สถานการณ์สินค้าอิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น เดือนกรกฎาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 18, 2011 15:04 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1.สถานการณ์ภายหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว

การขาดแคลนกระแสไฟฟ้าส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานผลิตชิพ ในเกาะคิวชู โตชิบาและโซนี่ผลิตตัวเซ็นเซอร์ที่ใช้กับกล้องถ่ายภาพ และโทรศัพท์มือถือ ที่คิวชู ซึ่งต้องผลิตตลอดทั้งวัน และจากการที่ บริษัท Kyushu Electric Power ได้ปิดเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์จำนวน 2 เครื่องที่โรงงาน Genkai ในจังหวัดซากะ และอีก 1 แห่งที่ จ.คาโกชิม่า เพื่อตรวจสอบ ส่งผลให้กระแสไฟฟ้าขาดแคลน บริษัทโซนี่เซมิคอนดักเตอร์ต้องใช้เครื่องปั่นไฟที่บางโรงงาน แจ้งว่าไม่สามารถจะลดการใช้พลังงานร้อยละ 10-15 ได้นอกจากจะต้องลดกำลังการผลิตลง

นอกจากนี้ บริษัทผู้ซื้อต่างประเทศเริ่มวิตกกังวล เช่น บริษัทสื่อสารของจีน ZTE Corp.ที่สั่งซื้ออุปกรณ์จากญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้ย้ายการผลิตไปยังประเทศอื่น หากไม่ย้ายจะสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิต รายอื่นๆ ส่วนบริษัทญี่ปุ่นได้เริ่มย้ายการผลิตไปต่างประเทศ เช่น Mitsui Mining & Smelting ที่ผลิตฟอยล์ที่ใช้กับสมาร์ทโฟนร้อยละ90 ของตลาดโลก จะเริ่มการผลิตในมาเลเซียในปีหน้า ทั้งนี้ บริษัทที่ยังคงผลิตในประเทศ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเพื่อที่จะคงกำลังไฟฟ้า โดยใช้เครื่องปั่นไฟของตนเอง

ส่วนการลงทุนของบริษัทต่างชาติมีเพิ่มมากขึ้น จากความต้องการแรงงานที่มีคุณภาพ และ know-how ของญี่ปุ่น Jazz Semiconductor ได้เปิดโรงงานที่ จ. เฮียวโกะ ส่วน Hewlett Packard ได้ย้ายโรงงานหลักจากจีนมายังญี่ปุ่น เนื่องจากส่วนประกอบ และวัสดุที่ผลิตในญี่ปุ่น มีคุณภาพสูง

2. ภาวะการตลาดสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

2.1 สมาคมเซมิคอนดักเตอร์ญี่ปุ่น (SEAJ) ได้คาดการณ์ภาวะการตลาดสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ จนถึงปี 2555 โดยในปีงบประมาณ 2554 จนถึงเดือนมีนาคม 2555 คาดว่าจะสูงกว่าที่คาดไว้เดิมร้อยละ 29 ผลมาจากการลงทุนมหาศาลของบริษัทโตชิบาเพื่อผลิต NAND Flash memory ที่โรงงานในเมือง ยกไกจิ จ.มิเอะ

ยอดขายทั่วโลกของผู้ผลิตญี่ปุ่นในปี 2010 อยู่ที่ 1,242 พันล้านเยน หรือประมาณ 15.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ สูงขึ้นร้อยละ 90.2 จากปีที่แล้ว ส่วนในปี 2012 คาดว่าจะอยู่ที่ 1,360 พันล้านเยน ส่วนยอดขายในประเทศญี่ปุ่นในปี 2010 ทั้งของผู้ผลิตญี่ปุ่นและต่างชาติรวม 417 พันล้านเยนสูงขึ้นร้อยละ 95.6 จากปีที่แล้ว สูงขึ้นกว่าที่ SEAJ ได้คาดการณ์ไว้เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว

2.2 ตลาดหนังสืออิเล็คทรอนิกส์ (E-book) กำลังเฟื่องฟู จากผู้อ่านที่นิยมใช้เครื่องอ่านหนังสืออิเล็คทรอนิกส์ (E-Book Reader) ที่ปัจจุบันมีผู้ผลิตหลายราย โดยล่าสุด Panasonic เตรียมจะออกสินค้ารุ่นใหม่โดยให้บริการหนังสือกว่า 10,000 เรื่องจากสำนักพิมพ์ เช่น Shogakukan Iwanami Shoten และ Shinchosha พร้อมทั้งร่วมมือกับ Rakuten โดยผู้อ่านสามารถสั่งซื้อหนังสือจากเว็บไซต์ Rakuten e-book และจะได้แต้มเพื่อใช้กับสินค้าของ Rakuten อื่นๆ Panasonic วางแผนจะขยายพันธมิตรกับ Sony และร้านหนังสือ Kinokuniya ต่อไป

ตลาดหนังสืออิเล็คทรอนิกส์ เติบโตขึ้นร้อยละ 13.2 เป็น 65 พันล้านเยนในปี 2010 โดยกว่าร้อยละ 90 เป็นการ์ตูน ส่วนเนื้อหาที่ผลิตสำหรับสมาร์ทโฟน และ แทเบล็ตมีเพียงร้อยละ 4 แต่คาดว่าภายในปี 2015 ตลาดสมาร์ทโฟน และแทเบล็ตจะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 80

2.3 ราคาจำหน่ายกล้องถ่ายภาพดิจิตอลตกลงอย่างต่อเนื่อง เหลือเพียง 10,500 เยน เนื่องจากผู้ผลิตมีหลายราย และมีคุณสมบัติที่เหมือนๆกัน นอกจากนี้การที่ลูกค้านิยมใช้สมาร์ทโฟนถ่ายภาพ ยิ่งทำให้ยอดขายของกล้องดิจิตอลลดลง โดย iPhone4 คาดว่าจะกลายเป็นกล้องถ่ายภาพที่ได้รับความนิยมมากกว่ากล้องถ่ายภาพดิจิตอลซิงเกิลเลนส์ของ Canon หรือ Nikon

บริษัท Hoya Corp ได้ประกาศว่าจะขายกล้องดิจิตอลแบรนด์ Pentax ให้กับบริษัท Ricoh และ Ricoh จะพัฒนากล้องที่สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ ส่วน Canon เช่นกันจะลงทุน 1 หมื่นล้านเยนผลิตกล้อง ดิจิตอลซิงเกิลเลนส์ และรุ่นที่เปลี่ยนเลนส์ได้ที่โรงงานในไต้หวัน

2.4 ยอดขายสมาร์ทโฟน ที่สำรวจในเดือนมิถุนายน โดยบริษัท Gfk Marketing Service Japan สูงถึงร้อยละ 54.4 ของยอดขายโทรศัพท์มือถือทั้งหมด คาดว่าในปีงบประมาณ 2011 จะสูงขึ้นอีกร้อยละ 30 เป็น 19.86 ล้านเครื่อง และคาดว่าจะถึง 23.67 ล้านเครื่องในปีงบประมาณ 2012 ก่อนที่จะเพิ่มถึง 30.56 ล้านเครื่องในปี 2013

3. ความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย

3.1 ผู้ผลิตสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ญี่ปุ่น เพิ่มปริมาณการผลิตเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และ เครื่องใช้ในบ้าน ที่ประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น มิตซูบิชิ จะลงทุนหลายร้อยล้านเยนขยายการผลิตเครื่องปรับอากาศร้อยละ 20 ที่โรงงานในประเทศไทย โดยจะขยายโรงงานพื้นที่ 90,000 ตารางเมตร โดยจะผลิตเครื่องปรับอากาศที่ใช้ในบ้าน รวมทั้งที่ใช้ในอาคารสำนักงาน เครื่องปรับอากาศญี่ปุ่นเป็นที่นิยมในประเทศกำลังพัฒนาเนื่องจากประหยัดพลังงาน การตั้งโรงงานในประเทศไทยจะประหยัดค่าขนส่ง และบริษัทคาดว่าจะเพิ่มยอดขายถึง 600 พันล้านเยนในปี 2012 บริษัทโตชิบา เช่นกันจะขยายปริมาณการผลิตตู้เย็น และ เครื่องซักผ้าร้อยละ 20 ที่โรงงานในไทย และจีน นอกจากนี้ ยังคิดที่จะตั้งโรงงานแห่งใหม่ที่เวียดนาม และ บราซิล ส่วนพานาโซนิกส์ ที่ผลิตเครื่องปรับอากาศที่จีน และมาเลเซีย จะเริ่มการผลิตตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศที่ อินเดีย และบราซิลในปี 2012

