ชาวญี่ปุ่นรู้ว่าประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตผลไม้รสชาติอร่อยหลากหลายชนิด แต่ผลไม้สดที่ไทยสามารถส่งออกไปญี่ปุ่นได้ ก็ยังคงมีเพียง 6 ชนิด ได้แก่ มะม่วง (5 สายพันธุ์ ประกอบด้วย หนังกลางวัน พิมเสน แรด น้ำดอกไม้ และมหาชนก) มังคุด ทุเรียน มะพร้าวอ่อน กล้วย และสับปะรด ในอดีตผลไม้ของไทยสามารถผลิตและส่งออกได้ในช่วงเวลาค่อนข้างจำกัด บางปีผลผลิตน้อย ก็ทำให้ผลไม้ของไทยห่างหายไปจากตลาด แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาพันธุ์และเทคนิกการผลิตที่ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดได้ยาวนานขึ้น การตรวจคัดและควบคุมคุณภาพที่เข้มงวดในสวนของเกษตรกรและผู้ส่งออก ตลอดจนเทคโนโลยีการเก็บรักษา และความรวดเร็วในการขนส่ง ช่วยให้ผู้ซื้อมั่นใจในมาตรฐานและคุณภาพของผลไม้ไทย ความนิยมบริโภคและการส่งออกจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันผลไม้ไทยเริ่มแพร่กระจายจากเมืองหลักๆ ที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งเข้าไปยังผู้บริโภคในท้องถิ่นห่างไกล โดยเฉพาะมะม่วง และมังคุด ซึ่งมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการควบคุมคัดเลือกผลไม้ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และการรักษาคุณภาพที่สามารถคงความสวยงามของผิวภายนอกและรสชาติ ทำให้สามารถขนส่งได้ยาวนานขึ้นโดยยังคงความสดใหม่ มะม่วงของไทยที่ชาวญี่ปุ่นรู้จักและนิยมรับประทาน ได้แก่ พันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง และพันธุ์มหาชน มะม่วงทั้งสองพันธุ์จึงเปรียบเสมือนดาวรุ่งของผลไม้ไทยที่ผู้ค้าต่างก็ต้องการนำเข้าไปวางขาย เมื่อชาวญี่ปุ่นเริ่มรู้จักผลไม้สด ก็มักจะคิดถึงวิธีการแปรรูปเป็นอาหาร ทั้งของหวานและของคาว ตลาดของผลไม้จึงไม่ได้จำกัดเพียงการขายเป็นผลไม้สด แต่รวมถึงผลไม้แปรรูป แช่แข็ง และอาหารสำเร็จรูปจากมะม่วง การคิดค้นวิธีเพิ่มมูลค่าของผลไม้ด้วยการสร้างความแตกต่าง และยกระดับคุณภาพก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยสร้างความโดดเด่นและเพิ่มราคาขาย
ล่าสุด Comme Ca Co., Ltd (www.cafe-commeca.co.jp) ได้นำดนตรีคลาสสิกมาเชื่อมโยงกับอาหาร โดยทดลองนำมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้และพันธุ์มหาชนกที่ส่งมอบถึงญี่ปุ่นเข้าเก็บในห้องเย็นที่เปิดดนตรีของ Mozart บ่มเพาะในช่วงรอจำหน่าย พบว่า รสชาติของมะม่วงอร่อยขึ้น และสามารถลดเน่าเสียของมะม่วงลงอย่างเห็นได้ชัด
บริษัทได้เริ่มจำหน่าย Thai Mozart Mango โดยนำมาผลิต Tart มะม่วง ตกแต่งอย่างสวยงาม จำหน่ายแก่ผู้บริโภคใน Berry Cafe' ของบริษัทซึ่งมีอยู่มากกว่า 20 แห่งในกรุงโตเกียว ในราคาที่สูงกว่าผลไม้ปกติ ถือว่าเป็นกลยุทธ์การตลาดใหม่ และเป็นรายแรกที่โยงเรื่องราวของดนตรี เข้ากับอาหาร เน้นคุณภาพ และสร้างความแตกต่าง
Mozart Thai Mango มียอดขายเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าผลไม้ทั่วไป แต่ก็เป็นที่สนใจของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มสตรี และผู้สูงอายุ Berry Cafe' ได้รับความนิยมใช้เป็นสถานที่พักผ่อนและพบสังสรรในกลุ่มเพื่อนฝูง บริษัทจึงมีแผนการจะนำผลไม้ชนิดอื่นเข้าทดลอง สำนักงานส่งเสริมการค้า ณ กรุงโตเกียวจึงได้แนะนำสับปะรดพันธุ์ภูแล และนางแล ซึ่งมีขนาดเล็ก รสชาติกรอบอร่อย ซึ่งบริษัทก็สนใจและจะเริ่มทำการทดลอง โดยจะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อพบกับผู้ผลิตผลไม้และหารือถึงการพัฒนา Mozart Thai Pineapple จากนี้ไปอาจจะมีผลไม้ไทยอีกหลายชนิดที่ได้รับเลือกให้เข้าฟังดนตรีก่อนขายไปยังผู้บริโภคในญี่ปุ่น
