
มากกว่า ๑ ครั้งต่อสัปดาห์                     ๓๑                              ๒๕
๑ ครั้งต่อสัปดาห์                            ๓๘                              ๒๕
๑ ครั้งต่อสองสัปดาห์                         ๒๕                              ๓๘
๑ ครั้งต่อเดือน                              ๖                              ๑๒

๑.๕ ลักษณะของผู้บริโภคอาหารแช่แข็ง รูปแบบการดำเนินชีวิต (style of life) กลุ่มเป้าหมายคือหนุ่มสาวที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีรายได้ระดับกลางสูง เหตุผลในการซื้อสินค้า การบริการและต้องการทดลองอาหารเมนูท้องถิ่นหรืออาหารต่างชาติ

๒. ตลาดกุ้งในอิตาลี (การผลิตและการบริโภค)

๒.๑ การผลิตกุ้ง

อิตาลีซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่ของกุ้งแต่ไม่มีภาคการผลิตที่สำคัญในประเทศเลย ทั้งนี้เนื่องจากสภาพอากาศและอุณหภูมิไม่เหมาะสม ดังนั้นปริมาณการผลิตกุ้งของอิตาลีจึงมีอย่างจำกัดและอาศัยการนำเข้าเป็นหลักเพื่อสนองตอบต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ การผลิตทั้งหมดเป็นการผลิตตามธรรมชาติและมีราคาสูงมากคือ ๑๓ ยูโรต่อครึ่งกิโล (ภาพประกอบด้านล่าง)

ตารางแสดงปริมาณการผลิตกุ้งในอิตาลีในปี ๒๕๔๘ - ๒๕๕๓                                (หน่วย: พันตัน)
  แหล่งผลิต   ปี ๒๕๔๘       ปี ๒๕๔๙        ปี ๒๕๕๐        ปี ๒๕๕๑       ปี ๒๕๕๒        ปี ๒๕๕๓
    อิตาลี        ๑๘           ๑๘            ๑๓            ๑๖           ๑๖            ๑๙

แต่เนื่องจากมีการบริโภคภายในประเทศสูงมากโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน อิตาลีจึงพึ่งพาการนำเข้ากลุ่มกุ้งหอยปูและ crustacean เป็นหลัก และทำให้มีสถิติการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี ๒.๒ การบริโภคกุ้งในอิตาลี

อิตาลีเป็นหนึ่งในตลาดหลักของสหภาพยุโรปสำหรับสินค้ากุ้ง ดังจะเห็นได้จากอัตราการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งนี้กุ้งเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในอิตาลี ความสำคัญของกุ้งอยู่ที่วัตถุประสงค์ในการนำกุ้งไปใช้ โดยหลักจะนำกุ้งไปเป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและการใช้บริโภค อุตสาหกรรมอาหารมักจะนำกุ้งไปใส่ในอาหารพร้อมรับประทาน (พิซซ่า แกงและสลัดอาหารทะเล) ชุปปลา ค๊อกเทลกุ้งและอาหารว่าง ในส่วนของกุ้งที่นำไปบริโภคจะนำเสนอในรูปแบบปอกเปลือกแล้ว บรรจุและนำไปขายในแบบแช่เย็น แช่แข็งหรือบรรจุกระป๋อง ซึ่งนำไปจำหน่ายในภาคการรับบริการจัดเลี้ยงและกลุ่มผู้ค้าปลีก

ตารางแสดงปริมาณการบริโภคกุ้งในอิตาลีในปี ๒๕๔๘ - ๒๕๕๓                               (หน่วย: พันตัน)
 แหล่งบริโภค   ปี ๒๕๔๘       ปี ๒๕๔๙        ปี ๒๕๕๐        ปี ๒๕๕๑       ปี ๒๕๕๒        ปี ๒๕๕๓
    อิตาลี         ๕๔           ๖๒            ๖๑            ๗๘           ๘๘            ๘๖
ที่มา : FISHSTAT - FAO