ชาร์ป ที่มีฐานการผลิตที่ประเทศไทยจะเพิ่มการผลิตเครื่องปรับอากาศจากเดิม 800,000 เครื่องเป็น 1.3 ล้านเครื่อง โดยตั้งเป้าจะขยายยอดขายสินค้าราคาแพงในจีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

3.2 บริษัท NEC จะร่วมมือกับกลุ่มอมตะ เจ้าของนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครให้บริการ Cloud Computing หรือ ระบบประมวลผลกลุ่มเมฆ (ระบบประมวลผลกลุ่มเมฆเป็นแนวคิดสำหรับแพลทฟอร์มของระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใช้ในการลดภาระด้านการลงทุนในเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งการใช้งานในระดับองค์กรธุรกิจ และ ผู้ใช้ระดับส่วนบุคคล โดยเป็นหลักการนำทรัพยากรของระบบไอที ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์มาแบ่งปันในรูปแบบการให้บริการ ในระดับการประมวลผลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง หรือติดตั้งซอฟต์แวร์ระบบ ตลอดจนซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่นจำนวนมาก ๆ เพื่อการทำงานที่ซับซ้อน แต่สามารถใช้บริการประมวลผล และแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ จากผู้ให้บริการระบบประมวลผลกลุ่มเมฆ และชำระค่าบริการตามอัตราการใช้งานที่เกิดขึ้นจริง)

นับเป็นการให้บริการครั้งแรกในไทยสำหรับนิคมอุตสาหกรรมโดย NEC จะคิดค่าบริการรายเดือนสำหรับการใช้ซอฟต์แวร์บนอินเตอร์เน็ตเพื่อใช้บริการเช่น video conference การบริหารพนักงาน เป็นต้น โดยใช้เครือข่ายไฟเบอร์ที่ติดตั้งในอมตะนครเชื่อมกับศูนย์ข้อมูลในกรุงเทพ ซึ่งลูกค้าจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าร้อยละ 20-30 โดยไม่ต้องซื้อซอฟต์แวร์เหล่านี้เอง คาดว่าในปีแรกจะมีลูกค้า 30 ราย

4. ภาวะการส่งออกและนำเข้าสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ของญี่ปุ่น

ผลกระทบจากเหตุการณ์ แผ่นดินไหวยังส่งผลต่อเนื่องกับยอดการส่งออกสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ในเดือนพฤษภาคม 2554 มีมูลค่า 6.86 แสนล้านเยน ลดลง ร้อยละ 19 จากเดือนพฤษภาคม ปี 2553 โดยสินค้าเกือบทุกหมวดปรับตัวลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าผู้บริโภค ได้แก่ อุปกรณ์วิดิโอลดลงร้อยละ 29.9 เครื่องเสียงลดลงร้อยละ 43.9 เครื่องใช้ในสำนักงาน ลดลงร้อยละ 32.7 ส่วนสินค้าที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ระบบสื่อสาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 67 อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5

ส่วนการนำเข้าสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ในเดือนเมษายน 2554 มีมูลค่า 5.65 แสนล้านเยน ลดลงเช่นกัน โดยลดลงร้อยละ 11.6 จากเดือนเมษายน ปี 2553 สินค้าเกือบทุกหมวดปรับตัวลดลง ได้แก่ หลอดไฟฟ้าลดลง ร้อยละ 41.3 ส่วนประกอบและอุปกรณ์ ลดลงร้อยละ 22.1 แผงวงจร ลดลงร้อยละ 21.6 ส่วนสินค้าที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ อุปกรณ์สื่อสาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 ระบบสื่อสารวิทยุ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.3 อุปกรณ์มาตรวัดไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ นครโอซากา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