รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าภูมิภาคเอเชียตะวันออก ประเทศญี่ปุ่น(โตเกียว) (มิถุนายน 2554)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 5, 2011 14:37 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้า

1. ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าในเดือนพฤษภาคม 853.7 พันล้านเยน โดยเป็นการขาดดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองหลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่ในเดือนมีนาคมได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน

2. การส่งออกของญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคม ยังคงลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สามนักวิเคราะห์คาดว่าการส่งออกของญี่ปุ่นจะกลับเข้าสู่ระดับเดียวกับภาวะก่อนเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติในช่วง ตุลาคม-ธันวาคม 2554

3. อย่างไรก็ดี ผลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มปรากฎสัญญาณการฟื้นตัวโดยเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 จากเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 88.8 ของผลผลิตก่อนเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ ซึ่งได้รับแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของการผลิตในหมวดยานยนต์และอุปกรณ์การขนส่งที่หลังจาก บ.ผู้ผลิตรถยนต์เร่งแก้ปัญหา supply-chain disruption ทำให้การผลิตกลับมาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 36.4 และหมวดสารสนเทศและอิเล็คทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในเดือนมิถุนายน แต่คาดว่าจะชะลอตัวลงในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากแผนการประหยัดพลังงานเพื่อหลีกเลี่ยงการประสพภาวะพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอในฤดูร้อน

4. รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดเป้าหมายให้ภาคเอกชนและครัวเรือนลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลง 15 เปอร์เซ็นต์ในฤดูร้อนนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะการขาดพลังงานไฟฟ้าหลังจากที่โรงงานนิวเคลียร์ที่ จ. ฟุกุชิมาได้รับความเสียหาย ในขณะที่โรงงานนิวเคลียร์ฮามะโอกะที่ จ.ชิซุโอกะ ถูกรัฐบาลสั่งปิดเนื่องจากนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ามีโอกาสถึง 84 เปอร์เซ็นต์ที่จะเกิดแผ่นดินไหวในอ่าวโตเกียวซึ่งใกล้กับโรงงานดังกล่าวมากจึงเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับฟุกุชิมา

5. กระแสการรณรงค์และจิตสำนึกประหยัดพลังงานของคนญี่ปุ่นหลังจากเกิดภาวะการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าอันเนื่องจากโรงงานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ได้รับความเสียหาย ซึ่งคาดว่าการขาดแคลนพลังงานจะสูงสุดในหน้าร้อนทำให้ยอดขายของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนเมษายนสูงขึ้นอย่างฉับพลันทั้งๆ ที่มาตรการกระตุ้นการซื้อของผู้บริโภคสิ้นสุดลงเมื่อเดือนมีนาคม ในขณะที่ สินค้าเสื้อผ้าประเภท ‘Biz polos’ เสื้อเชิ้ตที่ทำจากวัสดุชนิดเดียวกับโปโลเชิ้ต และกางเกง Chinos กลายเป็นสินค้าขายดี เนื่องจากหน่วยงานและบริษัทเอกชนอนุญาตให้สวมใส่ในที่ทำงานช่วงฤดูร้อนได้ เพื่อเป็นการประหยัดพลังงานจากการใช้ไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ ตามนโยบาย Cool Biz ของรัฐบาล

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