งาน JCK Las Vegas Show 2011 วันที่ ๓-๖ มิถุนายน ๒๕๕๔

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 21, 2011 15:48 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ชื่องาน JCK Las Vegas Show 2011

วันที่จัดงาน วันที่ ๓-๖ มิถุนายน ๒๕๕๔

สถานที่ Mandalay Bay Convention Center เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา

ผู้จัดงาน

บริษัท Reed Exhibition

ลักษณะงาน

จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒๐ แล้ว เป็นงานแสดงสินค้าและบริการอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงนาฬิกา ตลอดจนธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอัญมณี เช่นการตรวจอัญมณี ธุรกิจบริการออกแบบอัญมณี

พื้นที่จัดงาน

ประมาณ ๒ แสนตารางฟุต

ประเภทสินค้า

ภายในงานแบ่งเป็นส่วนหลักๆ ๔ ส่วน ได้แก่

๑. JCK Las Vegas เป็นส่วนจัดแสดงสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับอัญมณีต่างๆ เช่นเพชร พลอย sapphire หินมีค่าต่างๆ เครื่องประดับอัญมณี ไข่มุกหนังสือ นิตยสารที่เกี่ยวกับอัญมณี นาฬิกา ส่วนบริการออกแบบ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการออกแบบและดูแลรักษาอัญมณี ส่วน แฟชั่น เป็นต้น โดยคูหาของประเทศต่างๆ รวมถึงคูหาประเทศไทยก็อยู่ในส่วนนี้

๒. Luxury at JCK and Elite Enclave เป็นส่วนจัดแสดงสินค้าอัญมณีที่มีตราสินค้า แบบ High end ลักษณะการตกแต่งคูหาจะหรูหรากว่าส่วนอื่น สินค้าจะมีราคาแพง และรูปแบบปราณีตกว่าส่วนจัดแสดงอื่น

๓. AGTA GemFair at JCK เป็นส่วนจัดแสดงของ The American Gem Trade Association ซึ่งเป็นสมาคมการค้าอัญมณีของสหรัฐอเมริกา มีสมาชิกกว่า 1,100 รายทั่วสหรัฐเมริกา

๔. Equipment, Technology and Supplies ซึ่งจัดแสดงอัญมณีที่เจียรไนแล้วแต่ยังไม่ได้นำมาทำเป็นเครื่องประดับสำเร็จ และอุปกรณ์ เทคโนโลยีต่างๆที่ใช้ในอุตสาหกรรม

กิจกรรมภายในงาน

กิจกรรมที่น่าสนใจในงานฯ ได้แก่

๑. การจัดโหวตลงคะแนนให้กับเครื่องประดับในส่วน Design Center Showcase Award Voting ซึ่งเป็นการลงคะแนนให้กับเครื่องประดับที่จัดแสดงใน Showcase

๒. การจัดแฟชั่นโชว์เครื่องเพชร เครื่องประดับอัญมณีแฟชั่นต่างๆ สนับสนุนโดยแบรน์สินค้าชั้นนำเช่น Moress, Bettie Page เป็นต้น

๓. มีการสัมมนาวิชาการ และปาฐกถา เพื่อให้ความรู้ผู้เข้าร่วมงานฯ เช่นหัวข้อ "Trends in Jewelry Forecasting" "The Essintials of Marketing From Plan to Action" นอกจากนี้ สถาบันฯ ได้มีการจัดสัมมนาให้ความรู้และสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ด้วย ภายใต้หัวข้อ "Ruby and Sapphire treatment in Thailand: Histological development of Thai wisdom and how to identify" บรรยายโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ ที่ปรึกษาสถาบันฯ โดยมีการให้ความรู้ด้านการทำรักษาอัญมณีประเภท Ruby และ Sapphire เพื่อให้อัญมณีดูสวยงามมากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการสมัยใหม่ และใช้เทคโนโลยีขั้นสูง นำเสนอจุดอ่อนจุดแข็งของวิธีการต่างๆ และภายหลังการสัมมนา ได้เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบอัญมณีโดยสถาบันฯได้นำอุปกรณ์ที่ทันสมัยมาสาธิตด้วย

ผู้เข้าร่วมงาน

บริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านอัญมณี ผู้ออกแบบเครื่องประดับอัญมณี สมาคมต่างๆที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม สื่อสิ่งพิมพ์ ฯลฯ