๒.๖ แนวโน้มการบริโภคกุ้ง

ปริมาณความต้องการกุ้งจะเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงคริสมาสต์เนื่องจากผู้บริโภคที่มีฐานะดีจะนำเสนออาหารที่หรูหราในการจัดเลี้ยงฉลองเทศกาลดังกล่าว ในขณะเดียวกันช่วงฤดูร้อนร้านอาหารตามชายทะเลก็จะขายอาหารทะเลเพิ่มขึ้นให้แก่นักท่องเที่ยว การบริโภคกุ้งในอิตาลีส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอิตาลีซึ่งมีการบริโภคมากเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับทางภาคใต้ (ซึ่งตามความนิยมดั่งเดิมจะบริโภคปลาสดมากกว่า) นอกจากนี้ในภาคการบริการจัดเลี้ยงมีเมนูกุ้งชุบเกล็ดขนมปังทอด และกุ้งทอดที่เป็นที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลายรวมถึงอาหาร finger food ด้วย สำหรับในภาคธุรกิจค้าปลีก ในปี ๒๕๕๓ พบว่า ยอดขายของกุ้งแช่แข็ง กุ้งปอกเปลือกมีจำนวนสูงมากแม้ว่าจะมีวิกฤตด้านเศรษฐกิจและวิกฤตหนี้สินเกิดขึ้นก็ตาม ดังนั้นจึงเป็นที่คาดการณ์ว่า ผลจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึงจะส่งผลให้ยอดขายกุ้งในปี ๒๕๕๔ เพิ่มสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้จากการที่ครอบครัวอิตาเลี่ยนดำเนินชีวิตแนวใหม่จึงส่งผลให้กลุ่มสินค้าแช่แข็งและกลุ่มของดองเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปรับปรุงเทคโนโลยีนวัตกรรมการผลิตใหม่ๆ ในช่วงปีที่ผ่านมาทำให้สินค้ามีคุณภาพดีขึ้นและสามารถตอบสนองทั้งด้านความต้องการใช้งาน ความรวดเร็วในการจัดเตรียม รสชาดและสุขภาพด้วย

๓. การนำเข้าและการส่งออก

๓.๑ การนำเข้า

อิตาลีนำเข้าสินค้าประมง (พิกัด ๐๓) จากทั่วโลกเฉลี่ยปีละ ๔,๑๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในปี ๒๕๕๓ นำเข้าจากทั่วโลกมูลค่า ๔,๒๐๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๒ ซึ่งมีมูลค่า ๓,๙๐๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น +๗.๗๖% และในปี ๒๕๕๔ (มค. - กพ.) นำเข้ามูลค่า ๖๕๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมีมูลค่า ๕๕๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ๑๗.๑๙% ประเทศที่นำเข้าหลักได้แก่ สเปน เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก และกรีซ

ในส่วนของเฉพาะสินค้ากุ้ง (พิกัด ๐๓๐๖๑๓) อิตาลีนำเข้าจากทั่วโลกเฉลี่ยปีละ ๔๓๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในปี ๒๕๕๓ นำเข้าจากทั่วโลกมูลค่า ๔๔๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๒ ซึ่งมีมูลค่า ๔๐๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ๙.๑๘% และในปี ๒๕๕๔ (มค. - กพ.) นำเข้ามูลค่า ๕๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมีมูลค่า ๔๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ๒๓.๘๗% ประเทศที่นำเข้าสำคัญ ๕ ประเทศ ได้แก่ เอกวาดอร์ (สัดส่วน ๓๑%) อาร์เจนติน่า (สัดส่วน ๑๕%) สเปน (สัดส่วน ๑๒%) อินเดีย (สัดส่วน ๑๐%) และเดนมาร์ก (สัดส่วน ๕%) โดยไทยอยู่ในอันดับที่ ๖ (สัดส่วน ๕%)

