รายงานภาวะเศรษฐกิจและการค้าของกรีซประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 14, 2011 13:53 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของกรีซยังคงไม่กระเตื้องขึ้น โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติกรีซ (ELSTAT) ได้รายงานข้อมูลตัวเลขของเศรษฐกิจกรีซ ดังนี้

๑.๑ GDP ในไตรมาสแรกของปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๔๑,๖๕๑ ล้านยูโร ขยายตัวเพิ่มขึ้น +๐.๒% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราการขยายตัวลดลง -๕.๕%

             ๑.๒ ภาวะเงินเฟ้อ ในเดือนพ.ค. ๕๔ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย +๐.๒% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น         +๓.๓% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

๑.๓ การบริโภค ในเดือนมี.ค. ๕๔ ลดลง -๑.๙% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลง -๑๕.๕% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

๑.๔. การผลิตภาคอุตสาหกรรม ในเดือนเม.ย.๕๔ ลดลง - ๗.๕% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และลดลง -๑๑% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

๑.๕ ดัชนีราคาผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม (Producer Price Index) ในเดือนพ.ค.๕๔ เพิ่มขึ้น ๗.๓% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และลดลง -๑.๓% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

๑.๖ ดัชนีมูลค่าการค้าในธุรกิจค้าปลีก (Turnover index in retail trade) ในเดือนเม.ย. ๕๔ (ไม่รวมน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์) ลดลง -๕.๙% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน โดยลดลงในสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ, ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมและเครื่องสำอางค์, เสื้อผ้าและรองเท้า, เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ในบ้าน ส่วนสินค้าที่ดัชนีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต, ห้างดีพารท์เมนท์สโตร์, น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์, หนังสือ/ เครื่องเขียน เครื่องใช้สำนักงาน

๑.๗ ดัชนีมูลค่าการค้าภาคอุตสาหกรรม (ทั้งภายในประเทศ และในต่างประเทศ) ในเดือนเม.ย.๕๔ เพิ่มขึ้น ๑๐.๒% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (เดือนเม.ย.๕๓ เพิ่มขึ้น ๑.๖%) ดัชนีมูลค่าในการค้าอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ย ๑๒ เดือน ตั้งแต่เดือนพ.ค. ๕๓ -เม.ย. ๕๔ เพิ่มขึ้น ๗.๓% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และในเดือนเม.ย.๕๓ ดัชนีมูลค่าการค้าเฉลี่ยเท่ากับ ๑๔.๗%

๑.๘ ดัชนีราคานำเข้าสินค้า ในเดือนเม.ย. ๕๔ เพิ่มขึ้น ๐.๘% จากเดือนมี.ค.๕๔ โดยเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อน เพิ่มขึ้น ๑.๕% ทั้งนี้เกิดปรากฏการณ์ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นที่เรียกว่า "เงินเฟ้อการนำเข้า" (โดยดัชนีราคานำเข้าจากประเทศในสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้น ๒.๐% และจากประเทศอื่นเพิ่มขึ้น ๑๓.๕%

๑.๙ ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ภาคอุตสาหกรรม ในเดือนเม.ย.๕๔ ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ๒.๒% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (เดือนเม.ย.๕๓เพิ่มขึ้น ๑.๖%) ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่เฉลี่ย ๑๒ เดือน (พ.ค.๕๓-เม.ย.๕๔) เพิ่มขึ้น ๔.๖% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า และในเดือนเม.ย.๕๓อัตราเฉลี่ยดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ เท่ากับ ๑๗.๙%

