1.1 ชื่อบริษัท Manor AG
1.2 ผู้เข้าร่วมประชุม
(1) Mr. Flavio Milani ตำแหน่ง General Merchandising Manager Hardgoods
(2) Mr. Markus Hartenbach Divisional Merchandising Manager Stationery
(3) Mr. Christoph Fehr Head of CRM/Research/Kundenkarte, Marketing
1.3 ที่อยู่ Manor AG
Rebgasse 34, 4005 Basel
Switzerland
1.4 อีเมล์ info@manor.ch 1.5 เวบไซด์ www.manor.ch 2. สรุปผลการประชุม
สคร. แฟรงก์เฟิร์ตเดินทางเข้าร่วมประชุมกับตัวแทนของห้างสรรพสินค้า Manor เพื่อหารือเกี่ยวกับกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทย ได้ข้อสรุป ดังนี้
2.1 ข้อมูลบริษัท
- ห้างสรรพสินค้า Manor เริ่มดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยพี่น้องตระกูล Maus ปี 1901 เริ่มขยายกิจการทั่วประเทศสวิตเซอร์แลนด์ภายใต้ชื่อต่างๆ จนกระทั่งปี 1965 ได้รวมกิจการต่างๆ เข้าด้วยกันในลักษณะห้างหุ้นส่วน และเริ่มเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Manor เหมือนกันหมทั้งประเทศตั้งแต่ปี 2000เป็นต้นมาเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการตลาดให้กับกลุ่มบริษัทมากยิ่งขึ้น
- บริษัท Manor AG เป็นบริษัทในเครือของ Maus Frres Holding ซึ่งตั้งอยู่ ณ นครเจนีวา โดยนอกจากห้างสรรพสินค้า Manor แล้ว กลุ่มบริษัทยังมีธุรกิจอื่นๆ อีก ได้แก่
(1)Manor restaurant ธุรกิจร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า Manor
(2)Athleticum ธุรกิจสินค้าเสื้อผ้าและอุปกรณ์เกี่ยวกับกีฬาทุกชนิด
(3)Fly ธุรกิจไลฟ์สไตล์ เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน
(4)Jumbo ธุรกิจสินค้าเกี่ยวกับสวน การตกแต่งสวน สินค้า Do-It-Yourself
- ผลประกอบการในปี 2553 ห้างสรรพสินค้า Manor มีผลประกอบการทั้งสิ้น 2.98 พันล้านสวิสฟรังค์ หรือ 98.34 พันล้านบาท โดยคิดเป็นมูลค่าของสินค้า non-food ประมาณร้อยละ 69 ของผลประกอบการทั้งหมด ทำให้ห้างฯ นับเป็นบริษัทค้าปลีกที่สำคัญเป็นอันดับสามของสวิตเซอร์แลนด์ แต่เป็นห้างสรรพสินค้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของสวิส มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 58 ของตลาดห้างสรรพสินค้าทั้งหมด
- จำนวนสาขาปัจจุบันห้าง Manor มีสาขาทั้งสิ้นประมาณ 72 สาขาทั่วสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีซุปเปอร์มาเก็ตภายในห้างทั้งสิ้น 33 แห่ง
- จำนวนพนักงาน ปัจจุบันมีจำนวนพนักงานทั้งสิ้นกว่า 11,000 คน
- กลุ่มลูกค้าเป้าหมายและสินค้า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของห้างครอบคลุมระดับกลาง-บน โดยเน้นกลุ่มผู้หญิงเป็นหลัก คิดเป็นร้อยละ 70 ของลูกค้าทั้งหมด เน้นกลุ่มอายุ 30-35 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2552 เป็นต้นมาเน้นการส่งเสริมสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาแบบยั่งยืน (sustainability) ทั้งสินค้าอาหารและ non-food ต่างๆ เช่น สินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าโครงการ Fair Trade เพื่อการค้าอย่างเป็นธรรม
- การนำเข้า บริษัทมีบริษัทลูกทำหน้าที่จัดหาและจัดซื้อสินค้าจากทวีปเอเชีย ได้แก่ บริษัท Herman Ltd. สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในฮ่องกง มีสาขาในกรุงเทพฯ ซึ่งเปิดทำการมากว่า 20 ปีแล้ว
- การนำเข้าจากประเทศไทย
