Black Friday อิตาลีส่อเค้าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรายต่อไป

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 22, 2011 14:59 —กรมส่งเสริมการส่งออก

8 กรกฎาคม ตลาดหุ้นและพันธบัตรอิตาลีร่วงอย่างหนัก ทั่วโลกหวั่นอิตาลีเกิดวิกฤติเศรฐกิจเป็นรายต่อไป

วิกฤติ Black Friday

จากวิกฤติการเงินของกรีซที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2010 โดยกุล่มประเทศ PIIGS ถูกจับตามองว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์เหมือนกรีซ โดยเฉพาะอิตาลีซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของกลุ่มยูโรโซนจะเป็นรายต่อไป เพราะรัฐบาลอิตาลีมีหนี้สาธารณะสูงเป็นอันดับสองรองจากกรีซ และสถานการณ์เศรษฐกิจมีการขยายตัวต่ำกว่าประเทศอื่นในยุโรป แต่อย่างไรนั้น อิตาลีก็สามารถประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นสถานการณ์ดังกล่าวมาได้ แต่กลับเป็นไอร์แลนด์และโปรตุเกสที่เกิดวิกฤติตามกรีซไปแล้ว จนกระทั่งขณะนี้เกิดเหตุการณ์ที่กรีซไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด มีแนวโน้มที่จะประกาศพักการชำระหนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปและอิตาลีอีกรอบ

จากกระแสความวิตกกังวลของนักลงทุนที่ว่าปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซอาจลุกลามไปยังอิตาลี ส่งผลให้ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของอิตาลีถูกเทขายอย่างหนักเมื่อวันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา ทำให้ทั่วโลกหวั่นว่าอิตาลีจะเกิดวิกฤติเศรฐกิจเป็นรายต่อไป และวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา ผลตอบแทนในพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีอายุ 10 ปี ถูกปรับเพิ่มพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เริ่มมีการใช้เงินสกุลยูโรคืออยู่ที่ 5.72% โดยค่าความต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีเมื่อเทียบกับเยอรมันนีสูงถึง 3% (300จุด)ในช่วงก่อนปิดตลาด จากกระแสความวิตกกังวลดังกล่าวได้ฉุดให้หุ้นกลุ่มธนาคารอิตาลีร่วงลงอย่างหนัก โดยหุ้นของธนาคารยูนิเครดิต เอสพีเอ (UniCredit) และธนาคารอินเตสา ซานเปาโล (Intesa Sanpaolo) ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ของอิตาลีร่วงลง 6.33% และ7.74% ตามลำดับ ส่วนดัชนีหุ้นในตลาดมิลาน (Piazza Affari) ร่วงลงไปอยู่ที่ 3.96% แต่วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา สถานการณ์ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของอิตาลีปรับตัวดีขึ้น ซึ่งมีปัจจัยมาจากการที่กระทรวงการคลังอิตาลีนำพันธบัตรรัฐบาลที่ไม่จ่ายดอกเบี้ยออกจำหน่ายและได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างล้นหลามเกินกว่าจำนวนที่เสนอขาย และรัฐบาลอิตาลีได้ขอความร่วมมือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรีบลงมติอนุมัติมาตรการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ (Manovra) ที่กำลังพิจารณาอยู่อย่างเร่งด่วน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน โดยปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีหุ้นในตลาดหุ้นมิลานปรับตัวดีขึ้น 1.18 % และหุ้นธนาคารขนาดใหญ่คือ ธนาคารยูนิเครดิต เอสพีเอ และธนาคารอินเตสา ซานเปาโล ปิดตัวที่ +5.89% และ +3.34% ตามลำดับ

สาเหตุที่นักลงทุนได้เทขายหุ้นอย่างหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

1. ความไม่แน่นอนของแผนการช่วยเหลือวิกฤติหนี้กรีซของสหภาพยุโรป

2. ความอ่อนแอของรัฐบาลแบร์ลุสโคนี โดยมีผลสืบเนื่องมาจากการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีใน เดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยพรรคของรัฐบาลแพ้การเลือกตั้งในเขตมิลาน และเนเปิล ซึ่งเป็นเขตที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยว่าคนใกล้ชิดนายจูลีโอ เตรมอนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน อาจถูกหมายจับในข้อหาช่อโกง

3. มาตรการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจระหว่างปี 2011-2014 ของรัฐบาลโดยลดงบประมาณ รายจ่ายในส่วนของภาครัฐ และขึ้นภาษี ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือ แต่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรเพิ่มภาษีแต่ควรที่จะเพิ่มการลดค่าใช้จ่ายในส่วนของภาครัฐเข้ามาแทน

4. เศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างช้า ๆ ของอิตาลีอาจส่งผลให้ถูกลดระดับความน่าเชื่อถือทาง เศรษฐกิจ

