สถานการณ์สินค้ายานยนต์และยางรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น เดือนกรกฎาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 22, 2011 15:12 —กรมส่งเสริมการส่งออก

โตโยต้า มอเตอร์มีจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในเดือนพฤษภาคมจำนวน 107,437 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 54.4 ส่วนด้านการส่งออกก็ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 63.33 หรือจำนวน 42,313 คัน

โตโยต้าเปิดเผยว่าบริษัทจะยังคงการผลิตรถยนต์ไฮบริดในประเทศญี่ปุ่นต่อไป แม้ว่าจะประสบปัญหาการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินเยนก็ตาม นอกจากนั้นยังมีแผนเพิ่มเติมในการลงทุนอีกราว 2 พันล้านดอลลาร์

เพื่อขยายสายการผลิตเครื่องยนต์สี่สูบสำหรับรถยนต์ขนาดเล็กในภูมิภาคโตโฮกุเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีก 100,000 เครื่องในปีนี้ แต่บริษัทไม่ได้แจ้งว่าจะเป็นส่วนขยายของโรงงานหรือเป็นการก่อสร้างโรงงานในพื้นที่ใหม่ ประธานของโตโยต้านายโตโยดะกล่าวว่า โตโยต้าเป็นองค์กรระดับโลกซึ่งต้องมองข้ามปัญหาค่าเงินในประเทศ (เช่นเรื่องค่าเงินเยนควรจะมากกว่า 85 เยน/ดอลลาร์) ให้ได้และควรสนใจกับเรื่องความท้าทายในระดับโลก

ฮอนด้ามอเตอร์ มีจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในเดือนพฤษภาคมจำนวน 34,746 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 53.4 ส่วนด้านการส่งออกก็ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 60.8 หรือจำนวน 9,207 คัน ฮอนด้าได้เปิดตัวกลุ่มธุรกิจใหม่ด้านอากาศยานขนาดเล็ก ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในระยะแรก ร้อยละ 15 ของมูลค่าการตลาดทั้งหมด เครื่องบินเจ็ตของฮอนด้าจะเริ่มนำเข้าสู่ตลาดในปี 2012 ซึ่งเครื่องบินขนาดเล็ก 7 ที่นั่งของฮอนด้านี้จะมีความเร็วในการบินมากกว่า

คู่แข่งร้อยละ 10 มีพื้นที่ใช้สอยภายในเครื่องบินกว้างกว่าร้อยละ 20 และมีเครื่องยนต์ที่มีการใช้พลังงานน้อยกว่าคู่แข่งถึงร้อยละ 20 ปัจจุบันมียอดสั่งจองแล้วกว่า 100 ลำ โดยมีราคาเบื้องต้นอยู่ที่ลำละ 4.5 ล้านดอลลาร์ฯ

นิสสัน มอเตอร์มีจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในเดือนพฤษภาคมจำนวน 80,036 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 0.8 ส่วนด้านการส่งออกก็ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.6 หรือจำนวน 45,321 คัน

นิสสันมอเตอร์จะย้ายสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคจากสิงค์โปร์ไปยังประเทศไทย ซึ่งการตัดสินใจในครั้งนี้ของนิสสันเป็นส่วนหนึ่งของการจัดระเบียบการดำเนินงานเพื่อการรักษาตลาดในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกให้เข้มแข็ง ซึ่งการแถลงข่าวการย้ายสำนักงานใหญ่ฯในครั้งนี้จะได้รับการเผยแพร่สู่สื่อมวลชนอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ ที่บริษัทนิสสันมอเตอร์ (กรุงเทพฯ) อย่างไรก็ตามยังไม่ได้มีการพูดถึงผลกระทบในด้านบุคลากรต่อการเคลื่อนย้ายสำนักงานฯในครั้งนี้

มิตซูบิชิ มอเตอร์ มีจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในเดือนพฤษภาคมจำนวน 47,013 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 7.7 ส่วนด้านการส่งออกก็ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.5 หรือจำนวน 25,645 คัน

มิตซูบิชิมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยเป็นจำนวน 450,000 คัน ภายในปี 2012 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากโรงงานหลักที่จังหวัด โอกายามะซึ่งมีกำลังการผลิตปีมากถึง 580,000 คันต่อปี