๑.๑๐ การขาดดุลการค้า

                        เม.ย. ๕๔            % เปลี่ยนแปลง        ม.ค.-เม.ย. ๕๔             % เปลี่ยนแปลง
                         (ล้านยูโร)           (เม.ย. ๕๔/๕๓)         (ล้านยูโร)            (ม.ค.-เม.ย. ๕๔/๕๓)
          ดุลการค้า         ๑,๒๒๐.๖               -๓๑.๑%             ๕,๘๒๘.๓                  -๓๒.๙%
                       (ปี ๕๓ = ๑,๗๗๐.๖)                        (ปี๕๓ = ๘,๖๘๘.๒)
          การนำเข้า        ๒,๔๘๘.๔               -๑๕.๗%             ๑๐,๗๖๒.๓                 -๑๗.๙%
          (ไม่รวมน้ำมัน)  (ปี ๕๓ = ๒,๙๕๐.๘)                        (ปี๕๓ = ๑๓,๑๑๒.๙)
          การส่งออก        ๑,๒๖๗.๘                +๗.๔%              ๔,๙๔๓.๐                  +๑๑.๕%
          (ไม่รวมน้ำมัน)  (ปี ๕๓ = ๑,๑๘๐.๒)                        (ปี๕๓ = ๔,๔๒๔.๗)

๒. กระทรวงการคลังกรีซได้รายงานว่าในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. ๒๕๕๔ กรีซขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐.๒๗๕ พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากเป้าหมายเดิม ๙.๐๗๒ พันล้านยูโร (ช่วงเดียวกันปีก่อนขาดดุล ๙.๑ พันล้านยูโร) เงินรายได้ของรัฐลดลง ๑.๙๓๖ พันล้านยูโร ในขณะที่รายจ่ายลดลง ๗๓๔ ล้านยูโร โดยเฉพาะในเดือนพ.ค.๕๔ รายได้จากงบประมาณปรกติคือ เงินคืนภาษีก่อนหัก (pre-tax return) เพิ่มขึ้น ๔.๗% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (ซึ่งมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น ๑.๓%) ในขณะที่รายได้สุทธิในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค.๕๔ ลดลง ๗.๑% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ทั้งนี้ การที่รายได้ลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำมากในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๕๓ การไม่เก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถยนต์ การลดภาษีรายได้ที่เป็นลาภลอย (withhold) ให้ต่ำลงและเพิ่มการเก็บภาษีอื่นๆให้มากขึ้น ทั้งนี้ในเดือนพ.ค. ๕๔ รายจ่ายงบประมาณปรกติเพิ่มขึ้น ๖.๔% (โดยมีรายจ่ายพื้นฐานเพิ่มขึ้น ๔.๓% ในขณะที่รายจ่ายจากโครงการการลงทุนสาธารณะลดลง ๔๗.๓%)

๓. คณะกรรมาธิการยุโรปได้รายงานการคาดการณ์ภาวะการจ้างงานในสหภาพยุโรปว่าโอกาสของการจ้างงานในภาคเอกชนที่ค่อนข้างต่ำ และการชะลอการจ้างงานรวมทั้งการลดระยะเวลาจ้างงานในภาคราชการ จะส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมากกว่า ๑๕% ของกำลังแรงงานในปี ๒๕๕๕ นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำว่าสถานการณ์ที่ย่ำแย่ของตลาดแรงงานประกอบกับการลดค่าจ้างแรงงานอย่างต่อเนื่องจะทำให้ความสามารถในการหารายได้ในระยะกลางลดลง และส่งผลให้ความต้องการที่แท้จริงภายในประเทศลดลง รวมทั้ง ความไม่แน่นอนด้านภาษีที่ยังคงมีต่อเนื่องก็จะส่งผลกระทบให้ความต้องการบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศหดตัวลงตามไปด้วย ข้อมูลจาก ELSTAT ปรากฎว่าในเดือนมี.ค.๕๔ การจ้างงานในกรีซลดลง ๕.๔% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหรือมีจำนวนคนจ้างงานสูงถึง ๘๑๑,๐๐๐ คน นอกจากนี้คณะกรรมาธิการยุโรปยังได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจกรีซในปี ๒๕๕๔ จะหดตัวลง ๓.๕% และจะสามารถฟื้นตัวได้ในช่วง ไตรมาสสุดท้ายของปี ๕๔ หรืออาจเห็นได้ชัดเจนหลังจากปี ๒๕๕๕