การนำเข้าจากไทย สถิติการนำเข้าสินค้าประมงจากไทยในปี ๒๕๕๓ อิตาลีนำเข้ามูลค่า ๑๔๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๒ ซึ่งมีมูลค่า ๑๕๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -๓.๕๖% และในปี ๒๕๕๔ (มค. - กพ.) นำเข้าจากไทยมูลค่า ๒๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมีมูลค่า ๑๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น +๕๓.๕๐% โดยสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่คือปลาหมึกแช่แข็ง (squid, cuttlefish) และหอย Mollusc แช่แข็ง

ส่วนการนำเข้าเฉพาะสินค้ากุ้งจากไทย อิตาลีเฉลี่ยปีละ ๑๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในปี ๒๕๕๓ นำเข้าจากไทยมูลค่า ๑๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๒ ซึ่งมีมูลค่า ๑๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ๒๐.๐๔% และในปี ๒๕๕๔ (มค. - กพ.) นำเข้ามูลค่า ๒.๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมีมูลค่า ๑.๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ๖๐.๖% ๓.๒ การส่งออก

อิตาลีส่งออกสินค้าประมงไปทั่วโลกเฉลี่ยปีละ ๕๑๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในปี ๒๕๕๓ ส่งออกไปทั่วโลกมูลค่า ๔๘๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๒ ซึ่งมีมูลค่า ๔๙๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -๒.๐๘% และในปี ๒๕๕๔ (มค. - กพ.) ส่งออกมูลค่า ๗๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งส่งออกมูลค่า ๗๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น +๑.๙๑% ประเทศที่อิตาลีส่งออกหลัก ๕ อันดับแรก ได้แก่ สเปน (สัดส่วน๔๒%) เยอรมัน (สัดส่วน ๑๓%) กรีซ (สัดส่วน ๙%) ออสเตรีย (สัดส่วน ๕%) และโรมาเนีย (สัดส่วน ๔%)

สถิติการส่งออกสินค้าประมงของอิตาลีไปไทยมีไม่มากโดยเฉลี่ยปีละ ๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในปี ๒๕๕๓ อิตาลีส่งออกมูลค่า ๐.๔๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๒ ซึ่งมีมูลค่า ๐.๘๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -๔๕.๘๗% และในปี ๒๕๕๔ (มค. - กพ.) อิตาลีส่งออกมูลค่า ๐.๑๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมีมูลค่า ๐.๑๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -๔๕.๒๙% โดยสินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่คือ ปลาหมึกสด (squid, octopus) และหอยสด Mussel และกลุ่มสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็งแช่แข็ง (crustacean) กุ้ง (shrimp) กุ้งใหญ่ (prawn) เป็นต้น

๔. ราคา

๔.๑ ราคานำเข้า (FOB)

           แหล่งนำเข้า          กุ้ง Vannamai ปอกเปลือก                กุ้ง Vannamai ทั้งตัว
                                     ต่อ ๑ กิโล (ยูโร)                  ต่อ ๑ กิโล (ยูโร)
เอกวาดอร์                               ๔.๗๐ - ๕.๓๐                     ๕.๔๐ - ๖.๗๐
อาเจนตินา                               ๕.๒๐ - ๖.๓๐                     ๕.๗๐ - ๖.๕๐
อินเดีย                                  ๔.๙๐ - ๕.๙๐                     ๕.๙๐ - ๖.๔๐
ไทย                                    ๕.๙๐ - ๖.๙๐                     ๖.๔๐ - ๗.๐๐

บริษัท เอเชียนสุราษฎร์ และ บริษัท Asian Seafood Coldstorage ผู้ส่งออกสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งรายใหญ่มายังอิตาลี