แผนการดังกล่าวรวมถึงการก่อสร้างโรงงานใหม่ที่มีกำลังการผลิตปีละ 150,000 คัน และปรับปรุงโรงงานที่มีอยู่เดิมจำนวน 2 แห่งเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีก 300,000 คัน หรือเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตในปัจจุบัน

มาสด้า มอเตอร์มีจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในเดือนพฤษภาคมจำนวน 62,208 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 11.6 ส่วนด้านการส่งออกก็ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 42.1 หรือจำนวน 31,244 คัน

มาสด้าได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นกับสหพันธรัฐรัสเซียในการจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ของมาสด้าขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศรัสเซีย การดำเนินการขั้นต่อไปของบริษัทคือการตัดสินใจว่าจะลงทุนด้วยตัวเอง 100 เปอร์เซนต์ หรือหาผู้ร่วมทุนท้องถิ่นชาวรัสเซีย มาสด้านับว่ายังตามหลังผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นรายอื่นๆในการประกอบธุรกิจในต่างประเทศ โดยในเดือนกรกฎาคม 2554 นี้บริษัทเพิ่งจะเปิดโรงงานนอกประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีที่ประเทศเม็กซิโกเพื่อเจาะตลาดอเมริกากลาง

ซูซูกิ มอเตอร์มีจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในเดือนพฤษภาคมจำนวน 64,848 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 26.1 ส่วนด้านการส่งออกก็ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 38.4หรือจำนวน 14,230 คัน

ซูซูกิ เตรียมแผนย้ายโรงงานในจังหวัดชิซึโอกะไปไว้ในบริเวณที่สูงขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ โรงงานแห่งใหม่นี้อาจต้องใช้พื้นที่ถึง 270,000 ตารางเมตร ในเมืองฮามามัตซึ โดยจะมีระยะห่างจากบริเวณชายฝั่งทะเลราว 10 กิโลเมตร ซึ่งน่าจะปลอดภัยจากสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวระดับ 8 และอยู่ไกลจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในกรณีที่อาจเกิดการรั่วไหลของกัมมันตรังสี

โดยสรุป ผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติในเดือนมีนาคม ยังคงส่งผลให้การผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคมปรับตัวลดลงถึง ร้อยละ 30.9 อยู่ที่ระดับ 489,723 คัน เท่านั้น นับว่าเป็นการปรับตัวลดลงติต่อกันเป็นเดือนที่ 8 แล้ว ส่วนด้านการส่งออกในเดือนพฤษภาคมก็ลดลงจาก จำนวน 340,721 คันในปี 2553 เหลืออยู่เพียง 202,833 คันในปี 2554 นี้ หมายความว่าการส่งออกรถยนต์ของญี่ปุ่นไปยังต่างประเทศได้ลดลงไปถึง 137,888 คันในเดือนพฤษภาคมนี้และนับเป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 แล้ว

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนต่อดอลลาร์สหรัฐและยูโรของญี่ปุ่นมีการปรับตัวสูงค่าขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน ปัญหาเรื่องเงินเยนแข็งค่านี้ยังเป็นปัจจัยหลักที่รัฐบาลญี่ปุ่นยังแก้ไม่หายและยังคงฉุดรั้งภาคการส่งออกของญี่ปุ่นจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา ทั้งที่ภาคเอกชนได้พยายามแก้ไขปัจจัยภายในองค์กรผ่านมาตรการตัดค่าใช้จ่ายและอื่นๆแล้วก็ตาม

การลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างเกาหลีใต้และสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาส่งผลให้เกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งโดยตรงของญี่ปุ่นในสินค้ายานยนต์และอิเลคโทรนิกส์ ได้รับผลประโยชน์ทางการค้ามากมาย เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นซึ่งตามหลังเกาหลีใต้ในด้านการเจรจาข้อตกลงทวิภาคี เพราะเพียงแต่มุ่งปกป้องสินค้าเกษตรในประเทศเป็นหลัก การเปิดการค้าเสรีระหว่างเกาหลีใต้กับสหภาพยุโรปนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการถดถอยของอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นในอนาคต รวมถึงการรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันและแรงงานฝีมือในประเทศด้วย หากปัญหาด้านการดูแลค่าเงินเยน และการเจรจาเปิดเสรีทางการค้ายังไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็วและเด็ดขาด ประเทศญี่ปุ่นจะไม่สามารถพลิกฟื้นปัญหาเศรษฐกิจและกลับมาเป็นผู้นำด้านการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเลคโทรนิกส์ได้เลย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นคร โอซากา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