แม้ว่าผลจากวิกฤติเศรษฐกิจจะทำให้มูลค่าการค้าในตลาดกรีซหายไปกว่า ๒๐ พันล้านยูโร แต่ในทางกลับกันวิกฤติดังกล่าวกรีซถือเป็นโอกาสทางการค้าการลงทุนของกรีซ โดยปรากฏว่าประเทศต่างๆ สนใจที่จะเข้ามาลงทุนและทำธุรกิจในกรีซกันมากขึ้น
รมว. กระทรวงการพัฒนาภูมิภาคและความสามารถในการแข่งขันของกรีซได้กล่าวในการประชุมร่วมระหว่างผู้ประกอบการกรีซ-จีน ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงเอเธนส์ โดยมูลนิธิเพื่อการวิจัยด้านเศรษฐกิจและอุสาหกรรม (IOBE) และสถาบันธุรกิจขงจื้อ (Business Confucius Institute-BCI) ว่ากรีซจะสามารถได้รับมูลค่าการค้าที่หายไปกว่า ๒๐ พันล้านยูโร จากวิกฤติเศรษฐกิจได้ โดยผ่านแผนปฏิบัติการแห่งชาติ ซึ่งจะต้องระดมปัจจัยที่จะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการให้มีกำลังขับเคลื่อนและความสมบูรณ์มากขึ้น รวม ๖ ปัจจัย ได้แก่ การส่งออก การแปรรูป การลงทุนจากต่างประเทศ เป้าหมายในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของสหภาพยุโรป การเพิ่มผลผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และการขจัดเศรษฐกิจมืดให้หมดไป และคาดหวังว่าเศรษฐกิจกรีซจะสามารถเติบโตได้ใน ๓๐ เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ รัฐบาลกรีซอยู่ในระหว่างการจัดทำร่างกรอบแผนงาน ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติในยุโรปครั้งใหญ่ ซึ่งกรอบแผนงานดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ โดยการขจัดอุปสรรคทางราชการถึง ๗๐ รายการ และย้ำว่าภาครัฐจะสนับสนุนและอยู่เคียงข้างผู้ประกอบการเพื่อให้อยู่รอดภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจ เช่น การออกกฏหมายการลงทุนฉบับใหม่ การจัดตั้งเงินกองทุนในการดำเนินธุรกิจและการพัฒนา (ETEAN) และเครื่องมือทางการเงินต่างๆ เช่น โครงการ EU's JEREMIE (Joint European Resources for Micro to Medium Enterprises) การพัฒนาการส่งออก และการปรับกรอบแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ (NSRF) เป็นต้น โดยในเดือนก.ค นี้รัฐบาลจะคัดเลือกธนาคารเพื่อจัดตั้งกองทุน ETEAN เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางสามารถกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และจะเชื่อมโยงกับกฏหมายการลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นให้กับภาคการส่งออก ผู้ประกอบการโรงงาน การท่องเที่ยว อาหารและแหล่งพลังงานกลับมาใช้ใหม่
ผลจากการประชุมร่วมดังกล่าว ทำให้กรีซโดยกระทรวงการพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหาร และจีน โดยหน่วยงานตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของจีน ได้จัดทำความตกลงเพื่อความร่วมมือด้านคุณภาพและความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหารของกรีซที่จะส่งออกไปจีน ภายใต้ความตกลง ประกอบด้วยการยอมรับที่เท่าเทียมในการออกใบรับรองคุณภาพและระบบการผลิต (ซึ่งรวมถึงวิธีการควบคุมและวิธีการตรวจรับรองสำหรับสินค้าเกษตรและอาหารที่ปลอดภัย) การแลกเปลี่ยนข้อมูลกฏระเบียบและความรู้ความชำนาญในการบริหารและระบบการตรวจรับรองในด้านการผลิต โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกรีซ-จีน ขึ้นเพื่อรับผิดชอบดำเนินการตามความตกลงให้เป็นรูปธรรม และจัดให้มีการประชุมทั้งในกรีซและในจีนอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตจีนประจำกรีซ ได้เปิดเผยว่าการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของกิจกรรมทางการค้าระหว่างสองประเทศได้ก่อให้เกิดผลกำไรที่เห็นได้ชัดเจนโดยยกตัวอย่างความร่วมมือระหว่างบริษัท cosco ของจีนที่ตกลงจะดำเนินธุรกิจเรือขนส่งสินค้าที่ท่าเรือเมืองพีราอูซ ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่ที่สุดในกรีซ และการลงทุนของบริษัท Folli-Follie ของกรีซ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในจีนและมีแผนจะเปิดร้านสาขาของ Folli- Follie ให้ได้ ๔,๐๐๐ ร้านในปีนี้ รวมทั้งการที่ผู้แทนธุรกิจใหญ่ของจีนคือ CANTON มีแผนจะเดินทางมากรีซ เพื่อติดต่อกับผู้ประกอบการกรีซในเร็วๆนี้ อย่างไรก็ดี จีนเห็นว่ากรีซยังคงมีช่องว่างอีกมากในการพัฒนาและขยายความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจร่วมกันและตั้งเป้าว่ามูลค่าการค้าของทั้งสองประเทศจะเพิ่มขึ้นได้ถึง ๘ พันล้านเหรียญสหรัฐภายใน ๕ ปีข้างหน้า
ในปี ๒๕๕๓ กรีซส่งออกสินค้าไปจีนเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ ๕๕.๙ และภายใต้กรอบแผนงานดังกล่าวรัฐบาลกรีซต้องการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการจีนและประเทศอื่นๆ หันมาใช้ประโยชน์จากบรรยากาศการลงทุนที่รัฐบาลกรีซได้ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการพัฒนาความร่วมมือกับผู้ประกอบการกรีซในการเพิ่มความรู้ความชำนาญในด้านการเดินเรือ การท่องเที่ยว พลังงาน การค้า และการก่อสร้าง นอกจากนี้รัฐบาลกรีซยังได้ออกแผนดำเนินการหลักซึ่งรวมถึงการเพิ่มเครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการส่งออกและขจัดปัจจัยอุปสรรคต่างๆ
ในด้านการท่องเที่ยว ในปี ๒๕๕๓ มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในกรีซเพิ่มขึ้นถึง ๗๕% แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมจะลดลงประมาณ ๑๕,๐๐๐ คนก็ตาม ทั้งนี้ กลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายของกรีซได้แก่ จีน ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีอำนาจซื้อสูง และกลุ่มประเทศ BRIC เช่น รัสเซีย อินเดีย และตุรกี โดยรัฐบาลกรีซได้สั่งการให้หน่วยงานด้านการออกวีซ่า ลดความยุ่งยาก และอนุญาตการออกวีซ่าให้ง่ายขึ้นสำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศดังกล่าว
ปัจจุบัน รัฐบาลกรีซมีนโยบายส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในกรีซให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการขจัดการคอร์รัปชั่นซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของกรีซ และการปรับปรุงระบบภาษีให้มีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อเร็วๆนี้ หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนกรีซ (the Hellenic Foreign Trade Board) การท่องเที่ยวแห่งชาติกรีซ (Greek National Tourism Organization-GNTO) และองค์กรการให้สินเชื่อและประกันการส่งออกได้จัดการประชุมทูตพาณิชย์จากกว่า ๔๐ ประเทศทั้งในยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง ณ เมือง Rethymno บนเกาะครีท (Crete) เป็นเวลา ๕ วัน เพื่อส่งเสริมให้กรีซเป็นแหล่งลงทุนและการทำธุรกิจการค้า โดยเน้นความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น และผู้ประกอบธุรกิจทั้งกิจกรรมทางการค้า และความร่วมมือต่างๆ รวมทั้งการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ และความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นของเกาะครีท (Crete) นอกจากนี้ยังได้จัดประชุม First Greek Power Summit ระหว่าง ๑๔-๑๕ มิ.