๔.๒ ราคาขายปลีกกุ้งในอิตาลี

ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ตในอิตาลีจะขายอาหารทะเลแช่แข็งในลักษณะแพ็ค ๒๕๐ กรัมหรือ ๕๐๐ กรัม และไม่ระบุประเทศต้นกำเนิดสินค้า (จะระบุแหล่งที่จับได้แทน เช่น ทะเลแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแอตแลนติค) กลุ่มอาหารทะเลแช่แข็งได้แก่ กุ้ง กุ้งใหญ่ ปลาหมึก cuttlefish ปลาหมึกยักษ์ octopus และอาหารทะเลผสม (มีลักษณะแบบเสียบไม้ย่าง สลัดทะเลและชุดผสมสำหรับราดหน้าพาสต้าและข้าว risotto)

ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๕๐ เป็นสินค้าที่มีแบรนด์ (ของผู้จัดจำหน่าย/ไฮเปอร์มาร์เก็ต) และส่วนที่เหลือจะแบ่งออกเป็น ๓ - ๔ แบรนด์หลักในตลาด อาหารทะเลแช่แข็งทั้งหมดได้มีการทำความสะอาดแล้ว ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่กุ้งไทยจะมีจำหน่ายอยู่ในซุปเปอร์มาร์เก็ตในตอนเหนือ เช่น Esselunga, Billa และ Picard

ตารางแสดงราคาขายปลีกกุ้งในอิตาลี
                ประเภทกุ้ง/แหล่งที่มา                       ราคา (ยูโร)
กุ้ง shrimp จากมหาสมุทรอินเดีย/แปซิกฟิค                       ๓.๕๐ - ๔
ขนาด ๒๕๐ กรัม
กุ้ง shrimp จากมหาสมุทรแอตแลนติค                               ๓.๓๐
ขนาด ๒๐๐ กรัม
กุ้งกุลาดำจากเวียดนาม                                          ๖.๙๐
ขนาด ๕๐๐ กรัม
กุ้งกุลาดำจากมหาสมุทรแอตแลนติค                                  ๕.๔๕
ขนาด ๓๐๐ กรัม
กุ้งกุลาดำจากอาร์เจนตินา                                        ๘.๙๐
ขนาด ๔๐๐ กรัม
กุ้ง Vannamai จากไทย                                         ๖.๗๙
ขนาด ๔๐๐ กรัม

๔.๓ ระยะเวลาการนำเข้า

ผู้นำเข้าอิตาลีแจ้งว่า จะนำเข้ากุ้งเป็นประจำตลอดปี โดยช่วงเวลาที่นำเข้ามากที่สุดคือ ช่วงเทศกาลคริสต์มาสและช่วงฤดูร้อน กล่าวคือ นำเข้าช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคมสำหรับเทศกาลคริสมาสต์ และช่วงเดือนมีนาคม - มิถุนายนสำหรับฤดูร้อน

๕. ภาษีนำเข้า

๕.๑ อัตราภาษีนำเข้า

ปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้ากุ้งดิบแช่แข็งและกุ้งต้มสุก (ซึ่งไทยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร GSP เช่นเดียวกับอาร์เจนตินา อินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) ได้แก่ กุ้งดิบแช่แข็ง ๔.๒% และกุ้งต้มสุกแช่แข็ง ๗%

ส่วนเอกวาดอร์ (ผู้ส่งออกอันดับแรกมายังอิตาลี) มีอัตราภาษีนำเข้าถูกกว่าคือ กุ้งดิบแช่แข็ง ๓.๖% และกุ้งต้มสุกแช่แข็ง ๐%

๕.๒ กฎระเบียบการนำเข้า

  • ผู้ส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งจากประเทศไทยจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนรายชื่อโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกได้ที่ดำเนินการตรวจรับรองโดยหน่วยงานผู้มีอำนาจของไทยและหน่วยงานของสหภาพยุโรป
  • การจัดส่งสินค้าต้องแนบใบรับรองด้านสุขอนามัยที่ออกโดยหน่วยงานผู้มีอำนาจของไทย
  • สินค้าที่มาถึงท่าเรือจะได้รับการเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปตรวจสอบด้านสุขอนามัยโดยกระทรวงสาธารณสุขของอิตาลีให้สอดคล้องกับระเบียบของสหภาพยุโรป

