ชี้รัฐ-เอกชนต้องทำงานหนักขึ้น โดยเฉพาะเร่งทำความเข้าใจเออีซีกับ SME ที่ส่งผลถึงการเคลื่อนย้ายทุน แรงงาน เชื่อการค้าไทย-กัมพูชาได้รับผลเล็กน้อย เหตุแยกแยะออก เขมรรู้แกว ตุนสินค้าไทยตั้งแต่เมษา ส่งผลยอด 5 เดือนนำเข้าสินค้าไทย 3.3 หมื่นล้านบาท
ตามที่รมว.พาณิชย์ พรทิวา นาคาศัย ได้สั่งการให้จับตาสถานการณ์ชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ภายหลังจากไทยถอนตัวจากการเป็นคณะกรรมการมรดกโลกและภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลกไทยนั้น นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า ปัจจุบันการการค้าระหว่างไทยกัมพูชา ยังไม่ได้มีผลกระทบใดๆ จากปัญหาความขัดแย้งบริเวณพื้นที่รอบเขาพระวิหารและด่านการค้าชายแดน โดยผู้ส่งออกไทย ผู้นำเข้ากัมพูชาและผู้บริโภคตามแนวชายแดนแยกแยะปัญหาชายแดนกับการค้าได้ และไม่ได้นำมาเชื่อมโยงกันให้เป็นปัญหาแต่อย่างใด
“ผู้บริโภคชาวกัมพูชาคุ้นเคยกับสินค้าไทยเป็นอย่างดีมาหลายสิบปี 2 ประเทศยังคงต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ภาครัฐและเอกชนจะต้องทำงานร่วมกันหนักขึ้นในการบริหารความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน แต่สิ่งสำคัญกว่า คือ ต้องเร่งทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการของไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยหรือเอสเอ็มอี ให้เข้าใจว่า รวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ในปี 2558 ซึ่งมีผลผูกพันธ์ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมในภูมิภาค โดยเศรษฐกิจนั้น เออีซีไม่ใช่ส่งผลดีแค่การส่งออกและนำเข้าเท่านั้น แต่หมายถึงการเคลื่อนย้ายทุน และแรงงานในภูมิภาค ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์”นางนันทวัลย์ กล่าว
นางจีรนันท์ วงษ์มงคล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา กรมส่งเสริมการส่งออก แจ้งมูลค่าการส่งออก นำเข้าสินค้าระหว่างไทยกับกัมพูชาในช่วง5 เดือนแรกของปีนี้(มกราคม-พฤษภาคม 2554)ว่า มีมูลค่ารวมกว่า 32,859 ล้านบาทหรือ ลดลง 7.55% (1,091 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 0.41% ) ขณะที่มูลค่าการค้าเฉพาะเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมามีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 28.6 % คิดเป็นมูลค่ารวม 7,228 ล้านบาท(242.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ )
ส่วนมูลค่าการค้าตั้งแต่เดือนมกราคม - เมษายน 2554 มีมูลค่าเท่ากับ 5,885 ล้านบาท 6,874 ล้านบาท 7,251ล้านบาท และ 5,621 ล้านบาท ตามลำดับ เพิ่มขึ้น 4.4%, 16.8 % , 5.5% และ -22.5 % ตามลำดับ
สินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปมีมูลค่ากว่า 4,636 ล้านบาท น้ำตาลทราย 2,747 ล้านบาท เครื่องดื่ม 1,829 ล้านบาท ปูนซิเมนต์ 1,430 ล้านบาท เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว 1,298 ล้านบาท เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 1,290 ล้านบาท เครื่องยนต์สันดาปฯ1,281ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ยาง 1,151 ล้านบาท ผ้าผืน 1,019ล้านบาท เคมีภัณฑ์ 979 ล้านบาท และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 939 ล้านบาท
การนำเข้าในช่วง 5 เดือนแรกมีการขยายตัวกว่า 96.7% คิดเป็นมูลค่า 2,564 ล้านบาท (84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยสินค้านำเข้า 10 อันดับแรก ได้แก่ ผัก ผลไม้และของปรุงต่างที่ทำจากผัก ผลไม้ 723 ล้านบาท สินแร่ โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ 581ล้านบาท เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 527 ล้านบาท เสื้อผ้าสำเร็จรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อย่างไรก็ตามสินค้าที่มีการนำเข้าสูง อาทิ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ
ที่มา: http://www.depthai.go.th