ผู้เข้าชมงาน

ผู้ซื้อ สื่อต่างๆ สมาคมฯ องค์การการค้า ฯลฯ

การเข้าร่วมงานของไทย

คูหาประเทศไทยอยู่ในส่วน JCK Las Vegas ซึ่งพื้นที่ส่วนนี้มีคูหาผู้เข้าร่วมงานฯ จากกว่า ๑๐ ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส ไต้หวัน บราซิล เยอรมนี อิสราเอล เกาหลีใต้ เม็กซิโก ญี่ปุ่น อินเดีย เปรู มอริเชียส ศรีลังกา และฮ่องกง เป็นต้น โดยในส่วนของคูหาไทย มีบริษัทเข้าร่วมกว่า ๖๐ บริษัท ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๑ หมื่นตารางฟุต สินค้าที่มาจัดแสดงได้แก่ เครื่องประดับอัญมณีเช่นสร้อยคอ แหวน กำไลข้อมือ ทำจากหินและอัญมณีมีค่าต่างๆ เช่น เพชร พลอยสีต่างๆ แซพไฟล์ เครื่องประดับเงิน เป็นต้น มีผู้เข้าเยี่ยมชมคูหาไทยเฉลี่ยประมาณคูหาละ ๒๐-๓๐ รายต่อวันต่อบริษัท บริษัทต่างๆเข้าร่วมงานฯผ่านบริษัทจัดงานแสดงสินค้า Reed Tradex จำกัด ซึ่งมีตัวแทนผู้จัดงานฯ ที่ประเทศไทย ทั้งนี้มีบริษัทประเทศไทยที่ไม่ได้เข้าร่วมอยู่ในส่วนคูหาประเทศไทย คือบริษัทแพรนด้า จิวเวอรี่ จำกัด

สคร. ลอสแอนเจลีสได้เข้าร่วมสังเกตุการณ์พร้อมกับคณะสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นำโดยประธานสถาบันฯ และอดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ซึ่งทางสถาบันฯ ได้เข้าร่วมงานฯดังกล่าวครั้งนี้เป็นครั้งแรก และมีพื้นที่ ๑ คูหา เพื่อประชาสัมพันธ์ภาระกิจของสถาบัน เช่นการตรวจสอบคุณภาพของอัญมณี ฯลฯ

ข้อมูลอุตสาหกรรม/แนวโน้ม

อุตสาหกรรมอัญมณียังคงมีโอกาสสุงในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยงานฯ JCK เป็นหนึ่งในช่องทางที่ใช้ ในการขยายตลาดได้ เนื่องจากเป็นงานฯที่มีความสำคัญลำดับต้นๆในภูมิภาคอเมริกาเหนือ และระดับโลก คู่แข่งที่สำคัญของไทยได้แก่ ฮ่องกง และอินเดีย ที่สามารถพัฒนาแรงงานฝีมือด้านอัญมณีได้ดีขึ้น และราคาก็ไม่สูงมากนัก ผู้ประกอบการไทยจึงควรเน้นพัฒนาด้านการออกแบบให้เป็นที่ยอมรับในตลาดสากล และสร้างแบรนด์ให้เป็นยอมรับในวงการอัญมณีให้ได้

ข้อสังเกต/ข้อพิจารณา

๑. ผู้เข้าร่วมงานฯ ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าตำแหน่งคูหาของประเทศไทยยังคงเป็นปัญหา เนื่องจากอยู่ไกลจากประตูทางเข้า และอยู่ข้างหลังเกินไป ทำให้ผู้เยี่ยมชมงานฯบางรายเดินมาไม่ถึง หรือหันไปสนใจคูหาประเทศอื่นที่อยู่ข้างหน้ามากกว่า เช่นคูหาของฮ่องกง เป็นต้น จากการสังเกตุการณ์ เห็นว่าในช่วงเช้า จะมีผู้มาเยี่ยมชมคูหาไทยค่อนข้างน้อยกว่าคูหาที่อยู่ข้างหน้า ใกล้ประตูทางเข้า

๒. ภายในงานฯ ได้มีการประชุมระหว่างประธานสถาบันฯ ผู้จัดงานฯ ตัวแทนผู้จัดงานฯ ในไทย และตัวแทนผู้เข้าร่วมงานฯไทย เพื่อเจรจาต่อรองกับผู้จัดงานฯ ให้คูหาไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดีขึ้นในปีต่อไป โดยตัวแทนผู้จัดงานฯ Mr. John Tierney, Event Director ของ Reed Exhibitions ได้รับทราบปัญหา และจะพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาต่อไปในอนาคต สคร.เห็นว่าในการต่อรอง ฝ่ายไทยควรหารือเตรียมการภายในก่อนเพื่อสรุปข้อเสนอที่จะเป็นประโยชน์กับงาน เช่นการประชาสัมพันธ์ การจัดกิจกรรมพิเศษ ฯลฯ

๓. การจัดสัมมนาวิชาการเพื่อให้ความรู้ และประชาสัมพันธ์สถาบันฯ เป็นสิ่งที่เป็น ประโยชน์ต่อภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีไทย แต่ควรมีการประชาสัมพันธ์การจัดสัมนนาฯ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานฯ ได้ทราบมากขึ้น โดยอาจแจกแผ่นพับตามจุดต่างๆ ในบริเวณงานฯ หรือให้กับกลุ่มผู้เข้าร่วมงานฯ ที่น่าจะได้ประโยชน์จากการสัมมนา และผู้ที่สนใจตรวจสอบคุณภาพของอัญมณี พร้อมทั้งควรมีการประเมินผลภายหลังการรับฟังสัมมนาด้วย

๔. ในงานฯ ได้มีโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานฯ Bangkok Gems and Jewelry ครั้งต่อไปโดยมีโลโก้กรมส่งเสริมการส่งออกด้วย นอกจากนี้ สคร. ยังได้เผยแพร่ช่องทางการประชาสัมพันธ์สินค้าและภาพรวมอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่นทางเวปไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์ ของกรมฯ และสคร.ฯ ให้กับผู้เข้าร่วมงานฯ ผู้จัดงานฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