๔. บริษัท Manpower กล่าวว่า จากการสำรวจในผู้ใช้แรงงงานจำนวน ๗๕๑ คนทั้งในภาครัฐและเอกชน ผู้ใช้แรงงานในกรีซยังคงมองไม่เห็นอนาคตในตลาดแรงงานกรีซ ในช่วงไตรมาสที่ ๓ของปี ดัชนีการจ้างงานในกรีซยังคงลดลง -๕% ขยับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่ยังคงที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ผลสำรวจพบว่าผู้ใช้แรงงาน ๑๒% คาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ผู้ใช้แรงงาน ๑๗% คาดว่าจะลดลง และอีก ๖๙% คาดว่าไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง บริษัท Manpower กล่าวว่า ดัชนีการว่างงาน -๕% แม้ว่าจะมีการจ้างงานใหม่มาให้เห็นในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๕๔ ก็ตาม ในส่วนภาคการท่องเที่ยวมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ๓% ขณะที่ภาครัฐและเอกชนอื่นลดลง -๑๓% โดยการจ้างงานทางตอนเหนือของกรีซมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แม้ว่าจะอยู่ในภูมิศาสตร์ที่แย่กว่า ขณะที่แคว้น Attica (รวมเอเธนส์) ดัชนีการจ้างงานในไตรมาสถัดไปจะลดลง -๕%

๕. สถาบัน "Great Place to work" ได้ประกาศผล ๑๐๐ บริษัทที่มีบรรยากาศน่าทำงานที่สุดในยุโรปประจำปีนี้ ปรากฎว่า มีบริษัทในกรีซ ๕ บริษัทได้รับรางวัลได้แก่ บริษัทยา Amgen, บริษัท3M, บริษัทTasty foods, บริษัทAccenture และ บริษัทMedtronic พิธีมอบรางวัลจัดขึ้นที่ปารีสเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยรางวัลดังกล่าวเป็นการคัดเลือกจากการสำรวจความคิดเห็นของคนทำงาน ๑.๕ ล้านคน จาก ๑,๓๘๐ บริษัทคุณภาพทั่วยุโรป มีบริษัท Multinational ๒๕ บริษัท บริษัทขนาดใหญ่ (มีพนักงานกว่า ๕๐๐ คน) ๒๕ บริษัท และ บริษัท SME (มีพนักงาน ๕๐-๕๐๐ คน) อีก ๕๐ บริษัทที่ได้รับเกียรติได้รางวัลนี้ ถึงแม้เศรษฐกิจกรีซจะซบเซาแต่บริษัทจำนวน ๕ บริษัทที่ได้รับรางวัลยังคงเปิดรับบุคลากรอย่างต่อเนื่องภายในช่วงปีที่ผ่านมาและเปิดการจ้างงานเพิ่ม ๑๔,๐๐๐ ตำแหน่ง

๖. สหภาพแรงงานกรีซ (GSEE : the General Confederation of Workers of Greece) เรียกร้องให้ผู้บริโภคกรีซเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศ และได้เข้าร่วมการเดินขบวน "เราบริโภคสิ่งที่เราผลิต" เพื่อเรียกร้องให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่สนับสนุนสินค้ากรีซ รวมทั้งประกาศว่า ในช่วงที่ประเทศกำลังประสบความยากลำบากประชาชน กรีซจะต้องสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลาง-ย่อม กลุ่มหัตถกรรม ผู้ผลิต การท่องเที่ยวของกรีซ เพื่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น