๖. คู่แข่งที่สำคัญของไทย

ประเทศที่ส่งออกกุ้งมาอิตาลีมากที่สุดคือ เอกวาดอร์ ตามด้วยอาร์เจนติน่า อินเดียและไทย นอกจากนี้ได้แก่ จีน อินโดนีเซียและเวียดนาม

๖.๑ เอกวาดอร์

ประเทศเอกวาดอร์เป็นผู้ส่งออกสินค้ากุ้งมายังอิตาลีมากที่สุดและเป็นหนึ่งในประเทศด้อยพัฒนาที่มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมการประมงที่น้อยที่สุดโดยเฉพาะกุ้ง นอกจากกุ้งแล้วเอกวาดอร์ยังส่งออกสินค้าสำเร็จรูปหลากหลายและเนื้อปูทั้งในรูปแบบแช่แข็งและปลาแห้งและผลิตภัณฑ์อบแห้งอื่นๆ

๖.๒ อาร์เจนติน่า

ในอิตาลีกุ้งจากอาร์เจนติน่าถือได้ว่ามีคุณภาพสูงและมีราคาต่ำกว่าไทย ทั้งนี้ผู้นำเข้าอิตาลีแจ้งว่า ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งจากอาร์เจนติน่ามีราคาต่ำกว่าไทยประมาณ ๐.๕๐ เหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม

๖.๓ อินเดีย

อินเดียจัดว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นคู่แข่งของไทย เนื่องจากผู้นำเข้าอิตาลีนำสินค้าไทยไปเปรียบเทียบกับสินค้าของอินเดีย แต่พบว่ามีคุณภาพต่ำกว่าของไทย

๗. ความสามารถในการแข่งขัน

โดยหลักแล้วพบว่าราคาเป็นปัจจัยหลักในด้านการแข่งขัน อย่างไรก็ดีสินค้าของไทยมีข้อได้เปรียบในด้านมีคุณภาพสูงและสม่ำเสมอ ซึ่งตรงกับความต้องการของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร ผู้กระจายสินค้าและผู้บริการจัดเลี้ยงรายใหญ่ที่ต้องการความเข้มงวดในเรื่องคุณภาพของสินค้า

๘. ช่องทางการจำหน่าย

ในอิตาลีกุ้งและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลชนิดอื่น (ทั้งแบบสดและแช่แข็ง) มีจำหน่ายไฮเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ช่องทางการจำหน่ายที่สำคัญที่สุดคือ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งสัดส่วน ๖๕.๑% ของยอดขายทั้งหมด

ในตลาดอาหารทะเลของอิตาลี ตัวแทนขายและผู้นำเข้าเป็นจุดแรกของการจำหน่ายสินค้าประเภทนี้ ผู้นำเข้าอาหารทะเลส่วนใหญ่เป็นผู้ทำหน้าที่ดำเนินการจัดการผลิตภัณฑ์อาหาร โดยจัดเตรียมและบรรจุสินค้าให้พร้อมที่จะขายด้วย ผู้นำเข้าจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการนำสินค้าเข้าสู่ตลาดอย่างมาก

ผู้ค้าส่ง ผู้กระจายสินค้าและผู้ค้ารายใหญ่ๆ ในอิตาลี

นอกจากผู้นำเข้าแล้ว ในตลาดอิตาลียังมีกลุ่มบริษัทรายใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนขาย นำเข้าสินค้า จัดการ และขายสินค้าสดและแช่แข็ง เพื่อสร้างความหลากหลายให้แก่ลูกค้าในอิตาลีด้วย (ส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการจัดเลี้ยงและกลุ่มซุปเปอร์มาร์เก็ต) ผู้นำเข้าสินค้าอาหารทะเลที่สำคัญที่สุดในอิตาลีได้แก่ Mega Alimentare, Proda, Panapesca, Sagit (ยูนิลีเวอร์/Findus), โนวาและ Orogel ผู้นำเข้าเหล่านี้บางรายผลิตสินค้าของตนเองในต่างประเทศด้วย