หลังจากที่ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของอิตาลีถูกเทขายอย่างหนัก ส่งผลให้นายเฮอร์มัน ฟาน รอมปุย ประธานสภายุโรป นัดประชุมผู้นำสภายุโรปในวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือทางการเงินรอบสองสำหรับกรีซ และสถานการณ์ความมั่นคงทางการเงินของยูโรโชน

มาตรการล่าสุดของรัฐบาลในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจอิตาลี (14 ก.ค. 54)

รัฐบาลอิตาลีเร่งออกมาตรการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน โดยเป็นมาตรการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ และเพิ่มภาษีซึ่งได้รับอนุมัติจากสภาในวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา เพื่อควบคุมยอดขาดดุลงบ ประมาณ โดยรัฐบาลคาดการณ์ว่าในปี 2014 มาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้อิตาลีสามารถลดการขาดดุลการคลังได้ 4,8 หมื่นล้านยูโร ซึ่งจะส่งผลให้ภาวะการขาดดุลการคลังในปี 2014 คงเหลือเพียง 0% ของ GDP (มาตรการเดิมที่ออกมาเมื่อมิถุนายน 2010 คาดการณ์ลดภาวะการขาดดุลปี 2011-2013 เหลือร้อยละ 5, 3.9 และ 2.7 ตามลำดับ

1. มาตราการการลดการใช้จ่ายของภาครัฐบาล

1.1 ลดเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมืองต่างๆ 10 % เริ่มใช้ในการเลือกตั้งครั่งต่อไป (ปี 2013)

1.2 ลดเงินงบประมาณของกระทรวงต่างๆ ดังนี้ ปี 2011 จำนวน 1,7 พันล้านยูโร

ปี 2012 จำนวน 400 ล้านยูโร

ปี 2013 จำนวน 300 ล้านยูโร

ปี 2014 จำนวน 5,0 พันล้านยูโร

1.3 ลดเงินงบประมาณของภูมิภาคต่าง ๆ ประมาณ 6.4 พันล้านยูโร ช่วงระหว่างปี 2013-2014

1.4 ข้าราชการทั่วไปจะไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนระหว่างปี 2013-2014

1.5 ลดการจ่ายบำนาญ สำหรับผู้เกษียณที่มีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 9 หมื่นยูโร ลงร้อยละ 5 และผู้ เกษียณที่มีรายได้เกินกว่า 1,5 แสนยูโร ลงร้อยละ10

1.6 เพิ่มอายุข้าราชการหญิงให้เป็น 65 ปี 1.7 ประชาชนต้องจ่ายค่าพบแพทย์เพิ่มขึ้น 10 ยูโร/ครั้ง จากอัตราเดิมที่แตกต่างกันแต่ละท้องถิ่น (เช่น มิลานเดิมไม่ต้องชำระ)

2. มาตราการด้านภาษี

2.1 ปรับลดค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ส่วนบุคคลลงร้อยละ 5 ในปี 2013 และร้อยละ 20 ในปี 2014 ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 4 ล้านเหรียญยูโร และ20 ล้านเหรียญยูโร ตามลำดับ

2.2 การขึ้นภาษีน้ำมัน 2.3 จัดเก็บภาษีการถือหุ้นหรือพันธบัตรรัฐบาลที่มีมูลค่าไม่เกินกว่า 5 หมื่นยูโร จะต้องชำระภาษี 34.2 ยูโรต่อปี และมูลค่าระหว่าง 5 หมื่น - 1,5 แสนยูโรจะต้องชำระภาษี 70 ยูโรต่อปี

ความเชื่อมั่นต่อมาตรการรัฐบาลอิตาลี

ภายหลังที่มาตรการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจได้ผ่านการอนุมัติใช้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน และป้องกันไม่ให้เกิดเห็นการณ์วิกฤติหนี้เหมือนกรีซ ได้มีหลายฝ่ายที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อมาตรการดังกล่าว ดังนี้

1. Ms. Angel Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมันนี และMr. Wolfgang Schaeuble รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังเยอรมันนี เห็นว่ามาตรการทางการเงินอิตาลีมีเป้าหมายที่ตั้งไว้ค่อนข้างสูง แต่ก็ถือว่ารัฐบาล อิตาลีอาจจะทำได้ตามเป้าหมาย

2. Mr. Olli Rehn ประธานกรรมาธิการฝ่ายการเศรษฐกิจและการเงินยุโรป เห็นด้วยกับมาตรการ ดังกล่าวที่จะสามารถลดการขาดดุลการคลังอิตาลีให้เหลือ 0% ภายในปี 2014 และเพิ่มโอกาสในการลดอัตราหนี้สาธารณะที่สูงถึง 120% ของ GDP ในขณะนี้