๗. นายกรัฐมนตรีของกรีซ (นาย Papandreou) ได้ออกมาขอร้องให้ผู้ที่ออกมาต่อต้านนโยบายที่รัฐบาลจะสร้างแหล่งพลังงานเลิกประท้วง เนื่องจากการลงทุนสร้างแหล่งพลังงานทดแทนจะช่วยกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจ และปัญหาการว่างงานของกรีซได้อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยกล่าวว่าภายในปี ๒๐๒๐ กรีซจะสร้างงานเพิ่มได้ ๑๐๐,๐๐๐ ตำแหน่ง จากการลงทุนในแหล่งพลังงานดังกล่าว รูปแบบการผลิตของกรีซจะสร้างมูลค่าถึง ๑๖.๔ พันล้านยูโร ภายในทศวรรษหน้า และการเชื่อมต่อแหล่งพลังงานระหว่างเกาะและภาคพื้นทวีปถูกประเมินไว้ประมาณ ๔-๕ พันล้านยูโร ในขณะบริษัทต่างชาติและบริษัทกรีซกว่า ๒๒ ราย ให้ความสนใจลงทุนในโครงการสร้างแหล่งพลังงานขนาดยักษ์ ๒๐๐MW ใน Kozani และได้กล่าวอีกว่า การปกป้องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างระบบเศรษฐกิจที่ดีที่รัฐบาลกำลังพยายามทำอยู่ขณะนี้ ประเทศกำลังพัฒนาควรช่วยกันลดปัญหาการปล่อย Co2 ออกสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียอันร้ายแรงตามมา

๘. Moody's ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของกรีซลง ๓ จุด จากระดับ B1 เป็น Caa1 เนื่องจากยังคงมีทัศนะในทางลบต่อการแก้ปัญหาทางการคลังของกรีซ โดยเชื่อว่ารัฐบาลกรีซไม่สามารถชำระหนี้กู้ยืมได้ตามกำหนด รัฐบาลกรีซไม่สามารถตรึงจำนวนหนี้สินตามเวลาที่ได้ประกาศไว้ในแผนงบประมาณ และเห็นว่าประเทศในกลุ่ม Caa1 กว่าครึ่งจะสามารถชำระหนี้ตามกำหนดจากการรับความช่วยเหลือของสถาบันต่างๆ ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งไม่สามารถชำระหนี้ได้ ทำให้รัฐมนตรีการคลังกรีซโต้ตอบการปรับลดระดับดังกล่าวว่า เป็นเพียงข่าวลือในสื่อสิ่งพิมพ์และ Internet เพราะรัฐบาลจะได้รับเงินกู้ยืมงวดที่ ๕ มูลค่า ๑๒ พันล้านยูโรในเดือน มิ.ย. นี้ หลังจากที่ Eu, IMF พิจารณาเห็นความน่าเชื่อถือของการแก้วิกฤติเศรษฐกิจของรัฐบาลกรีซ และอาจจะให้เงินกู้ยืมเพิ่มเติมเพื่อการลงทุนในตลาดพันธบัตรที่กรีซได้กู้อัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกรีซประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระดับที่น่าพึงพอใจ

นอกจากนี้ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch ได้ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของกรีซในระยะยาวจาก BB+ เป็น B+ โดยให้เหตุผลว่ากรีซยังคงประสบปัญหาในการดำเนินการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ

๙. สมาพันธ์ผู้ค้าและผู้ผลิตขนาดย่อมของกรีซ (GSEBEE) ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี Papandreou ร้องขอให้ยกเลิกการปรับขึ้นภาษี VAT จาก ๑๓% เป็น ๒๓% เพราะจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการให้บริการ Catering ซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ ราย และลูกจ้างกว่า ๖๐๐,๐๐๐ คน เนื่องจากมาตรการดังกล่าวไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง และยังนำธุรกิจเหล่านี้ไปสู่จุดจบอีกด้วย

๑๐. รัฐบาลกรีซได้เสนอกรอบยุทธศาสตร์งบประมาณระยะกลาง (๕ ปี) ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจกรีซต้องเผชิญมาตรการเข้มงวดและรุนแรงรอบใหม่โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดเก็บรายได้ให้ได้ ๒๘.๒๕๙ พันล้านยูโรภายในปี ๒๕๕๘ (แยกเป็นปี ๒๕๕๔ จำนวน ๖.๕ พันล้านยูโร หรือ ๒๓.๑% ของรายได้ทั้งหมด, ปี ๒๕๕๕ จำนวน ๖.๘ พันล้านยูโรหรือ ๒๔%, ปี ๒๕๕๖ จำนวน ๕.๒ พันล้านยูโร หรือ ๑๘.๕%, ปี ๒๕๕๗ จำนวน ๕.๔ พันล้านยูโรหรือ ๑๙.๓% และปี ๒๕๕๘ จำนวน ๔.๓ พันล้านยูโร หรือ ๑๕.๑% ของรายได้ทั้งหมด ทั้งนี้ รวมถึงโครงการแปรรูปวิสาหกิจมูลค่า ๕๐ พันล้าน ยูโรและการออกแผนมาตรการภาษีที่คาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้ ๖.๕ พันล้านยูโร (๗๐๐ ล้านยูโรมาจากการตัดลดโครงการลงทุนของภาครัฐ)

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังมีความไม่แน่ใจในด้านความสามารถชำระหนี้สาธารณะจำนวน ๓๔๐ พันล้านยูโรซึ่งมีขนาด ๑.๕ เท่าของผลผลิตทางเศรษฐกิจต่อปีของกรีซหรือคิดเป็นรายได้ประชากร (จำนวน ๑๑.๓ ล้านคน) ต่อหัวถึง ๓๐,๐๐๐ ยูโร

๑๑. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกรีซได้เปิดเผยแผนมาตรการภาษีที่คาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้ในปี ๒๕๕๔ จำนวน ๖.๕ พันล้านยูโร (นอกเหนือจากการตัดลดงบประมาณในปี ๒๕๕๔ เหลือเพียง ๑๔.๘ พันล้านยูโรแล้ว) ซึ่งจะต้องเสนอผ่านความเห็นชอบต่อรัฐสภา ดังนี้

๑) การตัดลดค่าลดหย่อนภาษีรายได้ต่อปีจาก ๑๒,๐๐๐ ยูโร เป็น ๖,๐๐๐ ยูโร

๒) เพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของสินค้าและบริการ (รวมถึงร้านอาหาร, ร้านขายขนม และคาเฟทีเรีย) จาก ๑๓% เป็น ๒๓% ในปี ๒๕๕๔ (ลดลงเหลือ ๒๐% ในปี ๒๕๕๖)

๓) เพิ่มภาษีท้องถนนที่ต้องชำระภายในสิ้นปีเป็น ๒๐%

๔) ลดจำนวนเพดานการยกเว้นภาษีสำหรับอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่จากเดิมเป็น ๓๐๐,๐๐๐ ยูโร

๕) เก็บภาษีสรรพสามิตพิเศษจากเครื่องดื่ม, ก๊าซธรรมชาติ และบุหรี่ราคาถูก

๖) เก็บภาษีจากทรัพย์สินประเภทบ้านพักที่มีมูลค่าสูงกว่า ๓,๐๐๐ ยูโรต่อตารางเมตร (โดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของการก่อให้เกิดมูลค่าทรัพย์สินนั้น)

๗) เก็บภาษีจากรถยนต์ประเภทหรูหรา (ขนาดมากกว่า ๓,๐๐๐ ซีซี) สระว่ายน้ำ และเรือยอร์ชส่วนตัว

๘) ขยายการตัดลดเงินเดือน และเงินบำนาญของเจ้าหน้าที่รัฐ (คาดว่าจะตัดลดงบประมาณได้ ๒.๕ พันล้านยูโร)

๙) เพิ่มการจ่ายเงินเข้ากองทุนสำหรับคนตกงานที่เรียกเก็บจากภาครัฐและเอกชนที่มีรายได้สูงซึ่งรวมถึงการเก็บเพิ่ม ๘% จากรายได้บำนาญตั้งแต่ ๑,๗๐๐ ยูโรขึ้นไปที่จ่ายให้คนที่มีอายุน้อยกว่า ๖๐ ปี

๑๐) ตัดลดจำนวนเงินก้อนที่จ่ายให้แก่คนเกษียณอายุในภาครัฐ, องค์การด้านพลังงาน (DEH) และองค์การรถไฟ OSE ๑๐%

๑๑) ตัดลดจำนวนบำนาญลงระหว่าง ๒๐-๕๐% และระงับการจ่ายค่าประกันสังคม (รวมถึงผลประโยชน์ที่ให้แก่คนว่างงาน) โดยพิจารณาจากระดับรายได้เป็นเกณฑ์

