รายงานการเยี่ยมชมงานแสดงสินค้า IFT Annual Meeting + Food Expo 2011

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 30, 2011 13:57 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รายงานการเยี่ยมชมงานแสดงสินค้า IFT Annual Meeting + Food Expo 2011

ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๔

ณ ศูนย์แสดงสินค้า New Orleans Memorial Convention Center

ณ เมือง New Orleans มลรัฐหลุยส์เซียน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา

๑. การจัดงาน

งาน IFT Annual Meeting & Food Expo 2011 เป็นงานเกี่ยวกับการประชุมและ แสดงสินค้านานาชาติ จัดขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อแสดงความก้าวหน้า ผลการวิจัยค้นคว้าในด้านวัตถุดิบใช้ผลิตอาหาร (Food Ingredients & Additive) เทคโนโลยีในการผลิตอาหาร และ การนำเสนอแนวโน้มรูปแบบสินค้าอาหารที่อนาคต (Food Trend) ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคอเมริกา จัดขึ้น โดยสถาบัน Institute of Food Technologist (IFT) ทุกปี การจัดงานฯ ในครั้งนี้มีขึ้นระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ ณ ศูนย์แสดงสินค้า New Orleans Memorial Convention Center ณ เมือง New Orleans มลรัฐหลุยส์เซียน่า สหรัฐอเมริกา

การจัดงานฯ แยกออกเป็นสองส่วน คือ การจัดแสดงสินค้า (Exposition) มีเพียง ๓ วัน คือ ๑๒-๑๔ มิถุนายน และการจัดให้ประชุมและสัมมนา (Conference) มีจำนวน ๔ วัน ระหว่างวันที่ ๑๑ -๑๔ มิถุนายน และถือว่าเป็นกิจกรรมสำคัญของงานฯ มีหัวข้อสัมมนากว่า ๑๐๐ เรื่อง งานฯ เปิดให้เฉพาะนักธุรกิจและบุคคลในวงการเข้าชมเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม และคิดค่าธรรมเนียมลงทะเบียน ๒๖๐ เหรียญสหรัฐฯ (เฉพาะงานแสดงสินค้าเท่านั้น)เปิดให้เข้าชมระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ น. - ๑๗.๐๐ น. ทุกวัน และใช้พื้นที่สุทธิในการจัดงานฯ ประมาณ ๔๕๐,๐๐๐ ตารางฟุต (๔๕,๐๐๐ ตารางเมตร)

๒. ผู้เข้าร่วมงาน

ผู้เข้าร่วมงาน (Exhibitor) ของงาน IFT Annual Meeting & Food Expo 2011 มี จำนวน ๙๙๐ ราย เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๓ ร้อยละ ๑๒.๕ แยกออกเป็นบริษัทอเมริกัน ๗๒๙ ราย และผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศ ๒๕ ประเทศ จำนวน ๒๖๑ บริษัท (ร้อยละ ๒๖ ของผู้เข้าร่วมงานทั้งหมด)

มีผู้เข้าร่วมจากต่างประเทศ ๕ ประเทศจัดคูหาลักษณะ Country Pavilion ได้แก่ จีน (๑๖๖ ราย) คานาดา (๑๐ ราย) อังกฤษ (๑๐ ราย) ศรีลังกา ( ๖ ราย) และ อินเดีย (๔ ราย) ผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศไปเข้าร่วมงานเองจำนวน ๖๙ ราย ได้แก่ แคนาดา (๑๘ ราย) เม็กซิโก (๕ ราย) เนเธอร์แลนด์ (๗ ราย) เยอรมนี (๕ ราย) ฝรั่งเศส (๓ ราย) สเปน (๓ ราย) ญี่ปุ่น (๔ ราย) บราซิล (๒ ราย) อิตาลี (๒ ราย) คู่แข่งขันของไทยที่ไปเข้าร่วมงานฯ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน มาเลเซีย และ เกาหลีใต้ ไม่พบว่ามีผู้ผลิต/ส่งออกไทยไปเข้าร่วมงานนี้