3. Mr. Mario Draghi ผู้ว่าราชการธนาคารแห่งชาติอิตาลี และว่าที่ประธานธนาคารกลางยุโรปคนใหม่ (BCE) เห็นว่ามาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่มีความสำคัญเพื่อจะใช้คลี่คลายปัญหาหนี้สาธารณะอิตาลี นอกจากนี้ Mr. Draghi ยังเห็นตรงกับ Mr. Jean-Claude Trichet ประธานธนาคารกลางยุโรป ว่ามาตรการดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถลดการขาดดุลการคลังให้เหลือ 0% ภายในปี 2014 และเพิ่มโอกาสในการลดอัตราหนี้สาธารณะ

4. Ms. Emma Marcegaglia ประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมอิตาลี (Confindustria) เห็นด้วยกับ มาตรการดังกล่าวที่เสนอใช้เพื่อแก้ปัญหาหนี้สาธารณะอิตาลี แต่อย่างไรก็ตาม ควรมีการเพิ่มการลดค่าใช้จ่ายในส่วนภาครัฐให้มากขึ้น ควรให้โอกาสภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการแทนในส่วนของภาครัฐ และควรเปิดเสรีให้กับบริษัทใหม่ ๆ เข้าบริหารงาน เพื่อเพิ่มการแข่งขันในตลาด

5. นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่ามาตรการดังกล่าวอาจจะไม่เพียงพอที่จะเป็นหลักประกันความเชื่อมั่นใน การลงทุน และประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจมาตรการดังกล่าวทำให้ต้องรับภาระภาษีเพิ่มขึ้นแทนที่จะเพิ่มการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐที่เป็นหนี้จำนวนมาก โดยจะเห็นได้จากที่ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรอิตาลีถูกเทขายอย่างหนักในวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม 2554 ภายหลังที่มีการอนุมัติมาตรการดังกล่าว โดยผลตอบแทนในพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีอายุ 10 ปี พุ่งแตะระดับสูงสุดนับจากสัปดาห์ที่ผ่านมาถึง 6.0% โดยค่าความต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีเมื่อเทียบกับเยอรมนีสูงขึ้นเหนือ 336 จุด แต่ได้ดีดกลับดีขึ้นในวันอังคารที่ 19 กรกฎาคม 2554 โดยมีผลตอบแทนในพันธบัตรรัฐบาล 5.74% และค่าความต่าง 307 จุด

โอกาสที่อิตาลีจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

มาตรการการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของอิตาลีข้างต้นค่อนข้างได้รับการยอมรับจากหน่วยงานเศรษฐกิจในยุโรปว่าจะสามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะและเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ถึงแม้ขณะนี้สถานการณ์ตลาดหุ้นยุโรปและอิตาลียังคงมีความแปรปรวนเป็นอย่างมาก

สคร. มิลาน เห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลอิตาลีสามารถควบคุมสถานการณ์ผ่านมาได้แม้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตช้ามาก เพราะแม้อิตาลีจะมีหนึ้สาธารณะที่สูงเป็นอันดับสองในยูโรโซนแต่ส่วนใหญ่เป็นหนึ้ที่เกิดจากในประเทศ ในขณะที่หนี้ภาคเอกชนและประชาชนอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานยุโรป ภาคธนาคารที่แข็งแกร่ง (โดยในวันที่ 15 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา ธนาคารของอิตาลี 5 แห่งได้แก่ Intesa Sanpaolo, Unicredit, Ubi Banca, MPS และ Banco Popolare ได้ผ่านการทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress test) ทั้งหมดจากหน่วยงาน European Banking Authoriry) การออมของประชาชนอยู่ในระดับสูง การขาดดุลการคลังค่อนข้างต่ำ

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุโรปและความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนและประชาชนต่อมาตรการของรัฐบาลที่ออกมา แม้ว่าจะมีหลายหน่วยงานออกมาช่วยให้ความเชื่อมั่น แต่ความไม่เชื่อมั่นดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการชงักการลงทุน และเศรษฐกิจหดตัว ความแข่งแกร็งของภาคประชาชนถูกบันถอนให้อ่อนแอลง ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ที่รัฐบาลหวังว่าจะได้รับเพิ่มขึ้นอาจเป็นไปได้ยาก

สคร. มิลาน จึงเห็นว่าเศรษฐกิจอิตาลีนับตั้งแต่นี้จะอยู่ในช่วงที่ค่อนช้างอ่อนไหว และน่าระวังเป็นอย่างยิ่ง และจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยมาตลาดอิตาลี โดยทำให้สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยมายังอิตาลี เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ ยางพารา มีมูลค่าการส่งออกลดลง จึงอาจส่งผลให้การส่งออกในปี 2011 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 11 (1,750 ล้านเหรียญสหรัฐ)

ที่มา : Il Sole 24 ore

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองมิลาน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