๙. วิวัฒนาการของสินค้า

ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น อนาคตของอุตสาหกรรมกุ้งจะขึ้นอยู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและระบบการควบคุมคุณภาพในประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถเข้าสู่มาตรฐานของสหภาพยุโรปที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และการควบคุมด้านสุขอนามัยที่เข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นผู้ส่งออกกุ้งของไทยจึงต้องมุ่งเน้นด้านการเพิ่มมูลค่าสินค้ากุ้ง เช่น การบรรจุภัณฑ์และน้ำหนักชนิดพิเศษ สินค้ากุ้งชุบเกล็ดขนมปังหรือพร้อมรับประทาน เป็นต้น พร้อมทั้งจะต้องจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับมาตรฐานสุขอนามัยแบบใหม่เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค

๑๐. ผู้นำเข้ารายใหญ่ในอิตาลี

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรมได้สัมภาษณ์ผู้นำเข้าอาหารทะเลและกุ้งในอิตาลี หลายบริษัทแจ้งว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะการแข่งขันมากขึ้นในแง่ของราคา โดยเฉพาะประเทศเอกวาดอร์ (สินค้าปลาหมึกและ crustacean) รวมถึงอาร์เจนติน่า และอินเดีย

ทั้งนี้ผู้นำเข้ารายหนึ่งแจ้งว่า ราคาอาหารทะเลของเอกวาดอร์ถูกกว่าราคาอาหารทะเลของไทยประมาณ ๕๐ เซ็นต์ต่อกิโลกรัมในขณะที่มีคุณภาพเท่ากัน แต่อย่างไรก็ดี ผู้นำเข้าอีกรายหนึ่งกลับเห็นว่า อาหารทะเลแช่แข็งของไทยมีคุณภาพดีกว่าเอกวาดอร์ อาร์เจนติน่าและอินเดีย ส่วนผู้นำเข้าอีกรายกล่าวว่า บริษัทนำเข้าอาหารทะเลจากอินเดียเพิ่มขึ้นถึงแม้ว่ามาตรฐานของโรงงานผลิตอาหารทะเลยังต่ำกว่าโรงงานในไทยแต่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีการแข่งขันกันมากขึ้นในด้านราคา

บริษัท Proda Alimenti SpA. เมืองปาร์มา

ส่วนใหญ่บริษัท Proda นำเข้าสินค้าหอยลาย crustaceans (กุ้ง) และปลาแช่แข็ง และบางครั้งนำเข้าสินค้าจำเพาะอย่างจากบริษัทสุรพลฟู๊ดส์ในกรุงเทพ ปรกติบริษัทนำเข้าอาหารทะเลแช่แข็งเดือนละ ๕ คอนเทนเนอร์จากประเทศไทย/๒ คอนเทนเนอร์จากอินเดียและ/๔ คอนเทนเนอร์จากเอกวาดอร์ เนื่องจากบริษัท Proda นำเข้าสินค้าจากประเทศไทยหลายปีแล้วทำให้บริษัทมีอำนาจในการต่อรองกับซัพพลายเออร์ เช่น ราคา การจัดส่งสินค้า เป็นต้น อย่างไรก็ดีบริษัทเห็นว่า ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ที่ไม่ได้นำเข้าจากบริษัทใดบริษัทหนึ่งโดยเฉพาะมักจะเลือกผู้ขายที่ให้ราคาถูกที่สุด โดยคำนึงถึงราคามากกว่าคุณภาพ