โดยทั่วไป ความต้องการบริโภคผลไม้เมืองร้อนในญี่ปุ่นจะสูงขึ้นหลังฤดูหนาวเมื่ออากาศเริ่มอุ่น จนถึงฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม-กันยายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูผลิตของผลไม้หลายชนิด บวกกับลักษณะเด่นของผลไม้เมืองร้อนที่ส่วนใหญ่มีรสชาติหวาน อมเปรี้ยว มีส่วนประกอบของน้ำผลไม้มาก จึงให้ความรู้สึกสดชื่นและให้พลังชาวญี่ปุ่นบริโภคผลไม้สดปีละ 5 - 6 ล้านตัน แต่ผลิตผลไม้ภายในประเทศได้เพียงประมาณ 3-4 ล้านตันต่อปี จึงต้องนำเข้าผลไม้สดจากต่างประเทศถึงปีละ 1.8-2.0 ล้านตัน ในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 70 เป็นการนำเข้าผลไม้เมืองร้อน ซึ่งญี่ปุ่นผลิตได้เพียงน้อยชนิดและผลผลิตก็มีค่อนข้างจำกัด ชนิดของผลไม้เมืองร้อนที่ชาวญี่ปุ่นรู้จัก และนิยมบริโภค ตามลำดับ ได้แก่ กล้วย สับปะรด มะม่วง ส่วนผลไม้อื่นๆ ที่เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น มังคุด ทุเรียน แก้วมังกร ลิ้นจี่ มะเฟือง
ในปี 2553 ญี่ปุ่นนำเข้าผลไม้เมืองร้อนจำนวน 1.263 ล้านตัน มูลค่า 989.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการนำเข้าจากไทย 4,151.6 ตัน มูลค่า 12.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ชนิดผลไม้ที่นำเข้าจากไทยตามลำดับ ได้แก่ กล้วย จำนวน 2,159.8 ตัน, มะม่วง จำนวน 1,519.6 ตัน มะพร้าว 227.2 ตัน, ทุเรียน 133.3 ตัน, มังคุด 111.7 ตัน ผลไม้ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 1.25 % ของมูลค่านำเข้ารวม
ภายใต้ JTEPA ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่พฤศจิกายน 2550 ญี่ปุ่นลดภาษีนำเข้าทุเรียน มะม่วง มังคุดและมะพร้าวเหลือ 0% ให้โควต้านำเข้าปลอดภาษีสำหรับกล้วยในปี 2550 (แรกที่ความตกลงเริ่มบังคับใช้) จำนวน 4,000 ตันและทะยอยเพิ่มเป็น 8,000 ตันภายใน 5 ปี การนำเข้าส่วนที่เกิน เก็บภาษีนอกโควต้าร้อยละ 10 ระหว่างเดือนเมษายน-กันยายน และร้อยละ 20 ระหว่างเดือนตุลาคม-มีนาคม นอกจากนี้ได้ให้โควต้าปลอดภาษี สำหรับการนำเข้าสับปะรด ที่มีขนาดไม่เกิน 900 กรัม จำนวน 100 ตันในปีแรก และเพิ่มเป็น 500 ตันภายใน 5 ปี อัตรานอกภาษีเก็บร้อยละ 17 การเปิดตลาดดังกล่าวจึงยิ่งเพิ่มอำนาจการแข่งขันและขยายโอกาสให้แก่ผลไม้สดจากของไทยในญี่ปุ่นยิ่งขึ้น
ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญสูงสุดเรื่องความปลอดภัยของอาหารและคุณภาพ แม้จะเป็นประเทศที่มีกฎระเบียบเข้มงวดแต่ผลไม้ไทยก็ประสบความสำเร็จและมีภาพลักษณ์ที่ดีซึ่งควรต้องรักษาไว้ นอกจากนี้ แนวโน้มการบริโภคของชาวญี่ปุ่นที่ใส่ใจต่อสุขภาพทำให้มีการใช้ผลไม้เป็นส่วนผสมของอาหารมากชนิดขึ้น บริษัทนำเข้าหลายรายจึงมองหาและต้องการนำเข้าผลไม้แปรรูป เช่น ผลไม้ตากแห้งหรืออบแห้ง (Freeze dry fruit) สำหรับทานเป็นของว่าง ผลไม้แห้งสำหรับใช้เป็นส่วนผสมของอาหารแปรรูป เช่น ผลิต fruit bar, dietary food ผลไม้ที่ญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้นำเข้าในรูปผลสด จะสามารถส่งออกได้เมื่อแปรรูป จึงเชื่อว่าผลไม้แปรรูปน่าจะเป็นตลาดใหญ่ที่มีอนาคตสดใสไม่แพ้ผลไม้สด
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
ที่มา: http://www.depthai.go.th