สมาคมผู้ผลิตน้ำมันปาล์มประเทศมาเลเซียมาร่วมจัดคูหาประชาสัมพันธ์ (Information Booth) เพื่อให้ข้อมูลการค้าสินค้า และมีองค์กรให้บริการรับรองสินค้าอาหารจำนวน ๑๐ รายมาร่วมงาน ได้แก้ Halal Food (๔ ราย) Organic Food (๔ ราย) และ Kosher (๔ ราย)

๓. ผู้เข้าชมงาน

มีผู้เข้าชมงานจากทั่วโลกประมาณ ๒๑,๕๐๐ คน แยกเป็นผู้เข้าชมงานจากในประเทศจำนวน ๑๘,๗๐๐ คน และจากต่างประเทศ ๘๐ ประเทศทั่วโลก จำนวน ๒,๘๐๐ คน หรือคิดเป็นร้อยละ ๑๓ ของผู้เข้าชมงานทั้งหมด และจำแนกได้ ดังนี้

-  Research & Development           ร้อยละ 30         - Procurement               ร้อยละ 19
-  Food manufacturing               ร้อยละ 11         - Corporate management      ร้อยละ 9
-  Sales & Marketing                ร้อยละ 10         - College & University      ร้อยละ 6
-  Government & Other               ร้อยละ 5

๔.  สินค้าที่จัดแสดง

สินค้าและบริการที่นำออกแสดงในงานแยกเป็น ๕ หมวดใหญ่ ๆ โดยส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบส่วนผสมการผลิตอาหาร และ สินค้าปรุงรสชาติ ไม่มีอาหารสำเร็จรูป ดังนี้

๔.๑ Food Ingredients & Additive วัตถุดิบ ส่วนผสมอาหาร เครื่องเพิ่มรสชาติและ ปรุงรส ซึ่งจะนำไปใช้กับอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ได้แก่ ธัญพืช แป้งชนิดต่างๆ ผลไม้อบแห้งและถั่ว สีใส่อาหาร เครื่องเทศ น้ำตาล นม เนย ชีส น้ำผลไม้เข้มข้น สมุนไพรสกัด น้ำผึ้ง ผักและผลไม้กระป๋อง ชาและกาแฟ อาหารอินทรีย์ BioTech Food และ BioChemical Additive เป็นต้น สินค้าในกลุ่มนี้ คิดเป็นร้อยละ ๖๕ ของสินค้าที่นำมาจัดแสดงทั้งหมด

๔.๒ Laboratory Equipment & Instruments: เครื่องมือเครื่องใช้สำหรับห้อง ทดสอบ และวิเคราะห์อาหาร/และส่วนผสมอาหาร คิดเป็นร้อยละ ๑๐ ของสินค้าที่นำมาจัดแสดงทั้งหมด

๔.๓ Processing Equipments & Instruments: เครื่องมือเครื่องจักรใช้ในการ ผลิตและแปรรูปวัตถุดิบและส่วนผสมอาหาร คิดเป็นร้อยละ ๙ ของสินค้าที่นำมาจัดแสดงทั้งหมด

๔.๔ Packaging Equipments & Supplies: บรรจุภัณฑ์อาหาร และเครื่องมือผลิตบรรจุภัณฑ์ และฉลากสินค้า คิดเป็นร้อยละ ๖ ของสินค้าที่นำมาจัดแสดงทั้งหมด

๔.๕ Contract Service for Food Industry: บริการด้านรับทำสูตรผสมอาหาร การออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้า ข้อมูลการค้า ซอฟท์แวร์ สื่อและสิ่งพิมพ์ คิดเป็นร้อยละ ๕

6. ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

๖.๑ ผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศซึ่งเป็นคู่แข่งขันของไทย เช่น จีน ซึ่งมีผู้ส่งออกมาร่วมงานจำนวน ๑๖๖ ราย และกลุ่มลาตินอเมริกา นำผลิตภัณฑ์ในรูปวัตถุดิบและส่วนผสมอาหาร เช่น สมุนไพรสกัด ชา แซคคาริน ผักและผลไม้แห้ง สีใส่อาหาร ผลิตภัณฑ์แป้ง วัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ และ Chemical Additives ในขณะที่กลุ่มผู้เข้าร่วมงานจากยุโรป เช่น แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และ เยอรมนี เน้นผลิตภัณฑ์ระดับ Upscale และเป็น Biotechnology

๖.๒ ปัจจุบัน กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้ปรับปรุง แก้ไขการให้คำแนะนำการโภชนาการอาหารใหม่ โดยการเปลี่ยนจาก คำแนะนำแบบ Food Pyramid ไปเป็นคำแนะนำแบบ "MyPlate" ซึ่งกำหนดสัดส่วนของอาหารที่ควรบริโภคในจาน โดยเน้นว่า อาหาร ครึ่งจานที่รับประทานควรจะเป็นผัก ผลไม้ น้ำผลไม้ และอีกครึ่งจาน ควรจะเป็นอาหารจำพวกธัญพืชและโปรตีนที่ไม่มีไขมัน ซึ่งจะมีผลต่อ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้บริโภคอเมริกันใน การสร้างนิสัยการบริโภคเพื่อสุขภาพ ซึ่งทั้งผู้เข้าร่วมงานและผู้เข้าชมงานให้ความสนใจต่อสินค้าอาหารที่สอดคล้องกับคำแนะนำ "MyPlate" ดังนั้น ผู้ผลิต/ส่งออกไทยควรนำ "MyPlate" มาเป็นโอกาสและลู่ทางการขยายตลาดสินค้าอาหารของไทยในสหรัฐฯ โดยการนำสินค้าไทยมาเสนอตัวในงานแสดงสินค้า IFT Annual Meeting + Food Expo

๖.๓ สคร.ชิคาโกมีความเห็นว่าประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบและส่วนผสมใช้ในการผลิตอาหาร ที่สำคัญ สินค้ามีคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งมีสินค้าหลายชนิดที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตและมีความเหมาะสมที่จะนำไปจัดแสดง เผยแพร่ และขยายตลาดส่งออกได้ในงาน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แป้ง และ ธัญพืช Modified Starch ธัญพืชต่างๆ ผัก/ผลไม้อบแห้ง (Dehydrated) น้ำผลไม้ (หัวเชื้อ)สมุนไพร และ เครื่องเทศ เป็นต้น

๖.๔ สคร.ชิคาโกพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า กรมฯ ควรพิจารณาเข้าร่วมงานแสดงสินค้า IFT Annual Meeting + Food Expo เพื่อ (๑) ใช้เป็นเวทีในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เพื่อชักชวนให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าวัตถุดิบและส่วนผสมใช้ในการผลิตอาหารจากประเทศไทย และ (๒) สร้างโอกาสและช่องทางการขยายตลาดสินค้าให้แก่ผู้ผลิต/ส่งออกไทย และ (๓) เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะดำเนินการได้เป็น ๒ รูปแบบ คือ

๑) จัดคูหาประชาสัมพันธ์แบบ Showcase เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสินค้าวัตถุดิบและส่วนผสมใช้ในการผลิตอาหาร และชักชวนภาคเอกชนและสมาคมเกี่ยวกับสินค้าอาหาร เช่น สถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย นำสินค้าไปจัดแสดง พบกลุ่มเป้าหมาย และ ให้ข้อมูลกาค้า

๒) ผู้ผลิต/ส่งออกไทยสินค้าวัตถุดิบและส่วนผสมใช้ในการผลิตอาหารของไทยที่สนใจขยายตลาดไปยังสหรัฐฯ อาจรวมกลุ่มเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการส่งออกในการไปร่วมงาน IFT Annual Meeting + Food Expo ในอนาคต

อนึ่ง งานแสดงสินค้า IFT Annual Meeting + Food Expo ซึ่งในครั้งต่อไปจจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๕-๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๕ ณ เมืองลาสเวกัส และ ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ณ นครชิคาโก

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