“ส่งออก” ย้ำภายใต้นโยบายรัฐบาลใหม่ เร่งฟื้นฟูสถานภาพการค้าไทยบนเวทีโลกและตลาดอาเซียนส่งผลบวกการค้าชายแดนไทยกัมพูชา พร้อมเน้นดีไซน์และการสร้างแบรนด์ตลาดเอเซีย
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวถึงผลกระทบต่อสถานการณ์การค้าชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชาว่า ปัจจุบันการการค้าระหว่างไทยกัมพูชา ยังไม่ได้มีผลกระทบใดๆ จากปัญหาความขัดแย้งบริเวณพื้นที่รอบเขาพระวิหารและด่านการค้าชายแดน โดยผู้ส่งออกไทย ผู้นำเข้ากัมพูชา และผู้บริโภคตามแนวชายแดนแยกแยะปัญหาชายแดนกับการค้าได้ และไม่ได้นำมาเชื่อมโยงกันให้เป็นปัญหาแต่อย่างใด โดยนโยบายของรัฐบาลใหม่จะมุ่งเน้นการเร่งฟื้นฟูสถานภาพการค้าบนเวทีโลกและเวทีอาเซียนซึ่งจะส่งผลบวกต่อการค้าชายแดนไทยกัมพูชา
"ทั้งสองประเทศยังคงต้องทำการค้าระหว่างกัน ดังนั้นภาครัฐและเอกชนจะต้องทำงานร่วมกันภายใต้นโยบายของรัฐบาลใหม่ในการบริหารความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และต้องเร่งทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการของไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SMEs ให้เข้าใจว่ารวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ซึ่งมีผลผูกพันธ์ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมในภูมิภาค โดย AEC ไม่ใช่ส่งผลดีแค่การส่งออกและนำเข้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเคลื่อนย้ายทุนและแรงงานในภูมิภาค ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ โดยในเดื่อนพฤษภาคมที่ผ่านมาไทยมีมูลค่าการส่งออกไปกัมพูชาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28.6 คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 7,228 ล้านบาท " นางนันทวัลย์ กล่าว
ในด้านภาพรวมตลาดเอซียนางนันทวัลย์ กล่าวว่า ตลาดที่เราสนใจมีอัตราการขยายตัวที่ค่อนข้างสูงทั้ง จีน อินเดีย อาเซียน โดยจีนคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในปีนี้กว่าร้อยละ อินเดียขยายตัวประมาณร้อยละ 8 อาเซียนขยายตัวประมาณกว่าร้อยละ 5 สามตลาดนี้เศรษฐกิจยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางกรมฯ จะมุ่งเน้นเจาะตลาดให้มากขึ้นรวมถึงตลาดที่เราได้ทำเอฟทีเอแล้ว (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีอินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) ก็จะบุกให้มากขึ้น ส่วนตลาดใหม่อื่นๆ อย่างแอฟริกาลาตินอเมริกาและตะวันออกกลางก็จะให้ความสำคัญเพราะตลาดเหล่านี้กำลังเติบโตและเอกชนก็ให้ความสนใจนอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกในเรื่องราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกสูงจะทำให้เราได้ประโยชน์ในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร” นางนันทวัลย์ กล่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม จาการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่า หลายประเทศที่เป็นตลาดหลักของไทยคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลง เช่น สหรัฐอเมริกาจากต้นปีคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 3 ล่าสุดลดลงเหลือเพียงร้อยละ 2.5 ญี่ปุ่นจากร้อยละ 1.6 เป็นร้อยละ 0.7 ส่วนตลาดในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ประเทศโปรตุเกส ไอร์แลนด์ ที่ยังประสบปัญหาทางด้านการเงิน
นางนันทวัลย์ กล่าวต่อว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง 2554 ทางกรมฯ เน้นการสนับสนุนผู้ประกอบการในการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า การออกแบบดีไซน์และการสร้างแบรนด์เป็นพิเศษ เนื่องจากการแข่งขันในตลาดโลกที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทำให้สินค้าไทยเวลานี้ต้องมีจุดขายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและยั่งยืน ซึ่งกิจกรรมที่ผ่านมาทางกรมฯ ได้นำผู้ประกอบการเสื้อผ้าที่มีแบรนด์เป็นของตัวเองไปเข้าร่วมงานแฟร์เฉพาะสินค้าที่มีแบรนด์ในต่างประเทศ การนำผู้เชี่ยวชาญของแบรนด์เสื้อผ้าดังๆ ในประเทศอเมริกามาให้คำปรึกษาผู้ประกอบการไทยในการสร้างแบรนด์ซึ่งขณะนี้มีถึง 6 แบรนด์ของไทยที่สามารถพัฒนาและเข้าไปเปิดช็อปขายในอเมริกาได้แล้ว
“ยอมรับว่าสถาณการณ์การค้าโลกยังไม่น่าไว้ใจเพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก แต่ทางกรมฯ ได้แจ้งไปยังสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคร.) 65 แห่งทั่วโลก และเอกชนในทุกกลุ่มสินค้าว่าแม้โครงการที่ไม่อยู่ในแผนงานแต่หากทางสคร. และเอกชนเห็นลู่ทางขยายตลาดหรือความจำเป็นเร่งด่วนอยากจะทำ ทางกรมฯ ก็มีความยินดีที่จะสนับสนุน” นางนันทวัลย์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: http://www.depthai.go.th