บริษัท Fredditalia International SpA. เมืองกรอสเซตโต้

Mr. Armellini แจ้งว่าบริษัทนำเข้าสินค้าจากไทยจากบริษัทปากพนังและบริษัท Apitoon Enterprises โดยได้เริ่มกิจการด้านนี้มาเป็นเวลานานกว่า ๒๕ ปีแล้วและมีลูกค้าประมาณ ๒๐๐ รายทั่วประเทศอิตาลี รวมทั้งผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่เช่น Findus และ Arena ด้วย ในปี ๒๕๕๓ บริษัทนำเข้าสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งมูลค่า ๗ ล้านยูโรจากไทย ทั้งนี้คู่แข่งที่น่ากลัวของไทยคือเอกวาดอร์ ซึ่งมีความก้าวล้ำกว่าไทยทั้งในแง่คุณภาพ (โดยเฉพาะกุ้งกุลาดำและกุ้ง) และราคาที่ต่ำกว่าไทย นอกจากนี้อินเดียและเวียดนามกำลังจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญในแง่ของราคาที่ต่ำกว่า

บริษัท Mega Alimentare กรุงโรม

จากการสัมภาษณ์ Dr. Francesco Albertini ผู้บริหารของบริษัท กล่าวว่า บริษัทนำเข้าสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งจากไทยเป็นจำนวนมากและจัดส่งให้แก่ลูกค้าในอิตาลี (ส่วนใหญ่อยู่ในภาคธุรกิจบริการจัดเลี้ยง และกลุ่มซุปเปอร์มาร์เก็ต) สินค้าที่นำเข้าได้แก่ ปลาหมึก squid ปลาหมึก cuttlefish และกุ้งในลักษณะแบบตู้คอนเทนเนอร์ผสม ในปี ๒๕๕๓ บริษัทนำเข้าสินค้ามูลค่าประมาณ ๖ ล้านยูโรจากไทย ประมาณ ๙๘ ตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งนี้สินค้าที่นำเข้าจากไทยจะอยู่ได้ถึง ๗-๘ เดือนทีเดียว

เอกวาดอร์เป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในแง่ราคา (โดยเฉพาะปลาหมึก cuttlefish) อย่างไรก็ดี สินค้ายังไม่ได้คุณภาพและมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ ส่วนมาเลเซียเป็นคู่แข่งของไทยในกลุ่มสินค้ากุ้งแต่มาตรฐานด้านคุณภาพสินค้าของไทยยังคงดีกว่า

บริษัท MITA - BC กรุงโรม

เป็นตัวแทนขายที่สำคัญที่ทำงานกับผู้ผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งและผักแช่แข็งทั่วโลก บริษัทนำเข้าสินค้าจากอาร์เจนติน่า จีน ชิลี อินเดีย อินโดนีเซีย และไทย ในปี ๒๕๕๓ มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งจากไทย ๘ ล้านยูโร บริษัทขายสินค้าให้แก่ลูกค้าประมาณ ๒๐๐ รายในภาคธุรกิจบริการจัดเลี้ยง ผู้ค้าปลีกและผู้ประกอบการแบรนด์สินค้า ตัวอย่างลูกค้ารายสำคัญๆ ได้แก่ Nestle Italia, Buitoni, Mare Pronto, Findus และกลุ่มซุปเปอร์มาร์เก็ตเช่น Coop, Panorama และ Conad การร่วมทุนกับผู้นำเข้าในอิตาลีเพื่อผลิตและจัดเตรียมกุ้ง

การร่วมทุนกับบริษัทผู้นำเข้าอิตาเลี่ยนจะช่วยให้บริษัทไทยเข้าสู่ตลาดกุ้งที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มในอิตาลี ในช่วงที่ผ่านมาสคร.โรมได้ติดต่อกับผู้นำเข้าและผู้แทนจำหน่ายหลายรายในอิตาลีสำหรับกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็งเพื่อค้นหาผู้ร่วมทุนไทยเพื่อเป็นคู่ธุรกิจร่วมกัน โดยบริษัทเหล่านี้ได้เดินทางไปเยี่ยมชมงานแสดงสินค้า Thaifex 2011 เมื่อเดือนพฤษภาคมศกนี้ด้วย การติดต่อกับผู้แทนขายและผู้นำเข้า

