ข้อมูลสถานการณ์การค้าประเทศกรีซ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 21, 2011 15:30 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เป้าหมาย :

เป้าหมายการส่งออกไปกรีซปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๒๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (- ๑% จากปี ๒๕๕๓)

ยุทธศาสตร์

๑. ผลักดันการขยายตลาดการค้าและการลงทุน

๑.๑ สินค้าเป้าหมายได้แก่ สินค้าอาหาร (อาหารสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว ซอสและเครื่องปรุงรส อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป โดยเฉพาะปลาทูน่ากระป๋อง อาหารเพื่อสุขภาพ) อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าเครื่องปรับอากาศ รถบรรทุกและรถจักรยานยนต์ อะไหล่

๑.๒ ภาคบริการเป้าหมาย ได้แก่ นวดสปาไทย ร้านอาหารไทย

๑.๓ ภาคการลงทุนเป้าหมาย ได้แก่ การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ทำรายได้ให้แก่กรีซถึง ๑๕% ของ GDP

๑.๔ การแสวงหาความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ความชำนาญในบางสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจระหว่างกัน เช่น การเดินเรือและการท่องเที่ยว เนื่องจากกรีซเป็นศูนย์การพาณิชย์นาวีและเป็นเจ้าของเรือพาณิชย์เอกชนมากที่สุดในโลก

ข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

๑. ตัวชี้วัดเศรษฐกิจกรีซ

หน่วย : % เปลี่ยนแปลง

             ตัวชี้วัด         ๒๕๕๓            ๒๕๕๔            ๒๕๕๕
GDP                        -๔.๔            -๓.๕             ๑.๑
GDP Value (พันล้านยูโร)        ๒๓๐             ๒๒๒             ๒๒๔
GDP ต่อหัว (ยูโร)           ๒๐,๓๘๕          ๑๙,๖๗๖          ๑๙.๘๕๓
การบริโภค                   -๔.๕            -๔.๖               ๑
การลงทุน                   -๑๖.๗             -๑๐               -
การส่งออก                    ๔.๓             ๕.๙               -
การนำเข้า                     -๕            -๕.๑               -
เงินเฟ้อ                      ๔.๗             ๒.๗             ๐.๕
อัตราว่างงาน**               ๑๑.๖            ๑๔.๕              ๑๕
หนี้สาธารณะ %GDP**          ๑๔๒.๕             ๑๕๐               -
จำนวนประชากร         ๑๑.๒๘๒,๗๕๑      ๑๑,๒๘๒,๗๕๑      ๑๑,๒๘๒,๗๕๑
ที่มา ธนาคารแห่งชาติกรีซ เดือนมีนาคม ๒๕๕๔

๒. เศรษฐกิจกรีซเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ เป็นต้นมา และเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้นในปี ๒๕๕๓ เนื่องจากการออกมาตรการเคร่งครัดด้านงบประมาณของรัฐบาล ได้แก่ การลดเงินเดือนข้าราชการ ๑๕% บำนาญ ๑๐% การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น ๒๓% ส่งผลให้ความเชื่อมั่นลดลง รายได้จากการท่องเที่ยวและการขนส่งทางเรือ การลงทุน การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออก นอกจากนี้กรีซยังมีหนี้สาธารณะที่สูงมาก (ปี ๒๕๕๔ คาดว่าจะสูงถึง ๑๕๓% ของ GDP) โดยธนาคารแห่งชาติกรีซคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจกรีซในปี ๒๕๕๔ จะหดตัวลง -๓.๕% ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา กรีซได้กู้เงินจาก EU และ IMF วงเงิน ๑๑๐ พันล้านยูโร

๓. ในปี ๒๕๕๔ รัฐบาลกรีซยังคงดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เคร่งครัดต่อไป พร้อมกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวกให้ได้ภายในสิ้นปี ๒๕๕๔ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ออกมาตรการป้องกันเพื่อให้ภาคการเงินและธนาคารมีความมั่นคง สรุปได้ดังนี้

  • การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ/การแปรรูปอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินของรัฐ
  • การต่อสู้กับการหลบเลี่ยงภาษีอย่างเข้มแข็ง
  • การปฏิรูปตลาดแรงงานใหมีความคล่องตัวมากขึ้นและการเปิดเสรีด้านวิชาชีพ
  • การส่งเสริมการลงทุนในประเทศให้มากขึ้นเช่น การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับการลงุทนขนาดใหญ่ และการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate tax) จาก ๒๔% เป็น ๒๐%
  • การลดการว่างงานและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

เมืองที่เป็นเป้าหมายหลักในประเทศกรีซ

๑. กรุงเอเธนส์ (ประชาการ ๓,๗๖๑,๑๘๐ คน) เป็นที่ตั้งและศูนย์กลางของหน่วยงานราชการของกรีซและประเทศต่างๆ

๒. Thessaloniki เป็นเมืองท่าและเมืองใหญ่อันดับสอง อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ มีสินค้าที่สำคัญคือ น้ำมันเชื้อเพลิง โลหะ ปิโตรเคมี สิ่งทอ แป้ง ซีเมนต์ เวชภัณฑ์ สุรา

๓. Patras เป็นเมืองใหญ่อันดับสาม และเมืองท่าทางตะวันตกของประเทศ มีสินค้าที่สำคัญคือ ซีเมนต์ พลังงาน อาหาร เครื่องจักร เวชภัณฑ์ สิ่งทอ ไม้และกระดาษ

๔. Piraeus เป็นเมืองท่าสำคัญ มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเกี่ยวกับน้ำและเรือ

๕. Iraklion เป็นเมืองใหญ่อันดับสี่ มีความสำคัญทางด้านการค้าและวิทยาศาสตร์

๖. Volos มีสินค้าและบริการที่สำคัญคือ โลหะ ซีเมนต์ ท่าเรือ

การค้าของประเทศกรีซ - ทั่วโลก

๑. ปี ๒๕๕๔ (มกราคม - มีนาคม) กรีซมีมูลค่าการค้ารวม ๑๙,๙๒๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลง -๙.๑๖% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีมูลค่าการค้ารวม ๒๑,๙๓๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ แยกเป็นการส่งออกมูลค่า ๖,๒๑๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการนำเข้ามูลค่า ๑๓,๗๑๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้กรีซขาดดุล -๗,๔๙๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ

๒. การส่งออก กรีซส่งออกสินค้าไปสหภาพยุโรปเกือบ ๕๐% โดยมีประเทศที่กรีซส่งออกสำคัญ ๕ อันดับแรก ได้แก่ อิตาลี (๑๑.๕๓%) เยอรมัน (สัดส่วน ๘.๘๘%) ไซปรัส (๗.๐๒%) ตุรกี (๖.๑๓%) บัลแกเรีย (๕.๙๐%)

๓. สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สินแร่และน้ำมัน ผลิตภัณฑ์ยา อะลูมิเนียม พลาสติก เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักร อาหารสำเร็จรูป โลหะและเหล็ก

๔. การนำเข้า กรีซยังคงนำเข้าสินค้าจากประเทศในสหภาพยุโรปเป็นหลัก โดยมีประเทศที่กรีซนำเข้าสินค้า ๕ อันดับแรก ได้แก่ เยอรมนี (สัดส่วน ๑๑.๔๒%) อิตาลี (๑๐.๒๑%) รัสเซีย (๗.๘๗%) จีน (๖.๙๔%) เนเธอร์แลนด์ (๕.๗๘%) ฝรั่งเศส (๕.๔๓%) เป็นที่น่าสังเกตว่ากรีซนำเข้าจากจีนมากเป็นอันดับ ๔ (ไทยอันดับที่ ๔๑) และมีประเทศคู่แข่งของไทยที่สำคัญ ได้แก่ เกาหลีใต้อันดับ ๙ (สัดส่วน ๓.๒๘%) อินเดีย (อันดับที่ ๒๙ สัดส่วน ๐.๖๓%) ไต้หวัน (๐.๒๙%) อินโดนีเซีย (๐.๓๘%) เวียดนาม (๐.๒๒%) และมาเลเซีย (๐.๑๙%)