๑๒) การแปรรูปวิสาหกิจและการควบรวมกิจการของรัฐที่มีอยู่ประมาณ ๗๕ แห่ง จำนวนคนทำงานรวม ๗,๐๐๐ คน (เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ได้ ๒.๗ พันล้านยูโร) โดยการไม่เลิกจ้างแต่ใช้วิธีปรับเปลี่ยนตำแหน่งงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

๑๓) เพิ่มเพดานรายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีรายได้สำหรับครอบครัวให้แก่ครอบครัวที่มีบุตร ๑ คน จำนวน ๒,๐๐๐ ยูโร ครอบครัวที่มีบุตร ๒ คน จำนวน ๔,๐๐๐ ยูโร ครอบครัวที่มีบุตร ๓ คน จำนวน ๑๒,๕๐๐ ยูโร และครอบครัวที่มีบุตรเกินกว่า ๓ คน จำนวน ๒,๕๐๐ ยูโร.

๑๔) เพิ่มการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากคนพิการ และภาษีรายได้ที่เป็นลาภลอยของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและอาจขยายให้ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงและระดับหัวหน้าขององค์กร หน่วยงานต่างๆที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาล

๑๒. ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของกรีซ

   รายการ                 มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)                   อัตราขยายตัว (ฑ%)
                   ปี๒๕๕๓          ปี ๒๕๕๓           ปี๒๕๕๔           ปี๕๓/๕๒          ปี๕๔/๕๓
                             (ม.ค. - มี.ค.)    (ม.ค.- มี.ค.)      (ม.ค.-มี.ค.)     (ม.ค.-มี.ค.)
 ดุลการค้า         -๒๙,๘๕๒         -๑๓,๐๑๒          -๗,๔๙๓          +๑๓.๑๖%         -๔๒.๔๑%
(Trade
balance)
 การส่งออก         ๒๑,๔๒๒           ๔,๗๑๒            ๖,๒๑๖          +๖.๒๑%         +๓๑.๙๑%
(Export)
 การนำเข้า         ๖๓,๒๖๒          ๑๗,๒๒๕           ๑๓,๗๑๐          +๒๔.๘๑         -๒๒.๖๕%
(Import)
หมายเหตุ ข้อมูลล่าสุดจาก World Trade Atlas

๑๑.๑ ปี ๒๕๕๔ (มกราคม - มีนาคม) กรีซมีมูลค่าการค้ารวม ๑๙,๙๒๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลง -๙.๑๖% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีมูลค่าการค้ารวม ๒๑,๙๓๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ แยกเป็นการส่งออกมูลค่า ๖,๒๑๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการนำเข้ามูลค่า ๑๓,๗๑๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้กรีซขาดดุล -๗,๔๙๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ

๑๑.๒ การส่งออก กรีซส่งออกสินค้าไปสหภาพยุโรปเกือบ ๕๐% โดยมีประเทศที่กรีซส่งออกสำคัญ ๑๐ อันดับแรก ได้แก่ อิตาลี (๑๑.๕๓%) เยอรมัน (สัดส่วน ๘.๘๘%) ไซปรัส (๗.๐๒%) ตุรกี (๖.๑๓%) บัลแกเรีย (๕.๙๐%) สหราชอาณาจักร (๔.๙๓%) ฝรั่งเศส (๓.๘๓%) สหรัฐอเมริกา (๓.๗๐%) โรมาเนีย (๓.๒๓%) และยิปรอลต้า (๒.๖๘%)

สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สินแร่และน้ำมัน อะลูมิเนียม โลหะและเหล็ก เครื่องจักรไฟฟ้า พลาสติก อาหารสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์ยา