(1)ห้าง Manor นำเข้าสินค้าอาหารจากประเทศไทยหลายประเภท อาทิเช่น ข้าว กะทิ เส้นก๋วยเตี๋ยว น้ำพริกแกง แกงสำเร็จรูป ของว่างและขนมขบเคี้ยว ผักและผลไม้ต่างๆ เป็นต้น และสนใจจะขยายประเภทสินค้าให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยนำเข้าผ่านผู้นำเข้าต่างๆ ที่สำคัญ เช่น บริษัท Thai Kitchen
(2)สำหรับสินค้า non-food ห้างฯ นำเข้าสินค้าไทยเป็นมูลค่าประมาณปีละ 6 ล้านสวิสฟรังก์ต่อปี หรือประมาณ 198 ล้านบาท โดยมีปริมาณการนำเข้าค่อนข้างคงที่ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา
(3)สินค้าไทยที่ได้รับความนิยม ได้แก่ เซรามิค table-ware เทียนหอม/เครื่องหอม และอาหาร ในขณะที่สินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้ามียอดการนำเข้าลดน้อยลงเนื่องจากสินค้าไทยมีราคาแพงกว่าคู่แข่งค่อนข้างมาก แม้เมื่อเทียบกับคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน
2.2 ความร่วมมือ
ตัวแทนของห้างฯ และสคร.ฟฟ. มีความสนใจจะร่วมมือการส่งเสริมสินค้าไทยในห้างฯ ร่วมกัน สรุปได้ดังนี้
- สคร.ฟฟ.ได้นำเสนอภาพตัวอย่างของสินค้าไทยในระดับ Hi-end ให้แก่ตัวแทนของห้างฯ ผลปรากฎว่าได้รับการตอบรับอย่างดี ห้างฯ ให้ความเห็นว่ามีสินค้าจากผู้ประกอบการบางรายที่ห้างฯ กำลังทำการติดต่อซื้อขายกันอยู่ แต่ก็ยังมีสินค้าไทยบางตัวที่น่าสนใจและยังไม่ได้นำเข้ามาจำหน่าย
- สคร.ฟฟ. เสนอจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้า Lifestyle ของไทยในห้างฯ เพิ่มเติมนอกเหนือจากกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าอาหารซึ่งจัดร่วมกับห้างฯ และผู้นำเข้าเป็นประจำอยู่แล้ว โดยอาจเริ่มต้นจากการใช้สินค้า Lifestyle ของไทยที่ห้างนำเข้าและจัดจำหน่ายอยู่แล้วเป็นหลัก และเพิ่มสินค้าอื่นๆ ที่ห้างฯ เห็นว่ามีศักยภาพ เลือกจัดในสาขาหลักในเมืองใหญ่ ก่อนจะขยายเพิ่มในสาขาอื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้สคร.ฟฟ.ได้เสนอให้จัดในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2554 โดยตัวแทนของห้างฯ ได้รับไปพิจารณาและจะนำเข้าที่ประชุมของห้างฯ พร้อมแจ้งผลให้สคร.ฟฟ.ทราบต่อไป
- Mr. Flavio Milani สนใจ sourcing สินค้าไทยเพิ่มเติม เน้นสินค้าดีไซน์แบบสมัยใหม่ โดยจะเดินทางไปดูสินค้าไทยในงานแสดงสินค้าในประเทศไทย เช่น งาน BIG & BIH หรือเยี่ยมชม mini exhibition ในประเทศไทยเพิ่มเติมจากการเข้าเยี่ยมงานแสดงสินค้า หรือเยี่ยมชมคูหาไทยในงานแสดงสินค้าเยอรมนี เช่น Ambiente และ Tendence
- ห้างฯ จะส่งข้อมูลติดต่อตัวแทนของห้างฯ จากบริษัท Herman Ltd. ประจำประเทศไทยให้สคร.ฟฟ.เพื่อใช้ในการประสานงานเกี่ยวกับการนัดหมาย การ sourcing สินค้าและการจัด business matching ให้แก่ตัวแทนของห้างฯ
ห้าง Manor เป็นห้างสรรพสินค้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของสวิส นับเป็นช่องทางการค้าที่สำคัญและมีศักยภาพอย่างยิ่งสำหรับสินค้าไทยระดับ Hi-end จากการประชุม ตัวแทนของห้างฯ ให้ความสนใจสินค้าไทยเป็นอย่างมาก โดยกล่าวว่าสินค้าไทยมีคุณภาพดีและมีดีไซน์ที่น่าสนใจ แม้ว่าจะมีประเด็นในด้านราคาเข้ามาเป็นปัจจัยในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าอยู่บ้างก็ตาม ปัจจุบันห้างฯ ยังมีการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยไม่มากนัก ส่วนมากเป็นสินค้าอาหาร ผักและผลไม้ แต่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น การจัดกิจกรรมร่วมกับห้างฯ ในด้านสินค้า Lifestyle จึงเป็นช่องทางสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสินค้าไทยที่จะเพิ่มโอกาสในการเจาะตลาดสวิสให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต
ที่มา: http://www.depthai.go.th