๕. สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยา เรือ เครื่องจักร เครื่องเรือจักร เครื่องจักรไฟฟ้า สินแร่และน้ำมัน ยานพาหนะ พลาสติก เหล็ก และ organic chemical

การลงทุน

๑. รัฐบาลกรีซได้ออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่และจัดตั้งหน่วยงานทำหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนคือ องค์กรส่งเสริมการลงทุน (Invest in Greece - IG) เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมการลงทุนให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนด้านสาธารณสุข การท่องเที่ยว และด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานสีเขียว

๒. ธนาคารแห่งชาติกรีซได้รายงานว่า ในปี ๒๕๕๒ การลงทุนในกรีซยังมีผลเป็นที่น่าพอใจ โดยมีมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ๔.๕ พันล้านยูโร และมีเงินทุนสุทธิเพิ่มขึ้น ๒.๔ พันล้านยูโรเมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๑

๓. ประเทศที่เข้ามาลงทุนในกรีซมากที่สุดคือ เยอรมัน ตามด้วยฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ไซปรัส สหรัฐอเมริกา และสวิสเซอร์แลนด์ ส่วนประเทศรัสเซีย ยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง ประเทศในกลุ่มอาหรับ และเอเชีย เริ่มมีการเข้ามาลงทุนในกรีซมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มพลังงาน โทรคมนาคม การท่องเที่ยว การขนส่งและอุตสาหกรรมการผลิต เป็นที่น่าสังเกตว่า การลงทุนในกลุ่มพลังงาน (ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตในช่วงระหว่างปี ๒๕๔๖ - ๒๕๕๒ นักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มากเป็นอันดับแรก ตามด้วยอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์โลหะ ส่วนกลุ่มบริการมีการลงทุนในด้านโทรคมนาคม สถาบันการให้เครดิต (กลุ่มธนาคาร) การค้าและการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวกรีซมาไทยในช่วง ๙ เดือนแรกของปี ๒๕๕๓ มีจำนวน ๑๒,๙๗๑ คน แต่มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปกรีซจำนวนน้อยมากไม่สามารถเก็บสถิติได้

ตลาดแรงงาน

กรีซมีกำลังแรงงานทั้งประเทศ ๔.๓๗ ล้านคน และประสบปัญหาอัตราการว่างงานสูงถึงประมาณ ๑๑.๖% ในปี ๒๕๕๓ และคาดว่าในปี ๒๕๕๔ จะเพิ่มเป็น ๑๔.๕% นอกจากนี้กรีซยังมีปัญหาผู้อพยพหรือผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจำนวนมาก (ประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ คน) ดังนั้นรัฐบาลกรีซจึงมีนโยบายไม่รับแรงงานต่างชาติเข้าไปทำงานอีกและมีความเข้มงวดในเรื่องการเข้าเมืองมาก

สำหรับคนไทยที่เข้าไปทำงานในกรีซ ปัจจุบันมีประมาณ ๑๐๐ คน เข้าไปทำงานได้ด้วยการติดต่อกับคนรู้จักหรือญาติ โอกาสแรงงานไทยมีน้อยมากและจะขยายได้อีกไม่มากนัก

ความร่วมมือทางการค้า/บริการ

๑. ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ ลงนามเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๑๕

ความตกลงและความร่วมมือที่อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำ

๑. อนุสัญญาเพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน

๒. ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน

๓. ความตกลงว่าด้วยบริการเดินเรือพาณิชย์

๔. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และวิชาการ

การเยือนประเทศกรีซของผู้บริหารระดับสูง

ไม่มี

แผนงานตลาดกรีซ ปีงบประมาณ ๒๕๕๔

ไม่มี

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