๑๑.๓ การนำเข้า กรีซยังคงนำเข้าสินค้าจากประเทศในสหภาพยุโรปเป็นหลัก โดยมีประเทศที่กรีซนำเข้าสินค้า ๑๐ อันดับสำคัญ ได้แก่ เยอรมนี (สัดส่วน ๑๑.๔๒%) อิตาลี (๑๐.๒๑%) รัสเซีย (๗.๘๗%) จีน(๖.๙๔%) เนเธอร์แลนด์ (๕.๗๘%) ฝรั่งเศส (๕.๔๓%) เบลเยี่ยม(๔.๐๕%) สเปน (๓.๔๒%) เกาหลีใต้(๓.๒๘%) และ สหราชอาณาจักร (๓.๐๓%)

เป็นที่น่าสังเกตว่ากรีซนำเข้าจากจีนมากเป็นอันดับ ๔ (ไทยอันดับที่ ๔๑) และมีประเทศคู่แข่งของไทยที่สำคัญ ได้แก่ เกาหลีใต้ (อันดับที่ ๙ สัดส่วน ๓.๒๘) อินเดีย (อันดับที่ ๒๙ สัดส่วน ๐.๖๓) อินโดนีเซีย (อันดับที่ ๓๖ สัดส่วน ๐.๓๘) ไต้หวัน (อันดับที่ ๔๓ สัดส่วน ๐.๒๙) เวียดนาม (อันดับที่ ๔๗ สัดส่วน ๐.๒๒) และมาเลเซีย (อันดับที่ ๕๑ สัดส่วน ๐.๑๙) สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ สินแร่และน้ำมัน ผลิตภัณฑ์ยา เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักร เรือ ยานพาหนะ พลาสติก โลหะและเหล็ก Organic Chemical และเนื้อสัตว์

๑๓. การค้าไทย-กรีซ

๑๓.๑ ในช่วง ๕ เดือนแรกของปี ๒๕๕๔ (ม.ค.- พ.ค.) ไทยส่งออกสินค้าไปกรีซทั้งสิ้นมูลค่า ๗๔.๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -๒๕.๖๖% ซึ่งส่งออกมูลค่า ๑๐๐.๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สินค้าส่งออกสำคัญ ๕ อันดับแรกได้แก่ เม็ดพลาสติกมูลค่า ๑๐.๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๕๙๓.๙๕%) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบมูลค่า ๘.๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๗๐.๑๒%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบมูลค่า ๘.๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๕๑.๓๓%) รถยนต์อุปกรณ์และและส่วนประกอบมูลค่า ๔.๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๘๗.๕๕%) และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปมูลค่า ๔.๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๓๙.๙๑%)

สินค้าที่มีการส่งออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และและส่วนประกอบ (-๘๗.๕๕%) อัญมณีและเครื่องประดับ (-๕๔.๔๓%) ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ (-๕๒.๗๖%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (-๕๑.๓๓%) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-๓๑.๕๗%) ของเล่น (-๑๗.๓๑%) และเครื่องนุ่งห่ม (-๑๑.๖๗%)

สินค้าที่การส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้แก่ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม (+๑,๐๒๘,๓๐๐%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+๑,๐๗๒.๐๑%) เม็ดพลาสติก (+๕๙๓.๙๕%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (+๘๑.๗๒%) ยางพารา (๗๘.๑๘%) และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (+๗๐.๑๒%)

๑๓.๒ ในช่วงห้าเดือนแรกของปี ๒๕๕๔ (ม.ค. - พ.ค.) ไทยนำเข้าสินค้าจากกรีซทั้งสิ้นมูลค่า ๑๘.๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งนำเข้ามูลค่า ๑๕.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น +๒๓.๔๐%

สินค้านำเข้าสำคัญ ๕ อันดับแรกได้แก่ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ มูลค่า ๑๑.๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๔๕.๕๓%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบมูลค่า ๒.๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๒๘.๑๒%) สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ มูลค่า ๑.๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๖๓.๔๓%) เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำมูลค่า ๐.๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๔๙.๓๑%) และเคมีภัณฑ์มูลค่า ๐.๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๑๐.๐๔%)

สินค้านำเข้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป (-๗๒.๘๘%) ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม (-๕๑.๐๔%)เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ(-๔๙.๓๑%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (-๒๘.๑๒%) และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (-๓.๓๑%)

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