ผู้ส่งออกกุ้งไทยที่ต้องการติดต่อขายสินค้าโดยตรงกับผู้แทนขายหรือผู้นำเข้าอิตาลีที่กระจายสินค้าให้แก่ลูกค้ารายใหญ่ในธุรกิจร้านอาหารและการบริการจัดเลี้ยง และการกระจายสินค้า หรือการผลิตภายใต้แบรนด์ของซุปเปอร์มาร์เก็ต สามารถติดต่อกับสคร.โรมเพื่อเชื่อมโยงกับผู้นำเข้าเหล่านี้ได้ (รายชื่อผู้นำเข้าดังแนบ)

๑๒. โอกาสลู่ทางการค้าและข้อเสนอแนะ

ความต้องการในอนาคต

ศักยภาพของสินค้ากุ้งแช่แข็งและกุ้งที่จัดเตรียมในอิตาลีมีสูงมากเนื่องจาก

  • อิตาลีพึ่งพาการนำเข้าอย่างมากเพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศทั้งสำหรับการบริโภคโดยตรงและสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ประกอบกับอิตาลีลดกองเรือประมงของตนเนื่องจากนโยบายการปกป้องพันธุ์ปลาตามข้อตกลงของสหภาพยุโรปและต่างประเทศ
  • โดยทั่วไปการบริโภคกุ้งในอิตาลีสูงมากเนื่องจากกุ้งเป็นส่วนประกอบสำคัญในวัฒนธรรมอาหารอิตาเลี่ยน คนอิตาเลี่ยนยังคงจ่ายเงินซื้อสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งนำไปประกอบอาหารที่บ้านและตามร้านอาหาร ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าการบริโภคในประเทศยังคงเพิ่มสูงขึ้น
  • การบริโภคกุ้งในภาคเหนือสูงกว่าทางภาคกลางและภาคใต้ เนื่องจากระยะทางที่ห่างไกลจากพื้นที่ประมงทำให้ชาวอิตาเลี่ยนในภาคเหนือต้องนำเข้าสินค้า ดังนั้นจึงคาดว่าการส่งออกจากไทยไปยังภาคเหนือจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อไป
  • จำนวนนักท่องเที่ยวในอิตาลีเพิ่มขึ้นโดยรวมทำให้มีการบริโภคอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวใกล้ทะเลที่มีการบริโภคอาหารทะเลและกุ้ง จึงคาดการณ์ว่าจะมีการนำเข้ากุ้งและอาหารอื่นๆ ตลอดปี ๒๕๕๔ เนื่องจากคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ๒๕% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ข้อเสนอแนะ

สคร.โรมเห็นว่า โอกาสของกุ้งไทยในอิตาลียังมีอีกมากเนื่องจากอิตาลียังคงพึ่งพาการนำเข้า รวมทั้งเป็นที่นิยมรับประทานในหมู่คนอิตาเลี่ยน อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกไทยควรรักษาคุณภาพมาตรฐานและสุขอนามัยของสินค้าให้อยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากได้รับการยอมรับเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ทั้งนี้สำหรับในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยราคาเป็นปัจจัยสำคัญในด้านการตัดสินใจ ซึ่งสินค้าจากประเทศอื่นมีราคาถูกกว่า ดังนั้นควรมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า โดยนำไปประกอบอาหารพร้อมรับประทาน เช่น ข้าวปั้น (ซูชิ) สลัดทะเล (แบบอิตาเลี่ยน) ผัดไท เป็นต้น สร้างความน่าสนใจให้แก่บรรจุภัณฑ์ รวมถึงสร้างความหลากหลายให้แก่สินค้า

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