ย. ๕๔ ขึ้นที่กรุงเอเธนส์ซึ่งเป็นการรวมนักธุรกิจสำคัญๆ ทั้งจากกรีซเอง และประเทศต่างๆ เพื่อระดมและแลกเปลี่ยนความเห็นต่อวิกฤติเศรษฐกิจกรีซ ผลการประชุมสรุปได้ว่ารัฐบาลกรีซจะต้องมีกฎระเบียบที่ชัดเจน และการกำจัดปัญหาการคอร์รัปชั่นซึ่งมีเป็นจำนวนมากในขณะนี้ ภาคเอกชนต้องมีการเจริญเติบโตทั้งด้านต้นทุนด้านทรัพย์สินทางปัญญา และแนวคิดใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนบริษัทผู้ประกอบการรายใหม่ นอกจากนี้ยังเห็นว่ากรีซยังสามารถสร้างโอกาสทางการลงทุนได้อย่างมากในด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และเทคโนโลยี เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐบาลกรีซได้ออกกฏหมายส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่เมื่อเดือน ธค. ๒๕๕๓ โดยกฏหมายการส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ดังกล่าว (Fast Track law) จะบริหารงานโดยองค์กรส่งเสริมการลงทุน (INVESTMENT in GREECE : IG) ที่จัดตั้งขึ้นเป็น One Stop Shop และมีการจัดตั้งคณะกรรมการรร่วมระหว่างกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนที่เสนอโดยนักลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการลงทุนของรัฐด้วย นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ในการคัดค้านและริเริ่มโครงการลงทุนใหม่ และขจัดการบิดเบือนจากการประเมินของคณะกรรมการและกลไกที่เอื้อให้เกิดการคอรัปชั่นในกระบวนการยื่นการประมูลด้วย
ขั้นตอนการดำเนินการภายใต้กฏหมายใหม่ดังกล่าว ประกอบด้วย
๑. การกำหนดความเร่งด่วนของโครงการ โดยหน่วยงาน IG ใช้เวลาในการพิจารณา ๑๕ วัน โดยได้กำหนดประเภทของโครงการไว้ ๓ ประเภท ได่แก่ โครงการที่มีเงินลงทุนขั้นต่ำ ๒๐๐ ล้านยูโรม, โครงการที่มีเงินลงทุนขั้นต่ำ ๗๕ ล้านยูโร แต่มีการจ้างงานใหม่ตั้งแต่ ๒๐๐ คนขึ้นไป และโครงการที่มีเงินลงทุนขั้นต่ำ ๑ ล้านยูโร ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยและพัฒนา
๒. โครงการได้รับอนุมัติและบริหารโครงการโดยคณะกรรมการร่วม
๓.โครงการถูกส่งกลับไปที่หน่วบงาน IG เพื่อดำเนินการในทางปฏิบัติต่อไปตามความเร่งด่วน
ทั้งนี้ รัฐบาลกรีซคาดหวังจะได้เห็นโครงการที่ได้รับการอนุมัติในการลงทุนด้านสาธารณสุข และด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานสีเขียว
จากรายงานของ Bank of Greece ปรากฏว่า ในปี ๒๕๕๒ มีมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ๔.๕ พันล้านยูโร และมีเงินทุนสุทธิเพิ่มขึ้น ๒.๔ พันล้านยูโรเมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๑ หรือลดลง ๒๑%
ประเทศที่เข้ามาลงทุนในกรีซมากที่สุดคือ เยอรมัน ตามด้วยฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ไซปรัส สหรัฐอเมริกา และสวิสเซอร์แลนด์ ส่วนประเทศรัสเซีย ยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง ประเทศในกลุ่มอาหรับ และเอเชีย กำลังมีการลงทุนมากขึ้นในกรีซ โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงาน โทรคมนาคม การท่องเที่ยว การขนส่งและอุตสาหกรรมการผลิต และเป็นที่น่าสังเกตุว่ามีการลงทุนในกลุ่มพลังงาน (ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ในช่วงระหว่างปี ๒๕๔๖-๒๕๕๒ นักลงทุนต่างชาติ สนใจลงทุนในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มากเป็นอันดับแรก (ยกเว้นปิโตรเคมี) ตามด้วยอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์โลหะ ส่วนกลุ่มบริการมีการลงทุนในด้านโทรคมนาคม สถาบันการให้เครดิต (กลุ่มธนาคาร) การค้าและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ กระทรวงพัฒนาการพลังงานและภูมิภาคกรีซ (Ministry of Energy and Regional Development) ได้ตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับการลงทุนด้านพลังงานที่มีมูลค่ามากกว่า ๑ พันล้านยูโร ในโครงการลงทุนของรัฐ ได้แก่ โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคของ Public Power Corporation (PPC) และโครงการบริหารจัดวางระบบก๊าซธรรมชาติ (ซึ่งรวมทั้งการขยายกำลังไฟฟ้า การขนส่งก๊าซธรรมชาติ และเครือข่ายการจัดจำหน่าย)
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม
ที่มา: http://www.depthai.go.th